Move On: กำเนิด Double Standard กับประเด็น “ไม่กลาง” อันน่าขบคิด

  • 619
  •  
  •  
  •  
  •  

double standard

 

  • ความเป็นกลางเกิดขึ้นจากความตระหนักว่าสื่อสารมวลชนไม่รับผิดชอบต่อผู้รับสารและก่อให้เกิดความเสียหายแก่สังคมในราวศตวรรษที่ 20
  • ผู้เขียนเห็นว่าความเป็นกลางของไทยเป็นการผนวกรวม objectivity + neutrality เข้าไว้ด้วยกัน (ซึ่งอันที่จริงมันควรแยกกันนะ)
  • การทำงานอย่างเป็นกลางของสื่อมวลชนช่วยให้ผู้รับสารสามารถ “เลือกข้าง” ได้อย่างแท้จริง
  • ธรรมชาติของมนุษย์ไม่ชื่นชอบการอ่านความเห็นที่ผิดต่างไปจากความคิดตัวเอง ดังนั้น สื่อฯจึงควรนำเสนอข่าวสารทั้งสองด้าน

ต้องยอมรับว่าการเปิดตัวเพจ The Standard โดย “โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์”  หนึ่งในผู้ก่อตั้งนิตยสาร a day ซึ่งเเยกตัวมาตั้งบริษัทใหม่ พร้อมดึงทีมคอนเทนต์ชุดเดิมจาก The Momentum  มาทำงานก่อให้เกิดข้อกังขาว่า The Standard มีมาตรฐานและความเป็นกลางมากถึงขั้นกล้าเรียกตัวเองว่า “มาตรฐาน” เลยหรือ

กระแสต่อต้านพัฒนาตัวไปหลากหลายรูปแบบแต่ที่เด็ดจริงอะไรจริงต้องยกให้การเกิดขึ้นของเพจ Double Standard อันประกาศตัวชัดเจนว่าจะ “แซะ” The Standard ให้ถึงสุดขอบโลกและโนสนโนแคร์กับเรื่องมาตรฐานหรือความเป็นกลางทั้งสิ้นปวง

คู่มวยเด็ดคู่นี้จุดประเด็นคำถามในสังคมมากมายโดยเฉพาะเรื่อง “ความเป็นกลาง” ทั้งในระดับบุคคลทั่วไปและในระดับสื่อสารมวลชนว่ายังจำเป็นต่อโลกการสื่อสารของคนไทยหรือไม่ แต่เอ๊ะ…แล้วความเป็นกลางที่เราเรียกร้องหรือไม่ชอบหน้านี่เกิดขึ้นเมื่อไหร่ เกิดขึ้นอย่างไรและเพื่ออะไรกันล่ะ บทความนี้จะพาคุณย้อนดูกำเนิดของมันและพาคุณไปสู่ข้อสรุปความเห็นของเราที่มีต่อเรื่องนี้ครับ

กำเนิดความเป็นกลาง

คำว่า “ความเป็นกลาง” เกิดขึ้นช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งโลกอยู่ในยุคสงครามเย็น หากยึดตามทฤษฏีสื่อสารมวลชน (Four Theories of the Press) เราจะเห็นว่ายุคนี้เป็นยุครุ่งเรืองของสหรัฐฯ ที่ยกย่อง “การไหลอย่างเสรีของข้อมูลข่าวสาร” (free flow of information) โดยมีไอเดียหลักว่ารัฐบาลจะต้องเข้าไปยุ่งยากกับกิจการของสื่อสารมวลชนให้น้อยที่สุด ผลปรากฏคือเกิดการรายงานข่าวที่ไม่เป็นธรรมและการดำเนินกิจการเอารัดเอาเปรียบผู้อ่านอย่างน่าตกใจ (เช่น การรับโฆษณาเกินพิกัด การปล่อยให้นักการเมืองหรือภาคธุรกิจเข้ามาครอบงำสื่อมวลชน)

เมื่อเกิดผลกระทบเช่นนี้จึงเกิดการทบทวนการทำงานของสื่อมวลชนเสียใหม่และนำพาไปสู่ยุคความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) ซึ่งเน้นให้สื่อสารมวลชนคงอิสระในการทำงานแต่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมผ่านกระบวนการควบคุมกันเอง ความเป็นกลางก็เป็นหนึ่งในหัวข้อที่ถูกหยิบยกขึ้นในพูดถึงในช่วงนี้โดยมีความหมายถึงการรายงานแต่ข้อเท็จจริงล้วนๆ ที่ผ่านการพิสูจน์ความจริงมาแล้ว (อันนี้เป็นความหมายในระยะแรก)

ความเป็นกลางกับปัญหาในสังคมไทย

ความเป็นกลางเป็นหัวข้อที่สังคมไทยหยิบยกมาพูดถึงเยอะมากหัวข้อหนึ่ง ทั้งในระดับคนทั่วไปจนถึงระดับสื่อสารมวลชน ฝ่ายหนึ่งสนับสนุนให้ทุกคนมีความเป็นกลาง ไม่มีอคติ ไม่เอนเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ขณะที่อีกฝ่ายบอกว่าความเป็นกลางเป็นเรื่อง “เพ้อฝัน” เพราะไม่มีทางที่มนุษย์จะเป็นกลางไปเสียได้ เราทุกคนต่างสวมแว่นแห่งอคติมองทุกสรรพสิ่งเราจึงไม่สามารถมองโลกอย่างเป็นกลางได้ มองข้อถกเถียงจากมุมสูง ผู้เขียนเห็นว่ารากของปัญหามีหลากหลายแต่รากหนึ่งที่สำคัญอยู่ที่ภาษาของสังคมไทยที่รวมคำว่า neutrality กับ objectivity เข้าไว้ด้วยกันภายใต้คำว่า “ความเป็นกลาง” ซะอย่างนั้น

คำว่า objectivity หมายถึงความเป็นวัตถุวิสัย ในกรณีของสื่อสารมวลชนคือเน้นรายงานข้อเท็จจริงและให้พื้นที่นำเสนอเนื้อหาแก่ “คู่ชก” ทั้งสองฝ่าย (หรือสาม หรือสี่ ฯลฯ) อย่างรอบด้านและเท่าเทียม ขณะที่ neutrality พูดถึงการทำงานที่ปราศจากอคติ ไม่มีการใส่ความเห็นของผู้รายงานลงไปในเนื้อหา พูดง่ายๆ ว่าผู้รายงานเดินมายืนอยู่ระหว่างความเห็นทั้งสองด้านโดยไม่เอาตัวเข้าไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

ในแวดวงสื่อสารมวลชนมีการถกเถียงกันถึงเรื่อง neutrality เป็นอย่างมาก โดยข้อสรุปส่วนใหญ่โน้มเอียงไปที่ความเห็นว่าไม่มีทางที่ผู้รายงานข่าวจะปราศจากอคติในการนำเสนอข่าวได้ (พูดง่ายๆ ว่าแค่เราหยิบข่าวหนึ่งมาเสนอและเลือกทิ้งอีกข่าว แค่นี้ก็เป็นอคติแบบหนึ่งแล้ว) ดังนั้น neutrality จึงเป็นจริงได้ยากมากในทางปฏิบัติ แต่ความเป็น objectivity นั้นปฏิบัติได้และควรต้องปฏิบัติเพราะมันคือการนำเสนอข้อเท็จจริง (ที่พิสูจน์ได้แบบประจักษ์นิยม) และให้น้ำหนักเท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย

ปัญหาคือเมื่อสังคมไทยดันไปเข้าใจว่าความเป็นกลาง =objectivity + neutrality แล้ว เราจึงคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเป็นกลางเพราะมนุษย์ไม่มีทางปลอดอคติ ไม่มีทางไม่เข้าข้างใคร ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ไม่เป็นจริงซะทีเดียว

ความเป็นกลางเพื่อการเลือกข้าง

พูดอย่างโลกไม่สวย มนุษย์ทุกคนมีธรรมชาติของการเลือกข้าง… พูดง่ายๆ คือไม่ว่าจะเปิดเผยหรือปกปิด เราทุกคนต่างก็เลือกข้างอยู่ในหัวสมองของเราด้วยข้อมูลที่ได้รับจากโลกข้อมูลข่าวสารนี่แหละ เพราะเมื่อใดก็ตามที่คุณได้ข้อมูลใส่มาในสมองตัวเอง เราเลี่ยงไม่ได้ที่จะคิด กลั่นกรอง วิเคราะห์ และเกิดเป็นข้อสรุปอย่างหนึ่งอย่างใดให้ตัวเอง และหากข้อสรุปนั้นชัดเจนมากก็จะเกิดการเลือกข้างขึ้นเป็นเรื่องปกติ แต่คอนเซปต์ที่สำคัญของการเลือกข้างคือคุณได้ “เลือก” ที่จะเชื่อข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งความสามารถในการเลือกจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อคุณได้ข้อมูลจากทั้งสองฝ่ายอย่างเพียงพอและเท่าเทียม การลงมือ “เลือก” อย่างแท้จริงจึงเกิดขึ้น

สมมุติง่ายๆ หากคุณได้รับข้อมูลมาตลอดชีวิตว่ากินส้มแล้วดี มีวิตามินซี แก้หวัด ดีอย่างนั้นอย่างนี้สารพัด โดยไม่เคยได้ยินข้อเสียของการกินส้ม เช่น ทำให้ท้องเสีย ทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงเลย สุดท้ายคุณกลายเป็นแฟนพันธุ์แท้การกินส้ม ศรัทธาการกินส้ม คำถามของผมคือคุณได้ “เลือก” แล้วหรือเปล่าที่จะกินส้ม… หรือจริงๆ แล้วคุณเพียงถูก “กล่อม” ให้เชื่อว่ากินส้มแล้วมีประโยชน์?

