คำพูดที่ว่าคนไทยเป็นคนใจกว้างเปิดรับได้ง่ายโอเพนมายด์กับทุกสิ่งอาจจะไม่เกินจริง ยิ่งอะไรที่เป็นกระแส อะไรที่ใหม่มา คนไทยเราก็จะโอบรับต้อนรับได้ง่ายด้วยดีเสมอ อย่างล่าสุด 2 กระแสดังที่กระหึ่มโซเชียลฯ ชนิดที่ไม่ว่าจะเปิดไปที่ไหนก็ต้องมี 2 น้องไอ่ต้าวน่ารักนี้ถูกพูดถึงอย่างเสมอ ได้แก่ “ลาบูบู้” (Labubu) และ “หมีเนย” (Butterbear) นั่นเอง
สำหรับ “ลาบูบู้” (Labubu) ตอนนี้ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็รู้จักกันไปหมด สินค้าอาร์ตทอยชื่อดังจากประเทศจีน ออกแบบโดย Kasing Lung (คาซิง ลุง) ศิลปินชาวฮ่องกงผู้ออกแบบจักรวาล The Monsters Series ผลักดันโดยช้อปดัง POP MART ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาร์ตทอยส์รายใหญ่ระดับโลก
ขณะที่ “หมีเนย” (Butterbear) เป็นมาสคอตจากร้านคาเฟ่ Butterbear ร้านขนมหวานในเครือ Coffee Beans by Dao ความโด่งดังของน้องหมีเนย เกิดจากความน่ารักตะมุตะมิ บวกกับท่าเต้นโยกย้ายน่าหยิกของต้าวหมีที่ทำให้สาวกใจละลายกันไปเป็นแทบๆ ซึ่งตอนนี้น้องไม่ได้โด่งดังแค่ไทยแต่ไปไกลถึงแม่ๆ ชาวจีนก็แห่บินมาดูกันเลยทีเดียว
ดังนั้น เราลองมาเทียบดูสิว่า 2 ไอ่ต้าวน่ารักนี้มีกระแสบนโซเชียลฯ เป็นอย่างไรบ้าง โดยเราใช้เครื่องมือ Zocial Eye ของ Wisesight ซึ่งเป็น Social Listening tools ชื่อดังและน่าเชื่อถือระดับโลกมาลองเช็คกระแสความนิยมบนโลกโซเชียลฯ ว่า 2 น้องนี้ ผู้คนบนโลกออนไลน์เขามี Engagement กับ “ลาบูบู้” และ “หมีเนย” อย่างไรกันบ้าง
“ลาบูบู้” ครองใจชาว Facebook สร้าง Engagement มากกว่า 3 ล้าน
สำหรับ “ลาบูบู้” มอนสเตอร์น้อยน่าหยิก ได้รับความสนใจจากชาวเน็ต ดังนี้
- ช่องทางแพลตฟอร์มที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดได้แก่ Facebook ถูกพูดถึงมากกว่า 28% หรือ 35,303 messages (3,893,631 engagement)
- ช่องทางที่พูดถึงรองลงมาคือ X (Twitter) ที่คิดเป็น 84% หรือ24,083 messages ( 1,210,574 engagement)
- ตามมาด้วย Instagram ที่พูดถูกมากกว่า 13,589 messages (3,704,892 engagement)
- คีย์เวิร์ดที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ “ลาบูบู้” ที่ถูกพูดถึงไปมากกว่า 62,987 message (19,700,549 engagement)
- ในขณะที่คีย์เวิร์ด “Labubu” ถูกพูดถึงที่ 30,008 message (9,366,365 engagement)
- ทั้งนี้ ช่วงเวลาที่กราฟพุ่งสูงที่สุดคือประมาณ วันที่ 8-9 พฤษภาคมที่ผ่านมา
“หมีเนย” ครองใจชาว X สร้าง Engagement มากกว่า 10 ล้านข้อความ
ขณะที่เจ้าน้อง “หมีเนย” ซึ่งตอนนี้กระแสแรงสุดๆ ไปเลย มีข้อมูลในโซเชียลฯ ที่น่าสนใจ ดังนี้
- ช่องทางแพลตฟอร์มที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดคือ X (Twitter) ถูกพูดถึงมากกว่า 82.93% หรือ 44,712 messages (10,019,040 engagement)
- ช่องทางที่พูดถึงรองลงมาคือ Facebook ที่คิดเป็น 6.5% หรือ 3,531 messages (893,703 engagement)
- ตามมาด้วย Instagram ที่พูดถูกมากกว่า 2,563 messages (4,895,572 engagement)
- TikTok ที่พูดถูกมากกว่า 2,194 messages (46,554,639 engagement)
- ส่วนวันที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือวันที่ 28 มิถุนายน หรือเป็นวันที่น้องหมีเนยหรือ ButterBear ไปออกรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ซึ่งโชว์ความน่ารักจนทำให้เหล่าคนดูตกหลุมรักนั่นเอง
- สำหรับคีย์เวิร์ดที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือคำว่า “ButterBear” ที่ถูกพูดถึงไปมากกว่า 33,530 message (60,207,014 engagement)
- ในขณะที่คีย์เวิร์ด “หมีเนย” ถูกพูดถึงที่ 24,619 message (22,268,429 engagement)
View this post on Instagram
ภาพรวมของ 2 น้องไอ่ต้าวขวัญใจคนไทย
นอกจากนี้ เมื่อมองโดยภาพรวมแล้วจะพบว่าคีย์เวิร์ดของ Labubu มีจำนวนข้อความอยู่ที่ 83,516 message (24,364,686 engagement) ขณะที่ คีย์เวิร์ดของ ButterBear ได้รับการมีส่วนร่วมที่สูงมาก 62,511,129 engagement (53,919 message) และได้รับค่าเฉลี่ยการมีส่วนร่วมต่อข้อความต่อวันที่ 922,627.74 engagement
ส่วนภาพรวมของ Sentiment ในแต่ละกลุ่มข้อความพบว่า ButterBear มีข้อความในเชิงบวกมากถึง 37.09% (20,309 messages) และ Labubu มีข้อความเชิงบวกที่ 22.39% (18,838 message)
Cute Marketing กลยุทธ์การตลาดจากไอ่ต้าว ที่ผู้บริโภคแพ้ทางอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ขวัญใจคนไทย อาจจะไม่สามารถมาเทียบกันได้ในเชิงพาณิชย์ หรือในเชิงสถิติ เพราะด้วยช่วงเวลาที่ดังก็คนละช่วงเวลา ที่สำคัญคือเป็นการทำหน้าที่กันคนละอย่างโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่คู่แข่งกันแต่อย่างใด หนึ่งคือสร้างมาเพื่อเป็นโปรดักส์โดยเฉพาะ อีกสิ่งหนึ่งคือสร้างมาเพื่อเป็นไอโคนิกให้กับแบรนด์
อย่างไรก็ตาม เราได้นำ Data ดังกล่าวมาเพื่อให้เห็นถึงความสนใจของผู้บริโภคและพฤติกรรมของผู้บริโภคในช่วงเวลานั้นๆ ที่มีต่อ 2 กระแสนี้ว่าเป็นอย่างไร ในโซเชียลฯ ตอนรับกับสิ่งนี้ในช่องทางไหนบ้าง ในแง่มุมไหนบ้าง เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า คนไทยเป็นผู้บริโภคที่ตื่นตัวกับสิ่งใหม่ เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ค่อนข้าง Trendy ตื่นตัวอยู่เสมอ อะไรที่เป็นสิ่งใหม่มักจะตอบรับอย่างดีจากคนไทย
และค่อนข้าง #ใจบาง กับอะไรที่ขายความน่ารัก ความตะมุตะมิ มักจะพิชิตใจคนไทยได้อยู่บ่อยๆ นั่นเอง จนทำให้เกิดกลยุทธ์การตลาดที่เรียกว่า Cute Marketing (อ่านเพิ่มเติม) ที่อาศัยความน่ารักเป็นจุดขายเอาชนะใจผู้บริโภคได้ จนทำให้เกิดคำว่า #โดนตก #อ่อนแอก็แพ้ไป หรือ #ต้านไม่ไหวก็ต้องเข้าร่วม ท้ายที่สุดหลายคนก็ต้องตกเป็นทาสการตลาดของความน่ารัก ยอมควักกระเป๋าซื้อสินค้าจากแบรนด์นั้นๆ ในที่สุดนั่นเอง
ขณะที่นักการตลาด หากจะทำแคมเปญที่ใช้ Cute Marketing สิ่งหนึ่งที่สามารถเสริมกำลังของกลยุทธ์นี้ได้ดี คือการเพิ่มความ Humanization เข้าไปด้วย คือการทำให้เป็นมนุษย์มากขึ้น เพราะจะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย จับต้องได้ และรู้สึกใกล้ตัวมากขึ้นด้วย มากกว่าแค่ดูก็น่ารัก แต่เรายังรู้สึกว่าใกล้เคียงกับตัวเราและยังทำการสื่อสารได้ เช่น น้องหมีเนย ที่ใช้ท่าเต้น ท่าทาง เหมือนเด็กน้อยคนหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้คนหลงรักความน่าเอ็นดูของน้อง และรู้สึกว่าหมีเนยเป็นหนูน้อยคนหนึ่งจริงๆ หรือน้องหมา “จุ๊มเหม่ง” ที่เมื่อใส่เสียงพากย์ลงไป ก็ทำให้สื่อสารได้พูดได้เหมือนเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ยิ่งสร้างความใกล้ชิดกับผู้คนมากขึ้น ซึ่งการตลาดลักษณะนี้มีมานานแล้วและก็ยังโดนใจผู้บริโภคอยู่ตลอด หากนำสองสิ่งมาผสมรวมกันก็จะสร้างให้คาแรคเตอร์ความน่ารักของแบรนด์โดดเด่นขึ้นนั่นเอง.
เครดิตภาพ
https://www.facebook.com/profile.php?id=100093270674072
https://www.instagram.com/butterbear.th/