เนื้อจากพืช กำลังปฏิวัติโลก

  • 4K
  •  
  •  
  •  
  •  

ที่มาภาพ โดย Sundry Photography / Shutterstock.com

อาหารหรือเนื้อที่ทำจากพืช (Plant-Based Meat / Plant-Based Food / Plant-Based Diet) กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่รู้จักในแวดวงจำกัด เพราะหาซื้อลำบาก ทั้งความแปลกของสินค้าในสายตาผู้บริโภค ตลอดจนการตั้งคำถามของผู้บริโภคว่าสิ่งนี้คืออะไรกันแน่

ปี 2019 ดูเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของผลิตภัณฑ์เนื้อที่ทำจากพืช เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2 มกราคม 2019 เชนร้านเบอร์เกอร์ชื่อดังในสหรัฐอเมริกา Carl’s Jr ประกาศขายเบอร์เกอร์ที่ผลิตด้วยเนื้อที่ทำจากพืช ตามด้วย 1 เมษายน 2019 Burger King ก็ประกาศขายเบอร์เกอร์ที่ทำจากพืชเช่นกัน โดยเริ่มแรก ทดลองเพียง 59 สาขา กระทั่งวันที่ 2 พฤษภาคม 2019 Burger King ประกาศแผนวางขายเบอร์เกอร์เนื้อที่ทำจากพืชในทุกสาขาภายในสิ้นปี 2019

ที่มาภาพ โดย Michael-Vi / Shutterstock.com

ข้อมูลจาก Euromonitor พบว่าในสหรัฐอเมริกา ยอดขายอาหารสำเร็จรูปของเนื้อจากพืชขยายตัวต่อเนื่อง ระหว่างปี 2013-2018 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 15.4% เทียบกับเนื้อแปรรูป (Processed Meat) ที่เติบโตปีละ 1.2% สอดคล้องกับข้อมูลของ NPD Group ผู้ประกอบการในสหรัฐอเมริกาที่ขายเบอร์เกอร์และแซนวิชเนื้อที่ทำจากพืช ก็พบว่ายอดขายระหว่างเมษายน 2018 – มีนาคม 2019 เพิ่มขึ้นถึง 7.8% ซึ่งมากสุดเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับบริษัท Beyond Meat หนึ่งในผู้ผลิตเนื้อจากพืชรายใหญ่สุดของโลกก็รายงานยอดขายไตรมาส 2 ของปี 2019 ว่าโตถึง 287%

ปี 2019 อาหารหรือเนื้อที่ทำจากพืชได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก ขนาดที่บางช่วงของปี สินค้าขาดตลาดเนื่องด้วยผลิตไม่ทัน

ทุกท่านครับ เนื้อที่ผลิตจากพืชกำลังจะกลายเป็นอาหารแห่งอนาคต ความนิยมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้มาจากสาเหตุอย่างน้อย 4 ประการ

ประการแรก กระแสใส่ใจสุขภาพของผู้บริโภค คนจำนวนมากเชื่อว่าการรับประทานพืชผักเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่าการรับประทานเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อที่ผ่านการแปรรูปหรือปรุงแต่ง เช่น ไส้กรอก แฮมต่างๆ ความเชื่อเรื่องอันตรายของเนื้อแปรรูปต่อสุขภาพถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ออกมาระบุว่า เนื้อแปรรูปเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดมะเร็งได้

ที่มาภาพ โดย Sheila-Fitzgerald / Shutterstock.com

ความเชื่อหรือข้อมูลข่าวสารเช่นนี้ ทำให้คนรักสุขภาพหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์หรือเนื้อแปรรูปโดยเฉพาะอาหารประเภทฟาสท์ฟูด เนื้อจากพืชจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

