หลายท่านอาจไม่ทราบ ปัจจุบันแมลงกลายเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะแมลงกินได้ (Edible Bug) ถึงขนาดมีการคาดการณ์ว่าในอนาคต แมลงจะเป็นความหวังของมนุษยชาติ ในการรับประกันความเพียงพอของอาหารให้กับมนุษย์บนโลก
ในทางวิทยาศาสตร์ มีการพิสูจน์ว่าแมลงมีคุณค่าสารอาหารสูง ไม่ด้อยกว่าเนื้อสัตว์ที่เรารับประทานกันเป็นปกติ ทั้งเนื้อปลา เนื้อหมู หรือเนื้อวัว โดยสารอาหารจากแมลงมีครบทั้งโปรตีน ไขมัน วิตามิน ไฟเบอร์ ตลอดจนแร่ธาตุต่างๆ เช่น แคลเซียม เหล็ก สังกะสี ทั้งนี้สารอาหารในแมลงจะมากหรือน้อยขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น พันธุ์แมลง อายุของแมลง อาหารที่แมลงกิน
ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้บริโภคแมลงอยู่แล้วกว่า 2,000 ล้านคน มีแมลงมากถึง 1,900 สายพันธุ์ที่ถูกบันทึกว่ามีการบริโภค แมลงเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศเขตร้อนชื้น
การบริโภคแมลงถูกนำมาพูดถึงมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะความกังวลเรื่องการขาดแคลนอาหารของมนุษย์ในอนาคต จากจำนวนประชากรโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันประชากรโลกอยู่ที่ 7,700 ล้านคน The World Population Prospects 2019 คาดการณ์ว่าจำนวนประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9,700 ล้านคนในปี 2050 และอาจเพิ่มเป็น 11,000 ล้านคนในปี 2100 ก่อความเสี่ยงขาดแคลนอาหาร แมลงจึงกลายเป็นแหล่งอาหารทางเลือกที่สำคัญ
แมลง..ในฐานะอาหาร เรียกว่าไม่ใช่อาหารระดับธรรมดาหรือด้อยคุณภาพ แมลงจัดเป็น Superfood หรืออาหารที่ให้คุณค่าโภชนาการสูง จุดเด่นของแมลง คือให้โปรตีนสูงกว่าเนื้อสัตว์ที่มนุษย์รับประทานเป็นปกติ อย่างเนื้อไก่ เนื้อหมู เนื้อวัว เทียบง่ายๆ ว่าหากนำแมลงมาทำเป็นผง 100 กรัม จะให้โปรตีนได้สูง 70-80 กรัม ขณะที่เนื้อสัตว์อื่นๆ ให้โปรตีนที่ 30-40 กรัมเท่านั้น
หรือจากรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ในปริมาณหนอนนก (Mealworms) ที่เท่าๆ กับปลา หนอนนกให้โอเมกา-3 แบบไม่อิ่มตัวและกรดไขมัน 6 ชนิด เทียบเท่ากับเนื้อปลาทีเดียว ซึ่งมากกว่าที่พบในเนื้อหมูหรือวัว
ในแง่มูลค่าทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมแมลงกินได้เติบโตสูง จากการประเมินของ Barclays ใน 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2030 อุตสาหกรรมแมลงกินได้ทั่วโลกจะมีมูลค่าถึง 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 250,000 ล้านบาท เติบโตจากปี 2019 ที่มีเพียง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น หรือเติบโตจากวันนี้ถึง 8 เท่า
นอกจากนี้การเลี้ยงแมลงยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แมลงปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าสัตว์ชนิดอื่น ตัวอย่างเช่น งานวิจัยพบว่า จิ้งหรีดปล่อยแก๊สมีเทน น้อยกว่าวัวถึง 80 เท่า ซึ่งสอดรับกับกระแสผู้บริโภคที่ใส่ใจเรื่องโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย แมลงถือเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจสำคัญ เพราะเหมาะต่อการเลี้ยงแมลง ทั้งภูมิอากาศเหมาะสม และมีแมลงหลายชนิด หลายสายพันธุ์เป็นพื้นฐาน ตัวอย่างแมลงที่น่าสนใจ เช่น จิ้งหรีด
