Innovative Idea: สิ่งที่ควรคิดเมื่อชีวิตก้าวมาถึงเลข 3

  • 71
  •  
  •  
  •  
  •  

Mid-Life-Crisis-Turning-30

ช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาผมสังเกตเห็นเพื่อนๆ หลายคนที่เริ่มก้าวเข้าสู่วัยเลข 3 ทะยอยโพสต์สเตตัสฉลองชีวิตตัวเองเป็นระลอก มีเรื่องราวขำขัน เรื่องราวจริงจัง เรื่องราวสับสน บนฉากชีวิตที่แตกต่างกัน เช่น การแต่งงาน การหย่าร้าง การทะเลาะเบาะแว้ง การกลับเข้าเรียนต่อ หรือการย้ายหนีความวุ่นวายไปอยู่ต่างจังหวัด แต่จุดร่วมหนึ่งที่ทุกคนมีเหมือนกันคือเราตระหนักว่าตัวเองได้ท่องทะเลชีวิตถึง 30 ปีแล้ว … เลข 30 ที่เมื่อก่อนเคยคิดว่ามันช่างห่างไกลเหมือนตั้งอยู่บนเส้นสุดขอบฟ้า แต่สุดท้ายเมื่อล่องเรือมาถึงเรากลับพบว่าเพียงความเวิ้งว้าง ความว่างเปล่า และทะเลที่ไกลสุดลูกหูลูกตาเช่นเดิม

…ทำให้เกิดคำถามว่าเรือลำน้อยของเรานี้จะเดินหน้าไปทางไหนต่อ

การวิจัยพัฒนาการของผู้ใหญ่ระบุชัดเจนว่าไม่ว่าเราจะอยู่ในช่วงวัยใด สารานุกรมชีวิตเราไม่มีคำว่า “มั่นคงและราบเรียบ” ปรากฏอยู่อย่างแท้จริงหรอก ใช่…เราอาจมีเวลาปีสองปีที่สามารถสงบจิตใจ เชื่อว่าชีวิตมีความมั่นคง ทุกอย่างดูเข้าที่ลงตัว แต่แล้วอีกสองสามปีเราก็จะพบว่าชีวิตเรากลับมายุ่งเหยิงจนไม่สามารถควบคุมอะไรได้อีกครั้ง แต่สำหรับวัย 30 ตอนต้นแล้วน่าจะมีเหตุการณ์ต่างๆ ที่พวกเราเจอเหมือนๆ กัน

ความลงตัวบางอย่าง ไม่ว่าจะมากน้อยแค่ไหนแต่วัย 30 เป็นช่วงเวลาที่คุณทำงานมาพักใหญ่ๆ แล้ว ได้ลองผิดลองถูก รู้ว่าอะไรชอบอะไรไม่ชอบแล้ว ที่ผ่านมาหากคุณไม่ตัดสินใจเรียนต่อ คุณก็มักจะย้ายงานและมองหาความท้าทายใหม่ๆ เรื่องความรักคุณก็อาจจะกำลังมีคนที่ดูๆ กันอยู่หรือแม้แต่แต่งงานเลย ดังนั้นในมิติสามด้าน ความรัก หน้าที่การงาน และเงิน ต้องมีสักอย่างที่ลงตัวแล้วในชีวิตคุณซึ่งนี่ถือเป็นข่าวดีสำหรับคุณเลยก็ว่าได้

การหวนกลับมองอดีต ด้วยความที่คุณทำงานมาได้พักใหญ่ๆ แล้ว คุณพบความสำเร็จ ได้รับการชื่นชม และได้โปรโมตตำแหน่ง แต่คำถามต่อมาที่ผุดขึ้นในหัวของคุณคือ “แล้วไงต่อ” ก็เหมือนกับการปีนเขานั้นแหละ วัย 20 กว่าๆ เป็นวัยที่คุณพยายามปีนป่ายเขาโดยไม่เคยหันดูเบื้องล่างแต่เมื่อคุณขึ้นมาถึงยอดเขาและมองไปรอบๆ คุณก็พบว่าไม่มีความน่าตื่นเต้นอะไรให้ค้นหาอีกแล้ว ทางเลือกของคุณมีสองทาง หนึ่ง นั่งอยู่บนยอดเขานั้นต่อไปและพยายามทำจิตใจให้มีความสุขกับความมั่นคงของชีวิต หรือสอง ทำตามหัวใจเรียกร้อง ยอมโจนลงจากหุบเขาเพื่อเริ่มนับหนึ่งกับการปีนเขาลูกใหม่ที่ท้าทายตัวคุณ แม้จะเจ็บปวดแต่มันก็น่าสนุกและท้าทายตัวคุณมากขึ้น

