พนักงานอาวุโสในระดับบริหารที่มีประสบการยาวนานในองค์กรมักจะมีคำแนะนำที่มีประโยชน์กับพนักงานใหม่ๆที่อายุน้อยๆ แต่ในทางกลับกันพนักงานอายุน้อยๆเหล่านี้ก็มีสิ่งที่สามารถสอนให้กับพนักงานมากประสบการณ์ที่อายุมากกว่าด้วยเช่นกัน
สิ่งนี้คือแนวคิดของวิธีการที่เรียกว่า “Reverse Mentoring” เทคนิคที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใช้ในองค์กรตั้งแต่ในทศวรรษที่ 90 เพื่อให้คนรุ่นใหม่แบ่งปันทักษะเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆให้กับพนักงานรุ่นเก่า และวิธีการนี้ก็ถูกนำมาปัดฝุ่นใช้ใหม่ในองค์กรยุคนี้เพื่อก้าวข้ามความท้าทายในองค์กรในเรื่องต่างๆด้วย
ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการองค์กรระบุว่า Reverse Mentoring ที่จะเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ช่วยสอนบรรดาหัวหน้างานหรือบรรดาผนักงานระดับบริหารไม่ว่าจะเป็นการแชร์ประสบการณ์ การให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ สามารถสร้างประโยชน์มากมายให้กับองค์กรไม่ว่าจะเป็นการทำให้เกิดนวัตกรรมในองค์กร ช่วยดึงดูดพนักงานรุ่นใหม่ให้อยู่กับบริษัทต่อไป รวมถึงช่วยให้พนักงานที่มีอายุแตกต่างกันมากได้เข้าใจซึ่งกันและกันได้ดีขึ้น
Reverse Mentoring คืออะไร?
Reverse Mentoring คือการจับคู่บุคคลากรที่มีช่วงวัยที่ห่างกันมากๆมาไว้ด้วยกันและสนับสนุนให้มีการให้ข้อมูลจากล่างขึ้นบนควบคู่ไปกับการให้คำแนะนำแบบบนลงล่างแบบเดิม เพื่อให้ผู้ที่อาวุโสกว่าได้เรียนรู้บางสิ่งบางอย่างจากคนรุ่นใหม่ โดยวิธีการนี้สามารถปรับใช้ได้หลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการให้คำแนะนำแบบ one-way โดยบุคลากรรุ่นใหม่ให้ข้อมูลหรือสอนอะไรบางอย่างให้กับคนที่อาวุโสกว่า หรืออาจเป็นแบบ two-way คือสามารถแบ่งปันข้อมูลกันทั้งสองฝ่ายหรืออาจจัดเป็นกิจกรรมแบบกลุ่มที่บุคลากรรุ่นใหม่รวมกลุ่มกันพูดคุยหารือกับบุคลากรระดับบริหารตามแต่โอกาสก็ได้
จริงๆแล้ว Reverse Mentoring นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะวิธีนี้ Jack Welch ซีอีโอชื่อดังเคยนำวิธีการ Reverse Mentoring มาใช้กับบริษัท General Electric ของเขาตั้งแต่ในปี 1999 โดยให้พนักงานรุ่นใหม่ระดับจูเนียร์สอนเจ้าหน้าที่ระดับบริหารให้รู้จักโลกอินเตอร์เน็ต และได้เริ่มคุ้นเคยกับเทคโนโลยีให้มากขึ้น
ขณะที่ในยุคนี้นอกจากปัญหาเรื่องช่องวางเรื่องเทคโนโลยีแล้ว ยังมีช่องว่างเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆด้วยไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมการทำงาน และความไม่เข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างคนต่างรุ่น โดยเฉพาะในปัจจุบันสถานที่ทำงานนั้นมีคนหลากรุ่นมากกว่ายุคก่อนไมว่าจะเป็น Baby Boomer, Gen X, Gen Y ไล่ไปจนถึงกลุ่ม Millennial และ Gen Z
นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ในปัจจุบันหลายๆบริษัทเริ่มหันมาใช้วิธีการ Reverse Mentoring เพื่อแก้ปัญหาต่างๆเช่นเรื่องความหลากหลาย โดยวิธีการนี้สามารถขยายขอบเขตความคิดเรื่องความหลากหลายให้กับสถานที่ทำงานได้โดยเฉพาะประเด็นทางสังคมต่างๆที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้แนวคิดหรือการให้คุณค่าในเรื่องต่างๆของบรรดานายจ้างนั้นก็เริ่มเป็นเรื่องสำคัญสำหรับบรรดาลูกจ้างมากยิ่งขึ้นจนแทบจะแยกไม่ออกจากการทำงานแล้ว
ยกตัวอย่างเช่นในปัจจุบันบรรดาผู้บริหารส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายใน Gen X หรือ Baby Boomer การใช้วิธีการ Reverse Mentoring ช่วยให้ทำความรู้จักกับพนักงานที่มีความหลากหลายในที่ทำงาน สามารถทำความเข้าใจกับพนักงานรุ่นใหม่ได้ว่าปัจจุบันคนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับอะไรในชีวิตและการทำงาน รวมไปถึงสามารถเข้าถึงคนกลุ่มน้อยในที่ทำงานที่อาจมีความต้องการที่แตกต่างออกไปได้ด้วย
