เมื่อเอ่ยถึงเจ้าแห่งแพลตฟอร์มวิดีโอ ต้องยกให้กับ “YouTube” ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 2.5 พันล้านคนทั่วโลก และมีความหลากหลายทั้งช่อง – ครีเอเตอร์ ประเภทคอนเทนต์ ความยาวคอนเทนต์ ทั้ง Short-form, Mid-form, Long-form ไปจนถึง Live Streaming
ท่ามกลางวิดีโอมากมาย คอนเทนต์ที่จะสร้างยอดวิว ได้รับความนิยม จนสามารถแจ้งเกิดครีเอเตอร์คนนั้นๆ ให้เป็นที่รู้จัก และมีฐานแฟนคลับประจำ ไม่ใช่เรื่องง่าย!
แม้จะเป็นที่ทราบกันว่า “Creativity” และ “Trend” คือหัวใจสำคัญของการผลิตคอนเทนต์ แต่ความคิดสร้างสรรค์แบบไหน กระแสเทรนด์ใดจะถูกจริต หรือโดนใจคนดู (Audience) ?!? ยิ่งทุกวันนี้เมื่อใครๆ ก็เป็นครีเอเตอร์ได้ ใครๆ ก็เป็นผู้สร้างเทรนด์ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนดัง มาจากผู้ผลิตรายใหญ่เหมือนในอดีต ก็ยิ่งทำให้การจับกระแสเทรนด์ยากขึ้นไปอีก!
“YouTube” เข้าใจ Insights ดังกล่าวของเหล่าครีเอเตอร์เป็นอย่างดี โดยเฉพาะครีเอเตอร์หน้าใหม่ที่เริ่มทำช่องได้ไม่นาน แล้วอาจรู้สึกว่าจะใช้ความคิดสร้างสรรค์ และจับเทรนด์อย่างไร เพื่อนำมาทำคอนเทนต์ให้เหมาะกับช่องของตัวเอง และถูกใจคนดู จึงได้จัดทำไกด์ไลน์ “Creativity” สร้างสรรค์คอนเทนต์ ประกอบด้วย 3 แนวทางให้กับเหล่าครีเอเตอร์ พร้อมฟีเจอร์ซัพพอร์ตรายได้จากคนดู โดย “คุณมายด์-ฐรินทร์ญา ศุภทรัพย์, Strategic Partner Manager, YouTube Thailand” จะมาเจาะลึกลงรายละเอียด…
จากเทรนด์กระแสหลักที่ทำตามกัน สู่เทรนด์ยุค Fragment ใครๆ ก็เป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นได้
การผลิตคอนเทนต์วิดีโอให้ดึงคนดูได้ “เทรนด์” คือ หนึ่งในหัวใจหลัก เพราะเป็นตัวกระตุกให้เนื้อหาของวิดีโอนั้นๆ เป็นที่น่าสนใจ ซึ่งหากย้อนไปในอดีตพบว่า การเกิดขึ้นของกระแสเทรนด์ มักมาจากผู้ผลิตคอนเทนต์รายใหญ่ ศิลปินคนดัง ผู้นำเทรนด์ (Trend Setter) จากนั้นผู้คนในสังคมก็จะทำตามๆ กัน จนทำให้เทรนด์นั้นๆ ขยายตัวไปในวงกว้าง
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ตัวอย่างเทรนด์ที่เป็นกระแสไปทั่วโลก และผู้คนทั่วโลกทำตามๆ กัน เมื่อครั้งเพลง “Gangnam Style” ของศิลปินนักร้องเกาหลี “Psy” ถึงปัจจุบันเป็นหนึ่งในวิดีโอที่มียอดวิวมากที่สุดในโลก ด้วยจำนวน 4 พันล้านวิว เวลานั้นคนทั่วโลกแห่กันเต้น cover ในขณะที่ทุกวันนี้ การเกิดเทรนด์เร็วขึ้น – หลากหลายมากขึ้น และทุกคนก็สามารถสร้างเทรนด์ขึ้นได้เอง
