Innovative Idea: คุณกำลังถูกเทคโนโลยีบงการอยู่หรือเปล่า?

  • 208
  •  
  •  
  •  
  •  

internet dangers

  • ถ้าเทคโนโลยีน่าเบื่ออย่างนั้นอย่างนี้ แล้วทำไมเรายังใช้งานมันอยู่ล่ะ? เป็นไปได้ไหมว่าเรากำลังติดเทคโนโลยีกันอย่างถอนตัวไม่ขึ้น
  • เทคโนโลยีคือนวัตกรรมที่ช่วยเหลือให้มนุษย์เพิ่ม/ขยายศักยภาพของตนเองออกไปได้
  • พฤติกรรมของคนทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปทีล่ะน้อยด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร
  • เทคโนโลยีได้สร้างมาตรฐานใหม่ของคำว่า “ความเร็ว” ให้กับเราและเราก็นำเอามาตรฐานนั้นค่อยๆ มาปรับใช้กับเรื่องอื่นๆ โดยไม่รู้ตัว

ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาไปไกล ปัญหาใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นมากเป็นเงาตามตัว ทั้งปัญหาเชิงเทคนิคอย่างการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตและไวไฟที่บริษัทผู้ให้บริการเชื่อมต่อออนไลน์ต่างระบุเป็นเสียงเดียวกันว่าถูกร้องเรียนจากผู้บริโภคว่าช้า ไม่เสถียร  และมีจุดเชื่อมต่อน้อยมากที่สุดเมื่อเทียบกับอดีต ซึ่งน่าสงสัยมากว่าทำไมปัญหานี้จึงไม่ลดน้อยลงสักทีแม้ว่าเราจะมีเทคโนโลยีที่ดีขึ้นทุกลมหายใจ

ทางด้านคอนเทนต์ เราพบ “วอร์” ที่มาทั้งแบบ “กิลวอร์” (เพจสู้กัน) กับ “วอร์ส่วนตัว” (คนทั่วไปสู้กัน) กระจายเต็มหน้าฟีตของเราเต็มไปหมด ข้อสังเกตอย่างหนึ่งของผมคือในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สังคมโซเชียลมีเดียของเราดูเหมือนจะมีแต่คอนเทนต์เชิงลบที่โด่งดัง อันนำไปสู่แคมเปญรณรงค์ออนไลน์ต่างๆ เพื่อประหัตประหารอีกฝ่ายให้สิ้น สำหรับผมต้องยอมรับว่าบรรยากาศในสังคมออนไลน์ของเราปัจจุบันดูโหดร้ายขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีช่วงที่เราเริ่มมาเล่นโซเชียลมีเดียใหม่ๆ

คำถามที่น่าสนใจคือถ้าเทคโนโลยีน่าเบื่ออย่างนั้นอย่างนี้ แล้วทำไมเรายังใช้งานมันอยู่ล่ะ? เป็นไปได้ไหมว่าสุดท้ายเราไม่ได้อยากใช้มัน…แต่เรากำลัง “ติด” (addict) มันอย่างถอนตัวไม่ขึ้นอยู่

กลับมาตั้งต้นตรงนี้ก่อนว่าเทคโนโลยีคือ extension of human capability หรือนวัตกรรมที่ช่วยเหลือให้มนุษย์เพิ่ม/ขยายศักยภาพของตนเองออกไปได้ ตัวอย่างเช่น Facebook เพิ่มขยายความสามารถของเราในการเข้าถึงคนจากทั่วทุกมุมโลก พูดคุยกันได้สดๆ แต่ปัจจุบันเรากลับพบว่าหลายครั้งเราปล่อยให้เทคโนโลยีเข้ามาครอบงำชีวิตจนเราเสียตัวตนไป เช่น การที่เราต้องเช็ค Facebook ทุกๆ สิบนาทีเพื่อดูว่ามีใครมาคลิกไลค์ แชร์ คอมเมนต์ โพสต์ของเราหรือยัง หรือการเล่นแชทแอพฯ ตลอดเวลาเสมือนดั่งว่าเราไม่สามารถอยู่คนเดียว อยู่กับตัวเองได้สักวินาทีเดียว

พฤติกรรมของคนทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปทีล่ะน้อยด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารและหากคุณไม่ระวังตัว เทคโนโลยีจะเริ่มสร้างพฤติกรรมและการรับรู้แบบใหม่ให้แก่คุณโดยที่คุณคิดว่า “คุณก็เป็นอย่างนี้มาตั้งแต่เกิด” อย่างการเป็นคนใจร้อน มีความสามารถในการอดทนรอที่ต่ำลง คุณอาจคิดว่านี่เป็นบุคลิกภาพที่เราเป็นมาตั้งแต่เกิด แต่อันที่จริงการใช้งานเทคโนโลยีที่รวดเร็วและไม่เคยปล่อยให้คุณต้องรอนานเกิน 20-30 วินาทีต่อคอนเทนต์กำลังบิดให้การรับรู้เกี่ยวกับ “ความเร็วช้า” ของคุณเปลี่ยนไป สังเกตว่าปัจจุบันการรออาหารตามสั่งเป็นเวลา 10 นาทีของเรากลายเป็นเรื่อง “นานมาก” และเป็นบริการที่ “แย่และน่าปรับปรุง” เพราะเทคโนโลยีได้สร้างมาตรฐานใหม่ของคำว่า “ความเร็ว” ให้กับเราและเราก็นำเอามาตรฐานนั้นค่อยๆ มาปรับใช้กับเรื่องอื่นๆ โดยไม่รู้ตัว

กระแสที่ดูเป็นรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของเราโดยเทคโนโลยีคือกระแส “รักคนหน้าตาดี” ซึ่งในความหมายผมคือการผุดขึ้นของเพจคนหน้าตาดีมากมาย ทั้งนี้ผมไม่ได้หมายความว่าสมัยก่อนเราไม่รักไม่ชอบคนหน้าตาดี แต่ระดับความนิยมคนหน้าตาดีเริ่มมารุนแรงเอามากๆ ในยุคโซเชียลมีเดียโด่งดังซึ่งเป็นยุคที่เราสามารถ “ประชาสัมพันธ์” ตัวเองออกไปได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจและไม่หวงแหนความเป็นส่วนตัวของเรา ความหน้าตาดีในที่นี้ไม่จำกัดแค่หน้าตาอย่างคำศัพท์แต่มันลามไปถึงความ “เฟอร์เฟคไปทุกสัดส่วน” ตั้งแต่ตา หู จมูก ปาก หุ่นล่ำ มีกล้ามแขนกล้ามอก มีวีเชฟ เอวเอส ผิวสีขาวผ่องใสดูมีสุขภาพออร่า (ซึ่งถ้ามองในแง่การตลาด เมื่อทุกคนมีอำนาจในการโปรโมทตัวเองต่อสาธารณะ “การแข่งขัน” เพื่อขึ้นมาเป็นที่สุดของความ “หน้าตาดี” จึงเข้มข้นเป็นเรดโอเชี่ยนสุดๆ)

ความคิดเรื่อง “หน้าตาดี” มีชัยไปกว่าครึ่งไม่ได้หยุดอยู่เพียงโลกออนไลน์แต่มันกำลังขึ้นครอบงำความคิดของเราในโลกจริงอีกด้วย เช่น การกำหนดพฤติกรรมของเราให้รักสวยรักงามมากกว่ามากซึ่งทำให้ธุรกิจคลินิกความงาม ธุรกิจศัลยกรรม ธุรกิจฟิตเนสเพาะกล้าม ธุรกิจลดความอ้วน ธุรกิจสร้างเสน่ห์ ฯลฯ เจริญรุ่งเรืองมากที่สุดในพ.ศ. นี้ และที่น่าสนใจกว่านั้นคือเป็นไปได้หรือไม่ว่าวงจรชีวิตของเราทุกวันนี้ถูกกำหนดให้ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อมุ่งสู่ความเป็นคน “เฟอร์เฟค” เช่น กินอาหารคลีนตอนเช้า เข้าฟิตเนสตอนสาย ฝ่ารถติดเพื่อไปเข้าคลาสโยคะ เสียสละวันหยุดเสาร์อาทิตย์มาคอร์สผลัดเซลล์ผิว

ท้ายสุด เราไม่ได้กำลังมารณรงค์ให้คุณลด ละ เลิก เล่นสื่อดิจิตอลให้หมด หรือมาประนามสื่อดิจิตอลว่ามันกำลังทำให้คุณเสียคน เสียความเป็นตัวของตัวเอง บลาบลา (อย่างที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองชอบพูดกัน) แต่เราเชื่อว่าการชี้ให้เห็นอำนาจของเทคโนโลยีที่มีเหนือร่างกายและจิตใจของคุณจะทำให้คุณระแวดระวังไม่ตกเป็นเครื่องมือของเทคโนโลยี สำหรับตัวผมเอง ผมใช้เทคนิค “พัก 1 เล่น 3” คือในหนึ่งเดือน ผมจะเล่นสื่อสังคมออนไลน์และอินเตอร์เน็ต 3 สัปดาห์และจะมี 1 สัปดาห์ที่ผม “ปิดตัวเอง” จากโลกออนไลน์ ไม่สนใจอ่าน ไม่เปิดดู ไม่อัพสเตตัสทุกอย่าง และกลับมาอยู่กับตัวเอง คุยกับคนแบบเห็นหน้าเห็นตา ถือเป็นช่วงพักให้เรากลับไปเป็นมนุษย์โลว์เทคที่แท้จริงช่วงหนึ่ง

…ลองดูสิ ส่วนตัวผมว่ามันได้ผลนะ

 

 

 

 


  • 208
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง