ความท้าทายของ “แพลตฟอร์ม OTT” (Over The Top) ที่ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่แพ็กเกจราคาหรือความหลากหลายของคอนเทนต์เท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้แต่ละแพลตฟอร์มแตกต่างจากกัน เพื่อชิงความสนใจจากผู้บริโภคและมัดใจพวกเขาได้อยู่หมัด
ยกตัวอย่างความสำเร็จของ “WeTV” ในประเทศไทย กับเวลาปีเศษๆ ที่สามารถเติบโตทั้งฐานผู้ใช้ ยอดดาวน์โหลด และการสร้างปรากฏการณ์มากมายทั้งบนแพลตฟอร์ม และนอกแพลตฟอร์มได้อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ประเด็นน่าสนใจของ WeTV ตั้งแต่แนวคิด กลยุทธ์ การดำเนินงาน และการต่อยอดความสำเร็จจากภาพเจ้ายุทธจักรคอนเทนต์จีนสู่การเป็น “ศูนย์รวมความบันเทิงแห่งเอเชีย (Asian Premium Selection)” เรื่องนี้ คุณกนกพร ปรัชญาเศรษฐ Country Manager แห่ง WeTV Thailand หนึ่งในบริการแพลตฟอร์มเพื่อความบันเทิงจากเทนเซ็นต์ ได้เล่าความสำเร็จเหล่านี้ให้เราฟัง…
เร่งสปีด…ปีเดียว ยอดดาวน์โหลดโต 7 เท่าตัว!
คุณกนกพร เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ WeTV ในประเทศไทย ว่า WeTV คือ การต่อยอดความสำเร็จของ Tencent Video ผู้ผลิตคอนเทนต์ และเจ้าของแพลตฟอร์มที่นำเสนอคอนเทนต์คุณภาพอันดับ 1 ในจีนและมีผู้ใช้งานมากถึง 600 ล้านบัญชีต่อเดือน โดย Tencent Video ได้เลือกประเทศไทยเป็นประเทศแรกในการทำตลาดนอกประเทศจีน แน่นอนว่าเทคโนโลยีและคอนเทนต์เป็นความแตกต่างของแพลตฟอร์มซึ่งส่งต่อมาถึงการดำเนินงานของ WeTV ในประเทศไทย เปิดตัวอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2562 และขยายพื้นที่ให้บริการไปในอีก 6 พื้นที่ทั่วเอเชีย ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย จีน(ไต้หวัน) และอินเดีย
“นับตั้งแต่เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการด้วยเวลาแค่ปีกว่าๆ มีความสำเร็จเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ยอดดาวน์โหลดที่เพิ่มขึ้นถึง 7 เท่าตัว รวมถึงเป็นแพลตฟอร์ม OTT ที่มีสัดส่วน Time sharing เกือบ 50% จากแพลตฟอร์ม OTT ทั้งหมด”
คุณกนกพร ยังเล่าถึงพฤติกรรมการรับชมของคนไทยผ่าน WeTV ว่า ส่วนใหญ่จะใช้เวลารับชมเฉลี่ย 90-120 นาทีต่อวัน แต่หากเป็นการรับชมรายการวาไรตี้อาจรับชมต่อเนื่องถึง 180 นาทีต่อวันเลยทีเดียว
ด้วย 3 กลยุทธ์หลักของ WeTV ที่เราวางไว้ทั้ง “ออริจินัล คอนเทนต์ – อินโนเวชัน – คอมมูนิตี้” จากวันแรกที่เรานำเสนอคอนเทนต์ที่ชัดเจน พร้อมกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่เรามี ทำให้เราประสบความสำเร็จด้วยระยะเวลาอันรวดเร็ว
ต่อยอดจากออริจินัลคอนเทนต์จีนคุณภาพคับจอจนครองใจคนไทย
เรื่องนี้ Country Manager แห่ง WeTV บอกว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้คนไทยรู้จัก WeTV คือ การเป็นเจ้ายุทธจักรคอนเทนต์จีน ด้วยคุณภาพและความหลากหลายของคอนเทนต์ โดยเฉพาะออริจินัล คอนเทนต์จาก Tencent Video ถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้ WeTV ประสบความสำเร็จ ในการมัดใจผู้ชมคนไทย
