ผ่านครึ่งปีแรกของปี 2023 มาแล้ว เกิดเทรนด์มากมายในแวดวงธุรกิจการตลาด และหลายเทรนด์แม้จะมีมาสักพักแล้ว แต่เริ่มเห็นการขยายตัวมากขึ้น และมีแนวโน้มจะเข้ามา Disrupt วิธีคิด วิธีการทำงาน และโมเดลธุรกิจครั้งใหญ่ เช่น เทคโนโลยี AI โดยเฉพาะกลุ่มที่มาแรงอย่าง Generative AI, การเพิ่มขึ้นของการใช้ MarTech, การเติบโตของ Affiliate Marketing เทรนด์เหล่านี้จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันผู้คน
มาอัปเดตกันว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2023 และปี 2024 เทรนด์ที่เกิดขึ้นแล้ว จะมีพัฒนาการไปในทิศทางใด และจะมีเทรนด์ใหม่อะไรบ้างจากงาน Creative Talk Conference หรือ CTC 2023 หัวข้อ “Trend 2024: Marketing”
โดยสองนักการตลาด คุณสิทธินันท์ พลวิสุทธิ์ศักดิ์ CEO of Content Shifu และ คุณสุนาถ ธนสารอักษร EO & Co-Founder, Rabbit’s Tale ได้มาฉายภาพเทรนด์การตลาดในปี 2023 และปี 2024 ที่นักการตลาด ธุรกิจ หรือแบรนด์ไม่ควรพลาด
1. คนในสังคมมี “Value Gap” ต่างกัน แบรนด์ต้องมี “ความเชื่อมโยง” ที่ตรงกับค่านิยม–วิถีชีวิตของกลุ่มเป้าหมาย
คุณสุนาถ เล่าว่า ช่วงที่ผ่านมามีการพูดถึง Generation Gap กันมาก แต่ต่อไปไม่ใช่การมองความแตกต่างด้านอายุ แต่เป็นเรื่องของ “Value Gap” คือ ความแตกต่างของการให้คุณค่าของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม ที่แต่ละคนมีความสนใจ มีวิธีคิด หรือ mindset และพื้นเพภูมหลังของชีวิตที่ไม่เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้นำมาสู่ความแตกต่างของแต่ละคน ซึ่งเป็นสิ่งที่แบรนด์ควรทำความเข้าใจ
พร้อมยกรายงานวิจัย The Shift from Image to Impact ของ Ogilvy ระบุว่า
– ในอังกฤษมีประชาชน 42% เชื่อว่ารัฐบาล หรือหน่วยงานรัฐจะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้
– ในสหรัฐอเมริกา มีประชาชน 33% เชื่อว่ารัฐบาล หรือหน่วยงานรัฐจะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้
ตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าคนอังกฤษและคนอเมริกันมากกว่าครึ่งหนึ่ง รู้สึกเฉยๆ หรือไม่เชื่อว่ารัฐบาล หรือหน่วยงานรัฐจะช่วยแก้ปัญหาสังคมได้ นั่นหมายความว่าผู้คนเลิกคาดหวังการแก้ปัญหาสังคมจากภาครัฐแล้ว แต่หันมาคาดหวังกับแบรนด์ หรือธุรกิจ โดยต้องการให้แบรนด์ลุกขึ้นมามีบทบาทในการช่วยเหลือชีวิตของพวกเขาให้ดีขึ้นในประเด็นทางสังคมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม ความเท่าเทียม และสิทธิต่างๆ ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวเกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วยเช่นกัน
“ความท้าทายของแบรนด์ในยุคนี้คือ “Relevancy” คือ ความเชื่อมโยง หรือความเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนจริงๆ ถ้าแบรนด์ไม่สามารถมี Brand Value ที่ตรงกับหรือสอดคล้องกับวิถีชีวิต หรือค่านิยมของคนที่อยู่ในสังคม หรือกลุ่มเป้าหมายแบรนด์ได้ จะทำให้เกิด “Lost Connection” คือ แบรนด์ไม่สามารถเชื่อมโยงกับผู้คนได้
เพราะฉะนั้นจากประเด็น Value Gap คือ แบรนด์สามารถดำเนินการได้ใน 2 ทางคือ 1. แบรนด์ หรือธุรกิจจะไม่สนใจประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคม แล้วยืนอยู่บนสิ่งเดิมที่ทำมา แบรนด์จะค่อยๆ ออกห่างจากผู้บริโภคไปเรื่อยๆ และ Brand Relevancy หรือความเชื่อมโยงระหว่างแบรนด์ กับผู้บริโภคจะลดไปเรื่อยๆ
