Innovative Ideas: Uber แอพฯเจ้าปัญหาหรือความหวังใหม่ของผู้บริโภค?

  • 4
  •  
  •  
  •  
  •  

uber_App2

ตามข่าวของคุณบอย ถกลเกียรติ วีระวรรณ ผู้กำกับละครเวทีและละครโทรทัศน์มือทองมาหลายวัน สะดุดใจกับประโยคที่คุณบอยบอกกับสื่อมวลชนว่า หะแรกเราสองพ่อลูกกะเรียก Uber แต่ถูกลูกสาวห้ามไว้เพราะมันผิดกฏหมาย สุดท้ายก็เลยต้องไปยืนโบกแท็กซี่ดึกๆ เหมือนเดิม

คันที่หนึ่งไม่ไป

คันที่สองไม่ไป

คันที่สามเลยอารมณ์ขึ้น ขอใช้เท้าเรียกซะหน่อย…

ฟังเหตุผลแล้วก็ได้แต่เศร้าผสมเซ็ง เศร้าเพราะทำไมเราซึ่งเป็นผู้บริโภคและมีสิทธิเลือกสรรบริการที่ดีที่สุด ในราคาย่อมเยาว์ที่สุดให้แก่ตัวเองกลับกลายเป็นเหยื่อของตลาดแบบกึ่งผูกขาดในอุตสาหกรรมแท็กซี่ไทย ต้องมาคอยผจญกับการไม่รับคนไทย ไม่เอารถติด ไปไกลต้องเหมา แอร์เสียยังไม่ซ่อม ขอขึ้นทางด่วนจ่ายเพิ่มให้ด้วยนะ บลาบลา อีกมากมาย ถ้าบอกว่านี่คือความบกพร่องทั่วไป แท็กซี่ที่ไหนก็เป็นกัน แล้วทำไม Uber แอพฯ เรียกแท็กซี่น้องใหม่ที่เพิ่งเข้าไทยมาราวๆ 2-3 ปีถึงสามารถบริหารจัดการจนปัญหาเหล่านี้หายไปและผงาดขึ้นเป็นคู่แข่งของแท็กซี่เจ้าถิ่นได้ล่ะ

…ส่วนที่เซ็งเพราะนี่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดกับคุณบอยระดับ 1% แต่มันเกิดบ่อย เกิดถี่ และกลายเป็นเรื่องปกติของสังคมเมืองหลวง แล้วทำไม๊ทำไม เมื่อ Uber เข้ามาและสามารถแก้ปัญหาตรงนี้ของพวกเราได้ กลับถูกต่อต้านทุกวิถีทาง เพื่อให้เรากลับไปพบกับบริการเก่าๆ ที่แสนวุ่นวายอีกหรือ?

uber in usa

ส่องบทเรียนสหรัฐฯ เกิดอะไรขึ้นเมื่อ Uber บุกนิวยอร์ก

พูดโดยสามัญสำนึก เราก็จะบอกว่าเมื่อมีคู่แข่งพี่ๆ แท็กซี่ก็ต้องได้รับผลกระทบสิ เสียลูกค้า เสียรายได้ที่ทำได้ในแต่ล่ะวัน ไม่งั้นจะพากันออกเดินขบวนปกป้องผลประโยชน์ตัวเองเหรอ ส่วนหนึ่งก็ใช่และแน่นอนที่สุด แต่ในอีกทางหนึ่ง Tim Worstall จาก Forbes ก็ชวนมองว่าเมื่อ Uber เข้ามาเป็นคู่แข่งสำคัญในธุรกิจแท็กซี่ ค่าเช่าและราคายานยนต์สำหรับทำเป็นแท็กซี่กลับดิ่งตัวต่ำลง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้ารายจ่ายตรงนี้ดูจะสูงเอาๆ แบบไม่เคยลด หมายความว่าแท็กซี่หลายคนสามารถเช่าแท็กซี่และทำกำไรได้มากขึ้นหากเขาปรับปรุงบริการและมีวิธีหาลูกค้าในแบบของตัวเองได้เก่ง (เช่น หาผ่านแอพฯ ผ่านโทรศัพท์ ผ่านโซเชียลมีเดีย มีลูกค้าขาประจำ)

ขณะที่แท็กซี่ส่วนหนึ่งที่ฮึดสู้ก็ลุกขึ้นจับมือกับเครือข่ายของตัวเอง พัฒนาระบบบริการและการขับขี่ภายใต้คอนเซปต์ว่า “เราคือมืออาชีพ” ซึ่งขับรถเก่งกว่า รู้จักทางดีกว่า และใช้เทคโนโลยีได้หลากหลายกว่าคนขับ Uber หลายคนที่เป็นคนขับใหม่ ยังไม่รู้จักนิวยอร์กดีเท่าที่ควร

และเมื่อวงการรถแท็กซี่พัฒนา Wostall บอกว่ามันจะเป็นการดึงดูดลูกค้ารายใหม่ๆ ที่แต่ก่อนเคยกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย หรือไม่ชอบการให้บริการของแท็กซี่ ให้หันกลับมาใช้งานขยายตลาดผู้บริโภคเพิ่มเข้าไปอีก

uber country

 

รายชื่อประเทศที่ Uber เข้าไปทำธุรกิจประจำปี 2015 จาก USA Today

Uber แอพฯ ป่วนสะเทือนใจรัฐบาลทั่วโลก

แน่นอนว่านี่กรุงเทพและนิวยอร์กไม่ใช่ครั้งแรกที่ Uber ถูกต่อต้านจากผู้มีผลประโยชน์ได้เสียและรัฐบาล หลายประเทศทั่วโลกก็ผ่านประสบการณ์นี้มาแล้วทั้งนั้น เราจะลองยกตัวอย่างประเทศที่น่าสนใจให้เป็นกรณีศึกษากันดีกว่า