“โอกาสของ WeTV กับตลาดคอนเทนต์จีนในไทย คือ ความโดดเด่นจากการมีตัวเลือกจำนวนมากเพื่อตอบโจทย์ผู้ชม เพราะคอนเทนต์จีนไม่ใช่เรื่องใหม่ของผู้ชมชาวไทยแต่เป็นความคุ้นเคยและชื่นชอบอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็ยังไม่มีแพลตฟอร์ม OTT รายใดเสิร์ฟคอนเทนต์จีนที่เน้นความสดใหม่ มีคุณภาพทั้งคอนเทนต์ คำบรรยาย ความรวดเร็วที่สามารถดูคู่ขนานไปพร้อมกับจีน และยังมีกิจกรรมแฟนมีตติ้งระหว่างนักแสดงกับแฟนๆ ด้วย”
หากฉายภาพความสำเร็จของ WeTV ในประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่ามี “Killer Content” เป็นซีรีส์จีนเรื่อง “ปรมาจารย์ลัทธิมาร” ที่สร้างปรากฏการณ์ให้มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นกว่า 250 เท่าตัว มีผู้ลงทะเบียนเข้าคิวรอซื้อตั๋วร่วมงานแฟนมีตติ้งกว่าแสนคิว ทั้งที่มีบัตรจำหน่ายเพียง 5 พันใบ หรือเรื่อง “สามชาติสามภพลิขิตเหนือเขนย” ภาคต่อที่มีสถิติการรับชมต่อวันสูงสุดถึง 45 ล้านนาที
แต่เราก็ไม่จบแค่นี้ เราก็มองหาวิธีที่จะทำให้คนดูสามารถ Engage กับแพลตฟอร์มเรามาขึ้น พอมาถึงเรื่อง “ข้านี่แหละองค์หญิงสาม” ซึ่งเปิดตัวเมื่อช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ซึ่ง WeTV ได้ทดลองเปิด “ฟีเจอร์ Fast Track” ให้ผู้ใช้งานสามารถซื้อคอนเทนต์เพื่อดูล่วงหน้าเป็นรายตอน จนถึงตอนจบของเรื่องได้โดยไม่ต้องรอ
และต่อยอดจากฟีเจอร์ Fast Track ก็ไม่หยุดแค่นั้น เรามีรายการวาไรตี้แห่งปี อย่าง “CHUANG 2020” ก็เลยเปิดตัว ฟีเจอร์โหวต ที่มีผู้ใช้งานโหวตในแอปพลิเคชันมากถึง 400,000 บัญชี ตลอดทั้งซีซั่น จนทำให้ “เนเน่ – พรนับพัน พรเพ็ญพิพัฒน์” สาวไทยเพียงหนึ่งเดียวในรายการดังกล่าวได้เปิดตัวเป็น 1 ใน 7 สมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปวง ‘BonBon Girls 303’ เป็นโอกาสที่ทำให้ WeTV มีชื่อเสียงในกลุ่มรายการวาไรตี้มากขึ้นด้วย และเป็นแพลตฟอร์มเดียวที่ทำให้เกิด Engagement กับผู้ใช้งานได้จริง
ขายคอนเทนต์ต้อง “สด – ใหม่” ไม่ใช่มีแค่ Library
คุณกนกพร แสดงความเห็นว่า ข้อได้เปรียบของ WeTV คือการเป็นแพลตฟอร์ม OTT ที่มีคอนเทนต์สดและใหม่ซึ่งผลิตเองอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเรื่องภาพและคำบรรยายซึ่งเราเน้นคุณภาพเพื่อประสบการณ์การรับชมของผู้ใช้ ขณะที่ผู้ให้บริการรายอื่นจะเน้นคอนเทนต์แบบ Library ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นดั้งเดิมหรือเคยโด่งดัง เมื่อหลายปีมาแล้ว จึงเป็นจุดเด่นที่ทำให้ WeTV ยังคงมีผู้ชมเหนียวแน่น
“ในสนาม OTT วันนี้เราแข่งกันที่ Time Sharing ว่าใครสามารถดึงให้ผู้ชมดูคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มของตัวเองได้นานกว่ากัน ซึ่งในภาพรวมนั้นยังมีโอกาสสำหรับผู้เล่นทุกรายอีกมาก ดังนั้น หน้าที่ของเราคือต้องทำการบ้านหนักขึ้น ต้องหาคอนเทนต์ให้หลากหลายแต่มีคุณภาพและตรงใจคนดู พร้อมๆ กับการเสิร์ฟเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้คนอยากอยู่กับเราต่อเนื่อง เพราะ 5G และการใช้งานสมาร์ทโฟนที่เติบโตอย่างต่อเนื่องทำให้เรายังเดินไปได้อีกไกล หรือแม้แต่การมีศิลปิน นักแสดงระดับแม่เหล็กเพื่อดึงความสนใจของผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด”
พฤติกรรมผู้ใช้งาน “อยากดูไว – พร้อมจ่าย” ให้คอนเทนต์!