หรือ 2. แบรนด์ หรือธุรกิจกลับมา Rethink และหาว่าอะไรเป็น Purpose ของแบรนด์ที่ยังเชื่อมโยงกับผู้คนที่เป็นผู้บริโภคของแบรนด์”
2. “Generative AI” ผลักดันให้ “AI” เข้าสู่ยุค Mass Adoption
อีกหนึ่งเทรนด์ที่จะมีบทบาทกับธุรกิจการตลาดมากขึ้นคือ “เทคโนโลยี AI” แม้จะถูกนำมาใช้ด้านการตลาดมาหลายปีแล้ว เช่น ใช้ AI ทำด้าน Social Algorithm, ด้านการจับ Sentiment หรืออารมณ์ของคน
“แต่การเข้ามาของ “Generative AI” เป็น AI ที่สามารถสร้างคอนเทนต์ได้ และคนทั่วไปใช้งานได้ จะทำให้ “AI” Go Mass เกิดการใช้งานแพร่หลายมากขึ้น” คุณสิทธินันท์ กล่าวเพิ่มเติม
3. “Security – Copyright” ความกังวลใหญ่ในโลกยุค AI
อย่างไรก็ตามเมื่อ AI เกิดการใช้งานแพร่หลาย สิ่งที่ตามมาคือ ประเด็นด้าน “Security” ความปลอดภัยด้านข้อมูล และ “Copyright” ประเด็นลิขสิทธิ์
เช่นกรณี Getty Images ผู้ให้บริการสต็อกภาพ ดำเนินการฟ้องร้อง Stability AI ผู้พัฒนาเทคโนโลยี Stable Diffusion เป็น AI เกี่ยวกับภาพ ด้วยเหตุที่ว่านำภาพจาก Getty Images ไปใช้ฝึก AI เพื่อให้ประมวลผลออกมาเป็นภาพตามคำสั่งที่ป้อนเข้าไป
หรือ Microsoft เข้าไปลงทุนใน OpenAI รับรู้ถึงความกังวลขององค์กร หรือแบรนด์ในด้านความปลอดภัยข้อมูลจะหลุดรั่วออกไปการใช้ AI จึงเปิดตัวโซลูชั่น AI สำหรับองค์กรโดยเฉพาะ เพื่อให้องค์กรป้อนข้อมูลใช้สำหรับฝึก AI แต่ละองค์กรโดยเฉพาะ โดยข้อมูลที่ป้อนเข้าไปนั้น จะไม่ถูกเอามารวมกับ ChatGPT หรือ Generative AI อื่นของ OpenAI ที่เปิดให้ใช้งานกันทั่วไป
4. “Privacy” กระตุ้นให้แบรนด์ให้ความสำคัญ First-party Data และ Zero-party Data
ทุกวันนี้ผู้คนกังวลด้านความเป็นส่วนตัวมากขึ้น และหลังจากกฎหมาย PDPA มีการบังคับใช้ในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย พบว่าหลายบริษัทปรับตัว หันมาให้ความคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้มากขึ้น
เช่น Apple พัฒนา iOS ที่ช่วยป้องกันความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน หรือกรณี Google มีแผนที่จะยกเลิก Third-party Cookies ทำให้แบรนด์ต้องหันมาเก็บข้อมูลที่แบรนด์/องค์กรเก็บเอง (First-party Data) และข้อมูลที่ผู้บริโภคหรือลูกค้าเป็นผู้บอกเอง เต็มใจให้ (Zero-party Data)
“สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ Data ที่แบรนด์เป็นเจ้าของเอง ทั้ง First-party Data และ Zero-party Data จะยิ่งสำคัญมากขึ้น เพราะไม่มีใครสามารถเอาไปจากเราได้” คุณสิทธินันท์ กล่าวย้ำ
5. องค์กรจะลงทุนกับ “MarTech” มากขึ้น
ปัจจุบันมีเทคโนโลยีด้านการตลาด หรือ MarTech ทั้งของต่างประเทศ และไทยมากมาย สอดคล้องกับแนวโน้มองค์กรจะลงทุนใช้งาน MarTech เพิ่มขึ้น
จากผลสำรวจ Thailand MarTech Report 2023 ระบุว่า
– ปี 2022 แต่ละองค์กรในไทยใช้งาน MarTech โดยเฉลี่ย 11.37 เครื่องมือ
– ปี 2023 แต่ละองค์กรในไทยใช้งาน MarTech โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 16.7 เครื่องมือ
– 77% ขององค์กร มีแผนจะลงทุนใน MarTech มากขึ้น
คาดการณ์ว่าปี 2024 ทิศทางการใช้ MarTech จะยังเพิ่มขึ้น และจะทำให้เครื่องมือต่างๆ สามารถคุยกันเอง ด้วยการเชื่อมต่อผ่าน API หรือท่อส่งข้อมูล
6. “New Economy” สร้างโอกาสธุรกิจใหม่
คุณสุนาถ ฉายภาพระดับมหภาคจะเกิด New Economy สร้างโอกาสธุรกิจใหม่ในไทย เช่น การเกิดขึ้นของรถยนต์ EV ในไทย ส่งผลกระทบต่อค่ายรถยนต์ที่อยู่ในตลาดเดิม ทำให้มีการปรับตัว และจะเกิด Ecosystem อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ EV ตามมา เช่น EV Charger, เทรนด์ Quiet Luxury ในวงการแฟชั่น และแนวคิด ESG (Environment – Social – Government)
