ถอดรหัส ‘8-7-6’ เทรนด์, โอกาส และความท้าทายที่ ‘ธุรกิจท่องเที่ยว’ ต้องเผชิญในโลกยุคใหม่

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

8-7-6-Cover(1)

 

หลังการชะงักตัวของธุรกิจท่องเที่ยวจากผลกระทบของโควิด-19 จนในวันนี้เป็นที่รู้กันดีว่าการท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงในไทยเองกำลังฟื้นตัวดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านจำนวนนักท่องเที่ยว และเม็ดเงิน แต่ก็มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างไปจากในอดีต 

ใน Session ‘Reimagining Hospitality for the New Wave: กลยุทธ์ชนะท่องเที่ยวโลกใหม่จากดุสิต’ จากงาน Secret Sauce Summit 2024 ทางคุณ ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ได้มาแชร์กลยุทธ์การปรับตัวของธุรกิจท่องเที่ยวยุคใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการแข่งขันกับคู่แข่งในตลาด ผ่านการถอดรหัส ‘8-7-6’ เทรนด์ ความท้าทาย และโอกาสที่ธุรกิจต้องฉวย

 

 8 เทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่

 

global trends

 

1. การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (Sustainable Travel): นักท่องเที่ยวในปัจจุบันใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม และชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกที่พักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือการสนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น

 

2. ผสมผสานเทคโนโลยี (Tech Integration): เพราะผู้บริโภคยุคใหม่ชอบอะไรที่ง่าย และรวดเร็ว การนำเทคโนโลยีมาช่วยจะตอบโจทย์ตรงนี้ได้

 

3. การเดินทางที่สั้นลงแต่บ่อยขึ้น (Shorter, More Frequent Trips): เทรนด์การท่องเที่ยวยุคนี้มักใช้ระยะเวลาท่องเที่ยวสั้นลง แต่เดินทางบ่อยขึ้น

 

4. ประสบการณ์ท้องถิ่น (Local Experiences): นักท่องเที่ยวต้องการสัมผัสประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น การลองอาหารท้องถิ่น การเรียนรู้วัฒนธรรมและประเพณีพื้นบ้าน

 

5. การทำงานแบบดิจิทัลโนแมด (Digital Nomadism): ในยุคนี้ ‘Work from Anywhere’ กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของคนทำงานยุคนี้ หลายคนจึงอยากเปลี่ยนบรรยากาศไปนั่งทำงานที่สถานที่ท่องเที่ยว หรือโรงแรมต่างๆ จึงต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการทำงานด้วย

 

6. Health & Wellness: การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นแนวโน้มที่กำลังได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างมากในยุคปัจจุบัน ซึ่งไม่เพียงแต่หมายถึงการเข้าพักที่รีสอร์ตสุขภาพหรือการใช้บริการสปาเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงกิจกรรม และประสบการณ์ที่มุ่งเน้นการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจอย่างครบวงจร

 

7. การท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ (Experiential Travel): นักท่องเที่ยวต้องการประสบการณ์ที่ไม่ซ้ำใคร เช่น การเดินทางผจญภัย การเข้าร่วมกิจกรรมบางอย่างในสังคมท้องถิ่น

 

8. ความปลอดภัย และสุขอนามัย (Safety & Hygiene): หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและสุขอนามัยมากขึ้น การรับรองมาตรการที่เข้มงวดในการป้องกันการติดเชื้อเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้าม

 

7 โอกาสที่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวต้องรู้

 

 

1. Geographical Location: การใช้ประโยชน์จากทำเลที่ตั้งที่ดี เช่น อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติหรือประวัติศาสตร์ จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น โดยคุณศุภจีให้มุมมองว่าที่ตั้งของประเทศไทย อยู่ใจกลางภูมิภาคอาเซียน ซึ่งใช้เวลาเดินทางไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเพียง 1-2 ชั่วโมงเท่านั้น ถ้าเราสามารถเปลี่ยนตัวเองมาเป็น Hub แห่งการท่องเที่ยวได้จะสร้างประโยชน์มหาศาล