แคนาดา –  รัฐบาลเมืองโตรอนโตพยายามสั่งห้ามการใช้งาน Uber อย่างเด็ดขาดแต่ก็ถูกคำสั่งศาลระงับไว้เพราะถือเป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขต

จีน – มีการต่อสู้มากมายที่ชาวมังกรใช้กับ Uber ที่น่าสนใจคือการกำเนิดขึ้นของแอพฯ Didi Kuaidi (หรือ Didi Chuxing ในปัจจุบัน) ซึ่งเข้ามาต่อสู้กับ Uber และได้รับชัยชนะเพราะมีผู้โดยสารมากกว่า Uber กว่า 3 เท่า อย่างไรก็ตาม Uber ในจีนก็ยังมีผู้โดยสารมากกว่า 1 ล้านในหนึ่งวันอยู่ดี

อังกฤษ – ผู้ว่าการลอนดอนเคยประกาศเมื่อปี 2015 ว่าผู้ขับขี่ Uber ต้องผ่านการทดสอบความรู้เรื่องเส้นทางและความรู้ภาษาอังกฤษก่อนจะทำงานได้ ซึ่งผู้ว่าการบอกว่านี่ถือเป็นการสร้างมาตรฐานและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ขับขี่แท็กซี่คันดำอันเป็นสัญลักษณ์ของลอนดอนที่ต้องใช้เวลาสอบใบขับขี่นานกว่า 4 ปี Uber ก็ยอมรับเงื่อนไขนี้อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง

เยอรมัน – ศาลกรุงเบอร์ลินสั่งห้ามไม่ให้รถ Uber จอดรอหรือวิ่งรับผู้โดยสารระหว่างทาง หลังจากส่งผู้โดยสารเสร็จเรียบร้อยพวกเขาต้องกลับไปประจำศูนย์กลางและรอการเรียกรถรอบต่อไป ห้ามไม่ให้รอรับผู้โดยสารระหว่างทาง นอกนั้นก็มีการวิจารณ์เรื่องการออกใบอนุญาตขับขี่และการแข่งขันที่อาจไม่เป็นธรรม

อินเดีย – ตำรวจกรุงนิวเดลีจะจับกุมผู้ขับขี่ทันทีหากไม่มีใบรับรองความปลอดภัยและใบอนุญาตขับขี่ รัฐบาลกลางของอินเดียเรียก Uber เข้าตักเตือนหลายครั้งหลังจากเกิดเหตุผู้ขับ Uber ก่อคดีข่มขืนผู้โดยสาร บริการ Uber ถูกแบนออกไปจากอินเดียระยะหนึ่งแต่โฆษกของ Uber เชื่อว่าน่าจะกลับมาใช้งานได้ในอีกไม่นาน

แม็กซิโก – ผู้ขับขี่แท็กซี่ท้องถิ่นประท้วงและประกาศ “ไล่ล่า” คนขับ Uber อย่างไรก็ตาม รัฐบาลและคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนของเมืองแม็กซิโกต่างออกโรงปกป้องแอพฯ Uber โดยระบุว่านี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเลือกใช้บริการที่ตนเองต้องการ รัฐบาลไม่สามารถห้ามปรามได้

Anti-Uber protests

ภาพการประท้วงผู้ขับขี่ Uber ในประเทศบราซิล – ภาพ รอยเตอร์

ทางออกของแท็กซี่ไทยในวันที่โลกดิจิตอลเข้าทักทาย

อย่างที่เรากล่าวไปข้างต้น การเข้ามาของ Uber แง่นึงก็เป็นอุปสรรคแต่อีกแง่หนึ่งก็เป็นโอกาสให้ธุรกิจแท็กซี่ไทยพัฒนาตัวเองและเติบโต อย่าลืมว่าไม่ช้าก็เร็วเมื่อตลาดอาเซียนเปิดเสรี นักธุรกิจจากประเทศอาเซียนต้องหลั่งไหลเข้ามายังกรุงเทพฯ แท็กซี่ไทยต้องปรับตัวให้พูดภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น ขับขี่ปลอดภัย มีเทคโนโลยีและใช้ระบบนำทางเป็นอย่างมืออาชีพมากขึ้น ถึงตอนนั้นหากแท็กซี่บางส่วนจะเริ่มถีบตัวขึ้นจับตลาดไฮเอนท์ เน้นจับตลาดชาวต่างชาติผ่านช่องทางการขายอื่นๆ อันนี้ก็ไม่มีใครว่า คุณสามารถเรียกราคาได้มากขึ้นพร้อมๆ ไปกับการเสนอบริการที่คุณภาพคับแก้วสมน้ำสมเนื้อไปด้วย

แต่หากแท็กซี่ไทยยังยืนยันจะต่อต้านและมีความสุขกับตลาดผู้ใช้บริการที่เกลียดคุณ จ้องจะหาวิธีเดินทางแบบอื่นๆ มาแทนที่ สักวันหนึ่ง ถึง Uber ไม่สามารถมาแทนที่คุณได้แต่รถไฟฟ้า เรือด่วน รถเมล์ที่เริ่มปรับตัวกันทุกวันก็จะกลายเป็นคู่แข่งของคุณไปโดยปริยาย

…ฆ่าคู่แข่งไม่มีวันหมด พัฒนาตัวเองให้เจ๋งขึ้นดีกว่า

uber_App

อ้างอิง

forbes

usatoday

thairath


  • 4
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง