มายรัม ประเทศไทย เผย 6 หลักสำคัญสำหรับกลยุทธ์ดิจิทัลรับมือเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) สำหรับซีอีโอไทยในการวางนโยบายในการแข่งขันทางธุรกิจยุคดิจิทัล ได้แก่ 1.แมสเส็จจิ้ง (Messaging Service) เปลี่ยนแพลตฟอร์มให้บริการและสร้างรายได้ 2. Online Payment สู่การจับมือข้ามธุรกิจ 3. แบรนด์ขยายช่องทางเปิดหน้าร้านอีคอมเมิร์ซ 4. การวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภค (Consumer Analysis) เพื่อการตลาดเฉพาะบุคคล 5. IoT, Big Data และ คลาวด์คอมพิวติ้ง สร้างนวัตกรรมและเพิ่มโอกาสธุรกิจ และ 6. ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่น เพื่อการแข่งขันเต็มรูปแบบ ปิดท้ายสิ่งจำเป็น คือ กำหนด Digital Strategy เพื่อประโยชน์ระยะยาว พร้อมรับมือผู้บริโภคหน้าใหม่ทั่วประเทศจากกระแสแข่งขันการตลาดผ่าน 4G บูม
นางสาวอุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลโซลูชั่นส์ บริษัท มายรัม (ประเทศไทย) จำกัด แนะกลยุทธ์จำเป็นสำหรับผู้ประกอบการไทยในการแข่งขันทางธุรกิจยุคดิจิทัล เพื่อพร้อมรับมือเทรนด์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) ท่ามกลางกระแสของการพัฒนาเทคโนโลยีในโลกปัจจุบัน สำหรับประเทศไทยในปีนี้ ศักยภาพของ 4G และนโยบายรัฐที่มีการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านทั่วประเทศ และเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ คนที่มีผลกระทบมากสุด คือ กลุ่มผู้บริโภคในระดับภูมิภาค ที่จะได้เห็นและใช้งานดิจิทัลที่หลากหลายและสะดวกสบายมากขึ้น ตัวแปรสำคัญที่ซีอีโอไทยควรตระหนักในข้อนี้
นางสาวอุไรพรกล่าวว่า “นวัตกรรมดิจิทัลได้ Disrupt ธุรกิจบันเทิง การสื่อสาร โซเชียล การเงิน เพย์เมนท์ สิ่งพิมพ์ รีเทล สิ่งของเครื่องใช้ รถยนต์ โรงแรม กีฬา ตลอดจนการแพทย์และอื่นๆ ทำให้นักธุรกิจและนักยุทธศาสตร์ต่างต้องศึกษาและปรับกลยุทธเพื่อพัฒนาสินค้าบริการ และขบวนการทำงานให้พร้อมต่อการแข่งขันที่ไร้ขอบเขตทางพรมแดนและทางธุรกิจอย่างแท้จริง การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลจะยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2016 และสร้างเทรนด์ใหม่ทางธุรกิจและสินค้าในวงกว้าง แต่ขอกล่าวถึงเทรนด์ใกล้ตัวที่ธุรกิจและแบรนด์ควรจับตามองในปี 2016 ซึ่งมี 6 ข้อคำนึงสำหรับซีอีโอไทยให้ก้าวทันการค้าไร้ขีดจำกัด ดังนี้
1. แมสเส็จจิ้ง (Messaging Service) เปลี่ยนตัวเองเป็นแพลตฟอร์ม เพื่อให้บริการและสร้างรายได้ เปิดออฟชั่นใหม่ให้กับแบรนด์
โซเชียลยังคงความแรงในกลุ่มผู้บริโภค โดยเฉพาะแมสเส็จจิ้งแอพหรือแชทแอพยอดนิยมอย่าง ไลน์ (LINE) วอทส์แอพ (WhatsApp) และเฟซบุ๊คแมสเซ็นเจอร์ (Messenger) ต่างพยายามสร้างรายได้โดยการปรับตัวให้เป็นแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการกับสมาชิกในบริการที่หลากหลายขึ้น
ที่เห็นได้ชัด คือ ไลน์ ที่มีคนไทยใช้บริการสูงขึ้นทุกวัน นอกจากมีเกมดังอย่างคุกกี้รัน ยังมีแอพพลิเคชั่นยอดนิยมอีก อาทิ LINE Music, LINE TV และแตกบริการสู่แอพอีคอมเมิร์ซอย่าง LINE Shop หรือแม้กระทั่ง LINE Pay และ Gift Shop ซึ่งนับเป็นการขยายบริการที่ตรงจุดการแข่งขันอย่างน่าสนใจ ส่วนเฟซบุ๊คแมสเซ็นเจอร์ ที่จับมือกับ Uber ให้ผู้ใช้งานเรียกอูเบอร์ได้จากแมสเซ็นเจอร์แอพและส่งโลเคชั่นไปให้เพื่อนที่กำลังแชทอยู่ได้ และบริการโมบายเพย์เมนต์ที่เฟซบุ้คเร่งแผนให้บริการอยู่
การที่แชทแอพเหล่านี้ต่างมีฐานสมาชิกจำนวนมาก การปรับตัวเพื่อให้บริการใหม่แต่ละครั้งจึงนับเป็นเทรนด์ที่ควรติดตาม และนักการตลาดควรฉวยให้ทัน เพื่อไม่ให้ตกเทรนด์
2. Online Payment ปลุกกระแสช้อปปิ้ง จับมือข้ามธุรกิจเพื่อยึดสมรภูมิก่อนตกขบวน
จากนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันระบบอี-เพย์เม้นท์ให้เกิดขึ้นในไทย เป็นการลดต้นทุนการชำระเงิน สร้างความสะดวกในการค้า ที่สำคัญเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษีให้มากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายสนับสนุนให้คนที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงธุรกรรมนี้ได้ด้วย คงเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญของประเทศและส่งผลกับธุรกิจโดยรวม ซึ่งกลุ่มสถาบันการเงินและบริการต่างๆ ต้องปรับบริการเพื่อรองรับนโยบายดังกล่าว
นอกจากนั้นการใช้โมบายเพย์เมนท์ผ่านค่ายดิจิทัลและกลุ่มโอเปเรเตอร์ ซึ่งมีทั้งการเปิดแพลตฟอร์มอย่างแอปเปิ้ลเพย์ ซัมซุงเพย์ หรือไลน์เพย์ รวมถึงการจับมือกันของค่ายมือถือกับธนาคารบางแห่งนับเป็นนวัตกรรมและบริการที่เสริมบริการได้อย่างน่าสนใจ
3. แบรนด์ขยายช่องทางเปิดหน้าร้านอีคอมเมิร์ซ สร้างแชนแนลให้ทันกับโซเชียลเทรนด์
จากตัวเลขศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่คาดว่าปี 2016 มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซ จะพุ่งสูงแตะระดับ 2.3 – 2.4 แสนล้านบาท ขยายตัว 15-20% จากปี 2015 เห็นได้ว่าพฤติกรรมการจับจ่ายซื้อสินค้าผ่านออนไลน์เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะด้วยแรงหนุนจาก 4G เชื่อว่าตลาดอีคอมเมริซ์คงขยายตัวต่อเนื่องไปในระดับภูมิภาคเร็วและมากขึ้น
การเปิดตัวของอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มอย่าง Lazada, iTrueMart หรือ Central และค่ายรีเทลทั้งหลาย ต่างช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับแบรนด์ดังและแบรนด์น้องใหม่ให้ถึงมือผู้บริโภคได้สะดวกขึ้น
แต่สำหรับเจ้าของแบรนด์ดังเอง การลงทุนเปิดหน้าร้านอีคอมเมิร์ซ/ช้อปออนไลน์ของแบรนด์ จะตอบโจทย์การขายสินค้าในลักษณะ B2C หรือ B2B ได้ด้วย จึงจะเห็นว่าแบรนด์ผู้ผลิตต่างต้องการขับเคลื่อนกลยุทธ์อีคอมเมิร์ซและโซเชียลคอมเมิร์ซมากขึ้นอีกในปีนี้
4. การวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภค (Consumer Analysis) เพื่อการตลาดเฉพาะบุคคล (Personalization) เป้าหมายของแบรนด์ชั้นนำ
เทคโนโลยีดิจิทัลได้ช่วยเพิ่มความเข้าใจการใช้งานของเว็บไซต์ของลูกค้า แพลตฟอร์มอย่าง Google Analytics (GA) ซึ่งถูกใช้กับเว็บไซต์กว่า 50% ของโลก ช่วยบันทึกข้อมูลจำนวนมากเพื่อการวิเคราะห์และการปรับปรุงบริการหรือข้อมูลสำหรับผู้เยี่ยมชม
ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis) ได้ถูกนำมาใช้กับเว็บไซต์ชั้นนำที่ถูกพัฒนาด้วยการวางแผนการวิเคราะห์และประมวลผลอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถนำเสนอข้อมูลเฉพาะที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่มาเยี่ยมชมเว็บไซต์ (Personalization) ช่วยให้เกิดสินค้าและบริการที่เป็นที่ต้องการ และช่วยเพิ่มอัตราคอนเวอร์ชั่นของการบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเทรนด์ใหม่ของแบรนด์ชั้นนำที่ต้องการเข้าใจและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าและพร้อมขับเคลื่อนสินค้าและบริการให้อยู่ในแนวหน้าการแข่งขัน
5. ตัวแปรธุรกิจ IoT, Big Data และ คลาวด์คอมพิวติ้ง โจทย์ใหม่องค์กรในการสร้างนวัตกรรมและเพิ่มโอกาสธุรกิจ
อินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) เป็นกระแสและเทรนด์สำคัญในต่างประเทศที่ค่ายดิจิทัลยักษ์ใหญ่ต่างเร่งสร้างผลิตภัณฑ์และแพลตฟอร์มรองรับ ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิ้ลที่พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับ “HomeKit” และ “HealthKit” ด้านกูเกิลซึ่งเปิดให้ใช้แพลตฟอร์ม “Brillo” และ “Weave” ตลอดจน Qualcomm ที่ผลักดัน “AllJoyn” โดยมีกลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าสำคัญเข้าร่วม อาทิ Sony, LG, Haier และ Electrolux เป็นต้น
ล่าสุด ในงาน CES ที่ลาสเวกัสต้นเดือนมกราคม ซัมซุงได้เปิดตัวเทคโนโลยี IoT เชื่อมต่ออุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านของซัมซุงผ่าน SmartThings Ecosystem ที่เชื่อมต่ออุปกรณ์สมาร์ทโฮม อย่างทีวีรุ่น SUHD TV ตู้เย็น IoT และเครื่องดูดฝุ่นให้ทำหน้าที่เสมือน IoT Hubs โดยครั้งนี้ซัมซุงได้ประกาศความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อกำหนดโอเพ่นเฟรมเวิร์คใหม่ที่เรียกว่า “IoTivity” พร้อมทั้งเปิดให้ตัว Smart Home Cloud API เพื่อให้พันธมิตรเชื่อมต่อเข้ากับระบบ IoT Ecosystem ของซัมซุง
การเกิดขึ้นของ IoT และระบบ Ecosystem จะผลักดันให้เกิดมาตรฐาน แพลตฟอร์มและการผลิตใหม่ที่องค์กรควรปรับกลยุทธ์รองรับให้เหมาะสมและเท่าทัน
6. ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่น – จัดกระบวนทัพเพื่อแข่งขันเต็มรูปแบบ
เมื่อธุรกิจเริ่มเล็งเห็นความสำคัญของดิจิทัลในทุกส่วนงาน โดยเฉพาะ “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่น” สร้างกระบวนการในการเชื่อมต่อคน อุปกรณ์และข้อมูลเข้าด้วยกัน เป็นการพัฒนาขั้นตอนใช้ดิจิทัลในการดำเนินงาน เพื่อสร้างประสบการณ์ในการใช้งานและช่วยให้การปฏิบัติงานเกิดขึ้นเป็นระบบถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ช่วยสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับองค์กร
เมื่อเร็วๆ นี้ นิตยสาร Information Age ระบุผลสำรวจของบริษัทในประเทศอังกฤษพบว่า องค์กรที่ใช้ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่นจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเท่าตัว การปรับตัวขององค์กรด้วยดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่นจึงอาจเป็นกลยุทธ์สำคัญของหลายองค์กรชั้นนำในปีนี้
นางสาวอุไรพรเผยผลกระทบของดิจิทัลเทรนด์ 2016 สำหรับนักการตลาดว่า “ควรศึกษาแนวทางการสื่อสารกับกลุ่มผู้บริโภคหน้าใหม่ที่มีจำนวนมากทั่วทุกภูมิภาค ไม่เคยเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเต็มรูปแบบและรอเข้ามาสัมผัสและใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ในช่วงแรกควรเตรียมแอพที่เหมาะกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน อาทิ เน้นที่ Utilities App เวอร์ชั่นภาษาไทยให้มากขึ้น เป็นต้น จะช่วยให้คนจำนวนมากสามารถโหลดและใช้งานได้ง่ายและแพร่หลายในเวลารวดเร็ว ซึ่งต่อยอดฟังก์ชั่นอื่นๆ ได้
คงไม่ใช่แค่ 4G ที่เรามองว่าเป็นโอกาส แต่เราควรมองข้ามสู่อนาคตอันใกล้ด้วยว่า องค์กรของเรามั่นใจและพร้อมใช้ Digital Transformation เพื่อก้าวเข้าสนามแข่งขันในโลก IoT ได้ทัน ส่วนข้อแนะนำสำหรับเจ้าของกิจการ คือ ควรกำหนด Digital Strategy เพื่อประโยชน์ระยะยาวที่สามารถต่อยอดสู่ส่วนอื่นๆ ของธุรกิจได้ เช่น การขาย CRM การโปรโมชั่น หรือการพัฒนาสินค้าและบริการที่เหมาะกับความต้องการของผู้บริโภค พัฒนาการประยุกต์ใช้ข้อมูลจาก Consumer Analytics ที่ได้จากช่องทางออนไลน์ต่างๆ ให้เกิดศักยภาพสู่การสร้างรายได้ระยะยาว”