 

2. Health and Wellness: การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รวมถึงการดูแลสุขภาพกำลังเป็นที่นิยม และจริงๆ แล้ว การแพทย์ของไทยเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง หากต่อยอดได้ ไทยจะไม่ใช่แค่ศูนย์รวมสปา หรือฟิสเนต แต่จะเป็น Hub แห่งสุขภาพที่รวมเรื่องการแพทย์เข้ามาด้วย

 

3. B-Leisure Segment: แนวโน้มการผสมผสานระหว่างการทำงานและการพักผ่อน (Business + Leisure) เพิ่มขึ้น โดยผลสำรวจจาก Statista พบว่า ชาว Gen Y และ Gen Z มีสัดส่วน Frequent Leisure Traveler หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางบ่อยเพื่อจุดประสงค์ในการพักผ่อนสูงที่สุด คือ 52%

 

4. MICE (Events & Festivals): เป็นกลุ่มตลาดท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และมีศักยภาพสูงในการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว โดยไม่ได้จำกัดเพียงแค่การจัดประชุม หรือสัมมนาทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงงานแสดงสินค้า เทศกาลศิลปะ การจัดคอนเสิร์ต หรืออีเวนต์การแข่งขันกีฬา เป็นต้น

 

5. Sustainable Tourism Initiatives: นอกจากเป็นแนวทางการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และชุมชนด้วย

 

6. Cultural and Culinary Tourism: การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมยังคงเป็นที่สนใจสำหรับนักท่องเที่ยวเสมอ ไม่ว่าจะเป็นด้านวัฒนธรรม หรืออาหารไทย ที่สามารถครองใจชาวต่างชาติได้เรื่อยมา

 

7. Promote Lesser-Known Destination: เมื่อพูดถึงการโปรโมตท่องเที่ยว เรามักจะเห็นการโปรโมตที่พักอย่าง โรงแรม รีสอร์ต แต่ด้านคุณศุภจีมองว่าจริงๆ แล้วการโปรโมตตัวสถานที่ท่องเที่ยวจะส่งผลกระทบเชิงบวกได้ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นด้านการดึงดูด หรือการท่องเที่ยวเชิงคุณค่า

 

6 ความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ และรับมือ

 

6 challenge

 

1. Infrastructure and Connectivity: การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการเชื่อมต่อในบ้านเรายังไม่รองรับการเป็น Hub อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งนับว่าเป็นอุปสรรคใหญ่สำหรับการท่องเที่ยวในบางพื้นที่

 

2. Labor Dynamic: การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ และการหมุนเวียนพนักงานสูงเป็นความท้าทายที่ธุรกิจท่องเที่ยวต้องรับมือ โดยเฉพาะด้านการสื่อสารทางภาษากับนักท่องเที่ยว ที่ผู้ประกอบการจะต้องเร่งการฝึกอบรม

 

3. Environmental Sustainability: การรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ ในการรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ให้ยังอยู่คงเดิม ซึ่งจะช่วยในการดึงดูดนักท่องเที่ยวในอนาคต ไปจนถึงผลประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่

 

4. Cultural Preservation: เช่นเดียวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ว่าจะทำอย่างไรเพื่อรักษาคุณค่าด้านศิลปวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมเอาไว้ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการทำนุบำรุง หรือปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์บางจุดให้ทันสมัย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวยุคปัจจุบัน และยกระดับความปลอดภัยด้วย

 

5. Economic Conditions: สภาพเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนส่งผลกระทบต่ออำนาจการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว

 

6. Regulatory and Policy Framework: กฎระเบียบและนโยบายที่เปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง หรือเข้มงวดเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อการวางแผนธุรกิจ และการลงทุนในระยะยาวของธุรกิจท่องเที่ยวได้

 

การทำความเข้าใจแนวโน้มการท่องเที่ยวใหม่ๆ และการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ประกอบการในยุคนี้ การใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีอยู่ และการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจเติบโตและยั่งยืนต่อไปในอนาคต


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •