นับตั้งแต่ปี 1990’s เป็นต้นมา “อินเทอร์เน็ต” เริ่มแพร่หลาย ยิ่งทำให้วิวัฒนาการของโลกหมุนไปข้างหน้าเร็วขึ้น จากการใช้เพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ ทั่วโลก พัฒนาไปสู่ยุคอุปกรณ์ หรือสิ่งของต่างๆ สามารถเชื่อมต่อกันได้เอง ถึงปัจจุบันมนุษย์กำลังอยู่ในยุคโลกจริงผสานโลกเสมือน หรือที่เรียกว่า “Internet of Place” มาพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ที่ทำให้นับวันเส้นแบ่งระหว่างกายภาพ และดิจิทัลจะเริ่มเลือนรางมากขึ้น เพราะฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรต้องเปิดรับ และนำเทคโนโลยีมาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจ
รายงานทิศทางเทคโนโลยีโลก Accenture Technology Vision ปี 2022 ในชื่อ “Meet Me in the Metaverse: The Continuum of Technology and Experience Reshaping Business” เผยให้เห็นว่า จักรวาลของโลกดิจิทัลที่แผ่กระจายครอบคลุมโลกแห่งความจริงและโมเดลธุรกิจต่างๆ ทำให้เกิดแนวทางใหม่ต่อวิธีการทำงาน การดำเนินธุรกิจ และการมีปฏิสัมพันธ์กันของผู้คน
ขณะเดียวกันธุรกิจต่างแข่งขันกันเพื่อมุ่งสู่อนาคตที่แตกต่างไปจากเดิม สิ่งที่เคยออกแบบมาสำหรับธุรกิจ เช่น เทคโนโลยี Extended Reality, Blockchain, Digital Twin, Edge Computing ต่างกำลังปรับตัวเข้ามาประสานกันหมด และจะพลิกประสบการณ์ของมนุษย์ในรูปแบบใหม่
4 จุดเปลี่ยนใหญ่ จากยุค “Internet of Data” สู่ยุค “Internet of Place”
หากมองย้อนกลับไปในวันที่ “อินเทอร์เน็ต” เริ่มมีการใช้งานแพร่หลายมากขึ้น นับตั้งแต่ช่วงปี 1990’s ถึงปัจจุบัน จะเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การใช้งานเทคโนโลยี วิถีชีวิตและพฤติกรรมผู้บริโภค สามารถแบ่งเป็น 4 จุดเปลี่ยนใหญ่คือ
– ปี 1990’s ยุค “Internet of Data” ในวันที่เกิดอินเทอร์เน็ต และเริ่มมีการใช้งานมากขึ้น ช่วงเวลานั้นมนุษย์ใช้งานอินเทอร์เน็ต เพื่อค้นหาข้อมูล (Data) จาก www. แหล่งต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วโลก
– ปี 2000’s ยุค “Internet of People” เป็นยุคที่เกิด Social Media มากมาย เช่น facebook, twitter, Instagram, LinkedIn บทบาทของอินเทอร์เน็ต ไม่ได้เป็นเพียงค้นหาข้อมูลเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงคนทั่วโลกเข้าหากัน
– ปี 2010’s ยุค “Internet of Things” (IoT) เริ่มมีเทคโนโลยีและอุปกรณ์ Smart Device มากมาย เช่น Wearable Device, Drone, เทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ โดยที่อุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ สามารถเชื่อมต่อและพูดคุยกันเอง สร้างความสะดวกสบายให้กับมนุษย์มากขึ้น
– ปี 2020’s ยุค “Internet of Place” หรือเรียกว่า The Future of Internet ซึ่งเป็นยุค Metaverse และก้าวสู่ “Web3” ภายใต้แนวคิด Decentralize ด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ อาทิ Blockchain, AI, Big Data, Digital Assets เช่น Cryptocurrency, NFTs (non-fungible tokens) ทำให้เกิดการผสานระหว่าง “โลกจริง” (Real World) กับ “โลกเสมือน” (Virtual World) และคนมีประสบการณ์ดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งนับวันเส้นแบ่งทางกายภาพ กับโลกเสมือนบนดิจิทัลจะเริ่มเลือนรางมากขึ้น
