สารพัดดราม่าในที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเจ้านายจู้จี้ เพื่อนร่วมงานน่าเบื่อ ขี้ฟ้อง จ้องจับผิด ฯลฯ ที่ล้วนแต่ทำให้ออฟฟิศกลายเป็นที่ดูดพลัง ยิ่งนั่ง ยิ่งเพลีย และกลายเป็นเรื่องบั่นทอนสุดๆ สำหรับมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย
นั่นก็เลยเป็นเหตุให้เกิดเทรนด์มนุษย์เงินเดือนหันไปใช้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซกันมากขึ้น เพราะถ้าเทียบกับการ Work at Home ที่หลายๆ คน หลายๆ ออฟฟิศนิยมนั้น การแต่งตัวออกจากบ้านไปนั่งทำงานในโคเวิร์คกิ้งสเปซมีความลงตัวกว่ามาก
อย่างที่รู้ๆ กันถึงข้อเสียของการนั่งทำงานที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็น “กับดัก” คลาสสิกตลอดกาล นั่นก็คือ “ความขี้เกียจ” ของเราเอง ซึ่งก็เกี่ยวพันกับเรื่องสภาพแวดล้อมน่านอนมากกว่าน่าทำงาน
หันจากคอมพ์ไปเจอทีวี เปิดดูเน็ตฟลิกซ์หน่อยดีไหม หรือนั่งๆ ทำไป เจอเสียงดัง หมาเห่า เด็กวิ่งเล่น ฯลฯ ที่ล้วนแต่เป็นอุปสรรคสำคัญ โดยเฉพาะหาก “ใจ” คุณไม่นิ่งพอ!
ที่อเมริกา ก็เลยเริ่มเกิดเป็นเทรนด์ที่เหล่ามนุษย์เงินเดือนยอมควักกระเป๋าตัวเองจ่ายเงินเพื่อไปนั่งทำงานในโคเวิร์คกิ้งสเปซ ทั้งๆ ที่ออฟฟิศตัวเองก็มี แต่ไม่ไป
อย่างเช่น Nik Aliye สาวนิวยอร์กวัย 27 หนึ่งในมนุษย์เงินเดือนที่ปฏิเสธการนั่งทำงานในออฟฟิศย่านโซโห และเลือกที่จะจ่ายค่าสมาชิกรายเดือน 300 ดอลลาร์ หรือราวๆ 6 พันบาทให้กับโคเวิร์คกิ้งสเปซ The Wing เพื่อนั่งทำงานสบายๆ ลี้ภัยจากสิ่งไม่พึงประสงค์ในออฟฟิศ
“ที่ออฟฟิศไม่มีแสงธรรมชาติ มีแต่แสงไฟฟลูออเรสเซนต์ คนก็พลุกพล่าน แล้วห้องน้ำหญิงก็ไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่นด้วย” Aliye ร่ายยาวถึงข้อเสียของออฟฟิศที่เธอทำงานอยู่
ถ้าเป็นเมื่อก่อน คนอาจจะคิดว่า โคเวิร์คกิ้งสเปซ เป็นที่ทำงานสำหรับมนุษย์ฟรีแลนซ์และเหล่าสตาร์ทอัพ แต่ไม่ใช่กับเดี๋ยวนี้ที่แม้แต่มนุษย์เงินเดือนก็ยังหันมาใช้บริการด้วยเช่นกัน
โดยทั่วไป ค่าใช้บริการรายเดือนของโคเวิร์คกิ้งสเปซในอเมริกา จะไล่ตั้งแต่เดือนละ 200 ดอลลาร์ ไปจนถึง 500 ดอลลาร์ ขึ้นอยู่กับค่าครองชีพ ราคาอสังหาริมทรัพย์ของแต่ละทำเล รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
รายงานจาก Jones Lang LaSalle (JLL) ระบุถึงแนวโน้มการเติบโตของโคเวิร์คกิ้งสเปซในอเมริกาว่า ยังคงสดใส โดยที่ผ่านมา เติบโตเฉลี่ยโตที่ราวๆ 23% ต่อเนื่องจากตั้งแต่ปี 2010
และคาดว่า ส่วนแบ่งการตลาดของโคเวิร์คกิ้งสเปซจะไปได้ถึง 30% ของปริมาณออฟฟิศทั้งหมดที่มีในสหรัฐอเมริกา
Gretchen Spreitzer ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการ จากมหาวิทยาลัย Michigan’s Ross School of Business ให้สัมภาษณ์กับ MarketWatch ว่า..