“ในอดีตเป็นเทรนด์มิติเดียว ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เป็นกระแสหลักที่ทุกคนทำตามอย่างเดียวกัน แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ ประกอบกับสถานการณ์ COVID-19 ทำให้คนคุ้นเคยกับการทำคอนเทนต์รูปแบบวิดีโอมากขึ้น หลายคนอัพโหลดวิดีโอลงแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเด็ก หรือผู้ใหญ่ กลายเป็นว่าทุกคนสามารถกำหนดกระแสเทรนด์ที่พวกเขาต้องการได้ สร้างคอนเทนต์ในแบบที่ตัวเองชอบ โดยเฉพาะ Gen Z ยิ่งทำให้เทรนด์แตกย่อยมากมาย และไม่ได้ถูกผลิตจาก Entertainment เจ้าใหญ่เจ้าเดียวอีกต่อไป”
Google และ Ipsos Global ทำผลสำรวจร่วมกันพบว่า
– 85% ของ Gen Z เคยอัพโหลดวิดีโอลงแพลตฟอร์มออนไลน์กันแล้วทั้งนั้น
– ขณะที่ในประเทศไทยพบว่า ช่อง YouTube ของคนไทย มียอดอัพโหลดวิดีโอเติบโต 50%
เพราะฉะนั้นวิดีโอที่ถูกสร้างขึ้นมานั้น ไม่ใช่เฉพาะจากเจ้าใหญ่อย่างเดียวเท่านั้น แต่ครีเอเตอร์หน้าใหม่ก็สามารถสร้างคอนเทนต์วิดีโอได้ และคอนเทนต์เหล่านั้น กลายเป็นกระแสดังได้เช่นเดียวกัน
ยิ่งการเกิด COVID-19 เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การรับชมวิดีโอเปลี่ยนไป โดย YouTube เห็นการรับชมวิดีโอเติบโตอย่างก้าวกระโดด และไม่ได้ดูเพื่อความบันเทิงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หลายคนดูวิดีโอ เพื่อช่วยผ่อนคลาย ช่วยแก้เบื่อ หรือบางคนเพื่อเสริมการเรียนรู้ – เสริมอาชีพ
“วิดีโอมีบทบาทและมีความสำคัญกับคนดูตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน ดังนั้นเมื่อคนรุ่นใหม่ยิ่งคุ้นเคยกับวิดีโอ ยิ่งทุกคนผลิตคอนเทนต์วิดีโอมากขึ้นเท่าไร จะเป็นตัวกำหนด Pop Cultures หรือกระแสที่จะเกิดขึ้นในสังคม สิ่งเหล่านี้ส่งผลกับครีเอเตอร์แน่นอนต้องคิดแตกย่อยลงไป เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนที่ครีเอเตอร์อยากคุยด้วย
เช่น จะสังเกตได้ว่าปัจจุบันเวลามี MEME จะถูกนำไปต่อยอดในหลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับคนทำจะตีความและเอาไปประยุกต์ใช้อย่างไร ซึ่ง MEME ถูกใจกลุ่มคนรุ่นใหม่เช่นกัน”
ผลสำรวจ Global Study ชี้ว่า
– Gen Z บอกว่า MEME คือ ตัวกำหนดกระแสชีวิตของเขา
– มากกว่า 50% ของ Gen Z บอกว่าคอนเทนต์จะยิ่งน่าสนใจ ถ้าเอา MEME มาใช้ในแบบที่ไม่คาดคิดว่าครีเอเตอร์ หรือคนทำคอนเทนต์จะหยิบไปใช้
ตัวอย่าง MEME เป็นเทรนด์ไวรัลคือ “MEME ฉันเป็นประธานบริษัท” มาจากคอนเทนต์ของช่องคุณพลอย ชิดจันทร์ ที่ต่อมาใครหลายคนเอามาต่อยอด เช่น
– ช่อง BIE The Ska เอา MEME ฉันเป็นประธานบริษัท ทำ parody ในรูปแบบช่องของตัวเอง
– ช่อง GOG GAG ทำการ์ตูนลายเส้น หยิบ MEME นี้มาวาดในบริบทการ์ตูนลายเส้นเช่นเดียวกัน
– หรือแม้กระทั่งแบรนด์ SCG นำกระแสไวรัลดังกล่าวมาทำเป็น MEME โฆษณา โดนใจคนรุ่นใหม่
เนื่องจากพบว่า 57% ของ Gen Z บอกว่าจะยิ่งสนใจโฆษณามากขึ้น ถ้าแบรนด์เลือกหยิบ MEME ที่เขาไม่คิดว่าแบรนด์จะหยิบไปทำ
