ปัจจุบันเทคโนโลยีในหลายๆด้านก้าวหน้าไปอย่างก้าวกระโดด เช่นเดียวกับเทคโนโลยีเครือข่ายอินเตอร์เน็ตหรือที่เรารู้จักกันว่าระบบ WEB นวัตกรรมเปลี่ยนโลกที่ปฏิวัติการสื่อสารของมนุษย์ไปโดยสิ้นเชิง เทคโนโลยีที่ในปัจจุบันกำลังก้าวไปสู่ยุคของ WEB 3.0 ไปสู่การท่องเว็บแบบไร้การรวมศูนย์ หรือที่เรียกกันว่า Decentralized ยุคที่ผู้ใช้งานจะสามารถควบคุม Data ของตัวเองได้ด้วยตัวเองแล้ว
อ่านบทความ เทียบชัดๆ WEB 2.0 และ WEB 3.0 กับข้อดีของการท่องเว็บแบบ Decentralized
ปัจจุบันมีหลายแอปพลิเคชั่นที่ก้าวเข้าไปสู่โลกของ WEB 3.0 แล้วในทุกๆรูปแบบไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เก็บข้อมูลออนไลน์ ระบบปฏิบัติการ สื่อสังคมออนไลน์ แต่ที่เราจะพูดถึงในบทความนี้ก็คือ Brave Browser บราวเซอร์ที่เพิ่งถูกพัฒนาขึ้นมาได้ไม่นานและมีความเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี WEB 3.0 ที่จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถท่องเว็บได้อย่างปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว ไม่ต้องรำคาญใจกับโฆษณาในเว็บไซต์ต่างๆ แต่ในทางกลับกันก็ยังสามารถได้รับ Token ที่มีพื้นฐานอยู่บนระบบบล็อกเชนจากการดูโฆษณา เป็นการสร้างรายได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องถูกนำข้อมูลไปหากินจากแพลทฟอร์มต่างๆเหมือนในยุค WEB 2.0 อีกต่อไป
กำเนิด Brave Browser
Brave Browser สร้างขึ้นโดยบริษัท Brave Software เป็นหนึ่งในหลายๆบริษัทที่กระโดดเข้ามาแข่งขันในตลาดบราวเซอร์ ตลาดซึ่ง Google Chrome ครองส่วนแบ่งเอาไว้ได้มากถึง 60% โดย Brave Software เปิดตัว Brave Browser เป็นครั้งแรกในปี 2016 ที่นับว่าตามหลัง Google Chrome ที่เปิดตัวในปี 2008 อยู่หลายปี ขณะที่ Microsoft Edge บราวเซอร์ใหม่ของ Microsoft เปิดตัวก่อนหน้า Brave เพียง 1 ปีในปี 2015
แต่สิ่งที่กลายเป็นที่จับตามองก็คือบริษัท Brave Software นั้นร่วมก่อตั้งขึ้นโดย Brendan Eich ผู้คิดค้น JavaScript และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Mozilla เจ้าของเว็บบราวเซอร์ Mozilla Firefox ที่เป็นที่รู้จักกันดีนั่นเอง อย่างไรก็ตาม Eich ก็มีชื่อเสียงที่ไม่ดีเท่าไรนักเนื่องจากต้องลาออกจาก Mozilla ภายใต้แรงกดดันหลังจากการที่เจ้าตัวไปสนับสนุนร่างแก้ไขกฎหมายรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อปี 2008 หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า Prop 8 ร่างกฎหมายที่สนับสนุนให้แบนการแต่งงานของเพศเดียวกัน ซึ่งสุดท้ายก็ถูกคว่ำโดยศาลรัฐแคลิฟอร์เนียที่ในเวลานั้นมองว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญสหรัฐ
Brave Browser คืออะไร?
Brave Browser เรียกได้ว่าไม่ต่างจากบราวเซอร์โดยมาตรฐานทั่วไปที่สามารถใช้ในการท่องเว็บไซต์ ได้ในหลายอุปกรณ์ ทั้งคอมพิวเตอร์แทปเล็ต และสมาร์ทโฟน สามารถรัน web app ต่างๆ แสดงผล Content ออนไลน์ได้ ผู้ใช้งานดาวน์โหลดและใช้งานได้ฟรี นอกจากนี้ยังสามารถจดจำ Username และ Password ได้และยังสามารถ Block โฆษณาออนไลน์ที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ของ Publisher รายต่างๆเรียกได้ว่ามีความคล้ายคลึงกับ Google Chrome เป็นอย่างมากเนื่องจากพัฒนามาจาก Chromium เว็บบราวเซอร์ที่เป็นโปรเจ็กต์ open-source โค้ดพื้นฐานการพัฒนาเว็บบราวเซอร์หลายชนิด ซึ่งก็รวมไปถึง Microsoft Edge ด้วยนั่นเอง นั่นก็ทำให้ผู้ใช้งาน Brave สามารถ Import Bookmark จากบราวเซอร์อย่าง Google Chrome, Microsoft Edge หรือแม้แต่ Firefox มายัง Brave ได้อย่างง่ายดาย รวมไปถึงสามารถใช้ Extention ต่างๆจาก Chrome Web Store ได้ด้วย
Brave Browser ดียังไง?
Brave Browser ชูความสามารถอันโดดเด่น 2 เรื่องนั่นก็คือเรื่องของ “ความเร็ว” และ “ความเป็นส่วนตัว” ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ก็เป็นผลมาจากกลยุทธ์ของการเป็น Browser ที่จะตัดโฆษณาบนเว็บไซต์ต่างๆที่ Brave มองว่าเป็นสิ่งรบกวนและเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวออกไป
Brave Software ระบุว่า Brave Browser นั้นสามารถโหลดหน้าเว็บไซต์ได้เร็วกว่า Google Chrome บราวเซอร์อันดับ 1 ของโลกถึง 3 เท่า และทำได้เร็วกว่า Firefox ถึง 6 เท่า ซึ่งนั่นเป็นผลมาจากการตัดโฆษณาและ ad tracker ต่างๆออกไป นั่นเอง ซึ่งจากการทดสอบการเข้าเว็บไซต์ต่างๆ Brave Browser ก็สามารถเข้าเว็บไซต์ส่วนใหญ่ได้เร็วกว่า Browser อื่นจริงๆ นอกจากนี้การที่ Brave ตัดระบบ ad-tracker ออกไปก็หมายความว่าบรรดา Advertiser ที่จะเก็บข้อมูลการใช้งานของ User ก็จะทำไม่ได้อีกต่อไปส่งผลให้ผู้ใช้งานมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นและ Brave Software ก็ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า Brave Browser จะไม่เก็บข้อมูลใดๆของผู้ใช้งานเอาไว้เลย
แน่นอนว่าก่อนหน้านี้ Brave ก็ตกเป็นเป้าวิจารณ์เช่นกันจากบรรดา Publisher จำนวนมากที่มองว่าระบบของ Brave Browser ที่เป็นการตัดโฆษณาที่แสดงผลในทุกเว็บไซต์ออกไปและเลือกแสดงผลด้วยโฆษณาของตัวเองว่า เทียบได้กับการขโมยคอนเทนต์ไปตีพิมพ์ใหม่ในเว็บไซต์ของตัวเองหรือไม่ ในการยื่นเรื่องฟ้องร้องกันเมื่อปี 2017 ซึ่ง Brave เองก็แย้งว่าในฐานะ Browser นั้น Brave จะไม่ถูกลงโทษทางกฎหมายเนื่องจากไม่ได้มีการ Republish เนื้อหา และ Browser ก็สามารถปรับส่วนประกอบหน้าเว็บต่างๆได้ใหม่ตามความเหมาะสม
