ในโลกธุรกิจการตลาด เรามักได้ยินคำว่า “กลยุทธ์ธุรกิจ” (Strategy) อยู่เสมอ แต่แท้ที่จริงแล้วสิ่งที่ธุรกิจกำลังทำอยู่นั้น ใช่กลยุทธ์หรือเปล่า หรือเป็นเพียงแผนธุรกิจ ? แล้วกลยุทธ์นั้น เหมาะกับธุรกิจเราหรือไม่ จะช่วยสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง พร้อมทั้งเอาชนะสมรภูมิการแข่งขันนั้นๆ อย่างไร ?
แน่นอนว่าองค์กร หรือแบรนด์ใดที่ดำเนินธุรกิจด้วยการมีกลยุทธ์ที่ดี และเข้าใจในองค์ประกอบของกลยุทธ์ ย่อมเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและการแข่งขัน ทั้งชนะคู่แข่ง ชนะใจลูกค้า และนำพาองค์กร หรือแบรนด์ไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ
คุณสโรจ เลาหศิริ ที่ปรึกษาด้านการตลาด, กรรมการสมาคมเทคโนโลยีการตลาดแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการหลักสูตรสถาบันปั้นนักกลยุทธ์มืออาชีพ ได้พาไปเจาะลึก “Creative Strategy for Business กลยุทธ์คิดนอกกรอบ แบบไม่นอกโลก” ในงานสัมมนา Creative Talk Conference 2024 หรือ CTC 2024

กลยุทธ์สำคัญกับธุรกิจอย่างไร ?
กลยุทธ์เกิดขึ้นมาจาก “การแข่งขัน” (Competition) เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากมากในโลกธุรกิจการตลาด เพราะการแข่งขันเกิดจากการที่ธุรกิจ/แบรนด์ มีเป้าหมายบางอย่างที่ไม่ต้องการให้คนอื่นมาช่วงชิง เช่น เป้าหมายด้านลูกค้า แน่นอนว่าธุรกิจ/แบรนด์ย่อมอยากให้ใครมาชิงลูกค้าของตนเองไป
เพราะฉะนั้นเมื่อธุรกิจ/แบรนด์เรามีเป้าหมายนั้น และคนอื่นก็อยากได้เป้าหมายเดียวกันกับเรา ส่งผลให้เกิดการแข่งขันในที่สุด และยิ่งทุกวันนี้การแข่งขันทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการทำธุรกิจ การทำตลาด สถานการณ์โลก คู่แข่ง และลูกค้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้โลกทุกวันนี้อยู่ในยุคการแข่งขันเคลื่อนที่เร็วมากแบบพลวัต (Dynamic Competition) ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้!
เมื่อเป็นเช่นนี้ “กลยุทธ์” จึงทวีความสำคัญมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา แต่กลยุทธ์ที่ไร้ทิศทาง ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน เอาแต่วิ่งตามเทรนด์ หรือคู่แข่งในตลาด สุดท้ายแล้วกลยุทธ์นั้น อาจพาธุรกิจวิ่งเข้าสู่ล่มแห่งความเหมือนกัน และไม่แตกต่าง เช่น ธุรกิจ/แบรนด์ในอุตสาหกรรมหนึ่งๆ มี Customer Data เมื่อถึงวันเกิดลูกค้า ได้ส่งโปรโมชั่นฉลองวันเกิดให้กับลุกค้า ทว่าในโลกการแข่งขัน จะพบว่ามีแบรนด์คู่แข่งอื่นๆ อีกมากมาย ก็มี Customer Data เช่นเดียวกัน และส่งโปรโมชั่นวันเกิดให้ลูกค้าเหมือนกัน
นำมาสู่คำถามที่ว่า แล้วกลยุทธ์ที่ธุรกิจ/แบรนด์เรากำลังทำอยู่นั้น จะพาเราไปชนะการแข่งขันได้จริงหรือ ?
“การที่เห็นเทรนด์ต่างๆ เช่น เทรนด์เทคโนโลยี เห็นคู่แข่งทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ แล้วรีบกระโดดเข้าไป แม้ความไวนั้นอาจจะดี แต่ไม่ทันคิดว่า ธุรกิจหรือแบรนด์เรากำลังจะเอาอะไรไปแข่ง เข้าใจตัวเอง เข้าใจกติกาการแข่งขันนั้นดีพอหรือยัง และจะชนะเป้าหมาย หรือไปให้ถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไร”
แผน = วิธีคิด, กลยุทธ์ = วิธีทำ
คำว่า “แผนกลยุทธ์” หรือ “Strategic Planning” สองคำนี้ดูคล้ายกัน แต่อันที่จริงไม่เหมือนกัน นั่นเพราะ
– แผน คือ วิธีทำ สิ่งที่ธุรกิจของเรากำลังจะทำเพื่อให้บรรลุผล เช่น กำลังจะขยายสาขา กำลังจะออกสินค้าใหม่ กำลังจะพัฒนาระบบ Data กำลังจะจ้างคนเพิ่ม หรือภายใต้งบโฆษณาที่มี จะนำไปใช้ยิง Ads บนแพลตฟอร์มโซเชียลดิจิทัลอะไรบ้าง สิ่งเหล่านี้คือ การวางแผน ไม่ใช่กลยุทธ์
– กลยุทธ์ คือ วิธีคิด เพื่อทำให้เราชนะ ดังนั้นก่อนที่ธุรกิจ/แบรนด์ของเรา จะดำเนินการตามแผน ต้องมีกลยุทธ์ก่อน
แนวทางการวาง “กลยุทธ์” พาธุรกิจไปถึงเป้าหมาย – ชนะเกมการแข่งขัน
คุณสโรจ อธิบายถึง แนวทางการวางกลยุทธ์ พร้อมยกตัวอย่าง Case Study ประกอบด้วย
– The Integrated set of choices: การเลือกที่จะทำ และไม่ทำอะไร ซึ่งการเลือกจะไม่ทำอะไร เป็นสิ่งที่ยากกว่าการเลือกทำอะไร และต้องโฟกัสว่าต้องทำสิ่งใดบ้าง เนื่องจากมีทรัพยากรจำกัด ไม่ว่าจะกำลังเงิน กำลังคน โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็ก จึงไม่สามารถทำทุกอย่างได้ และสิ่งที่จะทำนั้น ต้องสอดคล้องกันทุกแผนก ทุกฝ่ายขององค์กร ตั้งแต่ R&D, Production, HR, Marketing, Sale รวมไปถึงส่วนงานต่างๆ
“การโฟกัสว่าต้องทำสิ่งใด เพื่อที่จะชนะคู่แข่ง สามารถแก้เกมคู่แข่งทางธุรกิจอย่างไรให้ชนะทั้งระยะสั้น และระยะยาว หรือโฟกัสอยู่ที่ลูกค้า ต้องแก้เกมด้วยการตามหาว่าวันนี้ลูกค้ามี pain point อะไร วันนี้ลูกค้าเจอปัญหาอะไรบ้าง แล้วเราจะเข้าไปช่วยแก้ pain point ให้กับลูกค้าได้อย่างไร รวมทั้งทำอย่างไรให้ชนะใจลูกค้าจนอยู่กับเราได้ระยะยาว”
กรณีศึกษาหนึ่งที่ถือเป็น Classic Case คือ การแข่งขันระหว่าง Google กับ Yahoo ต่างเกิดมาเป็น Search Engine ทั้งคู่ แต่ต่อมา Yahoo ไม่ต้องการเป็นแค่ Search Engine เท่านั้น อยากเป็นสื่อ เป็นแหล่งรวม Web portal และอยากมีหลากหลายบริการ ส่งผลให้ Yahoo เสียโฟกัสธุรกิจ ในขณะที่ Google ช่วงแรกมุ่งโฟกัสกับการเป็น Search Engine
– Positioning: การหาเกมการแข่งขันที่เหมาะสม คือ การเลือก “สนามการแข่งขัน” หรือ “เกมที่เราจะเล่น” ดังนั้นในการวางตำแหน่งโจมตีคู่แข่ง คุณจะวางตำแหน่งให้แบรนด์ หรือธุรกิจของตัวเองอยู่ตรงไหนที่ได้เปรียบทางการแข่งขัน จะเลือกสนามรบ เลือกเกมการแข่งขัน และจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไร
เช่น ธุรกิจของเรากำลังเล่นเกม Mass Market หรือเล่นเกม Niche Market หรืออยู่ในสนามการแข่งขันออนไลน์ หรือเล่นในสนาม Retail เพราะแต่ละสนามการแข่งขัน มีรูปแบบการแข่งขัน – มีกฎกติกาที่แตกต่างกัน อย่างในช่องทางออนไลน์ ลูกค้าก็มีพฤติกรรมการซื้อคนละรูปแบบกับช่องทางออฟไลน์ เป็นต้น
– Win: แข่งขันอย่างไรให้ชนะ กลยุทธ์มีเป้าหมายเพียงหนึ่งเดียวคือ “ต้องชนะ” ซึ่งนิยามคำว่าชนะในทีนี้ ไม่ได้หมายความเฉพาะการชนะคู่แข่งเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชนะในมิติอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เช่น ชนะใจลูกค้า ชนะเป้าหมายที่วางไว้ อย่างบางแบรนด์ ตั้งเป้าหมายเป็นที่ 1 ของประเทศ บางแบรนด์ตั้งเป้าเป็นที่ 2 หรือบางแบรนด์ ขอเป็นที่ 1 ในพื้นที่โซนตลาดนั้นๆ
เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจ “Rule of the Games Minimum Requirement to Complete” คือ ความต้องการขั้นต่ำสุดที่คุณจะแข่งได้ หรือชนะได้ในเกมนั้น คืออะไร
ยกตัวอย่าง แบรนด์ “GQ” ไม่ได้มองตัวเองว่าแข่งในเกมแฟชั่น แต่กำลังแข่งในเกมของ Solution Company เมื่อเลือกสนามการแข่งขัน หรือเกมการแข่งขันที่เห็นว่าเหมาะสมกับแบรนด์แล้ว (Position) จะทำให้เห็นกฎกติกาการแข่งขันที่แตกต่างกัน เพราะถ้าเป็นการแข่งขันในธุรกิจแฟชั่น ต้องออกดีไซน์คอลเลคชันใหม่ตลอดเวลา ต้องมีภาพลักษณ์ที่ดี ต้องจ้างนางแบบ-นายแบบที่สะท้อนความเป็นแบรนด์ได้ ต้องสร้าง Emotional value และต้องเล่นในเกม Influencer
แต่เมื่อ GQ วางตำแหน่งหรือสนามที่ตัวเองจะเล่นอยู่ในเกม Solution สิ่งที่แบรนด์ต้องเข้าใจใน Minimum Requirement to complete เพื่อให้สามารถแข่งได้ หรือชนะเกมนั้นได้ คือ หา pain point ของลูกค้าให้เจอ และนำเสนอสินค้าเสื้อผ้าที่มีฟีเจอร์ หรือนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาให้กับลูกค้า และใครที่สามารถแก้ pain point ลูกค้าได้มากกว่า แบรนด์นั้นย่อมมีโอกาสชนะ
เช่น เสื้อที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์คนทำงานให้ดูดีขึ้น, เสื้อป้องกันการหกเลอะเทอะของกาแฟ, เสื้อที่สามารถยืดขยายได้ เวลาที่ต้องไปสังสรรค์กับเพื่อนหลังเลิกงาน หรือเสื้อแบบไม่ยับ ตอบโจทย์ชีวิตเร่งรีบ ไม่มีเวลารีดผ้า