ยิ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่เกิด COVID-19 กลายเป็นตัวเร่งให้องค์กรธุรกิจเล็งเห็นแล้วว่าเทคโนโลยีมีบทบาทต่อการขับเคลื่อนองค์กร ทั้งการกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจ และไปถึงจุดหมายที่วางไว้
จากรายงาน Accenture ฉบับล่าสุด เก็บข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารด้านธุรกิจและเทคโนโลยีกว่า 4,600 คนจาก 23 อุตสาหกรรม ใน 35 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าทั้งผู้บริหารไทย และผู้บริหารทั่วโลกมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นพลังขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ขององค์กให้มีทางเลือกและโอกาสมากยิ่งขึ้น
4 เทรนด์โลกที่องค์กรธุรกิจควรตระหนัก
รายงาน Technology Vision 2022 ระบุถึง 4 แนวโน้มสำคัญที่องค์กรธุรกิจควรตระหนัก ประกอบด้วย
1. WebMe: Putting the Me in Metaverse – โลกเสมือนจริงบน Metaverse
กลยุทธ์การขับเคลื่อนองค์กรที่พัฒนาขึ้นมาบนพื้นฐานของอินเทอร์เน็ตยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นโลกดิจิทัลที่แพลตฟอร์มต่างๆ อาจจะไม่สามารถทำงานร่วมกัน หรือโอนย้ายข้อมูลระหว่างกันได้สะดวก แต่ “Metaverse” (เมตาเวิร์ส) และ “Web3” มีความพร้อมในการกำหนดทิศทางของอินเทอร์เน็ตใหม่ โดยแทนที่จะเป็นคลังเพื่อรวมเว็บไซต์และแอปหลากหลายประเภท แต่จะมองไกลไปข้างหน้าด้วยการเป็น Metaverse ที่นำไปสู่การสร้างสภาพแวดล้อม 3 มิติต่อเนื่อง ทำให้การย้ายจาก “ที่หนึ่ง” ไปยังอีก “ที่หนึ่ง” ทำได้ง่ายเหมือนเดินออกจากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่ง
ตัวอย่างธุรกิจที่นำ Metaverse มาใช้
– NIKELAND สร้างโลกเสมือนจริงบน Roblox ไม่ใช่แค่เกม แต่เพื่อเชื่อมต่อระหว่างโลกเสมือนจริง กับโลกจริง เช่น ลูกค้าได้รับประสบการณ์ในโลกเสมือนจริงของ Nike ที่มีทั้งร่างอวตาร์, มี Digital Showroom และกิจกรรมต่างๆ ลูกค้าสามารถทำได้ผ่านสมาร์ทโฟน และเชื่อมต่อประสบการณ์ในโลกเสมือนนี้ไปจนถึงร้านของ Nike
– TraceHarvest เป็น Agricultural Blockchain ให้ลูกค้าสามารถติดตามและตรวจสอบเส้นทางผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรนั้นๆ ได้ตั้งแต่ก่อนปลูก เอาเมล็ดพืชหย่อนลงในดิน ปุ๋ยที่ใช้ การควบคุมอุณหภุมิต่างๆ ไปจนถึงจุดขาย เช่น ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ว่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรออแกนิคนั้นๆ เป็นออแกนิคจริงหรือไม่ และปัจจุบันมีการรับ Cryptocurrency มาทำธุรกรรม
– BMW เอาคอนเซ็ปต์ Metaverse มาสร้าง “Virtual Factory” หรือโรงงานเสมือนจริงที่สามารถสร้างสรรค์โปรดักต์ ด้วยการทำภาพ 3D ทำให้ผู้ซื้อสามารถเห็นตั้งแต่จุดเริ่มต้นการผลิต, วัสดุที่ใช้ในการประกอบรถ ทั้งภายนอก-ภายใน
2. Programmable World: Our Planet, Personalized – โลกที่กำหนดและปรับแต่งได้
