ซิซซ์เล่อร์ (Sizzler) ในไทยได้เริ่มทดลองโมเดลใหม่ล่าสุด ‘Sizzler to go’ ในรูปแบบ Grab-and-Go เพื่อตอบโจทย์ชีวิตที่เร่งรีบของคนยุคใหม่ โดยเฉพาะคนทำงาน ด้วยการประเดิมเปิดสาขาแรกบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสศาลาแดง
แบรนด์ ‘ซิซซ์เล่อร์’ นั้น เป็นร้านสเต็กสัญชาติอเมริกัน ซึ่งมีสาขาในรูปแบบของการให้สิทธิ์แฟรนไชส์ (Franchisee) อยู่ในหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย , แคนาดา , จีน , อินโดนีเซีย , ไทย , ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยในไทย อยู่ภายใต้การบริหารของ ‘บริษัท เอส แอล อาร์ ที จำกัด’ ในเครือ ‘บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)’
“เราเป็นผู้คิดพัฒนาโมเดลร้านนี้ขึ้นมา และไทยเป็นแห่งแรกที่มีร้านรูปแบบนี้” นงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เอส แอล อาร์ ที เล่าถึงความพิเศษของ Sizzler to go โมเดลใหม่ล่าสุดของซิซซ์เล่อร์ให้ Marketing oops! ฟัง
ตอบโจทย์ลูกค้าใช้ชีวิตเร่งรีบ
ส่วนที่มาของไอเดียที่ใช้พัฒนา ก็มาจาก pain point ของลูกค้ายุคนี้ที่ไม่มีเวลาและการใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ ซึ่งส่งผลต่อการกินของคนยุคปัจจุบัน โดยจาก insight พบว่า อาหารมื้อเช้า และกลางวันของคนส่วนใหญ่จะเป็นเมนูที่ง่าย ๆ และสามารถพกพาได้สะดวกสบาย
ดังนั้น หากสามารถเข้าไปให้ใกล้ลูกค้าได้มากขึ้นโดยที่ลูกค้าไม่ต้องมาที่ร้าน และตอบ insight ในเรื่องการกินของลูกค้าได้ นั่นหมายถึงโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นที่มาของ Sizzler to go สาขาแรกบนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสศาลาแดง
“โมเดลนี้ จะเป็นการย้ำไดเรคชั่นในเรื่อง Healthy Position ของเราว่า เมนูของเราจะเน้นสุขภาพ ตามเทรนด์ของโลกในปัจจุบัน ด้วยการเสนอตัวเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค ในราคาไม่แพง และเข้าถึงได้ง่าย”
การทำให้เข้าถึงได้ง่ายนั้น นอกจากการเลือกทำเลเปิดสาขา ที่โฟกัสไปยังแหล่งของการคมนาคมของคนยุคใหม่อย่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสและอาคารสำนักงานแล้ว ยังรวมถึงสร้างเมนูและดีไซน์แพ็กเกจใหม่ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่
เมนูหลัก ได้แก่ น้ำผลไม้สกัดเย็นที่เปิดตัวไปไม่นาน และ ‘สลัด’ สินค้าที่ขึ้นชื่อของซิซซ์เล่อร์ ที่คัดเมนูฮิตมาวางจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น ซีซ่าร์สลัด , สลัดชิกเก้นแคนเบอรี่ , สลัดเฟรซ ฟอร์ม ฟาร์ม (Fresh from farm) ฯลฯ มาในแพ็กเกจที่พกพาง่าย และรักษ์โลก
ส่วนเมนูใหม่ที่สร้างมาสำหรับ Sizzler to go โดยเฉพาะ นั่นคือ แซนวิช ที่ยังคงคอนเซ็ปต์ในเรื่อง ‘กินแล้วดีต่อสุขภาพ’ เพราะขนมปังที่นำมาทำแซนวิชนั้นมีให้เลือกทั้งที่ทำมาจากธัญพืช , ข้าวกล้องงอก , นม , บีทรูท ฯลฯ ไส้แซนวิชที่เลือกมาก็คัดแล้วว่า ฮิต อาทิ แฮมชีส , ไส้ปูอัดไข่กุ้ง และมีแซนวิชวีแกน สำหรับคนไม่มีกินเนื้อสัตว์ด้วย
อย่างที่บอกคอนเซ็ปต์ Sizzler to go ต้องการเป็นทางเลือกในเรื่องของเมนูสุขภาพที่ดีและเข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ดังนั้นการตั้งราคา จึงต้องไม่แพง เริ่มจากสลัดขายในราคา 99 บาท (ถูกกว่าซื้อผ่านทางบริการเดลิเวอรี่ ที่จะขายในราคา 109 บาท) , แซนวิช ตั้งราคาเดียวกันทุกไส้ ในราคา 79 บาท พร้อมกับมีการทำ Set หรืออาหารชุด เพื่อให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม โมเดลนี้ ยังคงเป็น ‘ร้านทดลอง’ เพื่อศึกษาและเรียนรู้ ซึ่งทาง นงชนก บอกว่า ขอดูผลตอบรับ 2-3 เดือนต่อจากนี้ เพื่อนำผลตอบรับที่ได้ไปพัฒนาและขยายต่อ