อีกข้อดีของ Brave Browser ก็คือการผสานความสามารถเข้ากับ decentralized application หรือ DApps และ decentralized finance หรือ DeFi อย่างสกุลเงินดิจิทัล ที่นับเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคของ WEB 3.0 นั่นก็คือผู้ใช้งาน Brave Browser สามารถเลือกได้ว่าจะ “ดูโฆษณา” ผ่านระบบของ Brave Browser หรือไม่ โดยหากเลือกที่จะดู ระบบจะ “ให้ค่าตอบแทน” ผู้ใช้งานเป็น BAT (Basic Attention Token) นั่นหมายความว่าผู้ใช้งานมีสถานะของการเป็นเจ้าของข้อมูลของตัวเองอย่างแท้จริง ต่างจากยุค WEB 2.0 เดิมที่ข้อมูลต่างๆของผู้ใช้งานจะถูกแพลตฟอร์มนำไปใช้ประโยชน์หรือขายข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการยิงโฆษณาต่อไป
วิธีการใช้งาน Brave Browser
สำหรับผู้ที่สนใจที่จะใช้งาน Brave Browser สามารถเข้าไปดาวน์โหลดได้ที่ https://brave.com/ โดยหลังจากติดตั้งเรียบร้อยแล้วเมื่อเข้ามาสู่หน้าแรกของ Brave จะมีข้อมูลแสดงให้ผู้ใช้งานหลายอย่าง เช่นที่ด้านซ้ายบนจะแสดง “จำนวน ad-trackers และโฆษณา” ที่ Brave บล็อกไปแล้ว, “จำนวน Bandwidth” หรือปริมาณข้อมูลที่ Brave สามารถประหยัดให้กับผู้ใช้งานได้ รวมไปถึง “เวลาที่ประหยัดไปได้” จากการใช้ Brave Browser
สำหรับการเข้าชมเว็บไซต์ต่างๆจะสามารถเข้าชมได้ตามปกติโดย Brave Browser จะแสดงผลจำนวน ad-tracker และ โฆษณาที่ถูกบล็อกไปขณะที่เข้าเว็บไซต์ต่างๆเอาไว้ที่ “Shield” ที่จะปรากฏเป็น Icon รูปสิงโตสัญลักษณ์ของ Brave ที่ด้านหลังช่อง URL ของเว็บไซต์ ที่นับเป็นฟีเจอร์หลักเพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าเว็บไซต์ต่างๆได้รวดเร็ว และมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ซึ่งในจุดนี้ผู้ใช้งานก็สามารถปิดระบบการบล็อกโฆษณาได้เช่นกันหากเว็บไซต์ที่เข้าชมแสดงผลผิดพลาดไป
มีระบบ Private Window ที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น
นอกจากนี้ Brave Browser ยังมีระบบ Private Window ที่สามารถใช้ในการท่องเว็บไซต์ได้แบบไม่ระบุตัวตนหรือที่เรียกกันว่า anonymous browsing โดยระบบจะไม่จดจำประวัติการเข้าเว็บไซต์ใน History ขณะที่ Cookies จากข้อมูลและข้อมูลของเว็บไซต์จะหายไปทันทีหลังปิดหน้าต่าง
โดยระบบนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากที่ Google Chrome มี แต่สำหรับ Brave ก็พัฒนาระบบที่ช่วยสร้างความเป็นส่วนตัวมากขึ้นไปอีกระดับด้วยระบบ Private Window with Tor ที่จะช่วยซ่อน IP address จากเว็บไซต์ที่เข้าชม และทำให้ผู้ให้บริการ ISP หรือ นายจ้างที่เป็นเจ้าของอุปกรณ์ตรวจสอบได้ยากมากขึ้นว่าผู้ใช้งานเข้าเว็บไซต์อะไรบ้าง
ท่องเว็บด้วย Brave ก็ทำเงินได้
ในหน้าแรกของ Brave นอกจากเหนือจากจะแสดง Top Site หรือทางลัดสำหรับเว็บไซต์ต่างๆที่เราเข้าชมบ่อยๆแล้ว ยังมีเมนูสำหรับฟีเจอร์ต่างๆของ Brave ที่ด้านขวามือไม่ว่าจะเป็นบริการ Brave Talk แอปพลิเคชั่นสำหรับการประชุมออนไลน์ที่เน้นเรื่องความเป็นส่วนตัวมากขึ้น แต่ที่สำคัญก็คือ Brave Rewards ระบบสำหรับรับผลตอบแทนสำหรับการดูโฆษณาที่เรียกว่า Brave Private Ad
จุดเด่นอีกจุดของ Brave Browser คือผู้ใช้งานสามารถมีรายได้จากการดูโฆษณาได้ด้วยโดยจะได้รับผลตอบแทนเป็น BAT (Basic Attention Token) ที่มีราคาตามตลาดซื้อขาย (ณ วันที่ 30ก.ย.) อยู่ที่ราว 11.65 บาทต่อ 1 BAT โดยฟีเจอร์นี้จะแสดงผลจำนวน BAT Fund หรือรายได้รวมที่เราสะสมเอาไว้ โดยรายได้ในแต่ละเดือนที่แสดงผลแยกออกมาจะถูกโอนเข้าสู่ BAT Fund ทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไป
นอกจากนี้ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะชมโฆษณาหรือไม่ชมโฆษณาก็ได้ หรือถ้าเลือกชม ขณะที่ท่องเว็บก็จะมี Push Notification ขึ้นมาที่มุมขวาล่างของจอ ซึ่งผู้ใช้งานก็สามารถเลือกได้ว่าต้องการให้โฆษณาแสดงผลถี่มากแค่ไหนตั้งแต่ 1 จนไปถึง 10 ครั้งต่อชั่วโมง ซึ่งรายได้เป็น BAT ก็จะแปรผันไปตามจำนวนโฆษณาที่ผู้ใช้งานรับชมด้วยนั่นเอง
จากการทดสอบใช้ Brave Browser 4-5 ชั่วโมง โดยตั้งค่าให้แสดงผลโฆษณา 10 ครั้งต่อชั่วโมงพบว่ามีรายได้ BAT เข้ามาที่ 0.218 BAT หรือคิดเป็นเงินไทยก็ราว 2.66 บาทเท่านั้น (อัตราแลกเปลี่ยนประจำวันที่ 30ก.ย.2022 ) เรียกได้ว่าเป็นค่าตอบแทนที่น้อยนิดมาก คงไม่สามารถสร้างรายได้แบบจริงๆจังๆได้ แต่เรียกได้ว่าเป็นค่าตอบแทนเล็กๆน้อยๆที่ Brave หวังจะให้ผู้ใช้งานนำไปใช้ตอบแทนบรรดา Creator และ Publisher มากกว่า
อยากเอา BAT ไปแลกเป็นเงินจริงทำยังไง?
ปัจจุบันวิธีการที่จะนำ BAT จาก BAT Fund ออกมานั้นผู้ใช้งานจำเป็นต้องทำการ Verify ตัวตนด้วย Digital Wallet ที่เป็นพาร์ตเนอร์กับ Brave ซึ่งมีให้เลือกอยู่สองบริการเท่านั้นคือ Uphold และ Gemini ที่ผู้ใช้งานจะต้องมีบัญชีอยู่แล้ว แต่หากยังไม่มีก็จำเป็นต้องสมัครใช้งานโดยใช้เอกสารยืนยันตัวตนอย่าง พาสปอร์ต, ใบขับขี่ หรือ บัตรประชาชน รวมไปถึงถ่ายภาพหน้าตรงด้วยโทรศัพท์มือถือ เมื่อผ่านกระบวนการและนำมา Verify แล้วก็จะสามารถ “ถอน” หรือ “ฝาก” BAT เข้าไปใน BAT Fund ได้
แต่ก่อนที่จะเริ่มต้นสมัครกระเป๋าเงินออนไลน์เหล่านั้นเพื่อลองหารายได้จาก Brave Browser “ข่าวร้าย” ก็คือปัจจุบัน Brave Browser จะเปิดให้ Verify Brave Rewards ได้เฉพาะบางประเทศเท่านั้น โดยในปัจจุบันสามารถใช้งานได้ใน 19 ประเทศเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ได้รวม”ประเทศไทย” เอาไว้ด้วยนั่นเอง ดังนั้นใครที่สนใจที่จะสร้างรายได้จากการดูโฆษณาใน Brave Browser อาจจะต้องรอต่อไปก่อนหรือไม่เช่นนั้นก็ต้องไปผูกกับ Wallet ของคนรู้จักที่อยู่ใน 1 ใน 19 ประเทศนั้นให้แลกเงินและโอนมาให้อีกที ซึ่งก็ดูจะเป็นแนวทางที่ลำบากอยู่ไม่น้อย
Creator ก็สร้างรายได้จาก Brave Browser ได้
ในส่วนของ Creator รวมถึงเว็บไซต์ที่เป็น Publisher เองก็สามารถสร้างรายได้จาก Brave Browser ได้ใน 2 รูปแบบคือในส่วนของ Creator และ Publisher ที่ลงทะเบียนกับ Brave Browser จะได้รับ Token จากการมีส่วนร่วมของ User โดยอัตโนมัติขึ้นอยู่กับระดับการ Engagement ของ User โดย Brave Browser จะใช้การวัดผลที่เรียกว่า Attention นอกจากนี้ยังมีระบบให้ผู้ใช้งานจ่ายค่าผ่าน Paywall เป็น BAT เพื่อเข้าไปอ่านคอนเทนต์กับเว็บไซต์ที่ลงทะเบียนกับ Brave Browser ด้วย
อีกวิธีก็คือ Creator สามารถรับ Tips เป็น BAT จากผู้ใช้งานได้ด้วยยกตัวอย่างเช่นหากผู้ใช้งานชื่นชอบ ช่อง Youtube ที่ลงทะเบียนเอาไว้กับ Brave Browser ช่องใดช่องหนึ่งก็จะสามารถส่ง BAT เป็น Tips ให้กับเจ้าของช่องนั้นผ่านระบบของ Brave Browserได้ ธีการดังกล่าวนับเป็นทางเลือกของ Brave ในการให้ผลตอบแทนกับบรรดา Creator และ Publisher ที่ได้รับผลกระทบจากการที่ Brave ตัด ad-tracker และโฆษณาที่เป็นแหล่งรายได้ของผู้ผลิตคอนเทนต์ในปัจจุบันออกไป
ปัจจุบันบรรดา Crator ที่ลงทะเบียนกับ Brave Browser นั้นเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆโดย YouTube มีจำนวนมากกว่า 800,000 ช่อง Twitter มากกว่า 200,000 ราย ขณะที่ Twitch มีกว่า 170,000 ราย
ลงโฆษณาผ่าน Brave
ปัจจุบัน Brave Browser มี Active User จำนวนมากกว่า 50 ล้านรายทั่วโลกและด้วยระบบการให้ Rewards กับผู้ชมโฆษณานั่นทำให้ Brave Browser เป็นอีกช่องทางในการสื่อสารทางการตลาดไปสู่ผู้ใช้งานเหล่านี้ด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่บรรดา Advertiser ต้องเข้าใจก็คือโฆษณาของ Brave จะไม่ทำโฆษณาที่สามารถ Targeted ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายได้เนื่องจาก Brave Browser ไม่ได้เก็บข้อมูลการใช้งานของ User ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายจะเป็นเพียงกลุ่มเป้าหมายใหญ่ที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม Brave Browser ระบุเอาไว้ว่า บรรดา Advertiser ที่ลงโฆษณากับ Brave นั้นมีอัตราการกลับมาใช้บริการใหม่มากถึง 90% มี CTR หรือ Click Through Rate ที่ 9% และมีอัตราส่วน Ad Recall Rate สูงถึง 63% ด้วย
ขณะที่ Format ในการลงโฆษณานอกจากแบบ Push Notification แล้วยังมีรูปแบบของโฆณ Sponsored Images ที่จะแสดงผลในหน้าแรกเวลาผู้ใช้งานกด New Tab ด้วยเช่นกัน สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อลงโฆษณากับ Brave Browser ได้ที่ https://brave.com/brave-ads/
ทั้งหมดนั้นคือรายละเอียดเบื้องต้นสำหรับการใช้งาน Brave Browser ที่นับเป็นการสร้างสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานและการสร้างรายได้ให้กับบรรดา Creator และ Publisher ด้วยการผสานตัวเองเข้ากับ DApps และระบบของ DeFi เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน นับเป็นอีกตัวอย่างที่ชัดเจนว่าโลกของ WEB ในเวลานี้นั้นกำลังจะเดินไปสู่ยุคของ WEB 3.0 อย่างเต็มตัวมากขึ้นทุกทีแล้ว