เดี๋ยวนี้ แม้แต่บริษัทใหญ่ๆ ที่อยู่ใน Fortune 500 ก็เริ่มหันมาเช่าโคเวิร์คกิ้งสเปซให้พนักงานได้ไปใช้บริการด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่บริษัทก็มีออฟฟิศของตัวเอง
“พวกเขาต้องการให้พนักงานได้ไปอยู่ในบรรยากาศแบบสตาร์ทอัพเพื่อช่วยให้เกิดไอเดียดีๆ ขึ้นได้”
ออฟฟิศสวย ไอเดียพุ่ง
อีกเรื่องที่ต้องยอมรับก็คือ ไม่ใช่ทุกออฟฟิศจะน่าอยู่เสมอไป ทั้งเรื่องกายภาพอย่างความสวยงาม สิ่งอำนวยความสะดวก ไปจนถึงบรรยากาศแวดล้อมที่มี “เพื่อนร่วมงาน” เป็นปัจจัยสำคัญของคำว่า “ออฟฟิศน่าอยู่”
อย่างที่ The Wing โคเวิร์คกิ้งสเปซที่ชูจุดขายเรื่องให้บริการเฉพาะผู้หญิง ก็ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย มีทั้งคาเฟ่ ห้องประชุม กาแฟฟรี มีล็อกเกอร์ให้ใช้ มีกระทั่งห้องแต่งหน้า ห้องอาบน้ำ แถมยังใส่ใจรายละเอียดไปจนถึงเรื่องอุณหภูมิที่เหมาะสม
ที่สำคัญคือ ให้ความสำคัญเรื่องดีไซน์การตกแต่งให้เป็น “Insta-worthy office” ที่สาวๆ จะถ่ายรูปโพสต์ขึ้นโซเชียลได้แบบไม่อายใคร
Spreitzer อธิบายว่า โคเวิร์คกิ้งสเปซส่วนใหญ่จะโดดเด่นเรื่องดีไซน์ ต้องดูเท่ ทันสมัย มีพลัง และมีบรรยากาศที่จะช่วยให้คุณสามารถมีความคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ขึ้นมาได้
ขณะที่บางแห่งก็เลือกนำเสนอจุดขายเรื่องความสงบ ซึ่งเป็นเหตุผลให้ Jonathan Gardner นักการตลาดในนิวยอร์กยึดเป็นเกณฑ์เวลาจะเข้าใช้บริการโคเวิร์คกิ้งสเปซ
Gardner เป็นนักการตลาดของบริษัทสตาร์ทอัพด้านซอฟต์แวร์ขนาดใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งอันที่จริง เขาเองก็ชอบใจกับบรรยากาศขององค์กรรุ่นใหม่ แต่ในบางครั้ง เมื่อต้องคิดงานจริงจัง เขาก็ไม่สามารถทำงานในออฟฟิศที่จ้อกแจ้ก วุ่นวายได้ ก็เลือกใช้บริการกับ Prosper Gowork และ BKLYN Commons
สำหรับ Prosper Gowork นั้น ถือเป็นโคเวิร์คกิ้งสเปซที่โดเด่นเรื่องราคาย่อมเยา ค่าสมาชิกเดือนละ 99 เหรียญ หรือไม่ถึง 3 พันบาท ซึ่งถูกมากๆ ถ้าเทียบกับเจ้าอื่น โดยมีกาแฟให้บริการฟรี แต่ไม่มีห้องอาบน้ำ
แต่ถ้าถาม Aliye ถึงสาเหตุการย้ายก้นมานั่งทำงานในโคเวิร์คกิ้งสเปซว่า นอกจากเรื่องความสวยงามและสะดวกสบายแล้ว ข้อดีอีกเรื่องที่สำคัญของโคเวิร์คกิ้งสเปซ คือ “ความเป็นส่วนตัว” เพราะไม่มีใครมานั่งคอยจับผิด
“เวลาคุณอยู่ที่ออฟฟิศ คุณก็จะต้องรับแรงกดดันจากการต้องทำตัวฉลาดๆ หรือพูดคำคมๆ แต่ถ้าคุณอยู่ที่โคเวิร์คกิ้งสเปซ จะไม่มีใครตัดสินคุณ” Jeff Leisawitz ไลฟ์โค้ชรายหนึ่งกล่าว