– Long-term Competitive Value: ใช้ความสามารถในการแข่งขันอะไรในการเอาชนะในระยะยาว เพราะกลยุทธ์มีทั้งระยะสั้น เพื่อแก้ปัญหา และกลยุทธ์ระยะยาว ที่มีวิสัยทัศน์ว่าทำอย่างไรถึงจะชนะการแข่งขันในระยะยาวได้ ดังนั้นต้องหา “ท่าไม้ตาย” หรือ “ความได้เปรียบทางการแข่งขัน” (Competitive Advantage) ของธุรกิจ หรือแบรนด์ตัวเอง เช่น Unique Selling Point จุดขายที่เด่นที่สุด หรือความสามารถขององค์กรในด้านต่างๆ
กรณีศึกษาตัวอย่าง “ไปรษณีย์ไทย” ต้องเจอศึกหนักในธุรกิจโลจิสติกส์ เมื่อ 7 – 8 ปีก่อนเกิดผู้เล่นมากมาย วันนั้นทุกค่ายเล่นสงครามราคา แต่ไปรษณีย์ไทยค้นหาว่าอะไรคือ “จุดอ่อน” ของตนเอง ซึ่งในธุรกิจโลจิสติกส์ Minimum requirement to complete คือ การขนส่งพัสดุให้ปลอดภัย ไม่เสียหาย และตรงเวลา
ไปรษณีย์ไทยจึงกลับไปปรับปรุงให้ดีขึ้น จากนั้นมองว่าอะไรคือ ความสามารถทางการแข่งขันของตนเอง พบว่า “บุรุษไปรษณีย์” ซึ่งมี Soft data จากการคลุกคลีทำงานในพื้นที่ เพื่อจัดส่งพัสดุและจดหมาย ทำให้บุรุษไปรษณีย์ไม่ได้เป็นเพียงแค่จัดส่งพัสดุและจดหมายเท่านั้น แต่ยังมี Relationship กับคนในชุมชน ในพื้นที่ที่ดูแล ทำให้แม้บางครั้งจ่าหน้าผิด ก็สามารถนำส่งได้ถูกบ้าน ถูกคน
เมื่อไปรษณีย์ไทยโฟกัสที่ Competitive Advantage ของตัวเอง คือ บุรุษไปรษณีย์ โดยการเก็บรวบรวม Soft data มาปรับปรุงด้านบริการ และสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าระยะยาว ทำให้สามารถสร้างรายได้และผลกำไรสูงสุดในรอบ 4 – 5 ปีที่ผ่านมา
“การจะเป็นนักกลยุทธ์ที่ดี ถ้ามี Mindset ว่า “เน้นเข้าร่วม ไม่เน้นเข้ารอบ” อย่าแข่งเลย เสียเวลา เช่น ถ้าเข้าไปในธุรกิจร้านอาหาร แค่อยากเปิดร้านอาหาร ขอเปิดไปเรื่อยๆ เน้นเข้าร่วม อย่าแข่งเลย เสียเวลา เพราะวันที่คุณคิดกำลังวางแผนพรุ่งนี้กำลังจะทำอะไร โดยไม่ได้มองเรื่องกลยุทธ์ วันหนึ่งจะมีคู่แข่งคิดออกว่าเขาจะชนะเกมนี้ แล้วทำให้คุณออกจากเกมนี้อย่างไร
เพราะฉะนั้นต้องถามตัวเองว่าวันนี้ที่คุณกำลังทำธุรกิจอยู่ แค่เข้าร่วม หรืออยากเข้ารอบ อยากสร้างธุรกิจขึ้นมา เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน มั่นคง และส่งต่อความสำเร็จ ตลอดจน Asset รุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งถ้าไม่มี Mindset นี้ ธุรกิจที่ทำอยู่นั้น ไม่ใช่ธุรกิจ แต่มันคืองานอดิเรก”
เช็คลิสต์ 4 องค์ประกอบ “กลยุทธ์ที่ดี”
“กลยุทธ์ที่ดี” ประกอบด้วย 4 ข้อ ได้แก่
1. Effective: กลยุทธ์ที่ดีต้องกลับไปตอบเป้าหมายของธุรกิจ
