คำว่า ‘รีไซเคิล’ (recycle) เราน่าจะได้ยินมานานมากๆ เกิน 10 ปี แต่กระแสมันเริ่มบูมมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ 5 ปีก่อนนี้เอง เพราะหลายๆ อุตสาหกรรมเริ่มใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างอุตสาหกรรม ‘สิ่งทอ’ ที่เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สร้างมลพิษมากที่สุดในโลก
ขณะที่กระแสรีไซเคิลกำลังบูมขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจสินค้ามือสอง ก็บูมล้อกันไปไม่ต่างกัน โดยเฉพาะพวกเสื้อผ้าทั้งแบรนด์เนม โนเนม ต่างๆ นานา ใครจะรู้ว่าที่สุดแล้วแหล่งรวมเสื้อผ้ามือสองที่ใหญ่ที่สุดในโลก นั่นคือ ‘อินเดีย’ ประเทศแถบเอเชียใต้ ไม่ใกล้ไม่ไกลเรานี่เอง โดยเมือง ‘ปานีปัต’ (Panipat) ทางตอนเหนือของอินเดีย ถูกตั้งชื่อให้เป็น ‘เมืองหลวงแห่งเสื้อผ้ามือสอง’ ตั้งแต่ช่วง 2-3 ปีก่อนแล้ว
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวจากแบรนด์ชั้นนำที่มุ่งการรักษ์โลกมากขึ้น อย่างแบรนด์ล่าสุดที่เปิดจุดยืนใหม่ ‘H&M สวีเดน’ ธุรกิจฟาสต์แฟชั่นรายใหญ่อีกแห่งหนึ่งของโลก ที่กำลังทดลองโมเดลใหม่ขึ้น ‘ระบบรีไซเคิลเสื้อผ้า Looop’ ที่สาขา Drottninggatan ในกรุงสตอกโฮล์ม
อย่างที่ ‘Erik Bang’ จาก H&M Foundation ได้พูดว่า “สิ่งที่เราต้องการจะรีไซเคิล ก็คือ เสื้อผ้าที่อยู่ในตู้ของลูกค้านั่นแหละ”
การโชว์เคสแบบนี้ของ H&M ค่อนข้างดึงดูดให้ลูกค้า กระตุ้นให้นำเสื้อผ้าเก่าที่ไม่ใช้แล้วมาที่สาขานี้ โดยกระบวนการทำงานของเครื่องจักรตัวนี้ ก็คือ Looop จะเริ่มต้นจากการทำความสะอาดเสื้อผ้าลูกค้า – หั่นเป็นเส้นใย – ปั่นเป็นเส้นด้าย – นำมาถักทอขึ้นรูปให้เป็นเสื้อกันหนาว, ผ้าพันคอผืนใหม่ หรือ ผ้าห่มเด็ก ซึ่งกระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงเท่านั้น
ทาง H&M ได้บอกถึงกระบวนการรีไซเคิล โดยการทำงานของเครื่องจักรตัวนี้ จะไม่มีการใช้น้ำหรือสารเคมีใดๆ “เราต้องการทำให้กระบวนผลิตแบบรีไซเคิลนี้ pure ที่สุด ดังนั้น กระบวนการผลิตแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าการผลิตเสื้อผ้าใหม่ ตั้งแต่ตอนแรก”
ทั้งนี้ ค่าธรรมเนียมในแต่ละครั้งสำหรับการรีไซเคิล จะมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 11-16 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 342-498 บาท)
ไม่ว่าจะอยู่ในสายธุรกิจไหน กระแสการรักษ์โลกเรียกว่า ต้องมาเป็น priority แรกๆ ได้แล้ว และยิ่งเราขยับตัวเราเท่าไหร่ โอกาสที่จะได้ครองอยู่ในใจผู้บริโภคก็จะยิ่งมากขึ้น อย่างก่อนหน้านี้ที่ ‘ZARA’ อีกหนึ่งแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นชื่อดังของโลก ก็ได้ประกาศเช่นเดียวกันว่า “ผ้าฝ้าย, ผ้าลินิน และผ้าโพลีเอสเตอร์ ที่ ZARA ใช้ทั้งหมดจะเป็นแบบอินทรีย์ หมายความว่า กระบวนการผลิตทั้งหมดจะต้องมีแหล่งที่มาแบบยั่งยืนหรือเน้นการรีไซเคิล ภายในปี 2025″
ต้องดูกันต่อไปว่า จะมีแบรนด์ไหนอีกที่เข้ามาเล่นกับตลาดเสื้อผ้าแบบรีไซเคิล แต่ช่วงนี้ก็มีหลายๆ แบรนด์ที่ปรับโมเดลธุรกิจนิดๆ หน่อยๆ มุ่งมาที่ ‘ธุรกิจมือ 2’ เปิดตัวขายกันแบบจริงจังแล้วเหมือนกัน อย่างเช่น Levi’s และ Gucci เป็นต้น