Innovative Idea: โซเชียลมีเดียกับการเปลี่ยนผ่านความหมายของ ‘ความหดหู่’

  • 458
  •  
  •  
  •  
  •  

depressive-disorder

เชื่อหรือไม่ว่าเมื่อเทคโนโลยีอย่างหนึ่งอย่างใดถูกประดิษฐ์ขึ้นบนโลก ชีวิตของผู้คนที่ใช้เทคโนโลยีเหล่านั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วจนแทบตั้งตัวไม่ติด อย่างการเข้ามาของโซเชียลมีเดียที่เราใช้งานอยู๋ทุกวันก็เช่นกัน มันไม่เพียงเปลี่ยนพฤติกรรมของเราอย่างตรงไปตรงมา เช่น การใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น การเก็บข้อมูลทุกอย่างไว้บนเพจหรือในมือถือ การถ่ายรูปกันบ่อยขึ้น แต่มันยังเปลี่ยนตัวตนของเราลึกไปในระดับจิตสำนึก อุดมการณ์และการให้ความหมายสิ่งต่างๆ รอบตัวเราเสียใหม่

ความหดหู่ ความเศร้า ความเหงา ความเจ็บปวดเองก็เป็นหนึ่งในหลายสิ่งที่ถูกโซเชียลมีเดียให้ความหมายใหม่และกำลังกลายเป็นปัญหาให้ผู้ทำงานด้านสังคมศาสตร์ขบคิดกันทั่วโลก

การแสดงออกถึงความหดหู่ที่เปลี่ยนไป

ในอดีต เราจะสังเกตเห็นว่าความเจ็บป่วยภายใน ความหดหู่ หรืออาการป่วยที่ไม่ได้แสดงออกชัดเจนผ่านร่างกายนั้นเป็นสิ่งที่คนในยุคอดีตพยายามซ่อนเก็บและปิดปังมันเอาไว้ เพราะไม่เพียงแต่พวกเขาจะไม่มีคำอธิบายให้แก่โรคหรืออาการที่ตนเองเป็นอยู่ ทั้งไม่สามารถบรรยายออกมาเป็นคำพูดให้ทุกคนเข้าใจได้ พวกเขายังรู้ว่าอาการเหล่านี้จะทำให้ตัวเอง “แปลกแยก” ออกจากสังคมที่ (คิดเอาเอง) ว่าทุกคนมีความ “ปกติ” หากแสดงอะไรแตกต่างออกไปรังแต่จะมีสิทธิถูกอัปเปหิออกจากสังคมได้โดยง่าย

ดูตัวอย่างง่ายๆ สมัยเราทำงานใหม่ๆ พนักงานหลายคนก็มีปัญหาเรื่องความเครียดจนทำให้ประสิทธิภาพการทำงานน้อยลง หลายคนเครียดบ่อยครั้งก็เริ่มเรื้อรังจนดูเหมือนพวกเขาจะหดหู่อยู่ตลอดเวลาและขยับเข้าใกล้ความเป็น “โรค” ขึ้นทุกขณะ แต่ที่น่าสนใจคือเวลาเราถามคนกลุ่มนี้พวกเขากลับไม่เคยอธิบายว่าตนเองป่วยเป็น “โรค” แบบหนึ่ง พวกเขาเลือกอธิบายว่ามันคืออาการเครียด ซึ่งน่าจะเกิดสักพักและหายไปเองเมื่อปัญหาผ่านพ้นไป แต่ลับหลังหลายคนก็แอบเข้าโรงพยาบาลปรึกษากับนักจิตวิทยาและรับยามาทานกันไม่น้อย

แต่ในโลกปัจจุบันเราเข้าใจว่าสถานการณ์แบบนี้เริ่มกลับตาลปัตร เมื่อผู้คนเลิกคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องต้องปกปิดและไม่กล้าเข้าไปหาความรู้ กลับกลายเป็นทุกคนให้ความสนใจ กล้าบอกอาการเหล่านี้ให้คนรอบข้างรับรู้ ที่สำคัญพวกเขากล้านิยามว่ากำลัง “ป่วยเป็นโรค” ด้านนี้และไม่กลัวที่จะเปิดเผยมันลงในโลกโซเชียลมีเดียเสียด้วย

ด้านสว่างและอนาคตทางการรักษา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้านหนึ่งโซเชียลมีเดียช่วยเปิดพื้นที่ให้คนเป็นโรคหดหู่กล้าประกาศตัวอย่างชัดเจนและทำให้คนรอบข้างเข้าใจว่าควรปฏิบัติตัวกับพวกเขาอย่างไร

ครั้งหนึ่งผมเองก็มีประสบการณ์ตรงในการเข้าโรงพยาบาลเพื่อปรึกษาเรื่อง “เครียด” เช่นกัน ความกล้าที่จะลุกขึ้นไปพบนักจิตวิทยาเกิดจากการเห็นตัวอย่างจากเมืองนอกที่เขามีศูนย์รักษาเรื่องเหล่านี้ถึงในมหาวิทยาลัย หลังจากพูดคุย รักษา และดราม่ากันเรียบร้อย ผมชวนนักจิตวิทยาคุยไปถึงการทำงานของท่านในประเทศไทยได้คำตอบว่าปัจจุบันงานของนักจิตวิทยาเริ่มง่ายขึ้นมากเพราะคนไข้ส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ดีกับการรักษา กล้าพูด กล้าเดินเข้ามาขอคำปรึกษา ขณะที่เมื่อก่อนนี้หลายคนมักไม่กล้ามาเพราะคิดว่าคนที่มาคือ “คนบ้า” ทำให้พวกเขาเก็บตัวและอาการรุนแรง กว่าจะมาถึงมือท่านก็สายไปเสียแล้ว

นักจิตวิทยายังพูดไปถึงคนรอบข้างคนไข้ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น และไม่ทำพฤติกรรมที่จะทำให้คนไข้อาการหนักกว่าเดิม ขณะที่ทางด้านโลกออนไลน์ แอดมินของหลายเพจต่างก็ต่างพยายามรณรงค์ให้โรคเหล่านี้กลายเป็นที่รู้จักและให้ความรู้เบื้องต้นแก่สังคม เป็นเรื่องน่าชื่นชมมาก

ด้านมืดและการโต้เถียง

ด้านโลกตะวันตกซึ่งตื่นตัวกับปรากฏการณ์ “ความหดหู่” มานานกำลังเริ่มศึกษาในด้านกลับว่าหรือโซเชียลมีเดียกำลังทำให้อารมณ์เหล่านี้กลายเป็น “เทรนด์” ขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว มีความเห็นทำนองว่าโลกโซเชียลมีเดียกำลังพยายามแปลงความหดหู่ “ให้เป็นเรื่องโรแมนติก” (romanticise) มากกว่าจะเป็นโรคที่ต้องรักษาอย่างจริงจังหรือไม่

นักวิจารณ์หลายคนอธิบายว่าความเหงาและความหดหู่เป็นอาการปกติที่มนุษย์ต้องพบเจอในชีวิตประจำวันไม่มากก็น้อย แต่เมื่อเรามีโซเชียลมีเดียและได้รับภาพ เสียง วีดีโอ ที่ตอกย้ำความเศร้า หดหู่ เหงา โดยเฉพาะคอนเทนต์เหล่านั้นมีลักษณะ “โรแมนติก” เหมือนภาพยนตร์เหงาๆ สไตล์หว่องกาไว เหมือนภาพถ่ายพร้อมโค้ดโรแมนติกสวยๆ ท้ายสุดเราจึงค่อยๆ รับเอาสิ่งเหล่านั้นมาประกอบสร้างเป็นตัวตนใหม่ของเรา ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดคำถามว่าหรือความหดหู่จะถูกทำให้กลายสภาพเป็นสิ่งที่ดูน่าค้นหา น่าซาบซึ้งมากกว่าการอธิบายมันแบบโรคชนิดหนึ่งอย่างที่มันควรจะเป็นและควรได้รับการรักษา

สรุปแล้ว ด้านหนึ่งโซเชียลมีเดียเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาการและโรคเหล่านี้ให้แก่สังคมได้อย่างมากแต่ในอีกด้านหนึ่งหลายคอนเทนต์ก็ทำหน้าที่เป็นเหมือน “อาหาร” ที่ทำให้ความรู้สึก เหงา เศร้า ซึมของเราเติบโตขึ้นกว่าเดิม ซึ่งก็แล้วแต่เราซึ่งเป็นผู้อ่านว่าจะใช้โซเชียลมีเดียไปในทางไหน 


  • 458
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง