โลกในปี 2022 ที่ยังขับเคลื่อนไปด้วยสิ่งใหม่ๆ ความสร้างสรรค์ที่ใหม่ขึ้น หรืออาจจะเป็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นด้วยซ้ำไป นั่นพูดได้ว่า creativity หรือ ความคิดสร้างสรรค์ยังจำเป็นอยู่ในยุคต่อไป
ในมุมของ Rajdeepak Das ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสร้างสรรค์ และประธานเจ้าหน้าที่บริษัท Leo Burnett ประจำเอเชียใต้ ได้พูดในงาน Ahead! Fest Thailand เกี่ยวกับ CREATIVITY CAN SAVE THE WORLD : HARNESSING YOUR CREATIVE POWERS FOR THE GREATER GOOD โดยเปิดมุมมองถึงความสำคัญของ ‘ความสร้างสรรค์’ ว่าเป็นเหมือนโซลูชั่นอย่างหนึ่งในการแก้ปัญหาแต่เกิดขึ้นในรูปแบบใหม่ ที่มีความน่าสนใจมากกว่าเดิม
“ครีเอทีฟ ในความหมายของสิ่งที่มันควรจะเป็นก็คือ การหาโซลูชั่นใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า และมันจะต้องดีกว่าเดิม สนุกขึ้น ซึ่งมันสามารถรวมกับสิ่งอื่นได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเพลง, ดีไซน์, เทคโนโลยี, ความร่วมมือกัน”
นอกจากนี้ คุณ Rajdeepak ได้ยกตัวอย่างความครีเอทอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย จากแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า Shaddi.com ซึ่งเป็นบริการงานแต่งออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยเป็นแพลตฟอร์มที่รวมบริการทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับงานแต่งงาน ตั้งแต่การแต่งหน้า ทำผม, ดนตรี, คนทำพิธีกรรม, ดีไซน์การ์ดเชิญ ไปจนถึงช่องทางที่จะทำให้แขกสามารถร่วมงานเสมือนจริงได้ (ผ่านวิดีโอทางไกล)
ทั้งยังย้ำว่า “บางทีเราก็อาจจะนึกไม่ถึงว่าความครีเอทจะเปลี่ยนโลกได้จริงๆ เพราะแพลตฟอร์ม Shaddi.com ทีมงานของ Leo Burnett ที่อินเดียมีส่วนทำให้สิ่งที่เหนือความคาดหมายมันเกิดขึ้นได้จริงๆ”
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งตัวอย่างที่ Leo Burnett อินเดียได้จัดแคมเปญขึ้นในช่วงที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง และคนอินเดีหลายกลุ่มเริ่มซื้อรถยนต์ขับเองเพราะความปลอดภัย ซึ่งแคมเปญนี้กลายเป็นแคมเปญแห่งปีของเขา นั่นก็คือ E = Elderly นั่นก็คือ การสร้างการรับรู้ว่าเมื่อเราเห็นสัญลักษณ์ ‘ตัว E สีแดง’ ติดที่หลังรถของใคร แสดงว่าผู้ขับขี่เป็นผู้สูงอายุ มันคือการสร้างความเคารพระหว่างกันบนท้องถนนอย่างหนึ่ง เพราะเมื่อเห็นตัว E เราจะไม่บีบแตร, จะไม่หงุดหงิด หรือจะไม่เร่งเครื่องเพื่อจะแซงอย่างไม่พอใจ
ตัวอย่างบางส่วนที่เล่ามาสำหรับ Rajdeepak เพียงต้องการสื่อสารว่า “คำว่าครีเอทีฟมันคือการสร้างสรรค์ มันคือโซลูชั่น และมันต้องแก้ปัญหาให้กับผู้คนได้ ครีเอทีฟ คือการวิวัฒนาการอย่างหนึ่งที่มันเร็วขึ้นมากเมื่อมีวิกฤต”
“การวิจารณ์เชิงสร้างสรรค์” คือคำที่ Rajdeepak ยกขึ้นมาพูด เพราะไอเดียต่างๆ สำหรับนักสร้างสรรค์มันไม่ง่ายที่จะเกิดขึ้นเพียงคนๆ เดียว แต่คนในทีมต้องมีส่วนร่วม เราต้องสร้างสรรค์และช่วยกันปรับปรุงไอเดียได้
ทั้งนี้ ปรัชญาที่เขาใช้ยึดถือมาตลอดก็คือ sympathy (ความเห็นอกเห็นใจกัน) เราต้องเปิดใจ เปิดความคิด เปิดหูเปิดตา
ทั้งยังพูดถึงกลุ่มคนทั่วไปที่ไม่ได้เป็น creators และแนะนำภาคธุรกิจไว้ว่า “ความสร้างสรรค์มันเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวทุกคน และก็เป็นสิ่งที่ทุกคนโหยหาด้วย ไม่ว่าเราจะอยู่ในวงการครีเอทีฟโดยตรงหรือไม่ก็ตาม อย่างเชฟก็ถือเป็นครีเอเตอร์ หรือคุณถนัดเกี่ยวกับตัวเลข และคุณมองว่าคุณไม่เก่งการสร้างสรรค์เลย แต่จริงๆ แล้วการเห็นตัวเลขหรือการจดจำบางอย่างที่ไม่เหมือนกัน นั่นก็เรียกว่า ครีเอทีฟ แค่คุณต้องปล่อยให้ความคิดตัวเองได้เฉิดฉายไม่ตีกรอบให้มัน”
“ครีเอทีฟ มันคือการหาโซลูชั่นไม่ว่าจะกับเรื่องอะไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ แต่เป็นโซลูชั่นที่ใครสักคนหนึ่งเห็นว่ามันคือโซลูชั่นจริงๆ”
คุณ Rajdeepak ยังพูดถึงคนไทยด้วยว่า ในสายตาของเขาคนไทยคือ คนที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้คน และมีความเรียบง่ายมากที่สุด นี่ถือว่าเป็นพรสวรรค์ของคนไทย ดังนั้น มันเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงโลกได้ ซึ่งหากธุรกิจมองเห็นตรงนี้และสร้าง inspiration จากความเป็นคนไทยเหล่านี้ รวมไปถึง ‘ความเรียบง่าย’ เพราะสำหรับคนไทยมันก็แค่ “ชอบ หรือ ไม่ชอบ” แค่นั้นเอง
สรุปง่ายๆ ก็คือ คนไทยเป็นคนที่มีพรสวรรค์ในด้านนี้อยู่แล้ว และแบรนด์เองก็เช่นกัน อยู่ที่ว่าเราจะหาจุดเชื่อมโยงระหว่างกัน ให้มัน touching กลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร
ข้อมูลโดย งานสัมมนา Ahead! Fest Thailand/ Rajdeepak Das