จากภาพยนตร์ Sci-Fi สู่การปรากฏตัวของ Robots ในภาคอุตสาหกรรม

  • 140
  •  
  •  
  •  
  •  

นับวันเรายิ่งเห็นสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น หรือที่อยู่ในภาพยนตร์ Sci-Fi (Science Fiction) ค่อยๆ สมานเข้ามาอยู่ในชีวิตจริงของเรามากขึ้นเรื่อยๆ จากที่เราเคยฮือฮากับความอลังการ และแนวคิดสุดบรรเจิดไม่ว่าจะเป็นจากนักเขียนบท, ผู้กำกับ และความล้ำหน้าของเทคโนโลยี CG ทั้งหลาย แต่เวลานี้ต้องหันมาร้อง Wow กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าแทนแล้ว เพราะเทคโนโลยีหลากหลายประเภท โดยเฉพาะ หุ่นยนต์’ ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตจริงเป็นที่เรียบร้อย อันที่จริงเข้ามามีบทบาทชัดๆ ในหลายอุตสาหกรรมตั้งแต่ปี 2017 แล้ว

ความล้ำหน้าของวิทยาศาสตร์จากการทดลองคิดค้นสิ่งต่างๆ ในภาพยนตร์ มักเป็นจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI), หุ่นยนต์ หรืออาจมาในคราบ ‘หุ่นยนต์อัจฉริยะ’ ก็ตาม

ทั้งนี้ ฉากความสัมพันธ์ระหว่าง ‘มนุษย์กับหุ่นยนต์’ ในภาพยนตร์มักถูกหยิบยกขึ้นมาเล่าในแง่มุมที่หลากหลาย มีทั้งดีและไม่ดี แต่ในวันนี้เราไม่ได้จะมาวิเคราะห์สรุปว่า หุ่นยนต์นั้นดีหรือไม่ดีสำหรับมนุษย์กันแน่? แต่อยากนำเสนอบางแง่มุมจากภาพยนตร์มากกว่า ฉายภาพให้เห็นว่ามนุษย์กับหุ่นยนต์จริงๆ แล้วเราคุ้นเคยกันมานานตั้งแต่ก่อเกิดอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งบทบาทของหุ่นยนต์นั้นก็สอดแทรก และดูสมจริงมากขึ้นเรื่อยๆ จนมาปรากฏอยู่ในชีวิตความเป็นอยู่ของเราทุกวันนี้

www.netflix.com

อย่างในปี 2015 ภาพยนตร์เรื่อง ‘CHAPPIE ของผู้กำกับ Neill Blomkamp ที่มักจะทำภาพยนตร์สไตล์ดาร์กๆ เสียดสีสังคมในแง่มุมต่างๆ โดยในเรื่องนี้ CHAPPIE เป็นชื่อของหุ่นยนต์ตำรวจที่จำลองขึ้นมาเพื่อใช้ในกรมการตำรวจ ให้มาจัดการกับความวุ่นวายในเมืองโจฮันเนสเบิร์กที่เต็มไปด้วยอาชญากรรม โดยนักวิทยาศาสตร์สุดเนิร์ดได้เพิ่มดีกรีความเฉลียวฉลาดให้กับ CHAPPIE ด้วยการใส่ความรู้สึกและการนึกคิดได้เหมือนกับมนุษย์จนเกิดเป็นเรื่องราวสุดดาร์กในภาพยนตร์

 

ปี 2017 กำเนิด ‘Police Robots’ ในชีวิตจริงหลายประเทศ

จากภาพยนตร์เรื่อง CHAPPIE หุ่นยนต์โรบ็อต ทำให้เราอดคิดไม่ได้ว่า นักวิทยาศาสตร์ในหลายๆ ประเทศน่าจะมีไอเดียมาจากภาพยนตร์อยู่บ้าง โดยระยะเวลาเพียง 2 ปี จีน, ดูไบ, สหรัฐอเมริกา ก็พากันเปิดตัวความสำเร็จแรกทันที ซึ่งประเทศเหล่านั้นเปิดตัว ‘หุ่นยนต์ตำรวจลาดตระเวน’ พร้อมฟังก์ชั่นครบครัน ไม่เพียงเท่านั้นทางการดูไบ ยังตั้งเป้าใช้ Dubai Police Robot ทดแทนตำรวจคน 25% ภายในปี 2030 แต่ก็ยังมีข้อห้ามบางอย่างอยู่เพื่อไม่ให้เกิดภาวะ out of control คือ หุ่นยนต์ตำรวจจะไม่มีสิทธิ์จับกุมคนและห้ามใช้ปืนอย่างเด็ดขาด

www.blackbird-dw.com/

นอกจากนี้ ยังมีภาพยนตร์อีกหลายเรื่องที่สะท้อนบทบาทของหุ่นยนต์ และนักคิดค้นหยิบมาใช้ในชีวิตเราจริงๆ อย่าง ภาพยนตร์เรื่อง Ex _Machina ของผู้กำกับ Alex Garland (2015) ภาพยนตร์แนว Drama Sci-Fi ที่ได้รับรางวัลหลายสาขาจากเวที British Independent Film Awards (BIFA) ด้วยความซับซ้อนของเรื่อง โดยเล่าเรื่องในแต่ละตอนอย่างมีชั้นเชิง โดยเฉพาะประเด็นที่ผู้สร้างหุ่นยนต์อยากลองทดสอบความ(อยาก) เป็นมนุษย์ของระบบอัตโนมัติ แต่ลึกๆ ก็มีจุดประสงค์อื่นแอบแฝงด้วย ถ้าใครเคยดูเรื่องนี้น่าจะลองสังเกตเห็นจุดหนึ่ง ก็คือ หุ่นยนต์ในเรื่องนี้เป็น ‘เพศหญิงที่มีหน้าตาสะสวย’ ส่วนหนึ่งก็เพื่อสร้างมาปรนเปรอความสุขทางเพศของผู้สร้างที่เป็นเจ้าของผลงานนั่นเอง

โดยนักวิจารณ์ภาพยนตร์เคยพูดเอาไว้ว่า หุ่นยนต์เพศหญิงมักจะถูกเลือกให้มีบทบาทที่เกี่ยวเนื่องกับ ‘งานบริการ’ ไม่ว่าจะเป็นการเสิร์ฟ, การพูดคุยอย่างอ่อนโยน, การระบายความใคร่ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกบรรจุอยู่ในชีวิตจริงของเราแล้ว

 

อาชีพเสิร์ฟแทนที่ด้วย ‘robo-waiters’ บูมตั้งแต่ปี 2018

“งานบริการเสิร์ฟ (robo-waiters) เป็นหนึ่งในอาชีพที่จะหายไปแน่ๆ ในอนาคตภายในปี 2025 หนึ่งในคำวิเคราะห์ของ ผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์จาก GlobalPost ที่เคยประเมินไว้ตั้งแต่ปี 2011 ไม่เพียงเท่านี้ยังมี พนักงานต้อนรับ, พนักงานแคชเชียร์ และงานบริการอื่นๆ อีกหลายแขนงที่จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ เช่น พนักงานบริการส่งของธุรกิจ logistic ทั้งหลาย

Stefano Mazzola

ตั้งแต่ปี 2018 ที่ผ่านมามีหลายๆ บริษัทที่เริ่มนำร่องทดลองไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร Robot.He’ ของ Alibaba ยักษ์ใหญ่เบอร์หนึ่งด้านอีคอมเมิร์ซของจีน ขณะที่ในปี 2019 Alibaba ได้เปิดตัวโรงแรมแห่งอนาคตในเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียง ‘FlyZoo Hotel’ อย่างเป็นทางการ

โดยคอนเฟิร์มว่าใช้หุ่นยนต์และเทคโนโลยีแทบทุกขั้นตอน ซึ่งมีการใช้เทคโนโลยีตั้งแต่ check in เข้าโรงแรมผ่านแอปพลิเคชั่น, ใช้ระบบ facial recognition แทนการใช้คีย์การ์ดเพื่อเข้าประตู, มีระบบสั่งงานด้วยเสียงผ่าน Tmall Genie ถ้าแขกที่มาพักต้องการปรับอุณหภูมิห้อง เปิดไฟ หรี่ไฟ หรือ เปิดผ้าม่าน นอกจากนี้ยังมีหุ่นยนต์คอยเสิร์ฟน้ำ และไฮไลท์ก็คือ ‘หุ่นยนต์บาร์เทนเดอร์’ ประจำตำแหน่งที่บาร์ของโรงแรม

สำหรับ JD.com ก็ไม่ยอมน้อยหน้าในฐานะที่เป็นบิ๊กอีคอมเมิร์ซที่ตามหลัง Alibaba อยู่หนึ่งก้าว ก็มีบริการ robo-waiters ประจำอยู่ที่ร้าน ‘X Café’ เปิดตัวไปเมื่อปี 2019 ด้วยเช่นกัน โดยมีสัดส่วนของโรบ็อตที่ใช้ภายในร้านมากถึง 90% และแบ่งเป็น ‘โรบ็อตสำหรับเสิร์ฟอาหาร’ และ ‘เชฟโรบ็อต’ ที่ทำอาหารร่วมกับเชฟที่เป็นคนด้วย

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่หันมาใช้แรงงานหุ่นยนต์เพื่อเสิร์ฟอาหารบ้างแล้ว อย่างเช่น ร้านอาหาร  Robot Theme Restaurant ในเมืองเชนไนทางใต้ของอินเดีย, ร้านอาหาร Gran Caffe Rapallo ในอิตาลี ซึ่งเป็นแห่งแรกของประเทศที่ใช้หุ่นยนต์ในการเสิร์ฟอาหาร ส่วนไทยเองก็มีร้าน Hajime ร้านอาหารญี่ปุ่นในย่านพระราม 3 ที่นับว่าเป็นแห่งแรกๆ ที่มี robo-waiters มาในชุดเกราะนักรบซามูไรโบราณ

www.indiatoday.in

ขณะที่ ศาสตราจารย์ Illah Nourbakhsh จากสถาบันด้าน Robotics ของมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon ในรัฐเพนซิลเวเนียของสหรัฐฯ กล่าวว่า ประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมีแนวโน้มที่จะใช้พนักงานเสิร์ฟหุ่นยนต์ก่อน โดยเฉพาะในเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น ซึ่งก็ไม่ได้มีแค่ robo-waiters ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังปรากฏในธุรกิจบริการอื่นๆ มากขึ้นด้วย

 

Robots ประจำการในโรงแรมตั้งแต่ปี 2015

โรงแรม Henn-na ระดับ 5 ดาวซึ่งเปิดตัวไปตั้งแต่ปี 2015 น่าจะเป็น study case ให้กับหลายๆ โรงแรมมาแล้ว เพราะเป็นโรงแรมหรูแห่งแรกของโลกที่ใช้หุ่นยนต์ทั้งหมดเกือบทั้งหมด ตั้งแต่พนักงานต้อนรับ, เด็กยกกระเป๋า ไปจนถึง หุ่นยนต์ที่สามารถพูดคุยโต้ตอบกับลูกค้าได้สำหรับไว้แก้ปัญหาและรับฟัง

แม้ว่าเมื่อปี 2019 โรงแรมแห่งนี้ได้สั่งปลดประจำการ หุ่นยนต์ ในโรงแรมไปเกือบครึ่งหนึ่งของพนักงานหุ่นยนต์ทั้งโรงแรม เพราะปัญหาเรื้อรังของหุ่นยนต์ ไม่ว่าจะเรื่องของระบบที่เก่าไม่ได้อัพเกรดใหม่ จนถึงระบบที่รวนและไม่สามารถใช้งานฟังก์ชั่นตามที่โฆษณาไว้จริงๆ แต่เทรนด์การใช้หุ่นยนต์ในโรงแรมของญี่ปุ่น ก็ได้จุดประกายแนวคิดให้กับโรงแรมอีกหลายแห่งบนโลกนี้

อย่างโรงแรม Hilton McLean (2016) ในรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐฯ ซึ่งจะมีความแตกต่างจากโรงแรม Henn-na เพราะมีการใช้หุ่นยนต์ตัวจิ๋ว Connie’ สำหรับการต้อนรับและตอบคำถามเท่านั้น เช่น ทางไปห้องพัก, ห้องอาหาร, สระว่ายน้ำ และสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่รอบๆ โรงแรม เป็นต้น

นอกจากนี้ ก็มี ‘Aloft Hotel’ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ที่มีพ่อบ้านหุ่นยนต์ประจำการสำหรับแขกที่มาพักและต้องการความช่วยเหลือ เช่น ขอผ้าเช็ดตัวเพิ่ม, ขอกาแฟเพิ่ม หรือ ยาสีฟันในห้องน้ำหมด เป็นต้น ขณะที่เมื่อปีที่ผ่านมายังเปรยๆ ว่าอาจจะนำหุ่นยนต์มาใช้ในส่วนอื่นของโรงแรมด้วย หลังจากที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2016 และกระแสตอบรับค่อนข้างดี