จุดนี้แหละที่ทำให้ “ความเป็นกลาง” ของสื่อมวลชนผุดขึ้นมามีความสำคัญ (แน่นอนว่าคนทั่วไปซึ่งไม่ได้ทำงานสื่อฯ ไม่ได้มีภาระหน้าที่จะต้องมาเป็นกลาง) สื่อมวลชนไม่ว่ากระแสหลักหรือกระแสรองต่างมีหน้าที่ในการแสดงข้อเท็จจริงจากทุกฝ่ายอย่าง “เป็นกลาง” (ในความหมาย objectivity) โดยไม่เกี่ยวว่าในสมองเราจะเลือกข้างไหน เพราะผู้รับสารจะนำข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่ายที่รอบด้านมาคิด วิเคราะห์ แยกแยะ จนตกผลึกเป็นการเลือกข้างของตัวเอง คำถามคือแล้วถ้าสื่อฯ “เลือกข้าง” ตั้งแต่ต้นเสียล่ะ? นั้นหมายความว่าสื่อมวลชนจะป้อนข้อมูลด้านเดียวเข้าสู่สมองของผู้รับสารและไม่สามารถทำให้เกิดการ “เลือกข้าง” ได้อย่างแท้จริง แต่เป็นการ “กล่อม” ให้เชื่อและเชื่อง

ข้อถกเถียงบนโลกโซเชียลฯ

ผู้ใช้หลายคนถกเถียงว่าสื่อออนไลน์ไม่จำเป็นต้องเป็นกลางตามสื่อกระแสหลักหรอก เนื่องจากเรามีเพจที่ “เลือกข้าง” คนล่ะฝ่าย และเลือกข้างนั้นข้างนี้เต็มไปหมด หากอยากได้ข้อมูลรอบด้านก็กดติดตามให้ครบทุกฝ่ายสิ…ผมขอตอบว่าทางทฤษฏีเป็นจริงได้ แต่ในทางปฏิบัติจะมีสักกี่คนที่ตระหนักถึงความอันตรายของการรับข้อมูลด้านเดียว เหนือกว่านั้น ธรรมชาติของมนุษย์เกลียดความเห็นหรือข้อเท็จจริงที่ขัดแย้งกับความเชื่อของตัวเองเป็นทุนเดิม ดังนั้นหากเราสังเกตเราจะเห็นว่าสิ่งที่เราคลิก เพจที่เราติดตาม หน้าฟีตที่ปรากฏต่างก็สะท้อนตัวตนและความรู้สึกนึกคิดของเรา มันเป็นโลกเสมือนที่เราสร้างขึ้นเพราะอยากให้โลกแห่งความเป็นจริงเป็นเช่นนี้ ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงความเห็นต่างเลย ขนาดเพื่อนที่คุณไม่ค่อยชอบหน้าคุณยังไม่ยอม add friend เขาให้เข้ามาในโลกของคุณเลย

ดังนั้น หากสื่อออนไลน์เลือกนำเสนอข้อมูลด้านเดียว ต้องระวังว่านั้นอาจยิ่งเป็นการตอบสนองธรรมชาติของมนุษย์ที่อยากรับรู้ข้อมูลด้านเดียวและตอกย้ำให้เชื่อว่าข้อมูลเหล่านั้นเป็นความจริงทั้งๆ ที่ยังมีแง่มุมอื่นให้มองอีกมาก

ผมอยากย้ำอีกทีว่าเราไม่ได้รณรงค์ให้สื่อมีความเป็นกลางแบบ neutrality (หรือคือในระดับจุดยืน อุดมการณ์) และในทางกลับกัน ผมกลับรู้สึกว่าสื่อฯควรมีจุดยืนและกล้าประกาศจุดยืนเหล่านั้นออกมาเสียงดังๆ ด้วยซ้ำไป แต่ความเป็นกลางที่สื่อมวลชนทั้งกระแสหลักและออนไลน์ต้องมีคือความเป็นกลางแบบ objectivity หมายถึงการเปิดพื้นที่ให้ข้อมูลทั้งสองฝ่ายสู้รบกันบนหน้ากระดาษ (หรือหน้าจอคอมฯ) อย่างเป็นธรรม อย่างไม่มีการกลั่นแกล้ง อันจะนำไปสู่ “การเลือกข้าง” ของผู้รับสารอย่างแท้จริง


  • 619
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง