เผยเส้นทางความสำเร็จ ‘Pizza Movie’ เมื่อ ‘ตัวเรา’ คือคอนเทนต์ที่ดีที่สุด

  •  
  •  
  •  
  •  
  •  

Pizza-Movie

 

‘อินฟลูเอนเซอร์’ หนึ่งอาชีพมาแรงที่หลายคนใฝ่ฝันในยุคนี้ ด้วยด้วยภาพลักษณ์ของความสนุกสนานในการเล่าเรื่อง ไปจนถึงการใส่ความเป็นตัวเพื่อนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มที่หลากหลาย ก็ทำให้ใครหลายคนที่มีความเป็นนักเล่าเรื่องในตนเองอยากที่จะก้าวมาอยู่ตรงนี้เช่นกัน 

เช่นเดียวกับทุกอาชีพ ภายใต้รอยยิ้ม และคำพูดที่อัดแน่นด้วยเอเนอร์จีให้เราได้เสพก่อนนอน เส้นทางของอินฟลูเอนเซอร์ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบดอกกุหลาบอย่างที่หลายคนวาดฝันไว้ มีทั้งสิ่งกีดขวาง และอุปสรรคมากมายจนครีเอเตอร์หลายคนถึงกับท้อ และเสียน้ำตากันไป

แต่สำหรับ ‘คุณพิซซ่า’ จากช่อง ‘Pizza Movie’ ที่แม้จะเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า ‘หลุมดำ’ ของชีวิต แต่ด้วยความรัก และแพสชันต่อสิ่งที่ทำอยู่ จนสามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่างๆ และคว้ารางวัล ‘Tiktok Awards 2023 Best of Entertainment’ มาแล้ว และในปีนี้ ช่อง Pizza Movie ก็เติบโตขึ้นไปอีกขั้น โดยได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลใหญ่อย่าง  ‘Creator of the Year TikTok Awards 2024’ ที่จะประกาศผลในวันที่ 2 พฤศจิกายน และวันนี้ Marketing Oops! จะพาไปคุยกับคุณพิซซ่ากัน

 

_R5_2210
คุณพิซซ่า เจ้าของช่อง Pizza Movie

 

จุดเริ่มต้น Pizza Movie ช่องสำหรับคนที่ไม่รู้ว่าจะดูอะไรดี

 

“ถ้าเราจะทำช่อง สตรีมมิง ช่องรายการต่างๆ ทั่วโลก จะต้องมาเป็นสปอนเซอร์ให้เรา”

 

เป้าหมายที่ชัดเจนตั้งแต่ในวันแรก ไม่เพียงแต่เป็นแรงผลักดันให้ทำคอนเทนต์ได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แต่ยังเป็นกรอบกลยุทธ์ในการทำรายการด้วยว่า คอนเทนต์ทุกอันที่ลงต้องทำอย่างตั้งใจ และใส่เต็มที่ทุกคลิป เพื่อให้คนดูชื่นชอบ และสปอนเซอร์รักด้วย

คุณพิซซ่ายังเล่าต่อด้วยว่า ในช่วงแรกของการเปิดช่อง Pizza Movie คือช่วง Covid-19 ที่ทุกคนต้องกักตัวอยู่ในบ้าน และหนึ่งในความบันเทิงที่พอจะหาได้ก็คือ ‘หน้าจอ’ หลายคนพึ่งช่องทางสตรีมมิง ในการดูภาพยนต์ หรือซีรีส์แก้เบื่อ ซึ่งปัญหาที่มักจะตามมาเสมอคือ “แล้วจะดูอะไรดี?”

ช่อง Pizza Movie จึงเกิดขึ้นมาโดยมีแนวคิดที่เป็นเหมือนหัวใจสำคัญว่า ‘ดูคลิปจบปุ๊บ’ จะต้องไปดูภาพยนต์ หรือซีรีส์เรื่องนั้นทันที

 

Photo Credit: Pizza Movie / Tiktok

 

“หนูเล่าจนเพื่อนต้องกลับไปดู เล่าแล้วเล่าอีก เพราะหนูเชื่อว่าหนังดีๆ ซีรีส์ๆ ดีมันควรค่าแก่การดู จนเพื่อนแนะนำว่าให้ลองเปิดช่องแนะนำหนัง ซีรีส์ดู”

 

ด้วยแพสชันอย่างแรงกล้า และความชอบในภาพยนต์มาตั้งแต่เด็ก คุณพิซซ่าเล่าว่าแพสชันนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่จำความได้ โดยตนต้องนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์พี่ชายไปร้านเช่าซีดี แผ่นหนัง ต่างจากในยุคนี้ที่แพลตฟอร์มสตรีมมิงแบบถูกกฎหมายมีให้เลือกดูมากมาย เมื่อดูจบคุณพิซซ่าต้องใช้เวลาตกตะกอนความคิดที่ได้จากการดูอยู่หนึ่งคืนเต็ม ก่อนจะนำไปเรื่องราวความประทับใจไปเล่าต่อให้เพื่อนๆ ฟัง ซึ่งเพื่อนๆ นี่เองที่เป็นเหมือนหนึ่งในส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดช่อง Pizza Movie ขึ้นมา

คุณพิซซ่ายังเล่าต่อด้วยว่า แม้ตอนนี้จะไม่ใช่ช่วงโควิด-19 และทุกคนไม่ต้องกักตัวอยู่ในบ้านเพื่อจมอยู่กับหน้าจออีกต่อไป แต่เอนเกจเมนต์ของช่อง ไปจนถึงยอดวิวก็ไม่ได้ลดลงเลย ที่น่าสนใจคือกลับเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ สะท้อนให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหน ภาพยนต์ ละคร ซีรีส์ ยังเป็นหนึ่งในความบันเทิงของผู้คนเสมอ และเมื่อกำลังคิดว่า “จะดูอะไรดี?” ช่อง Pizza Movie ก็ยังถูกนึกถึงอยู่ตลอด

 

เอเนอร์จี้ล้นเปี่ยมแบบนี้ ก็มีวันที่ร้องไห้เหมือนกัน

 

“หนูมีวันที่ท้อนะคะ หนูอัดคลิป ตัดคลิป แล้วหนูก็ร้องไห้เลย หนูรู้สึกว่ามันยากมากค่ะ คนดูจะชอบคลิปของเราไหม จะชอบคาแรกเตอร์ตัวตนของเราหรือเปล่า แต่หนูไม่เคยคิดที่จะหยุดเลย”

 

เป็นหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ เมื่อครีเอเตอร์หลายคนเริ่มต้นจากพลังล้นเปี่ยม และมีเรื่องที่อยากเล่ามากมาย แต่สุดท้ายไม่มีใครฟัง จนครีเอเตอร์หลายคนเลือกที่จะทิ้งตัวตนของตัวเอง และไปดึงคาแรกเตอร์ของคนที่ประสบความสำเร็จแล้วมาใส่ในตัวเอง เพื่อให้คนดูรัก

เช่นเดียวกับคุณพิซซ่าที่มีวันที่ท้อ และหลงทางว่าจะเดินไปอย่างไรต่อ ให้ตนได้ทำในสิ่งที่รัก และมีคนรักในสิ่งที่ตนทำด้วย 

 

“ช่วงเวลาที่หนูหลงทาง หนูเลยกลับไปมองว่า ฟอลโลเวอร์ที่มาหาเราในวันแรกๆ มาเพราะอะไร จนได้คำตอบว่า อ๋อ จริงๆ แล้วใครก็รีวิวหนังแบบเราได้ แต่สิ่งที่ทำให้คนรัก จนเลือกมาเป็นฟอลโลวเวอร์ของเรา คือคาแรกเตอร์ ที่คนอื่นไม่มีเหมือนเรา”

 

แต่ถ้าแค่ใช้ความแตกต่างของคาแรกเตอร์เป็นจุดขายแล้วได้ผล คงไม่มีครีเอเตอร์ที่ไม่ประสบความสำเร็จบนโลกใบนี้ เพราะทุกคนล้วนมีลักษณะนิสัย ความชอบ ตัวตนที่แตกต่างกันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะทำให้ครีเอเตอร์โดดเด่นกว่าคนอื่น คือการเปลี่ยนคาแรกเตอร์เป็นจุดแข็งที่ไม่ใช่แค่ต่างจากคนอื่น แต่ดีกว่า ควบคู่กับ ‘กลยุทธ์’ ในการนำเสนอคอนเทนต์อย่างแยบยล

 

pizza movie-02
Photo Credit: Pizza Movie / Tiktok

 

นำเสนอคอนเทนต์ แบบ ‘Pizza Movie’

 

ความสำเร็จตลอด 3 ปี ของ Pizza Movie ไม่ได้มาจากแค่การที่คุณพิซซ่ามีความชอบในการดูหนังเป็นทุนเดิม แต่อยู่ที่วิธีการถ่ายทอดความชอบนั้นออกมาเป็นคอนเทนต์ที่ “ตอบโจทย์” ผู้ชม ผ่านการวางโครงสร้างการเล่าเรื่องที่เป็นระบบ เริ่มจากการดึงดูดความสนใจด้วยประโยคเด็ด ตามด้วยการสรุปเนื้อหาที่กระชับ และปิดท้ายด้วยเหตุผลที่ควรดู ทำให้ผู้ชมได้ข้อมูลครบถ้วนในเวลาอันสั้น

ที่สำคัญคือการ ‘อ่านเกม’ ได้แม่น รู้ว่าเมื่อไหร่ควรปล่อยคอนเทนต์แบบไหน เช่น ในช่วงที่ซีรีส์เกาหลีกำลังมาแรง ก็หยิบซีรีส์เกาหลีที่น่าสนใจแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักมานำเสนอ สร้างความแตกต่างจากกระแสหลักที่มักจะรีวิวแต่เรื่องดังๆ 

กลยุทธ์เหล่านี้เองคือหัวใจสำคัญที่ทำให้ Pizza Movie ช่องนำเสนอคอนเทนต์เกี่ยวกับภาพยนต์ สามารถท้าชิงรางวัลใหญ่แห่งปี ท่ามกลางครีเอเตอร์ทุกสาขา และแม้จะเป็นคอนเทนต์ความยาว 10 นาทีก็มีเอนเกจเมนต์ที่ดี ในยุคที่คอนเทนต์ถูกเลื่อนผ่านด้วยแค่การสะบัดนิ้วโป้ง

 

“เวลาหนูเลือกหนังมาเล่า แม้จะอ่านพลอตไปนิดเดียว แต่ต้องทำให้หนูอยากดูต่อ ที่สำคัญกว่านั้นคือการเล่าอย่างไรให้คนดูอยู่กับเราจนจบ หนังอาจจะมา 1 2 3 4 แต่เราต้องมีกลยุทธ์ในการเล่า เราอาจหยิบ 2 ขึ้นมาเล่าก่อน เพื่อให้คนอยากรู้ส่วนที่เหลือก็ได้”

 

1. การสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัว

  • สไตล์การเล่าเรื่องที่เป็นกันเอง: คุณพิซซ่าใช้โทนเสียงและภาษาที่เข้าถึงง่าย เหมือนเพื่อนแนะนำเพื่อน
  • การคัดเลือกเนื้อหาที่มีคุณภาพ: ไม่เน้นปริมาณ แต่ให้ความสำคัญกับการคัดสรรหนังและซีรีส์ที่น่าสนใจจริงๆ
  • การสร้าง “Spoil ที่ไม่สปอยล์”: เทคนิคการเล่าเรื่องที่กระตุ้นความสนใจโดยไม่ทำลายความสนุกของเนื้อเรื่อง

2. ความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย

  • เข้าใจพฤติกรรมผู้ชม: รู้ว่าคนดูต้องการคำแนะนำที่กระชับ ตรงประเด็น และน่าเชื่อถือ
  • ใส่ใจ Pain Point: จับปัญหา “ดูอะไรดี?” มาหาแนวทางแก้ปัญหาให้ผู้ชม
  • สร้างคอมมูนิตี้: มีการพูดคุยและรับฟีดแบ็คจากผู้ชมอย่างสม่ำเสมอ

3. การรักษามาตรฐานและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

  • คงคุณภาพเนื้อหา: รักษามาตรฐานการนำเสนอแม้ในช่วงที่มียอดวิวตกหรือเจออุปสรรค
  • พัฒนารูปแบบการนำเสนอ: ปรับปรุงเทคนิคการเล่าเรื่องและการตัดต่อให้น่าสนใจยิ่งขึ้น
  • เรียนรู้และปรับตัว: ศึกษาเทรนด์และอัลกอริทึมของแพลตฟอร์มอยู่เสมอ

 

Pizza Movie

 

“หาตัวเองให้เจอ” คำพูดง่ายๆ แต่ทำไม่ง่ายเลย

 

“คือมันมีหลายคนหลงทางเหมือนหนู บางคนทำตามคนอื่น บางคนหมดหนทางจนต้องปิดตัวเองไป แต่อยากให้กลับไปคิดถึงวันแรกว่าเราเปิดช่องขึ้นมาเพราะอะไร และยึดมั่นอยู่กับเป้าหมายนั้น หนูเชื่อว่าทุกคนท้อได้ แต่อย่าหยุด คนที่จะประสบความสำเร็จคือคนที่ไม่ยอมแพ้เท่านั้น”

 

สำหรับครีเอเตอร์หน้าใหม่ การหาตัวตนที่ชัดเจนอาจเป็นเรื่องที่ยาก แต่มันคือการค่อยๆ เรียนรู้ว่าอะไรที่ใช่และไม่ใช่สำหรับเรา คนที่หาตัวเองเจอได้เร็ว ก็ไม่ใช่ว่าจบสิ้นแล้ว หรือการันตีความสำเร็จใดๆ เพราะอย่าลืมว่าทุกคนมีเสน่ห์เป็นของตัวเอง แต่บางทีเราอาจจะมัวแต่มองหาความพิเศษที่ไกลเกินตัว จนลืมนึกไปว่า บางทีสิ่งที่เราชอบทำในชีวิตประจำวัน สิ่งที่เราหลงใหล มันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดก็ได้

สิ่งสำคัญที่สุดคือการ “ฟังเสียงข้างใน” ของตัวเอง แม้ว่าเทรนด์จะมาแรงแค่ไหน แต่ถ้าเราทำแล้วไม่มีความสุข ก็ยากที่จะทำได้อย่างยั่งยืน ลองถามตัวเองดูว่า ถ้าวันนึงเราต้องทำคอนเทนต์เรื่องนี้ไปอีกนาน เราจะยังรักและสนุกกับมันได้ไหม? ถ้าคำตอบคือใช่ นั่นอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดแล้ว

 

“ในวันที่เราเลือกที่จะเอาตัวตนของคนอื่นมาเขียนทับตัวตนของเราเอง เราอาจจะได้เอนเกจเมนต์ดี หรือคนดูเยอะก็ได้ แต่จะไม่มีใครรัก หรือรู้จักเราเลยแม้แต่คนเดียว เพราะเราไม่มีตัวตนตั้งแต่แรก”

  •  
  •  
  •  
  •  
  •