Insight ทำไมไอดอลสายกิน ‘Mukbang’ กระแสนิยมดี แถมรายได้ยังดีสุดๆ ในยุค COVID-19

  • 100
  •  
  •  
  •  
  •  

มีใครที่ชอบนั่งดู YouTube channel รายการกินโชว์บ้าง? งั้นมารวมกันตรงนี้

Eating Show หรือ การกินโชว์ทีละเยอะๆ มีชื่อเรียกอีกอย่างก็คือ Mukbang (รวมคำระหว่าง Muk da ที่แปลว่ากิน กับคำว่า Bangsong ที่แปลว่าการถ่ายทอดสด)

หลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินอยู่บ้าง แต่ก็อาจยังมีหลายคนที่ไม่รู้ว่า Mukbang เกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมกระแสตอบรับยังคงดีมากๆ ทั่วโลก

 

การกำเนิด Mukbang

ย้อนไปตั้งแต่ปี 2009 ‘Mukbang’ เกิดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้เป็นที่แรก ข้อมูลของ Wikipedia ระบุว่า บริการอินเทอร์เน็ตทีวีแบบเรียลไทม์ชื่อดังของเกาหลีใต้ ‘AfreecaTV’ เป็นที่แรกที่ทำรายการกินอาหารโชว์ เรียกได้ว่าเป็นแหล่งรวม Mukbang อันดับหนึ่งของเกาหลีใต้

ต่อมาตั้งแต่ในปี 2010 eating show กลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นในดินแดนโสมขาว เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เชนอาหารฟาสต์ฟู้ดต่างประเทศเริ่มเข้ามาในเกาหลีใต้ ดังนั้น Mukbang ที่เราเห็นในช่วงเวลานั้นก็จะมีตั้งแต่ อาหารเกาหลีแบบ home made จนไปถึงฟาสต์ฟู้ด โดยเฉพาะ pizza ที่ popular สุดๆ เลย

จนมาถึงปี 2014 สำนักข่าว Reuters รายงานว่า มีคนทำ Mukbang อยู่ประมาณ 3,500 คนทั่วโลก แต่ Mukbang ที่สร้างรายได้จากการกินโชว์มากที่สุด ก็คือ ‘เกาหลีใต้’ เพราะแฟนคลับหลายพันคนจะส่งเงิน หรือ budget ให้กับนักแสดงในคลิปเพื่อ support ความบันเทิงครั้งต่อๆ ไป

อย่างเช่น นักแสดง Mukbang ชื่อดังในเกาหลีใต้ ‘Park Seo-Yeon’ เธอสร้างรายได้จาก Mukbang ได้มากพอที่ทำให้เธอตัดสินใจลาออกจากงานประจำ โดยในปี 2014 (ยังไม่มี Mukbang หน้าใหม่ๆ มากนัก) เธอทำรายได้มากถึงเดือนละ 9,400 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 310,388 บาท) สำหรับการออกอากาศกินโชว์ วันละ 3 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งที่ทำให้ Mukbang เป็นที่รู้จักในหลายๆประเทศทั่วโลก ก็เพราะว่าชาวต่างชาติที่ทำงาน หรืออาศัยในเกาหลีใต้ เริ่มทำ Mukbang มากขึ้นเช่นกัน จนสามารถสร้างฐานแฟนคลับในประเทศของตัวเองได้ อย่างเช่น คู่รักชาวแคนาดา Simon และ Martina Stawski ที่เริ่มกินโชว์อาหารเกาหลีทีละมากๆ จนกลายเป็นนักแสดง Mukbang ชาวต่างชาติคนแรกๆ ที่มีชื่อเสียง เขาบอกกับ CNBC ด้วยว่า Mukbang มันสนุกตรงที่ เราต้องสร้างเอกลักษณ์ระหว่างกินของแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นการกินแบบมีเสียง ชวนให้อร่อย หรือ กินของแปลกๆ กินคำหนึ่งทีละเยอะๆ เป็นต้น

คนเหงามากขึ้น Mukbang จึงตอบโจทย์

งานวิจัยของ ABC ชี้ว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้ Mukbang กำเนิดขึ้นในเกาหลีใต้ และได้รับความนิยมพอๆ กับการดูละคร หรือรายการโทรทัศน์อื่นๆ ก็เพราะว่า ความเหงา

ในปี 2014 เกาหลีใต้เข้าสู่สังคมแบบใหม่ที่ผู้คนเริ่มย้ายออกมาอยู่ด้วยตัวเอง โดย 26% ของชาวเกาหลีใต้อยู่บ้านเพียงลำพัง เทียบกับปี 2000 ที่มีประมาณ 11% ขณะที่ในปี 2018 พบว่า สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกมาอยู่ที่ 36% และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันเปอร์เซ็นต์ของการแต่งงาน และมีคู่รักในเกาหลีใต้เริ่มลดลงเรื่อยๆ

ดังนั้น Mukbang จึงเหมือนเครื่องมือคลายเหงาอีกอย่างหนึ่งของคนเกาหลี ไม่ให้รู้สึกว่าอยู่คนเดียวเวลาที่กินข้าว ทั้งยังพบว่า เหตุผลดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นที่เกิด Mukbang ในหลายๆ ประเทศด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ อีกหนึ่งเหตุผลที่น่าสนใจว่าทำไม Mukbang ถึงได้รับความนิยมมากขึ้น งานวิจัยของ Lund University ในสวีเดน ได้ระบุว่า หลายๆ ประเทศในยุโรป รวมถึง สหรัฐอเมริกา แฟนคลับตัวยงที่ชื่นชอบการดู Mukbang ส่วนหนึ่งเพราะ พวกเขากำลังเครียดจากการควบคุมอาหารของพวกเขา ดังนั้น ความสุขที่เห็นคนอื่นกินอาหารทีละเยอะๆ ช่วยกระตุ้นสารความสุขให้กับพวกเขาได้ เป็นวิธีสร้างความบันเทิงอย่างหนึ่งเพื่อลดความเครียดนั่นเอง

 

Mukbang สร้างรายได้มากถึงหลักแสนบาท!

ในปัจจุบันไม่ใช่แค่ในเกาหลีใต้อีกต่อไป แต่นักแสดง Mukbang ในหลายๆ ประเทศ รวมทั้งในไทยเอง ก็สร้างรายได้จากการทำ Mukbang ราวๆ 10,000 ดอลลลาร์สหรัฐ (ราว 330,200 บาท) จากข้อมูลของ Lund University ทั้งยังระบุว่า รายได้จำนวนดังกล่าวยังไม่รวมกับค่าโฆษณา และผู้สนับสนุนอื่นๆ ด้วย

ทั้งนี้ มีหนึ่งประโยคจากงานวิจัยที่น่าสนใจ ซึ่งพูดว่า การกินโชว์ในช่องทาง YouTube สร้างรายได้ให้พวกเขามากกว่าช่องทางสื่อโซเชียลอื่น อย่าง Facebook และ Instragram

ในยุค COVID-19 การกินโชว์ traffic มาแรง

กระแสการ stay home และ social distancing กำลังมาแรงในช่วงนี้ ช่วงที่กว่า 204 ประเทศทั่วโลกเผชิญปัญหาการแพร่ระบาดของ Coronavirus ดังนั้น กิจกรรมต่างๆ ที่ทำได้จากที่บ้านเพื่อช่วยคลายความเบื่อ แก้เหงา ไปวันๆ จึงได้รับสนใจมากขึ้น

อย่างที่เราเห็นในไทย ไม่ว่าจะเป็นเหล่านักแสดงชื่อดัง คนในวงการบันเทิง หรือแม้แต่ ประชาชนทั่วไป ต่างก็พยายามสร้างความบันเทิงให้กับตัวเองขณะที่กักตัวอยู่บ้าน ก็เพราะว่าการระบาดแบบ non-stop ที่ยังไม่รู้ว่าจะลงเอ่ยที่ตรงไหน และเมื่อไหร่ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้กระแส Mukbang ได้รับอานิสงส์