ยกตัวอย่างเช่นบริษัท PwC บริษัทที่ปรึกษาในอังกฤษก็ใช้วิธีการ Reverse Mentoring ในการจับคู่พนักงานระดับ Senior กับ Junior ไม่เฉพาะกับคนที่แตกต่างเรื่องอายุเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของเพศ และเชื้อชาติด้วย ด้านบริษัทกฎหมายอย่าง Linklatres ก็ใช้วิธีการนี้ในการสอนบรรดาผู้บริหารเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางสังคมเกี่ยวกับกลุ่ม LGBT+ หรือบริษัท P&G ที่ใช้วิธีการนี้สอนพนักงาน Senior ให้รู้จักการซื้อสินค้าออนไลน์เป็นต้น
Reverse Mentoring ช่วยดึงพนักงานให้อยู่ต่อ
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า Reverse Mentoring ยังเป็นโอกาสสำหรับองค์กรที่จะสร้างวัฒนธรรมองค์กรขึ้นใหม่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่ยืดหยุ่นและ Hybrid แบบในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงต่างๆในยุคนี้บรรดาผู้บริหารไม่สามารถมีคำสั่งแบบ Top-Down ได้แบบยุคก่อนแล้วแต่จะต้องฟังความคิดเห็นและทำความเข้าใจจากพนักงานอายุน้อยๆด้วยเช่นกัน และวิธีการนี้ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสให้พนักงานโดยเฉพาะกลุ่ม Gen Z เลือกที่จะอยู่กับองค์กรต่อไปท่ามกลางปรากฏการณ์การลาออกครั้งใหญ่ หรือ Great Resignation ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
หนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จก็คือบริษัท MNY Mellon Pershing บริษัทด้านการเงินที่ใช้วิธีการ Reverse Mentoring สามารถดึงพนักงานในกลุ่ม Millennials จำนวน 77 คนที่เข้าร่วมโครงการเอาไว้ได้คิดเป็นสัดส่วนถึง 96% ในช่วงเวลา 3 ปี เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่านอกจากบรรดาพนักงานจะรู้สึกว่ามีผู้รับฟังแล้ว ยังรู้สึกถึงความใส่ใจขององค์กรในการสนับสนุนพนักงานทุกคนในที่ทำงานด้วย
Reverse Mentoring สร้างความเข้าใจระหว่างกัน
ปัญหาความไม่เข้าใจกันในสถานที่ทำงานที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบันก็คือ Gen Z และ Millennial มองว่ากลุ่ม Baby Boomer และกลุ่ม Gen X นั้นยากที่จะเปิดใจรับฟัง ขณะที่กลุ่ม Baby Boomer และ Gen X เองก็มองว่าข้อเรียกร้องของกลุ่ม Gen Z เกี่ยวกับความยืดหยุ่น และการเปลี่ยนแปลงต่างๆในสถานที่ทำงานนั้นมากเกินไป ซึ่ง Reverse Mentoring ก็สามารถเข้ามาแก้ไขช่องว่างในจุดนี้ได้ ลดแนวคิด “เหมารวม” ในการมองว่าคนอายุมากนั้นไม่สามารถตามทันความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้ รวมไปถึงช่วยปรับมุมมองที่คนอายุมากมองพนักงานเด็กๆว่า ไม่มีสมาธิและไม่ทุ่มเททำงานเป็นต้น
ผู้เชี่ยวชาญมองว่าความสัมพันธ์ในฐานะ Mentor นั้นเป็นเหมือนกับการสื่อสารแบบสองทางช่วยให้ข้อมูลถูกส่งผ่านระหว่างกันได้ ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจและความเคารพซึ่งกันกัน ซึ่งแน่นอนว่าทั้งสองฝ่ายจะต้องมีความจริงจังและจริงใจในการเข้าร่วมในวิธีการ Reverse Mentoring นี้
เรียกได้ว่า Reverse Mentoring เป็นอีกหนึ่งวิธีการที่มีวิวัฒนาการเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสถานที่ทำงานในยุคปัจจุบัน อย่างไรก็ตามในอีกแง่มุมหนึ่ง Reverse Mentoring นั้นก็เป็นไอเดียที่มีการพูดถึงมาอย่างยาวนานแล้วนั่นก็คือเรื่องของการ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” สร้างความเข้าใจระหว่างกันและนำไปสู่ความเคารพซึ่งกันและกัน และนั่นก็จะเป็นหนึ่งในวิธีการที่ทำให้บรรยากาศในการทำงานที่ดีขึ้นด้วยนั่นเอง
ที่มา BBC