Country Manager แห่ง WeTV อธิบายพฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์ของคนไทยเพิ่มเติม ว่าคอนเทนต์แบบ Freemium ยังเป็นที่นิยมของผู้ชมคนไทยส่วนใหญ่ เช่นเดียวกับที่ WeTV ให้บริการอยู่ในกลุ่มดังกล่าว แต่ก็มีบริการแบบเก็บค่าสมาชิกทั้งแบบ VIP รายเดือน ราย 3 เดือน รายปี และ Fast Track สำหรับซื้อคอนเทนต์เพื่อดูล่วงหน้าเป็นรายตอน
“บริการเบื้องต้นเราคือ Freemium ซึ่งก็คือทุกคนดูคอนเทนต์จาก WeTV ได้ฟรี และในปัจจุบันคนเริ่มเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์และโมเดล Subscription มากขึ้น เราจึงตอบโจทย์ผู้ใช้งานด้วยนวัตกรรมต่าง ๆ เพิ่มความพิเศษมากขึ้นจากการรับชมแบบ VIP เช่น ให้สิทธิ์โหวต 2 เท่ามากกว่าผู้ชมทั่วไปในการโหวตเด็กฝึกในรายการวาไรตี้ CHUANG 2020 ที่ผ่านมา และการดูซีรีส์ล่วงหน้าสมาชิกทั่วไป เป็นต้น ซึ่งทั้งรูปแบบ VIP และ Fast Track ก็ได้การตอบรับดีมาก เพราะราคาค่าสมาชิกของ WeTV นั้นถือเป็นราคาที่สบายกระเป๋าที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการ OTT รายอื่น ทั้งยังรองรับการใช้งานทั้งบนมือถือและทีวี ตอบโจทย์การชมที่ต้องการความรวดเร็ว รอไม่ได้”
ตั้งโจทย์ใหญ่ เปลี่ยนภาพ “เจ้ายุทธจักรคอนเทนต์จีน” สู่การเป็น “ศูนย์รวมความบันเทิงแห่งเอเชีย”
ปัจจุบันสัดส่วนคอนเทนต์ของ WeTV ขณะนี้ 60% เป็นคอนเทนต์จีน อีก 25% เป็นคอนเทนต์ไทย ประมาณ 15% เป็นคอนเทนต์เกาหลีและอื่นๆ ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวจะมีการเปลี่ยนแปลงตามความต้องการ หรือเทรนด์การเลือกชมคอนเทนต์ในช่วงนั้นๆ และจากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคและเทรนด์การรับชม ทำให้เราเห็นโอกาสใหม่ในการขยายฐานคอนเทนต์เพื่อตอบโจทย์ผู้ชม พร้อมกับสร้างความแข็งแกร่งให้แบรนด์ และสร้างความแตกต่างจากผู้ให้บริการทั้งรายใหม่และรายเดิมที่มีอยู่ในตลาดเดียวกันด้วยการ “เพิ่มคอนเทนต์” ทั้งจีน ไทย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ภายใต้เป้าหมาย “ศูนย์รวมความบันเทิงแห่งเอเชีย” นอกจากจะเป็นการขยายฐานกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังเป็นการดึงให้ผู้ใช้งานที่อยู่กับเราอยู่แล้ว อยู่กับเราให้นานขึ้น คอนเทนต์ที่เรานำเสนอจึงต้องตอบโจทย์ผู้ชมทุกเพศ และทุกวัย โดยกลยุทธ์ที่จะช่วยผลักดันให้ WeTV สู่การเป็น “ศูนย์รวมความบันเทิงแห่งเอเชีย” ประกอบด้วย
ออริจินัล & เอ็กซ์คลูซีฟ คอนเทนต์ : เน้นการสร้างสรรค์ และนำเสนอคอนเทนต์ที่โดดเด่น และหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์คุณภาพที่ส่งตรงจาก Tencent Video ทั้งซีรีส์ฟอร์มยักษ์ หรือรายการวาไรตี้จากจีนที่สามารถดูได้ฟรี และถูกลิขสิทธิ์จำนวนหลายสิบเรื่องต่อปี และคอนเทนต์ที่เกิดขึ้นจากการจับมือกับพันธมิตรผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศไทย สร้างสรรค์ออริจินัลและเอ็กซ์คลูซีฟ คอนเทนต์ ที่ตรงใจผู้ชม และอยู่ในกระแส โดยในปีนี้วางแผนนำเสนอคอนเทนต์ไทยทั้งหมด 5-6 เรื่อง ซึ่งเรื่องล่าสุดที่เปิดตัวไป คือ “ละครฉลาดเกมส์โกง” (Bad Genius The Series) ซึ่งได้กระแสตอบรับที่ดีจากผู้ชม นอกจากนี้ ยังมีคอนเทนต์ซีรีส์วาย ภายใต้โปรเจกต์ “ปฏิบัติการณ์หัวใจ ‘วาย’” เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ชมที่ชื่นชอบซีรีส์วายอีกด้วย พร้อมกับคงคอนเทนต์ดราม่าที่คนไทยชื่นชอบเอาไว้ ในเดือนตุลาคมที่จะมีเอ็กซ์คูลซีฟคอนเทนต์ละครร้อยเล่ห์มารยา กับทางช่อง 3 ที่สามารถรับชมสดและย้อนหลังแบบไม่มีโฆษณาคั่นได้ที่ WeTV เท่านั้น
นวัตกรรม : นำเทคโนโลยีจากบริษัทแม่ อย่าง “Tencent Video” มาปรับใช้กับการให้บริการบนแพลตฟอร์มของ WeTV เพื่อสร้างประสบการณ์ร่วมระหว่างแพลตฟอร์มกับผู้ใช้งาน เช่น “ฟีเจอร์โหวต” ที่เปิดให้ผู้ชมส่งคะแนนโหวตให้กับเด็กฝึกที่ชื่นชอบในรายการ CHUANG 2020 ผ่านแอปพลิเคชัน WeTV หรือ ฟีเจอร์คอมเมนต์วิ่ง” (Flying Comment) ที่มีการใช้งานไปแล้วกว่า 5 ล้านคอมเมนต์ระหว่างรับชม เป็นต้น ซึ่ง WeTV เป็นแพลตฟอร์มเดียวที่สร้างให้เกิด Engagement ได้จริง
คอมมูนิตี้ : เปิดพื้นที่สร้างประสบการณ์ร่วมแบบเอ็กซ์คลูซีฟให้กับผู้ใช้งานผ่านกิจกรรมแบบ OO Event (Offline-Online Event) เช่น Fan Meeting หรือ Fan Service จัดกิจกรรมพิเศษเชื่อมต่อทั้งออนไลน์ และออฟไลน์เข้าด้วยกัน โดยทุกกิจกรรมจะมีรากฐานมาจากออริจินัล คอนเทนต์ของ WeTV (ทั้งจีนและไทย) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับคอมมูนิตี้ของกลุ่มผู้ชมบนแพลตฟอร์มของ WeTV ทำให้ผลพลอยได้ก็คือบทสนทนาหรือ Conversation ที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดียจนกลายเป็นหัวข้อยอดฮิตจากเดิมที่พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ก็สามารถดึงคนเข้ามาใช้งานแพลตฟอร์ม WeTV ให้มากขึ้นไปอีกด้วย
ทั้งหมดนี้ คุณกนกพร ยังกล่าวถึงการสร้างความแข็งแกร่งให้ WeTV ในประเทศไทยด้วย ว่า… เรายังคงเดินหน้าสร้างออริจินัล คอนเทนต์ ทั้งออริจินัล คอนเทนต์จีนจาก Tencent Video และออริจินัล คอนเทนต์ไทย ที่ร่วมมือกับพันธมิตรผู้ผลิตชั้นนำของเมืองไทย อาทิ ช่อง 3 จีเอ็มเอ็มทีวี ทีวี ธันเดอร์ และ สตูดิโอ วาบิ ซาบิเป็นต้น โดยในปี 2021 ยังคาดว่าจะมีออริจินัล คอนเทนต์ของไทยอีกไม่ต่ำกว่า 14 เรื่อง รวมถึงการเลือกคอนเทนต์ที่มีนักแสดงระดับไอดอลเข้ามาให้ชม โดยเฉพาะคอนเทนต์จีนจาก Tencent Video ที่ได้นักแสดงนำที่เป็นที่รู้จัก เช่น ‘The Oath of Love’ นำแสดงโดย ‘เซียวจ้าน’ ‘นางโจร’ นำแสดงโดย ‘หวังอี้ป๋อ และ ‘บันทึกปิ่น’ นำแสดงโดย ‘คริส วู’ อดีตสมาชิกวง EXO พร้อมกับสร้างประสบการณ์เอ็กซ์คลูซีฟให้แฟนๆ ได้มีตติ้งกับศิลปินและนักแสดงกลุ่มไอดอลจากจีนที่แฟน ๆ ชื่นชอบ ซึ่ง WeTV ได้รับสิทธิ์ในการนำเข้าสัญญาณสดจากทุกพื้นที่ให้บริการในเครือ Tencent Video อยู่แล้ว ยิ่งทำให้คอนเทนต์ของ WeTV มีจุดแข็งมากกว่ารายอื่น และสามารถฉายให้รับชมได้พร้อมกันทุกพื้นที่ให้บริการอีกด้วย
“ไม่ใช่แค่ความหลากหลายของประเภทคอนเทนต์ แต่เป้าหมายที่เราต้องการเป็นศูนย์รวมความบันเทิงแห่งเอเชีย ยังมาพร้อมกับการเลือกคอนเทนต์คุณภาพทั้งออริจินัล คอนเทนต์และเอ็กซ์คูลซีฟ คอนเทนต์ เพื่อทำให้ผู้ชมได้รับชมคอนเทนต์พิเศษๆ ที่หาดูไม่ได้จากที่อื่น” คุณกนกพร กล่าวทิ้งท้าย