ขณะเดียวกัน ในแง่ประโยชน์ทางโภชนาการของเนื้อจากพืช เนื้อจากพืชยังให้สารอาหาร เช่น โปรตีนแก่ร่างกายครบถ้วน ศูนย์วิจัย Lux Research คาดการณ์ว่า โปรตีนจากพืช (Plant-Based Protein) จะกลายเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญของมนุษย์ โดยภายในปี 2054 โปรตีนจากพืชจะเพิ่มสัดส่วนเป็นหนึ่งในสามของแหล่งโปรตีนที่มนุษย์ได้รับ

ประการที่สอง เกิดจากผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอาหารแข่งกันพัฒนาผลิตภัณฑ์และนำเสนอเมนูใหม่ๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์เนื้อจากพืชหลากหลาย น่าทดลอง  ไม่ใช่แค่ร้านเบอร์เกอร์เท่านั้น ร้านขายโดนัทอย่าง Dunkin’ Donuts เชนร้านกาแฟอย่าง Tim Hortons ก็ออกเมนูอาหารที่ทำจากพืชมาแข่งกับเค้าด้วย การที่ผู้เล่นในตลาดอาหารหลายรายบรรจุเมนูอาหารที่ทำจากพืชเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค สะท้อนความนิยมในอาหารประเภทนี้ว่ามีอยู่จริง ผู้เล่นบางรายถึงกับเทียบคุณค่าทางโภชนาการระหว่างผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จริงของตัวเองที่มีอยู่แล้วกับผลิตภัณฑ์เนื้อที่ทำจากพืชที่ออกใหม่ ว่าเนื้อที่ทำจากพืชดีหรือไม่ด้อยกว่าอย่างไร

ประการที่สาม การเปิดใจของผู้บริโภค ผู้บริโภคในปัจจุบันกล้าทดลอง ยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อประสบการณ์ ผลสำรวจของ Nielsen ในปี 2017 พบว่า มีคนอเมริกันถึง 39% มีแผนจะรับประทานเนื้อหรืออาหารที่ทำจากพืชมากขึ้น และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ในปี 2018 ยอดขายเนื้อจากพืชเติบโตถึง 24% ขณะที่ยอดขายเนื้อสัตว์จริงโตแค่ 2% เว็บไซต์ Forbes เผยแพร่รายงานวิเคราะห์อุตสาหกรรมบางชิ้นพบว่า ภายในปี 2050 เนื้อที่ทำจากพืชอาจกินส่วนแบ่งถึง 50% ของตลาดเนื้อสัตว์จริงที่มนุษย์บริโภค

ประการที่สี่ ผู้บริโภคในปัจจุบันจำนวนมากสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม

เนื้อที่ทำจากพืชเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเนื้อสัตว์จริงทั้งในแง่ไม่ต้องเลี้ยงสัตว์ ฆ่าสัตว์ เป็นห่วงสวัสดิภาพ สุขอนามัยสัตว์ และในแง่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือผลกระทบต่อโลกร้อน

ที่มาภาพ โดย Sheila-Fitzgerald / Shutterstock.com

หลายท่านอาจไม่ทราบ โลกเราใช้พื้นที่เลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหารถึง 77% ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด แต่ได้ผลผลิตคิดเป็นเพียง 17% ของอาหารที่มนุษย์บริโภคเท่านั้น การผลิตเนื้อที่ทำจากพืชใช้ที่ดินน้อยกว่าเนื้อสัตว์จริง 47% – 99% ใช้น้ำน้อยกว่าเนื้อสัตว์จริง 72% – 99% เรียกว่าโดยรวมการผลิตเนื้อที่ทำจากพืชสิ้นเปลืองทรัพยากรการผลิตน้อยกว่าเนื้อสัตว์จริงมากทีเดียว

การผลิตและบริโภคเนื้อจากพืชยังช่วยลดโลกร้อนได้ด้วย ไม่น่าเชื่อว่า ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกผลิตขึ้นในโลกนี้ ราวหนึ่งในสี่มาจากอาหาร และปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่มาจากอาหาร เกิดจากผลิตภัณฑ์อาหารที่มาจากเนื้อสัตว์มากถึง 58% (โดยเฉพาะวัวและแกะ) กระบวนการผลิตเนื้อจากพืชปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่ากระบวนการผลิตเนื้อสัตว์จริง 30%-90% นักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่า การบริโภคเนื้อจากพืช จะช่วยลดโลกร้อนได้ด้วย

ปัจจุบันมีชาวอเมริกันที่หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์มากถึง 16% ที่ให้สาเหตุว่ามาจากเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 18-34 ปี ทั้งนี้มีการประมาณการว่า หากประชากรในสหรัฐอเมริกาทุกคนลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงหนึ่งในสี่ โดยทานโปรตีนจากพืชทดแทน จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละปีได้ถึง 82 ล้านเมตริกตัน หรือราว 1.25% ของปริมาณก๊าซเรือนกระจก

ดังนั้น เนื้อที่ทำจากพืชจึงถูกใจคนรักสิ่งแวดล้อมอย่างยิ่ง นี่ยังไม่นับสังคมที่ชอบเรื่องถือศีลกินเจอย่างประเทศไทย ที่เชื่อว่าการละเว้นเนื้อสัตว์เป็นการทำบุญรูปแบบหนึ่ง

การสนับสนุนธุรกิจหรืออุตสาหกรรมเนื้อที่ทำจากพืชยังช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านอาหารให้แก่ประชากรโลกในอนาคต นับวันจากจำนวนประชากรโลกที่เพิ่นขึ้น ความต้องการอาหารย่อมมากขึ้นไปด้วย ใน 30 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9,000 ล้านคน เพื่อให้ได้มาซึ่งอาหารที่เพียงพอ ต้องอาศัยที่ดินและทรัพยากรการผลิตเพิ่มมากขึ้น ในแง่เศรษฐศาสตร์ การผลิตอาหารที่ทำจากพืช มีประสิทธิภาพสูงกว่า สิ้นเปลืองน้อยกว่า อย่างน้อยย่อมดีกว่าการปลูกพืชเพื่อไปเลี้ยงสัตว์ แล้วค่อยนำเนื้อสัตว์ไปผลิตอาหารอีกที

โดยสรุป เนื้อที่ทำจากพืช ไม่ใช่กระแสที่มาวูบวาบ หรือมาเร็วไปเร็ว หากแต่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เนื้อจากพืชกำลังเปลี่ยนแปลงโลกแห่งการผลิตและบริโภคอาหาร ผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมอาหารควรพิจารณาผลกระทบ เตรียมรับมือ และใช้โอกาสนี้มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภคและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาว เนื้อจากพืชมีจุดเด่นหลายเรื่อง ทั้งเป็นมิตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ให้คุณค่าทางโภชนาการไม่ด้อยกว่า แถมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับโลกเราในอนาคต

ประเทศไทยมีพื้นฐานเป็นประเทศเกษตรกรรม มีทรัพยากรเหมาะสมแก่การต่อยอดสำหรับอุตสาหกรรมผลิตเนื้อจากพืชได้ รัฐบาลควรสนับสนุนให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมอาหารของไทย

ต้องบอกว่า เนื้อจากพืชกำลังปฏิวิติโลก และกำลังเปลี่ยนโลกแห่งอาหารจริงๆ ครับ

 

แหล่งที่มา

BBC, CNBC, Forbes, GFI, Nature, Nhk, Plantbasedfoods


  • 4K
  •  
  •  
  •  
  •  
ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล
ดร.สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล หรือ ดร.ชาย จบปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 1 จากคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยยอร์ค ประเทศอังกฤษ ดร.ชายเป็นเจ้าของธุรกิจ และสวมหมวกเป็นอาจารย์พิเศษด้านเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาให้หลายองค์กร ดร.ชายขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในน้อยคนที่ทำเรื่องเศรษฐศาสตร์ให้ง่ายและสนุกได้