คำว่า “ประพันธกรตายแล้ว” มาจากหนังสือ The Death of the Author เขียนโดยนักปรัชญาชื่อดัง Roland Barthes ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนโลกวิชาการเข้าสู่ยุคโพสต์โมเดิร์น (หลังสมัยใหม่หรือหลังนวสมัย) พูดให้ง่ายกว่านั้น Barthes ได้เปลี่ยนวิธีมองโลกของมนุษย์จากยุคที่มองว่าทุกอย่างเป็นเหตุเป็นผล ต้องพิสูจน์ได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และทุกอย่างมีโครงสร้างชัดเจน มนุษย์เป็นเพียงฟันเฟืองหนึ่งที่เข้าไปหมุนทำให้ระบบเดินหน้าไปได้ กลายเป็นมนุษย์เป็นตัวของตัวเอง ไม่สิ่งที่ถูกและผิด ทุกอย่างล้วนแต่เป็นสีเทาจางๆ ที่คุณบอกได้เพียงว่ามีเปอร์เซนต์แห่ง “ความถูกต้อง” และ “ความผิดพลั้ง” เจือปนอยู่เท่าไหร่
…และสำหรับดราม่าครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้นกับสำนักพิมพ์ระดับตำนานของไทย “อมรินทร์” นั้น ผมว่าเราสามารถใช้คำนี้มาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างดี
หน้าตา Roland Barthes
อะไรคือความตายของประพันธกร
ทางโลกวิชาการ (ย้ำ! ทางโลกวิชาการ) ความตายของประพันธกรเกิดขึ้นหลังจาก “the death of God” ซึ่งหมายความว่ายุคหนึ่งเมื่อคนในโลกวิชาการเริ่มไม่เชื่อว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลกอีกต่อไป พระเจ้าจึงมิได้เป็นผู้โอบอุ้มมนุษย์และมนุษย์ไม่จำเป็นต้องเดินตามจุดหมายที่พระองค์กำหนดไว้แต่เพียงฝ่ายเดียว สิ่งที่ตามมาคือการ “รื้อความหมาย” ของทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวมนุษย์ นักเขียนหรือประพันธกรเองก็เป็นหนึ่งในผู้ถูกทำลายความหมายทิ้งไป
สมัยก่อนเรามองว่านักเขียนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับผลงาน หมายความว่าสิ่งที่นักเขียนจรดปากกาลงไปมีตัวตน มีความคิด ที่สำคัญมีการตีความของนักเขียนอยู่ในนั้น ดังนั้น หากคุณต้องการรู้ความหมายของงานเขียนใดๆ คุณต้อง “ถามนักเขียน” เพื่อให้คุณได้ความหมายที่ถูกต้องที่สุดมาใช้เพื่อทำความเข้าใจหรือตีความต่อไป
แต่กลับกันในยุคหลังสมัยใหม่ (หลังนวสมัย) เมื่อ Barthes เปิดให้คนเห็นความเป็นไปได้ใหม่ว่า…
“ผู้อ่านเป็นส่วนหนึ่งของงานเขียนซึ่งทำให้งานเขียนยังสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่สูญหายไป ข้อความในหนังสือเหล่านั้นจึงหลอมรวมกับจุดหมายปลายทางของมัน ไม่ใช่จุดเริ่มต้น”
ประเด็นของอมรินทร์ที่มีการถกเถียงข้อความเจ้าปัญหาคือ หนึ่ง เราควรจะกลับไปถามทีมงานอมรินทร์ไหมว่าทำไมจึงเขียนแบบนั้น สอง การตีความของเซเลปออนไลน์ทั้งหลายถูกต้องสมบูรณ์แล้ว ไม่จำเป็นต้องกลับไปถามทีมงาน คำตอบของมันก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณ “สวมแว่น” อันไหนกลับมามองปรากฏการณ์
ใส่แว่นแห่งโลกก่อนสมัยใหม่ (นวสมัย) เข้าไปดูสิ
ภายใต้แว่นตาของโลกสมัยใหม่ ที่ทำอย่างเป็นระบบระเบียบและมีที่มาที่ไปชัดเจน เราจะพบว่าคำพูดที่ทีมงานอมรินทร์นำมาโค้ดให้อินโฟกราฟิคของตนเองนั้นมาจากนักเขียนและนักปรัชญาชื่อดังอีกท่านหนึ่ง ฟรีดริช นีทเชอ (Friedrich Nietzsche) ซึ่งท่านผู้นี้แหละที่เป็นผู้เสนอประโยค “God is Dead” หลายครั้งในงานเขียน โดยประโยชน์ที่อัมรินทร์โค้ดมาผมเดา (ย้ำอีกครั้ง! เดานะครับ) ว่าน่าจะมาจากประโยคเต็มๆ อันนี้
“Whoever fights monsters should see to it that in the process he does not become a monster. And when you look long into an abyss, the abyss also looks into you.” จากหนังสือ Beyond Good and Evil
ซึ่งถ้าให้ผมแปล ผมก็ใช้ปัญญาน้อยนิดแปลว่า
“ผู้ใดก็ตามที่หาญสู้กับมอนสเตอร์พึงระวังว่าจะไม่ตกกลายเป็นมอนสเตอร์เสียเองในระหว่างการต่อสู้ และเมื่อคุณจ้องมองลงไปในความมืดมิดไร้สิ้นสุด ความมืดมิดนั้นก็จะมองกลับมาที่คุณ”
*คำว่า abyss ที่ผมแปลว่า มืดมิดไร้สิ้นสุดนั้นเพราะเอามาจาก Cambridge Dictionary ที่แปลว่า a very deep hole that seems to have no bottom แต่จริงๆ ก็มีความหมายที่แปลว่า “นรก” เหมือนกันครับ
แน่นอนว่าคำที่ทีมงานอมรินทร์นำมาใช้น่าจะมีการปรับแก้ให้เข้ากับบริบทบ้าง แต่โดยความหมายของอมรินทร์ ผมเดาว่าเขากำลังพยายามสื่อว่าเมื่อจิตแพทย์ต้องต่อสู้กับ “อาการป่วยนานัปการ” ของคนไข้ที่มืดดำ น่ากลัว และมากมายเกินหยั่งถึงนั้น เขาเหล่านั้นก็ต้องต่อสู้กับตัวเองเพื่อไม่ให้ “ป่วย” จากการรักษา “อาการป่วย” แทน นั้นเป็นเหตุผลว่าทำไมค่ารักษาของจิตแพทย์ถึงแพง การเรียนการสอนของจิตแพทย์ถึงได้กินเวลานาน ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าความหมายชุดนี้ เป็นความหมายที่นีทเชอพยายามสื่อถึงว่าเมื่อคุณต้องต่อสู้กับสิ่งชั่วร้าย (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคน เป็นวัตถุ อาจเป็นการต่อสู้กับ “ปีศาจ” ที่อยู่ภายในตัวมนุษย์ด้วยซ้ำ)
…อย่างไรก็ตาม แม้แต่โลกวิชาการก็ยังเถียงกันไม่สิ้นไม่สุดว่า abyss ของนีทเชอคำนี้เขาพยายามสื่อถึงอะไรกันแน่?
หยิบแว่นแห่งโลกหลังสมัยใหม่ (หลังนวสมัย) มาสวมต่อไปสิ
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น นีทเชอเป็นนักเขียนและนักปรัชญาผู้จุดประกายกระแสหลังสมัยใหม่ การแปลความของเซเลปออนไลน์อย่างจ่าพิชิตแห่งดราม่าแอดดิคต์ อย่างตัวอย่างข้างล่าง
หรือการตีความจากลูกเพจหลายท่าน เช่นตัวอย่างข้างล่าง
ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะสุดท้ายสำหรับผมแล้ว การตีความของคนเป็นไปตามประสบการณ์ ความคิด และอคติ (อคติไม่ได้หมายถึงดีไม่ดีนะครับ แต่หมายถึงความรู้สึกตั้งต้นที่เรามีต่อเรื่องนั้นๆ) อยู่แล้ว และผู้บริโภคผู้อาศัยอยู่ในยุคหลังสมัยใหม่ก็มีช่องทางในการ expose their power หรือแสดงอำนาจของตนอย่างเหลือล้นผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งหลาย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเสียงที่เราต้องรับฟัง
ข้อแนะนำของผมเพื่ออยู่รอดในยุคแห่งความสับสนวุ่นวายของโลกหลังสมัยใหม่นั้นคือเราควรพยายามมองหาแก่น สาระ เจตนา เพื่อนำไปสู่ความพยายามเข้าใจคนอื่นให้มากที่สุดดีกว่าครับ เพราะสุดท้ายแล้วการตีแผ่จะนำมาซึ่งทางแก้ปัญหาและร่วมมือกัน แต่การต่อว่าจากมุมของตัวเองอย่างเดียวในฐานะ “ฉันเป็นคนผู้เหนือกว่า” มีแต่จะนำพาโลกเข้าสู่ทางตัน (โลกสวยไปอีก 555+)
…แต่ก็อย่างว่านะครับ ผมก็เป็นคนหลังยุคสมัยใหม่ (หลังนวสมัย) จะตีความอย่างไร ก็แล้วแต่คุณเถอะครับ :)