เมื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง 5G, Ambient Computing, AR (Augmented Reality) และอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ มีความสามารถที่ล้ำหน้ามากขึ้น สภาพแวดล้อมทางดิจิทัลจะเชื่อมโยงกันเป็นโครงสร้างของโลกทางกายภาพ สิ่งแวดล้อมเหล่านี้
ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อรูปแบบการติดต่อสื่อสาร และการมีส่วนร่วมของคนกับโลกในมุมต่างๆ แต่ยังกำหนดนิยามของทุกอย่างในโครงสร้างนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้คนรับรู้สัมผัส โต้ตอบ และออกแบบชีวิตในนั้น
– 92% ของผู้บริหารเห็นด้วยว่า องค์กรชั้นนำจะมีบทบาทขับเคลื่อนให้ขอบเขตของโลกเสมือนเข้ามาใกล้ความจริงมากขึ้น โดยต้องทำให้การเดินทางระหว่างโลกดิจิทัล และโลกทางกายภาพเป็นไปอย่างต่อเนื่องและราบรื่น
ตัวอย่างธุรกิจที่เอาเทรนด์ Programmable World ปรับใช้
– Amazon ทำโครงการทดลอง “Amazon Sidewalk” ด้วยการทำให้อุปกรณ์ IoT ของ Amazon สามารถเชื่อมต่อได้และแชร์ข้อมูลระหว่างอุปกรณ์ IoT ด้วยกันเองได้ แม้ไม่มีสัญญาณ wifi ผ่าน Bluetooth และคลื่นความถี่ 900 MHz เช่น Amazon Echo, Ring Security Camera, Motion Sensors เช่น เวลาผู้สูงอายุออกไปทำสวนนอกบ้าน ถ้าเกิดอุบัติเหตุอะไรก็ตาม อุปกรณ์กล้อง IoT ที่อยู่ในโปรเจค Amazon Sidewalk สามารถตรวจับได้ แม้ไม่มีสัญญาณ wifi แล้วส่งแจ้งเตือนให้กับสมาชิกในบ้าน หรือคนในชุมชนนั้นๆ
– INMO AR Smart Glasses แว่นอัจฉริยะปรับแต่งได้สำหรับผู้ใช้งาน มีทั้งฟีเจอร์ GPS วัดความเร็ว ระยะทาง แผนที่ 3D ระดับความสูง เข็มทิศ สำหรับคนที่ขับขี่ หรือเล่นกีฬา Outdoor, ฟีเจอร์ควบคุมง่ายต่อการใช้ง่าย รองรับทั้งแบบสัมผัส สัญญาณท่าทาง และเซ็นเซอร์จับความเคลื่อนไหวศรีษะ, ฟีเจอร์ผู้ช่วย AI รองรับการจดจำภาพ-ใบหน้า-วัตถุ การแปลภาษาต่างประเทศ และฟีเจอร์ติดต่อสื่อสาร ทั้งวิดีโอ การโทร รับข้อความ และแจ้งเตือนข้อความ เพื่อเชื่อมต่อทุกที่ทุกเวลา
3. The Unreal: Making Synthetic, Authentic – โลกที่ไม่แท้จริง (The Unreal: Making Synthetic, Authentic)
ธุรกิจและสภาพแวดล้อมต่างๆ จะทำงานด้วยข้อมูลจาก AI มากขึ้น สะท้อนให้เห็นโลกทางกายภาพได้อย่างเสมือนจริง ดังนั้น AI จึงมีความสำคัญมากที่สุดต่อธุรกิจยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา เพราะทั้งองค์กรและผู้บริโภคมีมุมมองเปลี่ยนไป จากที่เคยเทียบของจริงกับของปลอม กลายเป็นการมองที่ความแท้ (authentic) ที่ไม่ใช่แค่ความแท้จากเนื้อหาและอัลกอริทึมขององค์กร แต่รวมถึงตัวแบรนด์ทั้งหมดด้วย เมื่อโลกไม่แท้จริงกลายมาเป็นโลกจริง จึงถึงเวลาที่ธุรกิจต่างๆ ต้องเตรียมธุรกิจของตนให้พร้อม
– 96% ของผู้บริหารก็ระบุว่า องค์กรของตนมุ่งมั่นในการพิสูจน์ต้นทางข้อมูลและการใช้ AI ให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
ตัวอย่างธุรกิจที่กำลังเข้าสู่ The Unreal
– SK-II เอาเทคโนโลยี Synthetic มาใช้ ด้วยการสร้าง “Yumi” เป็น Animated Digital Influencer สามารถโต้ตอบและพูดคุยกับลูกค้า เพียงแค่ลูกค้ายืนอยู่หน้า Yumi ทาง Yumi ซึ่งมีกล้องติดตั้งไว้ จะรู้ได้ทันทีว่าลูกค้าคนนั้นๆ มีสภาพผิวอย่างไร แล้วจึงแนะนำผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์สภาพผิวของคนนั้นๆ
