ปิดฉากซีซั่นแรกลงไปแล้วอย่างไม่สวยงามสักเท่าไหร่สำหรับรายการสุดฮอต “The Mask Singer หน้ากากนักร้อง” ทางช่องเวิร์คพอยท์ 23 ซึ่งก่อให้เกิดกระแสตราม่า #RipTheMaskSinger บททวิตเตอร์แทบจะทันที เรียกว่าฮอตมากจนแฟนคลับที่ติดตามตั้งแต่ต้นเกิดอาการอกหักรุนแรงเมื่อมาพบข้อสรุปของรายการเช่นนี้
คำถามคือสังคมไทยลงแดงอะไรมากมายกับการไม่เปิดเผยใบหน้าของหน้ากากทุเรียน และเจ็บช้ำอะไรหนักหนากับการ “ถูกหลอก” จากรายการเกมโชว์ที่เอาเข้าจริงก็ต้องยอมรับว่าเขียนสคริปต์กันอย่างเข้นข้นทุกรายการทั่วโลก
ที่สำคัญมากในมุมมองของดิจิตอลมาร์เกเตอร์…แล้วทำไมสังคมไทยจึงหลงใหลหน้ากากมากนักเล่า
ย้อนความเป็นมาของหน้ากากสักนิด คำว่า “หน้ากาก” ปรากฏขึ้นอย่างเป็นทางการในสังคมอังกฤษราวคริสตศักราช 1530 แต่ก่อนหน้านั้น หน้ากากก่อรูปอย่างไม่เป็นทางการในหลายวัฒนธรรมเช่น วัฒนธรรมฝรั่งเศสหน้ากากหมายถึง “วัตถุที่ใช้ซ่อนหรือปกป้องใบหน้า” ในวัฒนธรรมอิตาเลียน หน้ากากเป็นของคู่กับภูติผีหรือฝันร้าย แต่วัฒนธรรมอาหรับ หน้ากากเป็นของคู่กับตัวตลกผู้สร้างเสียงหัวเราะ
น่าสนใจว่าหน้ากากมีความเป็นสากลและเป็นวัตถุที่ทั่วโลกนิยมใช้ สงครามสวมหน้ากากเพื่อปกป้องและอำพรางใบหน้า พิธีกรรมใช้เพื่อประดับร่างกายและผันตัวเป็นสื่อสมมุติ ขณะที่งานฉลองสวมใส่เพื่อสร้างความบันเทิงหรือสวมบทบาทตัวละคร นอกจากนั้นหน้ากากยังถูกใช้เพื่อการรักษาทางจิตเวชในสมัยหนึ่งอีกด้วย
โดยคอนเซปต์ เราจะเห็นว่าหน้ากากมีหน้าที่เพื่อปกป้องและปิดซ่อนเจ้าของผู้สวมใส่จากโลกภายนอก ไม่ใช่เพียงในระดับรูปลักษณ์แต่ลึกไปถึงระดับตัวตนของผู้อาศัยเบื้องหลัง
กลไกหนึ่งที่น่าสนใจที่หน้ากากทำงานได้อย่างแข่งขันคือการช่วยเหลือให้มนุษย์ หลีกหนีจากความจริงสู่ความเป็นไปได้แบบใหม่ๆ คิดสภาพการเป็นมนุษย์แรงงานที่ต้องถูกพรากออกจากถิ่นฐานบ้านเกิด ถูกบังคับกดขี่ให้ทำงาน 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ถูกล้อเลื่อนเข็นขาให้เดินตามสายพานการผลิตซ้ำซากทุกวัน การหนีให้ไกลจากความจริงอันโหดร้ายชั่วเวลาที่ดูทีวีแล้วแทนตัวเราเป็นหน้ากากสารพัดหน้ากาก แค่นี้ก็เปี่ยมสุขแล้ว
อีกเหตุผลหนึ่งที่เราไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจเมื่อเห็นใครสวมหน้ากากแปลงร่างเป็นคนนั้นคนนี้ต่อหน้าเรา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเรารู้เห็นว่าตัวตนของคนในยุคดิจิตอลนั้นมีหลากหลายเสียยิ่งกว่าคนสวมหน้ากากบนทีวีซะอีก เราอาจเป็นนักเรียนดีเด่นในห้องเรียนแต่ตกเย็นเป็นนักเลงคีย์บอร์ดบนพันทิป เราอาจเป็นพ่อที่ดีตอนก้าวเท้าออกจากบ้านแต่เป็นนักแชทลามกกับนักเรียนสาวม.ปลายบนรถไฟฟ้า พูดอีกอย่างหนึ่งคือโลกดิจิตอลได้สร้าง “ตัวตนเสมือน” ให้แก่เรามากมายจนหน้ากากจริงๆ ในหน้าจอกลายเป็นของเด็กเล่นไปเลย
นอกจากนั้น ท่ามกลางความสับสนวุ่นวายของโลกยุคดิจิตอลที่มีข้อมูลท่วมท้นแต่หาสาระได้ยากยิ่ง (หากคุณไม่เชื่อ ลองเสิร์จลุง Google หาคีย์เวิร์ดอะไรสักคำ คุณจะพบว่าแค่ “ข้าวกล้อง” มีผลการค้นหากว่า 1.74 ล้านผลลัพธ์) มนุษย์ต้องการเสาะแสวงหาความจริงแท้ (essence) ของสิ่งต่างๆ และเราเชื่อว่าภายใต้หน้ากากนั้นจะมีความจริงแท้ที่ไม่หลอกลวงฝังอยู่ เพราะพวกเขาเชื่อว่าหน้ากากเป็นตัวช่วยให้แก่นแท้ของมนุษย์พลั่งพลูออกมา คุณอาจคิดว่ามันประหลาดในเมื่อหน้ากากถูกสร้างขึ้นเพื่อปกปิดและปกป้องตัวตนจากโลกภายนอก แต่ในทางกลับกัน หน้ากากกลับช่วยให้คุณสามารถสำแดงความเป็นตัวตนออกมาได้อย่างไม่แคร์สื่อ คุณไม่ต้องสนว่าเพื่อนที่ทำงานจะจำหน้าได้ ไม่ต้องสนว่าครอบครัวจะมาเจอว่าเต้นออกสาวแค่ไหนตอนร้องเพลงมาช่า
แต่จุดขายอันซับซ้อนของหน้ากากบนทีวีคือในยุคที่ผู้บริโภครู้ทันเสียแล้วว่าเกมโชว์นั้นถูก “กำกับและจัดฉาก” อย่างเข้มข้น กลยุทธ์แก้เกมของผู้ผลิตคือการนำหน้ากากมาใช้เพื่อเป็นการบอกกลายๆ ว่าภายใต้หน้ากากนี่นะหรือก็คือ “ตัวตนที่ปราศจากการเขียนสคริป” ของนักร้องอย่างแท้จริง สุดท้ายเราก็เพลิดเพลินกับความ “เรียล” ที่ถูกนำเสนอโดยลืมว่าแท้จริงแล้วไม่มีเกมโชว์ไหนที่ไม่มีสคริป
แต่จุดที่ฟินเวอร์ของหน้ากากคือการเปลี่ยนแปลงให้นักร้องกลายเป็น สื่อกลางที่ใครๆ ก็สามารถเข้ามาเป็นแฟนคลับได้ ลองคิดดูว่าการที่เราชื่นชอบนักร้องคนใดคนหนึ่งนั้น เราไม่ได้ชอบแค่เสียงร้อง ไม่ได้ชอบแค่หน้าตา เสื้อผ้า บุคลิก แต่เราชอบไปถึงว่าเขาเรียนจบที่ไหนมา นามสกุลเด่นดังไหม พ่อแม่รวยหรือเปล่า มีรสนิยมการใช้ชีวิตอย่างไร พูดง่ายๆ ว่าเราพยายามศึกษาไอดอลของเราเพื่อชื่นชอบลักษณะบางอย่างที่ใกล้เคียงกับตัวเราและถอยห่างจากคนที่เราไม่รู้สึกเชื่อมโยง (ตัวอย่างที่ดีคือคนกรุงคงน้อยคนที่ชอบศิลปินเพลงลูกทุ่ง เพราะแม้เขาจะร้องเพลงอื่นๆ แต่คนกรุงก็ยังติด “ภาพลักษณ์” และไม่กล้าตามติดเป็นแฟนคลับ)
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหน้ากากช่วยลบตัวตนของนักร้องไปจนเกลี้ยงและเปิดโอกาสให้ทุกคนจากทุกชนชั้นสามารถเข้ามาเป็นแฟนคลับของศิลปินที่ตนชื่นชอบในความสามารถได้อย่างเสรี แต่สุดท้ายเราจะเห็นกระบวนการส่งนักร้องกลับไปยัง “ฐานะ” ที่เขาสังกัดดังเดิมด้วยการเปิดหน้ากาก เมื่อเรารู้ว่าหน้ากากจิงโจ้คือนักร้องคนนั้น หน้ากากทุเรียนคือนักร้องคนนี้ มนต์เสน่ห์ของพวกเขาก็จะคลายและทุกคนแยกย้ายกลับสู่ความเป็นจริง
สรุปรวบรัดคือเรามองเห็นว่าคนไทยหลงรักหน้ากากในสองมิติ หนึ่งคือด้าน “ปกปิด” ที่ช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงคนหลังหน้ากากอย่างอิสระ อีกด้านคือการ “ปกป้อง” ที่ช่วยปลดปล่อยให้คนหลังหน้ากากสามารถแสดงตัวตนออกมาได้ถึงแก่น
…แม้สุดท้ายแก่นที่ว่าจะถูกสคริปต์ประดิษฐ์ขึ้นมาก็ตาม