2. Efficient: กลยุทธ์ที่ดีต้องมีประสิทธิผล ทั้งทรัพยากร เวลา เงิน และคน ไม่มีใครอยากชนะสงคราม แต่สูญเสียกำลังคน กำลังเงิน ทรัพยากรไป เพราะชัยชนะอยู่บนซากปรักหักพัง ก็ไม่ต่างอะไรกับความพ่ายแพ้
3. Specific: กลยุทธ์ที่ดีต้องเหมาะกับธุรกิจ/แบรนด์ของเรา และสถานการณ์ของตัวเรา และต้องดูว่าความได้เปรียบ ทางการแข่งขันที่ธุรกิจ/แบรนด์เรามีอะไร เพราะถ้าไปเอากลยุทธ์ที่แบรนด์อื่นทำแล้วประสบความสำเร็จ มาใช้กับธุรกิจเรา แต่ไม่ได้พิจารณาว่ากลยุทธ์นั้นเหมาะกับธุรกิจ/แบรนด์ของเราหรือไม่ ผลที่สุดแล้วจะไม่นำพาความสำเร็จมาให้กับธุรกิจ
4. Creative: กลยุทธ์ที่ดีต้องมีความคิดสร้างสรรค์
โดยธุรกิจ/แบรนด์ สามารถวางกลยุทธ์คิดนอกกรอบ แต่ไม่นอกโลกได้ (Think outside the box)
อันดับแรก ต้องรู้ก่อนว่า “กรอบ” ทรัพยากรต่างๆ ของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นเงิน เวลา คน ข้อกฎหมาย กติกาการแข่งขันในสนามธุรกิจ
เช่น ธุรกิจ/แบรนด์เราอยู่ในเกมการแข่งขัน Direct to Consumer (DTC) ขายตรงไปยังลูกค้า หรืออยู่ในเกม Retail ขายผ่านคนกลาง ทั้งสองเกมการแข่งขันแตกต่างกัน หรือกรอบข้อกฎหมาย เช่น สินค้าบางประเภทมีข้อกฎหมายกำหนดห้ามเคลมคุณสมบัติเกินจริง
เมื่อเข้าใจว่ากรอบของธุรกิจ/แบรนด์เราคืออะไรแล้ว ธุรกิจ/แบรนด์จะสามารถคิดนอกกรอบ หรือวาง Creative Strategy ได้ ประกอบด้วย 4 ข้อคือ
1. ต้องชัดเจนในเป้าหมายปลายทางก่อน (Goal)
2. ต้องวิเคราะห์โจทย์ (The Challenge) การจะเข้าถึงเป้าหมายได้ กติกาการแข่งขัน ความท้าทายที่เจอ เช่น งบประมาณ ด้านเวลา ฯลฯ
3. หาทางชนะให้ได้ (Possible Wining Solutions)
4. เลือกว่าจะทำอะไร และไม่ทำอะไร (Cut Choice)
ตัวอย่างกรณีศึกษาธุรกิจที่วาง Creative Strategy และนำพาธุรกิจชนะคู่แข่ง หรือบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เช่น
– Classic Case องค์กรหนึ่งจัดแข่งประกวดแผนการตลาดยาสีฟัน เพื่อเพิ่มยอดขาย แน่นอนว่าทุกคนทำแผนการตลาด นำเสนอไอเดียพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ใช้พรีเซ็นเตอร์ ช่องทางการสื่อสารต่างๆ แต่ปรากฏว่าแผนการตลาดที่ชนะ คือ แผนการตลาดที่เสนอ Solutions ให้เพิ่มขนาดปากหลอดยาสีฟัน เพราะเวลาบีบยาสีฟันออกมา จะได้บีบเยอะขึ้น
– Luckin Coffee เชนร้านกาแฟรายใหญ่ของจีน หลังจากแก้ปัญหาการตกแต่งบัญชีบริษัทแล้ว ได้กลับมารุกตลาด ล่าสุดสามารถเอาชนะ Starbucks ในตลาดจีนได้แล้ว กลยุทธ์ที่ Luckin Coffee ใช้สู้กับ Starbucks คือ สร้างความต่างด้วยการเป็นร้านกาแฟรูปแบบ Pick & Go ตอบโจทย์ความรวดเร็ว และความสะดวก ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อให้ลูกค้าสั่งสินค้าและมารับสินค้าได้ง่ายที่สุด เพราะเมื่อลูกค้ากดสั่ง ออเดอร์จะวิ่งเข้ามาร้านทันที หน้าร้านจะทำตามออเดอร์ จากนั้นเมื่อลูกค้ามาถึงร้าน แค่มารับกาแฟ หรือเครื่องดื่มประเภทอื่น แล้วเดินออกไป
ควบคู่กับการขยายร้านสาขา ใช้ขนาดตึกแถวห้องเล็กๆ ก็สามารถเปิดร้านได้แล้ว โดยตั้งเป้ามี Luckin Coffee ทุกที่ทั่วประเทศจีน จำหน่ายในราคาถูกกว่า
จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ Luckin Coffee โฟกัสไม่ใช่คอกาแฟที่ต้องไปนั่งร้านกาแฟ เหมือนเช่น Starbucks ที่วางตัวเองเป็น Third Place ให้คนเข้ามาดื่มด่ำประสบการณ์ และ Community อยู่ในร้านกาแฟ แต่ Luckin Coffee มุ่งตอบโจทย์คอกาแฟที่แค่มา Pick กาแฟแก้วโปรด แล้วไปทำงานต่อ ซึ่งตลาด Pick & Go เป็นตลาดที่ใหญ่กว่ามาก
Strategy & Execution ต้องไปด้วยกัน
คุณสโรจ ได้สรุปทิ้งท้ายถึงการวางกลยุทธ์ธุรกิจว่า ต้องกำหนด Wining Aspiration หรือกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน จับต้องได้ เหมาะสมกับธุรกิจ/แบรนด์เรา เหมาะสมกับสถานการณ์ เหมาะกับลูกค้า ซึ่งการตั้งเป้าหมายเป็นเหมือนเข็มทิศนำทาง
แต่ถ้าธุรกิจไม่มีเป้าหมายเลย หรือเป้าหมายนั้นใหญ่เกินไป กว้างเกินไป ทำให้ไม่รู้ว่าจะพาธุรกิจไปได้อย่างไร ต้องโฟกัสเป้าหมายลงมาหน่อย เพื่อให้รู้ว่าควรเริ่มจากตรงไหน รู้ว่าจะสู้ด้วยอะไร ขณะเดียวกันต้องรู้ว่าคู่แข่งของธุรกิจเราคือใคร มีจุดแข็ง หรือความได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างไร เพื่อจะได้แก้เกมถูก ไม่มองข้ามคู่แข่ง และไม่ไปทำในสิ่งเดียวกับคู่แข่งทำ
นอกจากนี้ต้องหาว่าปัญหา หรือความท้าทายอะไร ที่มาทำให้ธุรกิจสะดุด เพื่อเข้าไปแก้ปัญหา หรือความท้าทายนั้น
“การวางกลยุทธ์ ไม่มีใครรู้ว่ากลยุทธ์นั้นจะไปถึงเป้าหมายหรือไม่ เพราะกลยุทธ์ คือ วิธีคิด ทุกครั้งที่เราวางกลยุทธ์อยู่ในกระดาษ เต็มไปด้วยสมมติฐาน เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ ของกลยุทธ์คือ Execution และการปรับตัวระหว่างการลงมือทำ
กลยุทธ์ถ้าขาด Execution และ Execution ที่ขนาดกลยุทธ์ ย่อมไม่ดีทั้งคู่ เพราะถ้าไม่มีกลยุทธ์ เราจะไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้น ไปในทิศทางไหน จะใช้เวลานานแค่ไหนที่จะประสบความสำเร็จ หรือมีกลยุทธ์ แต่ขาดการลงมือทำที่เก่ง ขาดทีมที่จะทำสิ่งเหล่านั้นให้เกิดขึ้นได้ ก็กลายเป็นกลยุทธ์ที่ไร้ความหมาย ดังนั้น Strategy และ Execution ต้องไปด้วยกัน และปรับตัวให้ทันสถานการณ์”