– Project Origin ความร่วมมือระหว่าง Microsoft, BBC, CBS, The New York Times เนื่องจากทุกวันนี้มีข้อมูลข่าวสารมากมาย มีทั้งข่าวจริง และข่าวปลอม ดังนั้นโปรเจคนี้จึงตั้งขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่าข่าวที่เสพอยู่นั้นเป็นข่าวจริง มีที่มาที่ไปชัดเจน ขณะเดียวกันเพื่อปกป้องความน่าเชื่อถือของสื่อที่สร้างชื่อเสียงมายาวนาน
– AI News Anchor เป็นผู้ประกาศข่าวหญิง AI แรกของโลก ของสำนักข่าว Xinhua สร้าง Virtual Newsroom หรือห้องข่าวเสมือนจริง และให้ผู้ประกาศข่าว AI อ่านข่าวที่เป็น Breaking News ที่ถูกส่งเข้ามาจากที่ต่างๆ ทั่วโลก
4. Computing the Impossible: New Machines, New Possibilities – ประมวลผลได้ แม้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ความก้าวหน้าของอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ ทำให้องค์กรต่างๆ สามารถขยายขีดจำกัดของสิ่งที่คอมพิวเตอร์เคยแก้ปัญหาได้ เช่น เทคโนโลยี Quantum Computing และการประมวลผลจากข้อมูลชีวภาพ (biology-inspired computing) ได้ช่วยให้ธุรกิจสามารถแก้ปัญหาจากเดิมที่หากใช้เทคโนโลยีการประมวลผลแบบเก่า อาจจะมีราคาแพงเกินไป ไม่มีประสิทธิภาพ หรือเป็นไปไม่ได้เลย
เมื่อ “ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่” ลดระดับกลายเป็นกระบวนการทำงานที่เล็กลง ทำให้องค์กรต่างๆ เปลี่ยนแปลงวิธีการแข่งขัน การมอบคุณค่าให้ลูกค้า และการสร้างความร่วมมือระหว่างกันไปอย่างสิ้นเชิง
– ผู้บริหาร 94% เห็นด้วยว่าความสำเร็จในระยะยาวจะขึ้นอยู่กับการใช้เทคโนโลยีประมวลผลยุคใหม่ที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่อาจจะเกินการควบคุมได้
ตัวอย่างของการนำเทคโนโลยี Quantum Computing มาใช้
– Cambridge-1 เป็น Supercomputer อยู่ในอังกฤษ สร้างขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง NVDIA และพันธมิตร เช่น Astrazeneca, GSK, King’s College London มีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยด้านสุขภาพและทางการแพทย์ รวมทั้งปลดล็อกความเข้าใจเชิงลึกของโรคและความก้าวหน้าทางแพทย์ของสหราชอาณาจักร
“เรากำลังจะได้เห็นอินเทอร์เน็ตยุคใหม่ ซึ่งจะผลักดันให้เกิดคลื่นลูกใหม่แห่งการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล (digital transformation) ที่ไปได้ไกลกว่าในปัจจุบัน ตลอดจนเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตและการทำงานของพวกเราไปโดยสิ้นเชิง
“เมื่อเส้นแบ่งระหว่างชีวิตทางกายภาพและดิจิทัลของคนเราเลือนรางมากขึ้น องค์กรก็มีทั้งโอกาสและหน้าที่ในการสร้างเมตาเวิร์สอย่างรับผิดชอบไปพร้อมๆ กันรวมถึงประเด็นความเชื่อมั่น ความยั่งยืน ความปลอดภัยส่วนบุคคล ความเป็นส่วนตัว การเข้าถึงและใช้งานอย่างรับผิดชอบ และความหลากหลาย ซึ่งการลงมือทำและการเลือกขององค์กรในวันนี้ จะเป็นการปูทางไปสู่อนาคต” คุณปฐมา จันทรักษ์ กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย สรุปทิ้งท้าย