อย่างในจีน ที่มีการระบาด COVID-19 ตั้งแต่เดือน ธ.ค. จนรัฐบาลสั่งปิดประเทศในเดือน ม.ค. ทำให้นักแสดงหน้าใหม่ในวงการ Mugbank เกิดมากขึ้น โดยการสำรวจของ South China Morning Post ระบุว่า ในเดือน ม.ค. ถึง ก.พ. ที่ผ่านมา มีนักแสดงหน้าใหม่ที่เริ่มกินอาหารโชว์เกือบ 20 คน ส่วนใหญ่เป็นฟาสต์ฟู้ด เช่น KFC กับ Pizza

ขณะเดียวกันในเกาหลีใต้เอง ก็เริ่มมีการโชว์ Mukbang จากบอยแบรนด์ เช่น Cix ที่หันมากินโชว์แทนในช่วงที่ต้องเบรคพักงานชั่วคราว

แม้แต่ใน ‘อินเดีย’ จำนวนนักแสดง Mukbang ยังเพิ่มขึ้นเห็นได้ชัด เนื่องจากอินเดียสังคมใหม่เริ่มเปิดกว้างให้ผู้หญิงทำงานนอกบ้านได้มากขึ้น อยู่ลำพังด้วยตัวเองมากขึ้น โดยหนึ่งในนักแสดง Mukbang ของอินเดีย ‘Viraj Shah’ จากมุมไบ กล่าวกับ ThePrint ว่า นักแสดง Mukbang ในอินเดียมีจำนวนมากขึ้น มีตั้งแต่กินโชว์จากอาหารที่ทำที่บ้าน จนไปถึงสั่งเดลิเวอรี่ฟาสต์ฟู้ดมากินโชว์ ซึ่ง KFC เป็นอาหารที่นิยมมาทำ Mukbang มากที่สุดในอินเดีย

Viraj Shah เล่าให้ฟังว่า มีแฟนคลับของเขาจำนวนไม่น้อยเลยที่บอกว่า พวกเขามักจะดู Mukbang ก่อนที่จะเริ่มกินอาหาร แทนที่จะดู Netflix หรือทำกิจกรรมอย่างอื่น เพราะช่วยกระตุ้นให้พวกเขาหิวมากขึ้น รู้สึกเอ็นจอยกับอาหารมากขึ้น ในเวลาที่ต้องกินอาหารคนเดียว

A mukbang video | YouTube

 

5 Mukbang YouTuber ชื่อดังปี 2020

รายงานของ feedspot ได้จัดอันดับ Top 30 Mukbang Youtuber ชื่อดังที่มีจำนวนคนติดตามมากที่สุดในปี 2020 แต่ในวันนี้ MarketingOops อยากลองยกตัวเองมาสัก 5 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น YouTuber ชื่อดังตลอดกาลมามากกว่า 3 ปีแล้ว ได้แก่

1) N.E Lets Eat (แคนาดา) มีผู้ติดตามมากว่า 3 ล้านคน
2) Stephanie Soo (เกาหลีใต้) มีผู้ติดตามกว่า 2.1 ล้านคน
3) Quang Tran (แคนาดา) มีผู้ติดตาม 1.8 ล้านคน
4) Veronica Wang (แคนาดา) มีผู้ติดตาม 1.6 ล้านคน
5) hyuneeEats (ลอสแอนเจลิส) มีผู้ติดตาม 1.5 ล้านคน

ทั้งนี้ ยังมี Mukbang YouTuber อีกหลายๆ คนที่น่าสนใจ และจำนวน follower เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยสามารถดูเต็มๆ ได้ที่นี่ feedspot

สำหรับใน ‘ไทย’ กระแสการ Mukbang ก็ได้รับความนิยมมากไม่ต่างกัน อย่างเช่น รายการ ‘อีสานพาสวบ’ ซึ่งมีคนติดตามมากถึง 4.55 แสนคนแล้วในขณะนี้

 

 

ที่มา : cnbc, scmp, abcnews, theprint, duffy, feedspot


  • 100
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม