ในช่วงหลายวันที่ผ่านมาในโลกออนไลน์ทั้งในต่างประเทศรวมถึงในไทยเองมีการพูดถึง Chatbot ที่มีชื่อว่า ChatGPT กันอย่างกว้างขวางสร้างความฮือฮาได้อย่างมากมายจากผู้คนที่ได้ทดลองใช้และนำมาแบ่งปันประสบการณ์ผ่านโซเชียลมีเดีย ความสามารถอันน่าทึ่งเหล่านี้ทำให้มีคนถึงกับคาดการณ์ว่า ChatGPT อาจจะมาแย่งงานมนุษย์ได้จริงๆกันเลยทีเดียว
กระแสฮือฮาส่งผลให้ ChatGPT มีผู้ใช้งานพุ่งทะลุไปมากกว่า 1 ล้านคนแล้วในเวลาเพียง 5 วันหลังเปิดให้มีการใช้งาน เรียกได้ว่าทำลายทุกสถิติของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อื่นๆไม่ว่าจะเป็น Twitter, Facebook, Instagram, Pinterest รวมถึง Spotify ที่ต้องใช้เวลาหลายเดือนถึงจะมีผู้ใช้งานในระดับนี้ได้ ซึ่งบทความนี้จะเราจะมาทำความรู้จักกับ ChatGPT ว่ามันคืออะไร ทำอะไรได้บ้าง รวมไปถึงทดสอบให้ ChatGPT ลองเขียนบทความภาษาไทยดูว่าสามารถทำได้ดีแค่ไหน
ChatGPT คืออะไร?
ChatGPT คือ AI chatbot หรือปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถสื่อสารผ่านข้อความกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ พัฒนาขึ้นโดยบริษัท OpenAI บริษัทที่เดิมเคยได้รับการสนับสนุนจาก Elon Musk นับตั้งแต่ปี 2015 ก่อนที่ Musk จะลาออกมาในปี 2018 โดยอ้างเหตุผลเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนกับการพัฒนา AI ของ Tesla เอง
OpenAI ระบุว่า ChatGPT ที่เป็นโมเดล AI ตัวล่าสุดของกลุ่ม GPT ถูกพัฒนามาเพื่อให้สื่อสารกับมนุษย์ได้ สามารถจดจำคำตอบของตัวเองก่อนหน้านี้ได้ และตอบคำถามที่ตามมาได้อย่างเป็นธรรมชาติ ยอมรับความผิดพลาดได้ สามารถถกเถียงกับสมมติฐานที่ผิดพลาดได้ และปฏิเสธคำขอที่ไม่เหมาะสมได้
ChatGPT ถูก Train โดยข้อความในโลกอินเตอร์เน็ตหรือพูดง่ายๆว่า ChatGPT เรียนรู้จากการอ่านเนื้อหาทั้งหมดในโลกอินเตอร์เน็ต และได้รับการยกย่องว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของ Google เพราะมีความสามรถตอบคำถามที่ซับซ้อนและยังสามารถแจกแจงรายละเอียดได้ด้วย
วิธีสมัครใช้งาน
สำหรับการสมัครใช้งานสามารถเข้าไปสร้างบัญชีใหม่ได้ฟรีที่เว็บไซต์ของ OpenAI ด้วยการใช้อีเมล์ สร้างพาสเวิร์ด และต้องใช้เบอร์โทรศัพท์สำหรับการรับรหัส OTP สำหรับการใช้งานครั้งแรกด้วย
หลังจาก Log In เรียบร้อยแล้วก็จะสามารถใช้หน้าจอหลักโดยสามารถเขียนคำถามหรือคำสั่งได้ที่ช่อง Chat ด้านล่างและจะสามารถ Chat คุยกันไปต่อเนื่อง และหากเริ่มบทสนทนาใหม่ก็สามารถกดไปที่ New Chat ที่มุมซ้ายบน
ChatGPT เขียนบทความเป็นภาษาไทย
เรื่องที่อยากทดลองก่อนก็คือความสามารถในการเขียนบทความของ ChatGPT แต่ก่อนหน้านี้ก็มีการทดสอบให้ ChatGPT เขียนบทความเป็นภาษาอังกฤษให้เห็นกันมากมายแล้ว ซึ่งจากการทดสอบก็พบว่า ChatGPT สามารถเขียนบทความภาษาอังกฤษ 3 ย่อหน้าได้อย่างรวดเร็วในเวลาไม่ถึง 1 นาที
อย่างไรก็ตามหากสั่งการให้ ChatGPT เขียนบทความเป็นภาษาไทยแล้วพบว่าจะใช้เวลามากกว่าการเขียนบทความภาษาอังกฤษ และพบว่าเมื่อ AI เขียนไปซักพักแล้วก็จะหยุดไปเอง แต่เราก็สามารถสั่งการให้ ChatGPT เขียนบทความต่อไปได้จนจบ โดยบทความทั้งหมดใช้เวลาไม่ถึง 5 นาทีและเนื้อหาก็เรียกได้ว่าพอใช้ได้เลยทีเดียว
ChatGPT ทำอะไรได้อีก
นอกจากการเขียนบทความอย่างที่ ChatGPT บอกเองแล้วยังสามารถทำงานได้อีกหลายอย่างที่จะช่วยให้งานของมนุษย์ง่ายขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นการขอให้ร่างอีเมล์สมัครงาน แม้คำสั่งจะเป็นภาษาอังกฤษที่ไม่ถูกต้องนัก ChatGPT ก็สามารถเข้าใจได้และให้คำตอบในเวลาเพียงแค่ไม่ถึง 1 นาที ที่เหลือก็แค่เข้าไปแก้ไขรายละเอียดอีกเล็กน้อยก็เป็นอันเสร็จ
นอกจากนี้ chatGPT ยังสามารถช่วยต่อเนื่องไปได้อีกเช่น หากเราขอให้อีเมล์นี้มีเนื้อหาที่สั้นกระชับลงก็ทำได้ และความสามารถเหล่านี้บรรดานักการตลาดก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เช่นการหาไอเดียสำหรับทำ Content ด้วยคำสั่งอย่าง “Give me 20 ideas for articles about ….” นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการคิด คิด Ad Copy ได้ด้วยเช่นคำสั่งอย่าง give me some ad headlines relating to ‘buy budget pillow online’ เป็นต้น
นอกจากนี้ ChatGPT ยังสามารถช่วยคิด Keyword สำหรับการทำ SEO ก็ยังได้ งานอย่างการร่าง Press Release ร่างจดหมายเชิญ หรือคิด Caption สำหรับโพสต์ก่อนที่จะปรับเนื้อหาให้เหมาะสมทีหลังก็ได้ ซึ่งก็จะช่วยประหยัดเวลาไปได้มาก นอกจากนี้ยังสามารถให้ ChatGPT ช่วยคิดพาดหัวบทความ ย่อใจความสำคัญให้เหลือตามจำนวนคำที่กำหนด หรือการช่วยค้นคว้าข้อมูลในเรื่องต่างๆก็ทำได้เช่นกัน
นอกเหนือจากความสามารถเหล่านี้แล้ว ChatGPT ยังสามารถเขียนบทละคร เขียนกลอน ตอบคำถามเกี่ยวกับโค้ดในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ อธิบายเกี่ยวกับสมการทางคณิตศาสตร์ และอื่นๆอีกมากมายที่ยังคงมีคนทดลองใช้กันอย่างไม่สิ้นสุดในเวลานี้
ข้อจำกัดของ ChatGPT
แม้จะมีความสามารถที่น่าทึ่งแต่ ChatGPT เองก็มีข้อจำกัดอยู่เช่นกันหนึ่งในนั้นก็คือความรู้ของ ChatGPT จะมีพื้นฐานอยู่แค่จนถึงปี 2021 เท่านั้น นั่นหมายความว่าคำถามหรือการค้นหาบางอย่าง ChatGPT จะไม่สามารถตอบได้
นอกจากนี้ ChatGPT นั้นก็ยังมีรายงานว่าให้คำตอบหรือตอบสนองด้วยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการกล่าวถึงข้อมูลผิดๆด้วยความมั่นใจซึ่งอาจนำไปสู่การเผยแพร่ข้อมูลผิดๆต่อไปได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีรายงานเช่นกันว่าบางครั้งก็อาจให้คำตอบที่ไม่มีเหตุผลได้ด้วยเช่นกัน
ล่าสุดเว็บไซต์ stackoverflow เว็บไซต์สำหรับโปรแกรมเมอร์ ก็ประกาศแบนคำตอบจาก ChatGPT แล้วในเวลานี้โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจาก “อัตราคำตอบที่ถูกต้องจาก ChatGPT นั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นการโพสต์คำตอบที่สร้างขึ้นโดย ChatGPT จึงเป็นอันตรายกับเว็บไซต์และผู้ใช้งานที่เข้ามาถามหรือหาคำตอบที่ถูกต้อง” ซึ่งปัญหาดังกล่าว OpenAI เองก็รับทราบแล้วถึงความท้าทายในการฝึกฝน AI โดยที่ไม่มีข้อมูลเฉพาะเจาะจงที่ถูกต้องจากแหล่งข้อมูลทั้งหมด
ทั้งหมดนี้คือรายละเอียดความสามารถบางส่วนของ ChatGPT ที่ยังรอการพิสูจน์ความสามารถอีกมากซึ่งใครที่สนใจก็เข้าไปลองใช้ดูกันได้ด้วยคำถามหรือคำสั่งแบบต่างๆกันไปที่แน่นอนว่าอาจมีประโยชน์ในการช่วยสร้าง productivity หรือบางครั้งก็อาจใช้ทำงานแทนมนุษย์ได้เลยก็เป็นได้ เป็นอีกหนึ่งความตื่นเต้นกับอนาคตที่เราเคยแต่เฝ้ามองได้เกิดขึ้นจริงแล้วในวันนี้