จิ้งหรีดเป็นแมลงที่นิยมนำไปรับประทาน นับแต่อดีต คนไทยและหลายประเทศในเอเชียบริโภคจิ้งหรีดอยู่แล้ว แต่ที่น่าสนใจคือ ปัจจุบันชาวยุโรปเริ่มหันมารับประทานจิ้งหรีดด้วย
ในแง่การแปรรูป เนื่องจากมีผู้บริโภคบางส่วนไม่กล้ารับประทาน เพราะไม่คุ้นเคยกับรูปลักษณ์ของจิ้งหรีด ผู้ประกอบการจึงมีการนำไปอบแห้ง แล้วบดให้ละเอียดเป็นผงจิ้งหรีด ดูคล้ายนมผง ช่วยให้ผู้บริโภคกล้ารับประทานมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการแปรรูปเพื่อใช้เป็นส่วนผสมในหลายผลิตภัณฑ์ เช่น ยา อาหารเสริม กระทั่งนำแมลงมาทำเป็นแป้ง เพื่อผสมในอาหารอย่างเส้นพาสต้า ขนมปัง เค้ก ฯลฯ ตลอดจนนำไปผลิตเป็นอาหารสัตว์เลี้ยง
การแปรรูปจิ้งหรีดเป็นรูปแบบต่างๆ ช่วยให้ผู้บริโภคกล้าทดลอง และเข้าถึงจิ้งหรีดหรือโปรตีนจากแมลงมากขึ้น
ในแง่คุณค่าโภชนาการ ผงจิ้งหรีดมีปริมาณโปรตีนมากถึง 78% เมื่อเทียบกับเนื้อวัวที่มีปริมาณโปรตีนเพียง 20% ทั้งยังมีแคลเซียม เหล็กและวิตามินบี 12
มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ตีพิมพ์ในวารสาร Scientific Reports พบว่า การรับประทานจิ้งหรีดช่วยเพิ่มแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อลำไส้อีกด้วย และไม่เป็นอันตรายแม้รับประทานในปริมาณมาก
ตลาดจิ้งหรีดทั่วโลกขยายตัวต่อเนื่อง ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ประกอบการไทยให้ความสนใจเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อส่งออกมากขึ้น ทั้งนี้ในปี 2561 ประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดกว่า 20,000 ฟาร์ม กำลังการผลิตประมาณ 700 ตันต่อปี คิดเป็นมูลค่ากว่าปีละ 1,000 ล้านบาท ตลาดส่งออกได้แก่ สหภาพยุโรป จีน แคนาดา ทั้งในรูปแบบจิ้งหรีดแช่แข็ง จิ้งหรีดแปรรูปต้มบรรจุกระป๋อง หรืออบบดเป็นโปรตีนผงผสมอาหาร
การเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดหรือแมลงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจและส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรไทยได้เข้าถึง ไม่ว่าจะประกอบเป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริม เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม เช่นในช่วงหน้าแล้ง
นอกจากนี้ สำหรับเกษตรกร การเพาะเลี้ยงแมลงยังมีข้อดี คือ ใช้เวลาน้อย พื้นที่น้อย และต้นทุนไม่สูง
อย่างไรก็ตาม ในการเลี้ยงแมลงเพื่อส่งออก เกษตรกรต้องคำนึงเรื่องสุขอนามัย เช่น ปลอดสารเคมี และได้มาตรฐานที่ประเทศปลายทางต้องการ ตลอดจนมีข้อมูล ความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อเพิ่มมูลค่าและลดโอกาสสูญเสีย เช่น พบว่าจิ้งหรีดเป็นสัตว์ที่อ่อนไหว ในการทำโรงเรือนเพื่อเลี้ยง ต้องมีที่กันแดดและฝน หากจิ้งหรีดถูกแดดหรือฝนเป็นเวลานาน จะตายได้
ในระยะยาว ประเทศไทยถือว่ามีศักยภาพสูงในการสร้างความสามารถทางการแข่งขันในอุตสาหรรมเลี้ยงและผลิตแมลงเป็นอาหาร เพราะท้องถิ่นตลอดจนสถาบันการศึกษาหลายแห่ง มีความเชี่ยวชาญ ศึกษาเรื่องการเลี้ยงแมลงอยู่แล้ว เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีการวิจัยเรื่องแมลงกินได้มานานกว่า 20 ปี
อุตสาหกรรมโปรตีนจากแมลง หรือแมลงกินได้ ถือเป็นโอกาสของเศรษฐกิจไทยครับ
แหล่งที่มา
Bangkokbanksme, BBC, CNBC, FAO, IAD, Matichon, Sentangsedtee, Thaigov, UN, Line Today