เรื่องครอบครัว น่าสนใจว่าคนรู้จักของผมหลายคนมักหันกลับไปทบทวนความสัมพันธ์กับพ่อแม่เสียใหม่ในวัย 30 ปี บางคนพยายามหันกลับมาให้เวลากับครอบครัวมากยิ่งขึ้น ส่งเงินกลับบ้านหรือไปเยี่ยมพ่อแม่บ่อยขึ้น ชดเชยกับที่แต่ก่อนเคยทุ่มเทให้กับงานมากเกินไป ในทางกลับกัน บางคนตัดขาดกับครอบครัวเนื่องจากความสัมพันธ์ที่ไม่ดีในวัยเด็กอันเกิดจากสาเหตุต่างๆ …เมื่อถึงวัย 30 นี่เป็นช่วงเวลาที่คุณย้อนกลับไปมองครอบครัวตัวเองด้วยสายตาแบบผู้ใหญ่และ “ตัดสิน” การกระทำของพ่อแม่ตัวเองในอดีตอย่างมีเหตุผล ประกอบกันวัยนี้เป็นวัยที่คุณไม่ต้องพึ่งพาพ่อแม่ทางการเงินอย่างสิ้นเชิง และเมื่อคุณชั่งน้ำหนักดีแล้วคุณจึงสามารถตัดสินใจว่าจะกระชับความสัมพันธ์กับพ่อแม่ให้ดีขึ้นหรือปล่อยให้ห่างไกลกันเหมือนเดิม

ถึงเวลาที่คุณควรตั้งเป้าหมายใหม่ ที่ผ่านมาเป้าหมายของคุณอาจเป็นความก้าวหน้าทางการงาน การเลื่อนตำแหน่ง การได้เงินเดือนเพิ่ม แต่เมื่อคุณบรรลุถึงยอดเขาแล้วคุณก็เริ่มกลับมาทบทวนเป้าหมายเก่าของคุณรวมถึงจัดอันดับความสำคัญของชีวิตคุณ หากคุณแต่งงานมีครอบครัวแล้วเรื่องที่บ้านจะกลายเป็นอันดับหนึ่ง หากคุณเริ่มเบื่อชีวิตตัวเองก็อาจเริ่มทำกิจกรรมใหม่ อย่างการแข่งวิ่งมาราธอนเป็นงานอดิเรก เล่นกีฬาใหม่ๆ หรือหากอาจเริ่มเรียนภาษาใหม่ๆ เหตุผลที่คุณเริ่มโหยหาอะไร “ใหม่ๆ” นั้นก็เป็นเพราะการงานของคุณเริ่มลงหลักปักฐานและไม่ใช่เป้าหมายหลักในชีวิตคุณอีกต่อไปแล้ว

บางคนกล่าวว่าวัย 30 คือวัยที่ชีวิตจะเริ่มต้นอย่างแท้จริงเพราะคุณได้ผ่านการลองผิดลองถูกและเริ่มมีแนวทางในการดำเนินชีวิตระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้นตอนนี้คุณสามารถเหยียบคันเร่งชีวิตเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จตามความต้องการของตัวเองได้เสียที


  • 71
  •  
  •  
  •  
  •  
อุ้งทีนหมี
เตาะแตะในโรงเรียนชายล้วนแถวยศเส ก่อนเติบโตต่อในมหาวิทยาลัยริมฝั่งน้ำเจ้าพระยา ที่สุดจับพลัดจับผลูเข้าทำงานในนแวดวงสื่อสารมวลชนมาแล้วกว่า 4 ปี โต้ลมโต้ฝนทั้งในวงการข่าวต่างประเทศ เยาวชน ธุรกิจ การเมือง สังคม ฯลฯ แต่สุดท้ายกลับลำมาหลงรักวงการมาร์เก็ตติ้งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปขี่จิงโจ้เรียนปริญญาโทมา เลยตัดสินใจหันหางเสือออกสู่การผจญภัยครั้งใหม่อีกสักตั้ง