Gen Z ต้องการดูคอนเทนต์ที่ความแตกต่าง หลากหลาย เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งคนกลุ่มนี้กลายเป็นคนกำหนดกระแส หรือเทรนด์ดิจิทัลต่างๆ และมีอิทธิพลกับโลกของการทำวิดีโอออนไลน์มากๆ โดยผลสำรวจพบว่า
– 65% ของ Gen Z บอกว่าดูคอนเทนต์ที่ตัวเองสนใจ และต้องการมากกว่าคอนเทนต์ยอดนิยม หรือคอนเทนต์ที่กำลังถูกพูดถึงกัน
– 50% ของ Gen Z บอกว่าคอนเทนต์ที่เขาเลือกดู ค่อนข้างเป็นคอนเทนต์ที่ไม่มีใครเคยดู หรือไม่รู้จักด้วยซ้ำ
“สิ่งเหล่านี้ทำให้งานของครีเอเตอร์เพิ่มขึ้น เพราะต้องคิดแล้วว่าในสังคมย่อยๆ นับล้านรูปแบบ ต้องทำคอนเทนต์ให้เข้าถึงคนดูผ่านแกน Creativity”
รู้จัก “Creativity” 3 รูปแบบสร้างคอนเทนต์วิดีโอโดนใจคนดู
เพื่อเป็นแนวทางให้กับครีเอเตอร์ในการสร้างสรรค์คอนเทนต์วิดีโอได้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนดูของช่อง “YouTube” ได้แบ่ง “Creativity” ออกเป็น 3 รูปแบบคือ
1. Community Creativity: สร้างสรรค์งาน โดยใช้ชุมชน หรือกลุ่มคนที่ชื่นชอบในแบบเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น เพลงเฮอร์ไมโอน้อง ดังติด Trending ของ YouTube เพราะเกิดจากเป็นเพลงประกอบท่าเต้นด้วย ทำให้ถูกจริต Community คนรักการเต้น
นอกจากนี้บาง Community มีเอกลักษณ์ของตัวเองชัดเจน เช่น Community กลุ่มคนรักการบิน ชอบดูวิดีโอเครื่องบิน Takeoff – Landing เป็นประจำ โดยยอดวิวของวิดีโอเกี่ยวกับเครื่องบินขึ้น-ลงในปี 2021 บนแพลตฟอร์ม YouTube รวมกันแล้วทะลุ 10,000 ล้านวิว
หรือ Community เกมเมอร์ เป็นกลุ่มที่มี Culture ของตัวเองชัดเจน เช่น GARENA เปิดช่อง ROV Thailand สำหรับถ่ายทอดสดการแข่งขัน ROV ปรากฏว่าจากวันนั้นถึงวันนี้ เกมกลายเป็น e-Sport แข่งขันระดับโลก
ทุกวันนี้ Community หรือ Fandom เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญ เนื่องจาก Fandom จะเป็นจุดศูนย์กลางให้กับครีเอเตอร์ในการเริ่มต้นคิด Creative Content และจากพลังฐานแฟนคลับ จะช่วยทำให้คอนเทนต์นั้นเปลี่ยนจาก “Niche Content” กลายเป็น “Mass Reach”
เช่น คู่จิ้นไบร์ทวิน ดังจากกระแสซีรีส์ Y ทำให้เกิดกลุ่มคนที่ชื่นชอบคู่จิ้นไบร์ทวิน และได้เปิดช่อง YouTube ของตัวเอง เพื่อนำเสนอผลงานศิลปิน – เรื่องราวเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ ยิ่งทำให้กระแสเทรนด์คู่จิ้นไบร์ทวินขยายฐานแฟนคลับออกไปมากกว่าคนที่ชอบซีรีส์ Y และความโด่งดังไปไกลถึงต่างประเทศ
หรือครีเอเตอร์บางคนสร้างช่อง และทำคอนเทนต์บนความชอบ และความเชี่ยวชาญของตัวเอง ทำให้กลายเป็นครีเอเตอร์ที่มีความน่าเชื่อถือในเรื่องนั้นๆ ที่มีฐานคนดูประจำ เช่น ครีเอเตอร์ด้านอสังหาริมทรัพย์, ด้านการเงิน
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันคงเคยได้ยินว่าการทำคอนเทนต์วิดีโอต้องสั้น กระชับ จบไว เพราะความสนใจของคนดูลดลง แต่สำหรับบนแพลตฟอร์ม YouTube พบว่า มีคนดูชอบคอนเทนต์วิดีโอยาว (Long-form video) เพราะตอบโจทย์การเข้าถึงเนื้อหาของคอนเทนต์ ทำให้รู้สึกได้รับชมเต็มที่กว่าวิดีโอสั้น เช่น ช่องทำคอนเทนต์ด้านความรู้
นอกจากนี้ Long-form video ไม่ได้ถูกจำกัดว่าเฉพาะคอนเทนต์แชร์ความรู้เท่านั้น แต่คอนเทนต์ไลฟ์สไตล์ หรือความบันเทิง สามารถทำวิดีโอแบบยาว แล้วประสบความสำเร็จเช่นกัน เพราะเวลาที่เราชื่นชอบ หรือเป็นแฟนคลับใครสักคนหนึ่ง ก็อยากติดตามทุกแง่มุมของชีวิตเขา
– ผลสำรวจพบว่า 92% ของคนไทยบอกว่า YouTube ช่วยให้เขาอยากติดตามตอนต่อๆ ไปของคอนเทนต์ หรือคนที่เขาชอบ หรือติดตาม
นี่จึงทำให้ Long-form video ยังคงเติบโตได้ดีบนแพลตฟอร์ม YouTube และพัฒนาเป็น Community และ Fandom ของช่องและครีเอเตอร์นั้นๆ ทำให้ครีเอเตอร์หลายคนยิ่งมีแรงบันดาลใจ หรือเป็นกำลังใจในการพัฒนาคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์แฟนตัวยงของตัวเองต่อไป
“คนดูแต่ละกลุ่มมีความชอบของตัวเองแตกต่างกันไป ครีเอเตอร์ต้องหาความชอบของ community นั้นๆ ให้เจอ และถูกจริตกับตัวครีเอเตอร์ในฐานะเป็นผู้ทำคอนเทนต์ด้วยเช่นกัน ซึ่ง Community บนโลกออนไลน์ มีพลังมากกว่าที่คนเราจะคาดคิดได้ เพราะส่งให้คนครีเอเตอร์ในออนไลน์ กลายมาเป็นคนมีชื่อเสียงในโลกจริงได้เลย และจะเห็นว่าคนในยุคปัจจุบัน ถ้าชื่นชอบอะไรสักอย่างหนึ่ง หรือถูกจริตกับคอนเทนต์ หรือครีเอเตอร์คนนั้นแล้ว เขาพร้อมซัพพอร์ตครีเอเตอร์ และคอนเทนต์เหล่านั้นให้ประสบความสำเร็จด้วย”
2. Responsive Creativity: สร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ตอบสนองด้านจิตใจ หรืออารมณ์ของคนดู
ปัจจุบันมีคอนเทนต์วิดีโอรูปแบบ Responsive Creativity หลากหลาย และในบางครั้งคอนเทนต์เหล่านี้อาจดูแปลก แต่ก็มีการเสิร์ชหาวิดีโอที่ช่วยสร้างความพึงพอใจด้านจิตใจและอารมณ์ (Psychological and Emotional Needs) เช่น
– คอนเทนต์ปั้นแก้ว ยอดวิวทะลุ 14 ล้านวิว
– คอนเทนต์โชว์ไส้ผลไม้ชนิดต่างๆ ยอดวิวทะลุ 35 ล้านวิว
– วิดีโอ ASMR แม้ไม่ได้เป็นเทรนด์ใหม่ แต่กลับมาได้รับความนิยมอีก เห็นได้จากในช่วงปี 2021 ซึ่งเป็นช่วง COVID-19 ระบาดหนัก ปรากฏว่ายอดวิวโดยรวมของวิดีโอ ASMR บนแพลตฟอร์ม YouTube ทั่วโลก มีมากกว่า 65,000 ล้านวิว กลายเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่กลับมาเติบโตเยอะมาก เนื่องจากช่วยตอบโจทย์การคลายเครียด คลายกังวล
– คอนเทนต์สยองขวัญ พบว่า 50% ของ Gen Z บอกว่าคอนเทนต์สยองขวัญ ช่วยทำให้รู้สึกคลายความเครียด-ความกังวล
คนที่เข้ามาดูคอนเทนต์รูปแบบ Responsive Creativity ไม่ได้เข้ามาดูเพื่อความบันเทิง หรือความสนุก แต่ใช้เพื่อบำบัดจิตใจ เพลิดเพลิน ผ่อนคลายตัวเอง
ผลการสำรวจพบว่า
– 83% ของ Gen Z ดูคอนเทนต์ที่ทำให้รู้สึกว่า Soothing หรือผ่อนคลาย เป็นการบำบัดจิตใจและอารมณ์ ช่วยลดความเครียด
– 69% ของ Gen Z บอกว่าถ้าพวกเขาค้นพบว่าถ้าคอนเทนต์ไหน ครีเอเตอร์คนใจทำคอนเทนต์ตอบโจทย์ด้านจิตใจและอารมณ์ เขาจะกลับมาดูวิดีโอนั้นซ้ำๆ จนบางครั้งไล่ดูวิดีโอเก่าของช่องนั้นๆ ด้วย ทำ
– 64% ของ Gen Z มีพฤติกรรมเปิด YouTube เป็นเพื่อนแก้เหงาในระหว่างทำกิจกรรมสักอย่าง เช่น ระหว่างอ่านหนังสือ
“ใครที่ทำช่องอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว อาจเริ่มคลายสงสัยว่าทำไมในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 อยู่ๆ วิดีโอเก่ากลับมามียอดวิวแบบไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ยเลย นั่นเป็นเพราะมีพฤติกรรมของคนที่กลับเข้ามาดูซ้ำๆ เพราะว่าคอนเทนต์ของช่องนั้นตอบโจทย์ด้านอารมณ์และจิตใจ
ในกลุ่มคนดู Gen Z ต้องการเสพคอนเทนต์หลากหลาย และพื้นที่ YouTube เปิดโอกาสให้ทุกคนสร้างสรรค์คอนเทนต์ของตัวเองได้อย่างไม่มีขีดจำกัด โดยที่ครีเอเตอร์สามารถ shape รูปร่างเนื้อหาให้ตรงจริตของเราและคนดูได้ ซึ่งคำว่า “CreativIty” ทุกวันนี้ ไม่มีเส้นขีดจำกัดอีกต่อไป และไม่ได้จำกัด Format ด้วย”
3. Multi-format Creativity: ผสมผสานความหลากหลายของฟอร์แมตวิดีโอ
Multi-format Creativity คือ อีกหนึ่งแกนที่ทำให้ทุกคนใช้ทุกอย่างอย่างผสมผสาน ตั้งแต่ Short – Mid – Long-form – Live Streaming Content
หนึ่งปัจจัยทำให้เกิดการผสมผสานวิดีโอหลายฟอร์แมต คือ คนคุ้นเคยกับผลิตวิดีโอมากขึ้น เพราะฉะนั้นใครชอบ คุ้นชิน หรือถนัดวิดีโอฟอร์แมตแบบไหน สามารถถ่ายทอดออกมาในฟอร์แมตที่ครีเอเตอร์ชอบ หรือถนัด และการเกิดวิดีโอยอดนิยมที่มีคนดูจำนวนมาก ก็หลากหลายฟอร์แมต ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอสั้น หรือยาว
– 59% ของ Gen Z มีพฤติกรรมการดูวิดีโอ เริ่มต้นดู Short-form ก่อน แล้วตามไปดูตัวเต็ม หรือ Long-form ต่อ
ทำให้ทั้งครีเอเตอร์, ศิลปิน, ผู้ผลิตรายการ เริ่มใช้โมเดล Multi-format Creativity เช่น ศิลปินนักร้อง ปล่อยทีเซอร์ MV ด้วยวิดีโอแบบสั้นก่อน จากนั้นดึงคนดูไปดู MV เต็ม, ช่องข่าวบนออนไลน์ ปล่อยทีเซอร์ Short-form ก่อน เพื่อดึงคนมาดูวิดีโอตัวเต็ม
เพราะฉะนั้นในหนึ่งช่อง YouTube จึงเกิด Multi-format Creativity อย่างไม่มีขีดจำกัด และในอนาคตจะยิ่งเห็น Multi-format มากขึ้น
“สุดท้ายคนดูจะเลือกดูคอนเทนต์ผ่านเนื้อหาที่เขาสนใจ ไม่ใช่ฟอร์แมต เพราะฉะนั้นถ้าเป็นเนื้อหาที่ถูกจริตกับเขา ถูกใจเขา พร้อมจะดูไม่ว่าจะเป็นวิดีโอความยาวเท่าไรก็ตาม เพราะฉะนั้นคอนเทนต์ที่จะดังจากนี้ เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่มีขีดจำกัด ทั้งเทรนด์ บริบทของสังคม และความยาวของวิดีโอ”
3 ฟีเจอร์ช่องทางสร้างรายได้ให้ครีเอเตอร์
นอกจากแนวทางสร้าง “Creativity” ในการผลิตคอนเทนต์วิดีโอ “YouTube” ยังได้พัฒนาช่องทางสร้างรายได้ให้กับครีเอเตอร์ และช่องอีกด้วย โดยก่อนหน้านี้ได้เปิดตัว “Channel Membership” ให้คนดู หรือแฟนคลับจ่ายเงินสมัครสมาชิกช่อง เพื่อดูคอนเทนต์พิเศษมากยิ่งขึ้น พบว่าปัจจุบันหลายช่องประสบความสำเร็จกับการใช้ระบบดังกล่าว เช่น ช่องข่าวมติชนทีวี, Voice TV ซึ่งมี Community แข็งแกร่งของตัวเอง
เมื่อไม่นานี้ได้พัฒนาฟีเจอร์สร้างรายได้ให้กับครีเอเตอร์ใหม่ๆ โดยใช้โมเดล “Fan Funding” เปิดให้แฟนๆ ร่วมกันสนับสนุนครีเอเตอร์และช่อง ประกอบด้วย
1. Super Chat: เหมาะสำหรับครีเอเตอร์ที่ทำคอนเทนต์แบบถ่ายทอดสด (Live Streaming) และวิดีโอ Premieres โดยคนดูสามารถจ่ายเงินเพื่อทำให้ข้อความแชทของตนเองไปอยู่ในตำแหน่งที่เด่นขึ้น เห็นชัดเจนขึ้นท่ามกลางข้อความต่างๆ ของคนดูมากมาย และยังสามารถจ่ายเงินเพื่อปักหมุด (pin) ข้อความไว้เวลา Live Chat
2. Super Sticker: คนดู หรือแฟนๆ จ่ายเงินซื้อสติกเกอร์รูปแบบต่างๆ ส่งให้กับครีเอเตอร์ผ่านช่องทางแชทเวลาที่ทำคอนเทนต์แบบถ่ายทอดสด (Live Streaming) และวิดีโอ Premieres
3. Super Thanks: เป็นฟีเจอร์เหมาะสำหรับครีเอเตอร์ที่ไม่ได้ทำคอนเทนต์ Live Streaming และ Premieres โดยให้แฟนๆ แสดงความขอบคุณครีเอเตอร์ที่ผลิตคอนเทนต์ดีๆ โดนใจให้กับผู้ชม ด้วยการซื้อภาพเคลื่อนไหวที่เรียกว่า Super Thanks นอกจากนี้ผู้ซื้อจะได้รับข้อความสีสันสดใสปรับแต่งได้ เป็นโบนัสในส่วนความคิดเห็นของวิดีโออีกด้วย
“เราอยากซัพพอร์ตครีเอเตอร์ให้ไปไกลกว่า Channel Membership จึงได้ทำโมเดล Fan Funding Revenue ให้กับครีเอเตอร์ ทุกคนสามารถประสบความสำเร็จในการสร้างรายได้ส่วนนี้ได้ โดยไม่ได้จำเป็นต้องเป็นช่องใหญ่ ช่องดัง ขอเพียงแค่ครีเอเตอร์ต้องหาหรือสร้าง Community ของช่องตัวเอง แล้วทำ Community นั้นให้แข็งแกร่ง
เพราะการจะประสบความสำเร็จบน Fan Funding คือ ความแข็งแร่งของชุมชนที่อยู่กับครีเอเตอร์ พร้อมจะซัพพอร์ตครีเอเตอร์ ซึ่งฟีเจอร์ Super Chat – Super Sticker – Super Thanks ทำให้คนดูซัพพอร์ตด้วยระบบเม็ดเงินของพวกเขา ทำให้เขารู้สึกว่าได้ช่วยเหลือครีเอเตอร์ที่ชื่นชอบได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือแชร์ไปยังครีเอเตอร์ ทั้งยังเป็นการบอกกลายๆ ว่าคอนเทนต์แบบไหนถูกใจ แบบไหนไม่ถูกจริต ไม่ถูกใจ เพื่อครีเอเตอร์จะได้เรียนรู้มากมายจากระบบ Fan Funding”
Source: ข้อมูลจากงาน iCreator Conference 2022