นอกจากนี้ที่น่าจับตามองคือ นโยบายภาครัฐที่ปลดล็อคเศรษฐกิจใหม่ เช่น
– นโยบายสุราก้าวหน้า ส่งผลต่อธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
– นโยบายสมรสเท่าเทียม มีผลต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจการเงิน
– อนาคตจะมีนโยบาย Carbon Tax หรือภาษีคาร์บอน
7. “Offline Event” กลับมาบูม
ตั้งแต่ปีนี้ จะเห็นว่าการจัดงาน Offline Event กลับมาแล้ว และจัดขึ้นมากมาย โดยผลสำรวจผู้บริหารระดับ CMO ในองค์กรต่างๆ สอบถามถึงสิ่งที่ผู้บริหารจะลงทุนกับช่องทางไหนในโลกออฟไลน์มากสุด พบว่าคำตอบอันดับ 1 ลงทุนกับการจัด Offline Event มากสุด เนื่องจากผู้คนต้องการมี Interact และ Engagement ระหว่างกัน
8. “Affiliate Marketing” โมเดลการขายมาแรง
ในปี 2023 และปี 2024 “Affiliate Marketing” การตลาดออนไลน์ประเภทหนึ่งที่ผู้ขายจะได้รับค่า Commission จากแบรนด์ หรือร้านค้า เมื่อมี Conversion เกิดขึ้น เช่น การซื้อสินค้า หรือยอดคลิกเข้ามา จะเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น
โดยแพลตฟอร์มที่ทำให้ Affiliate Marketing ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น คือ TikTok และพบว่าปัจจุบันการเป็นผู้ขายให้กับแบรนด์ หรือร้านค้าในรูปแบบ Affiliate Marketing กลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพไปแล้ว
9. ทักษะ “3ร” เตรียมความพร้อมนักการตลาด
คุณสิทธินันท์ สรุปถึงทักษะ (Skill Set) ที่นักการตลาดควรเตรียมความพร้อม คือ 3ร ประกอบด้วย
– เรียนรู้ที่จะเรียนรู้ เพราะโลกเปลี่ยนเร็ว ถ้าเราอยู่กับที่ จะไม่ไปไหน ดังนั้นการเรียนรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของนักการตลาด นักธุรกิจแห่งอนาคต
– เรียนรู้ที่จะเลิกรู้ เพราะความรู้ หรือทักษะที่เคยใช้ได้ผลในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา อาจใช้ไม่ได้ผลแล้วในปีหน้าก็ได้ ดังนั้นต้องกล้าที่จะ Unlearn
– เรียนรู้ที่จะเลิกเรียน เมื่อโลกเปลี่ยนเร็ว มีความรู้และทักษะมากมายให้เรียนรู้ตลอด แต่ต้องพิจารณาดูว่าความรู้ หรือทักษะไหนสำคัญกับตัวเรา – กับอาชีพของเรา เพราะเป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะรู้ไปหมดทุกอย่างบนโลกใบนี้ ส่วนเรื่องไหนที่ไม่สำคัญกับอาชีพ หรือกับชีวิตของเรา รู้เผินๆ ก็เพียงพอแล้ว
10. “Experience is God” การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภคแต่ละคน
คุณสุนาถ สรุปทิ้งท้ายถึง 3 สิ่งที่แบรนด์ควรมี คือ
– กระดุมเม็ดแรกที่ต้องติดให้ถูกต้องคือ Purpose เป็นเหมือนเข็มทิศของแบรนด์ที่ชัดเจน โดย Brand Purpose ต้องสามารถเชื่อมต่อกับสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ให้คุณค่า
– Outstanding แบรนด์ต้องสร้างความโดดเด่น มีความกล้าในการทำสิ่งที่เป็น Game Ghanger และคิดในมุม Disruptive มากขึ้น
– Always-on เชื่อมต่อกับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง
“ที่ผ่านมาเรามักได้ยินมาตลอดว่า Content is king, Distribution is Queen แต่ถ้ายกระดับขึ้นไปอีกขั้น ณ วันนี้ อยากให้โฟกัสคำว่า Experience เพราะ experience is God แบรนด์เข้าใจประสบการณ์ผู้บริโภค และสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับผู้บริโภคแต่ละคน”