 

ดีมานด์ทั่วโลกต้องการใช้ หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น

มีคำกล่าวหนึ่งของ สมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (IFR) ของเยอรมนี ที่กล่าวในระหว่างเปิดรายงาน World Robotics Report 2018 ชี้ว่า ทั่วโลกมีความต้องการที่จะสร้างหุ่นยนต์เพื่อใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยระหว่างปี 2013-2017 ปริมาณยอดจำหน่ายหุ่นยนต์สำหรับภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงถึง 114% ขณะที่ เกาหลีใต้ เป็นประเทศที่มีการใช้แรงงานหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมมากที่สุดในโลก ตามมาด้วย สิงคโปร์, เยอรมนี, ญี่ปุ่น และจีน

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีบริษัทหลายแห่งที่เริ่มประกาศใช้แรงงานหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมแล้ว อย่างเช่น ‘Uniqlo’ fast fashion จากญี่ปุ่นได้ประกาศเมื่อปลายปี 2019 ที่ผ่านมาว่า คลังสินค้า(warehouse) ในเขตอาเรียเกะ (Ariake) ในกรุงโตเกียว ได้นำร่องใช้ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติสำหรับการคัดแยกเสื้อผ้าใหม่ รวมไปถึงการตรวจสอบสินค้า และจัดเรียงเข้าสต็อก โดยตั้งเป้าว่าหุ่นยนต์เหล่านั้นจะสามารถทำงานแทนที่พนักงานคนได้ถึง 90% โดยคลังสินค้าแห่งนี้สามารถปฏิบัติงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่สะดุด

คล้ายๆ กันกับ warehouse ของ JD.com ที่ใช้ระบบหุ่นยนต์เกือบทั้งหมดทำงาน ตาม concept ที่ว่า ได้รับสินค้าภายใน 1 วัน สุดล้ำตั้งแต่มีระบบ Warehouse อัจฉริยะที่ใช้หุ่นยนต์เป็นหลักในการจัดการสต๊อกและจัดเตรียมการส่งสินค้า จนไปถึงระบบ Logistics ของตัวเอง ซึ่งก็มีหลากหลายวิธีการจดส่งของ ทั้งแบบหุ่นยนต์ส่งของอัตโนมัติ และการบินโดรนส่งของ

นอกจากนี้ บริษัท Boston Dynamics ผู้เชี่ยวชาญการผลิตหุ่นยนต์ เปิดเผยว่า บริษัทเริ่มผลิตหุ่นยนต์สำหรับ ไซต์งานก่อสร้าง ออกจำหน่ายแล้ว ขณะที่ยอดจองล่วงหน้าเข้ามาตั้งแต่กลางปี 2019 ที่ผ่านมา โดยประเมินว่า หุ่นยนต์สำหรับใช้ในการก่อสร้าง และเกษตรกรรมจะได้รับความนิยมมากขึ้น รวมถึงหุ่นยนต์สำหรับธุรกิจบริการด้วย

พอเห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว อดนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง ‘Her’ ภาพยนตร์สุดคลาสลิกแห่งปี 2013 ไม่ได้ แม้ว่าจะไม่ใช่แนว Sci-Fi แบบต่อสู้กันทั้งเรื่องตูมตาม แต่เป็นแนวๆ โทนความหวานสุดโรแมนติกจากความรักระหว่าง ธีโอดอร์ซาแมนธ่า ซึ่งเป็นชายหนุ่มผู้โดดเดี่ยว กับสาวปัญญาประดิษฐ์

โดยเบื้องหลังของความน่ารักกุ๊กกิ๊กเหล่านั้น เราจะเห็นเทคโนโลยีมากมายที่เห็นแล้วต้องรู้สึกกระสับกระส่ายอยากได้มาเป็นเจ้าของ ในเมื่อตอนนี้เรามีหุ่นยนต์และสิ่งประดิษฐ์ที่ชวนเคลิ้มให้หายเหงาแล้ว ทำไมในอนาคตเราจะเห็นเทคโนโลยีต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นในภาพยนตร์ในชีวิตจริงอีกไม่ได้ล่ะ? อยากรู้ว่ามีอะไรบ้าง…ลองไปดูหนังเรื่องนี้สิ

www.bbc.com

 

ที่มา : hotelmanagement, bbc, foxnews, asia.nikkei


  • 140
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม