ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าปรากฏการณ์คอนเทนต์ที่เกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้ ไม่ว่าจะในรูปแบบของ Text, ภาพ หรือวิดีโอส่วนใหญ่แล้วมาจาก Social Media กลายเป็นไวรัลฮิตพูดถึงทั่วบ้านทั่วเมือง ซึ่งนับวันจะเกิดกระแสมากมาย และยิ่งมาเร็ว ไปเร็วมากขึ้น ในขณะที่บรรดาแพลตฟอร์ม Social Media ต่างปรับ algorithm อยู่ตลอด นี่จึงเป็นความท้าทายของทั้งแบรนด์ เอเจนซี่ content creator และ influencer ที่มีตั้งแต่ mega Influencer ไปจนถึง micro influencer และ nano influencer
Publicis Group Thailand (ปับลิซิส กรุ๊ป ประเทศไทย) จัดงาน “Power of ONE, Powering The Future” เผยเทรนด์การสื่อสาร “Power of Social Content and Influencer” นำเสนอโดย คุณสมิหรา ทันต์เจริญกิจ กรรมการผู้จัดการ ดิจิทาซ ประเทศไทย และ คุณมิณฑารา บัวทอง Senior Strategic Planner ดิจิทาซ ประเทศ ได้ฉายภาพกลยุทธ์การปั้นคอนเทนต์บน Social Media ที่มาแนะนำการโหน Real-time Trend เพื่อทำออกมาเป็น Real-time content ให้ไม่ดูฝืน และเข้ากับตัวตนของแบรนด์ ตลอดจนการใช้ Influencer
เทรนด์ 1: แพลตฟอร์มปรับ Algorithm เกิด Recommendation Media ผู้ใช้งานไม่ต้อง Follow เดี๋ยวเห็นฟีดเอง
ในอดีตฟีดคอนเทนต์บน Social Media จะแสดงขึ้นตามเพจที่เรากด Like หรือกดติดตาม แต่ทุกวันนี้ผลจากการปรับ algorithm ของแพลตฟอร์ม เรามักเจอ “Suggestion for you” เวลาใช้งานในแต่ละครั้ง ทำให้ฟีดคอนเทนต์บน Social Media ของผู้ใช้งานแต่ละคน จะปรากฏเพจ หรือคนที่ไม่ได้กด Like หรือกดติดตาม
Suggestion for you เหล่านี้ เรียกว่าเป็น “Recommendation Media“ ช่วยให้คอนเทนต์ของแบรนด์แสดงบนหน้าฟีดของกลุ่มเป้าหมายที่แบรนด์ต้องการ ทำให้ได้ Organic Reach มากขึ้น ซึ่งเวลานี้บรรดาแพลตฟอร์ม Social Media ต่างๆ กำลังผลักดันคอนเทนต์ “วิดีโอสั้นแบบแนวตั้ง” ไม่ว่าจะเป็น Facebook Stories, IG Reels, YouTube Short
ข้อดีของการทำ Short Video แนวตั้งคือ แบรนด์สามารถนำวิดีโอสั้นแนวตั้งนั้น มาปรับใช้ลงในหลายแพลตฟอร์มได้ แต่ทั้งนี้การปรับใช้ดังกล่าว ต้องทำให้ถูกจริตกับคน หรือชุมชนในแพลตฟอร์มนั้นๆ ด้วย
Key Takeaway:
– ไม่ว่าจะทำคอนเทนต์อะไรก็ตาม แบรนด์ต้องหาความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่แบรนด์ต้องการสื่อสาร กับความสนใจของกลุ่มเป้าหมายว่าจะเชื่อมต่อกันได้อย่างไร เพื่อทำให้คอนเทนต์ของแบรนด์แสดงผลในกลุ่มเป้าหมาย
– การมาของ Short Video กำลังเป็นที่นิยม พบว่าส่วนใหญ่ลูกค้าแบรนด์จะตั้งต้นที่ TikTok เนื่องจากมีความโดดเด่นด้านวิดีโอสั้นแนวตั้ง อย่างไรก็ตามสิ่งที่แบรนด์ควรคำนึงคือ เมื่อทำวิดีโอ TikTok แล้ว ให้เอาวิดีโอนั้นมา utilize ข้ามแพลตฟอร์ม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยหัวใจสำคัญแบรนด์ต้องเข้าใจในความสนใจของผู้ใช้งานแต่แพลตฟอร์ม เพื่อปรับให้ตรงความชอบ-ความสนใจ
เทรนด์ 2: Real-time Trends โหนอย่างไร ไม่ให้เด๋อ ต้องเข้าใจวงจรชีวิตของเทรนด์
สิ่งที่เห็นได้ใน Social Media ทุกวันนี้เกิด Real-time Content มากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่หลายครั้งเรามักไม่รู้ว่ากระแส Viral เหล่านี้จะมาเมื่อไร ในขณะที่แบรนด์ต้องพยายามโหนกระแสให้ทัน ไม่อย่างนั้นจะตกขบวน!
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ตามมาจาก Real-time Content คือ เมื่อเกิดกระแสขึ้นมากๆ และแห่ทำตามกันมากๆ ผู้บริโภคก็เริ่มรู้สึกเบื่อ รู้สึกเฝือ รู้สึกว่าเยอะเกินไป ยิ่งบางแบรนด์ยังไม่รู้ว่ากระแสนั้นๆ เหมาะกับแบรนด์หรือไม่ แต่ตัดสินใจกระโดดเข้าไปเล่นกับกระแส ทำให้กลายเป็นดูฝืน หรือดูไม่เข้ากับแบรนด์ ก็ทำให้ไม่ได้การตอบรับจาก Audience เท่าที่ควร
แล้วแบรนด์จะโหน Real-time Trends อย่างไร ? ก่อนอื่นต้องเข้าใจ “วงจรชีวิตของเทรนด์” ก่อน ซึ่งประกอบด้วย
1. ระยะเกิดเหตุการณ์
2. ระยะตกใจ
3. ระยะวิเคราะห์และดราม่า เมื่อผ่านช่วงตกใจ คนจะเริ่มวิเคราะห์และทำความเข้าใจว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
4. ระยะแมส คนพูดเทรนด์นั้นๆ ทั่วบ้านทั่วเมือง
นอกจากนี้ Real-time Trends แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ
1. Meme มาเร็วไปเร็ว โดยเฉลี่ยเป็นกระแสไม่เกิน 3 วันก็หายไป เพราะฉะนั้นถ้าแบรนด์จะโหน ต้องโหนให้ทัน เล่นให้เร็ว ถ้ามาเล่นทีหลัง คนจะเริ่มเบื่อ ดังนั้นถ้าโหนไม่ทัน ก็ไม่เป็นไร ให้รอเทรนด์ใหม่เกิดขึ้น เพราะเทรนด์ลักษณะนี้เกิดขึ้นใหม่อยู่เรื่อยๆ
ยกตัวอย่างเช่น ล่าสุดเกิดเทรนด์ “เหตุการณ์อะไรที่ทำให้คุณตระหนักว่า…” จากการใช้เครื่องมือ Social Listening มาวิเคราะห์เพื่อดูความนิยมพบว่า กราฟพุ่งสูงขึ้น และตกลงมาภายในวันเดียว
2. เพลง หรือวลีเด็ด มีอายุอยู่นานกว่า โดยเฉลี่ย 1 – 2 เดือน ทำให้แบรนด์มีเวลาเล่นกับเทรนด์ประเภทนี้ เช่น วลีเด็ดงานไม่ใหญ่แน่นะวิ, ดุดันไม่เกรงใจใคร, เลือดกรุ๊ปบี เพราะฉะนั้นเมื่อเป็น Real-time Trend ที่อยู่นาน แบรนด์จึงมีเวลาคิดCreative Idea เพื่อทำ Real-time Content ให้โดดเด่นและดึงความสนใจจากกลุ่มเป้าหมาย
Key Takeaway:
– ไม่ว่า Real-time Trend จะเกิดขึ้นอย่างไร ก่อนที่แบรนด์จะโหน หรือเกาะกระแสเทรนด์นั้นๆ ควรหาความเชื่อมโยงในการโหน และหามุมที่แบรนด์จะได้ประโยชน์จากการทำ Real-time Content
เพราะถ้าหากเทรนด์นั้น ไม่ได้มีจุดเชื่อมโยงกับแบรนด์ เช่น ไม่สอดคล้องกับตัวตน หรือบุคลิกของแบรนด์ ก็ไม่ควรฝืนเข้าไปเล่นกับกระแส และถึงแม้แบรนด์ไม่ได้โหนเทรนด์นี้ เทรนด์หน้ายังมีมาอีกเรื่อยๆ
– ต้องเข้าใจลูกเพจ หรือผู้ติดตามเพจของแบรนด์ด้วยว่าเป็นคนแบบไหน คือ เป็น Early Adopter หากเป็นกลุ่มนี้ แบรนด์ต้องไว ต้องเร็ว เพราะการทำ Real-time Content จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับแบรนด์ได้ในมิติที่ว่าเป็นแบรนด์ที่ทันสมัย อยู่ในกระแส แต่ถ้าเป็น Lat Majority ถ้าแบรนด์เข้าไปเล่นกับกระแสเทรนด์เร็วเกินไป ลูกเพจ หรือผู้ติดตามอาจยังไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นต้องดูลูกเพจ หรือผู้ติดตามแบรนด์ว่าอยู่ใน Stage ไหนระหว่าง Early Adopter หรือ Late Majority