เมื่อไม่ต้องนั่งทำงานตัวเกร็ง ด้วยความรู้สึกระวังภัย ไม่ต้องพยายามพูดอะไรที่ดูฉลาดๆ พนักงานจะรู้สึกปลอดโปร่งแล้วไอเดียดีๆ ก็จะตามมา
“เมื่อได้อยู่ในที่ที่คนรอบๆ ตัว ต่างก็ทำงานเหมือนๆ กัน ทำให้ฉันทำงานได้ดีขึ้น แล้วก็มีสมาธิในการทำงานมากกว่าเก่า” Aliye เสริมถึงข้อดี
Neil Carlson ผู้ก่อตั้งโคเวิร์คกิ้งสเปซชื่อ Brooklyn Creative League เป็นอีกหนึ่งเสียงที่ยืนยันว่า บรรยากาศการทำงานในโคเวิร์คกิ้งสเปซนั้นให้ความรู้สึกเป็นชุมชนซึ่งแตกต่างจากการนั่งทำงานในออฟฟิศอย่างชัดเจน
“ถ้าที่ออฟฟิศคุณมีเพื่อนร่วมงานประเภทยอดมนุษย์ มันก็เลี่ยงไม่ได้ที่คุณจะรู้สึกฝ่อในการทำงานที่ออฟฟิศ” Spreitzer กล่าว
ข้อควรระวัง!! ไม่เข้าออฟฟิศนานๆ ระวัง “ถูกลืม”
แม้ข้อดีของการนั่งทำงานข้างนอกจะมากมายเพียงใดก็ตาม แต่จงอย่าลืมประเด็นที่ว่า การแทบไม่เข้าออฟฟิศเลยนั้นอาจทำให้คุณ “ถูกลืม” ไปถึงขั้นถูกมองข้าม ยามมีการโปรโมทเลื่อนตำแหน่ง
งานวิจัย MIT Sloan Management Review เมื่อปี 2012 บอกว่า พนักงานที่ทำงานจากข้างนอกจะมีโอกาสได้รับการโปรโมท และได้ขึ้นเงินเดือนน้อยกว่าพนักงานที่มีผลงานในระดับเดียวกันแต่มาทำงานในออฟฟิศ
“เวลาคุณเจอหน้าใครบ่อยๆ คุณก็จะรู้สึกคุ้นเคย เชื่อใจ แล้วก็มีโอกาสที่จะโปรโมทเขามากกว่า” Daniel Cable ผู้เชี่ยวชาญจาก London Business School กล่าว
“ถ้าคุณทำงานไกลจากสำนักงานใหญ่ คุณจะโตช้า แต่ถ้าคุณเข้าออฟฟิศบ่อยๆ ให้นายเห็นหน้าหรือได้ร่วมพูดคุยระหว่างทานข้าวกลางวัน คุณจะมีโอกาสได้รับการโปรโมทมากกว่า”
อีกหนึ่งข้อดีของการเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ ก็คือการได้ประชุมกับทีมงานดีๆ (ในกรณีที่คุณมีทีมงานที่ดี) ซึ่งจะช่วยให้เกิดไอเดียดีๆ มากมาย เกิดความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมได้
“ไอเดียดีๆ จะเกิดขึ้นได้จากการระดมสมองร่วมกันในห้องประชุมมากกว่าที่จะทำได้ผ่านทางโทรศัพท์”
เพราะการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างเพื่อนร่วมงานแบบทั่วๆ ไป ประมาณว่า เดินสวนกัน คุยกันระหว่างทานข้าว หรือนั่งเล่นเม้าท์มอย ไม่ใช่จะไร้สาระเสียทุกครั้ง เพราะมันสามารถเกิดสิ่งดีๆ ตามมาได้ ซึ่งสิ่งนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นถ้าเราทำงานจากข้างนอก
ที่สุดแล้ว พนักงานออฟฟิศทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ติดโต๊ะทำงาน หรืออยากจะรู้สึกอิสระ ไม่อยากเข้าออฟฟิศ จะสายไหนก็แล้วแต่ ถ้าสามารถมีวินัยในตัวเอง ส่งงานได้ทันตามเวลา และหัวหน้าเข้าใจสไตล์การทำงานของเรา ก็ไม่มีปัญหาแน่นอน
ที่มา : marketwatch