เทรนด์ที่ 3: เมื่อผู้คนมี Micro-interest ก่อเกิดเป็น Community แบรนด์จะตีฟูอินฟลูอย่างไร ให้งานฟูล
อีกหนึ่งเทรนด์ Social Content คือ การใช้ Influencer และ KOLs ยังคงเป็นกลยุทธ์สำคัญของแบรนด์ ซึ่งเดิมทีแบรนด์นิยมใช้ Mega Influencer หรือ KOLs เบอร์ใหญ่ หรือที่มีชื่อเสียงในวงกว้าง เพื่อจุดกระแสให้แบรนด์เป็นที่พูดถึง ควบคู่กับการใช้ Micro Influencer เพื่อสร้างความหลากหลายของรีวิวสินค้าว่าเหมาะสมกับแต่ละไลฟ์สไตล์ หรือตอบโจทย์ Pain Point ต่างๆ อย่างไร และเป็นการเติมเต็มการสื่อสารให้ครบลูปมากขึ้น
แต่ปัจจุบัน ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการเห็นแค่การรีวิวสินค้าตามไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างเท่านั้น หากแต่ผู้คนยังมี “Micro-interest” หรือความสนใจส่วนบุคคลที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น คนค้นหารีวิว เพราะอยากรู้ว่าผลิตภัณฑ์สกินแคร์แบรนด์นั้นๆ ทดลองกับสัตว์หรือไม่ หรือขวดผลิตภัณฑ์สกินแคร์นั้นๆ เป็นขวดรีไซเคิลไหม เป็นต้น
และจาก “Micro-interest” ทำให้เกิด “Micro-culture” ซึ่งจากวัฒนธรรมขนาดเล็กย่อยนี้เอง กลายเป็น Community บนความสนใจที่เหมือนกันมารวมตัว และพูดคุยกัน
แต่วันนี้คนไม่ได้ต้องการแค่เห็นไลฟ์สไตล์ที่แตกต่าง เพราะคนมีสิ่งที่เรียกว่า Micro-interest ทำให้คนสนใจ อ่านโปรดักต์ หรือข้อความต่างๆ เวลาเสิร์ชรีวิวเฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น เช่น คนเสิร์ชรีวิว อาจอยากรู้ว่า skincare แบรนด์นี้ทดลองในสัตว์ไหน ขวดรีไซเคิลได้หรือเปล่า หรือมีอะไรที่ตรงกับความสนใจของเขาได้อีกที่เป็น Micro
จาก Micro-interest นี้ทำให้เกิด Micro-culture ขึ้น และจาก Micro-culture กลายเป็น Community บนความสนใจเหมือนกันมารวมตัว และพูดคุยกัน
Key Takeaway:
– Mega Influencer – Micro Influencer – KOLs เบอร์ใหญ่ยังคงมีความสำคัญกับแบรนด์ในการจุดกระแสให้พูดถึงในวงกว้าง ขณะเดียวกันเมื่อแนวโน้มการเสพคอนเทนต์ของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยสนใจเรื่องเฉพาะเจาะจงมากขึ้น และเชื่อคนรู้ลึก รู้จริง ดังนั้นการใช้ Micro Influencer จึงไม่ใช่แค่การสร้างคอนเทนต์รีวิวเท่านั้น แต่ยังสามารถกระตุ้นการมีส่วนร่วมจาก Micro-interest ของผู้คน ให้กลายเป็น Micro-culture และในที่สุดแล้วจะเกิดเป็น Community ของคนที่สนใจในสิ่งเดียวกัน
เทรนด์ที่ 4: Multi-sensory Content คอนเทนต์จิตสัมผัส มากกว่าตาดู – หูฟัง
ทุกวันนี้คนยังเสพคอนเทนต์ด้วยวิธีตาดู หูฟัง แต่ต่อไปแบรนด์สามารถยกระดับประสบการณ์การเสพคอนเทนต์ให้กับผู้บริโภคได้ดีขึ้นด้วย “Multi-sensory Content” หรือ “คอนเทนต์จิตสัมผัส” โดยสร้าง Sense อื่นๆ เพิ่มขึ้นที่ เพื่อทำให้ผู้บริโภค หรือ Audience เห็นคอนเทนต์นั้นแล้ว สัมผัสได้ถึงประสบการณ์ที่ดื่มด่ำมากขึ้น เช่น รู้สึกเหมือนได้สัมผัส รู้สึกเหมือนได้กลิ่น หรือรู้สึกเหมือนได้ยินเสียง
การสร้าง Multi-sensory Content ต้องเริ่มด้วยการหยิบประสบการณ์ หรือสิ่งที่ Audience รู้จักมาเป็นจุดตั้งต้นในการทำให้เขา Remind หรือหวนนึกถึงอะไรบางอย่าง เช่น การใช้เทคนิค ASMR มาสร้างประสบการณ์ หรือใช้เทคนิคภาพ เสียง การดีไซน์ เพื่อทำให้คนรู้สึกถึง “Immersive Experience” ที่มากกว่าตาดู หูฟัง
Key Takeaway:
– ทำคอนเทนต์ที่สามารถ “เปิดจินตนาการ” ของผู้ฟัง หรือผู้ชม โดยการใช้ประสบการณ์ร่วม หรือ Insight ร่วม ที่นำไปสู่ภาพ หรือเสียงในหัว หรือใช้ Sensory Technique ใหม่ๆ ในการกระตุ้นประสาทสัมผัสอื่น เพื่อทำให้เกิด Immersive Experience มากยิ่ง่ขึ้น
“โลกของคอนเทนต์ในปัจจุบันเราไม่จำเป็นจะต้องไขว่คว้า หรือใช้เวลาในการค้นหามากนัก เพียงแค่เรามีความสนใจเรื่องใดเรื่องนึง ทุก ๆ แพลตฟอร์มบนโลก Social พร้อมที่จะปรับคอนเทนต์ และป้อนสิ่งที่ปัจเจกบุคคลให้ความสนใจอยู่กับเราเอง และสืบเนื่องจากการที่มีปริมาณคอนเทนต์ ครีเอเตอร์เกิดใหม่มากมาย จึงทำให้คอนเทนต์บนโลก Social ดูเหมือนจะกระจัดกระจายนั้นกลับมีความชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากผู้คนมีความสนใจหรือ Interest ที่ชัดเจนขึ้น ด้วยความก้าวหน้าของ Algorithm จึงทำให้เรามองเห็นคอนเทนต์ที่เราสนใจเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าแบรนด์ต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความสนใจนี้ให้ได้ ซึ่งก็คือการอยู่ให้ถูกที่ ถูกเวลา เกาะกระแสในเวลาและหัวข้อที่เหมาะสมและส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้ไปข้างหน้า ซึ่งนั่นก็จะนำไปสู่การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคได้นั่นเอง
และอีกหนึ่งเทรนด์ที่มองข้ามไม่ได้คือคอนเทนต์ที่ผนึกกำลังหรือ Collaboration กันในหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะระหว่างแบรนด์กันเอง, แบรนด์กับ Influencer หรือแม้กระทั่ง Influencer กับสื่อ ซึ่งเรามองว่าการจับมือร่วมมือกันก็เพื่อการยืมเสียงของอีกฝ่ายเพื่อการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่อาจจะมี interest ที่ต่างกัน โดยการสร้างโอกาสเพิ่มการทำความรู้จักกับแบรนด์ที่ตนเองอาจจะไม่คุ้นเคยมาก่อน หรือการสร้างคอนเทนท์ให้มีความน่าสนใจกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นเพื่อกระตุ้นให้อัลกอริทึมกรองคอนเทนท์ให้ไปถึงผู้บริโภคในวงกว้างขึ้นนั่นเอง” คุณสมิหรา ทันต์เจริญกิจ กรรมการผู้จัดการ ดิจิทาซ ประเทศไทย สรุปทิ้งท้าย