นับตั้งแต่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน และยังระบาดไปทั่วโลก กินเวลามาเกือบ 4 เดือนแล้ว นอกจากจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในหลายๆ อุตสาหกรรมแล้ว ตอนนี้ผลกระทบยังตรงดิ่งไปที่เหล่า influencers ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศด้วย
ดังนั้น ในวันนี้ Merketing Oops! อยากจะมาแชร์มุมมองจากเหล่า influencers ว่าพวกเขามองหรือประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับ Coronavirus กันอย่างไร และที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้ได้รับผลกระทบด้านใดบ้าง และที่สำคัญมีวิธีการรับมือในสไตล์ของแต่ละคนอย่างไร เผื่อว่าธุรกิจอื่นๆ อยากจะลองนำไอเดีย หรือ มุมมองเหล่านี้ไปปรับใช้กับธุรกิจของคุณดูบ้าง
กอล์ฟมาเยือน
เรียกว่าเป็นอีกหนึ่ง influencer ระดับแถวหน้าในไทย ‘กันตพัฒน์ พฤฒิธรรมกูล’ เจ้าของเพจ Facebook ‘กอล์ฟมาเยือน’ ที่ปัจจุบันมียอดผู้ติดตามแล้ว 1.2 ล้านคน ด้วย contents ที่มีทั้งการให้ความรู้เรื่องการถ่ายภาพ มุมและแสงต่างๆ จนไปถึง contents เชิงหาแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพระหว่างทริปเดินทางไปยังที่ต่างๆ รอบโลก
คุณกอล์ฟ เล่าให้เราฟังว่า “ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ทำ contents ที่ต้องมีการออกไปข้างนอก และเดินทางอยู่ตลอดเวลา ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ฉะนั้นการระบาดของไวรัสแน่นอนว่าส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายการ ที่เห็นชัดๆ เลยตอนนี้ ก็คือ ลูกค้าส่วนใหญ่เลื่อนงานออกไป โดยเฉพาะงานที่ต้องไปถ่ายทำที่ต่างประเทศ ซึ่งที่จริงมี 2 ทริปที่ต้องไป ก็คือ อเมริกาใต้ กับ รัสเซีย ส่วนงานที่ถูก cancel ก็มีอยู่บ้าง เพราะลูกค้าต้องการประเมินสถานการณ์การระบาดก่อนให้แน่ใจก่อน”
“สำหรับผลกระทบเรื่องรายได้ ถ้าพูดเป็นตัวเลขกลมๆ ผมคิดว่าน่าจะสูงอยู่เหมือนกันประมาณ 50-80% ได้ตั้งแต่ที่มีการระบาด”
สำหรับการรับมือกับสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าประเมินสถานการณ์ค่อนข้างยาก เราไม่รู้เลยว่าการระบาดนี้จะจบเมื่อไหร่ อีกนานมั้ย และจะรุนแรงมากขึ้นกว่านี้มั้ย หรืออาจจะดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้ ดังนั้น
“สิ่งที่ผมทำตอนนี้ก็คือ เน้นไปที่ contents ที่ถ่ายทำจากที่บ้านมากขึ้น ซึ่งยังคงคอนเซ็ปต์เดิมเกี่ยวกับเทคนิคการถ่ายภาพ แต่อาจจะมีการผลิต content ที่เกี่ยวโยงกับโคโรนาบ้าง กำลังคิดๆ ดูครับว่าอาจจะเป็นการนั่งพูดคุยกันกับแฟนรายการก็ได้”
ทั้งนี้ สิ่งที่คุณกอล์ฟ ได้ย้ำทิ้งท้ายเอาไว้ ก็คือ พยายามใช้เวลาจากตรงนี้ช่วงที่เราต้องกักตัวเองอยู่ที่บ้าน ทบทวนเนื้อหาวิดีโอของเราที่ผ่านมา ว่าควรพัฒนาตรงไหนเพิ่ม หรือปรับปรุงตรงไหนบ้าง รวมไปถึงใช้เวลาในการดูแลตัวเองมากขึ้นในระหว่างนี้
เฟื่องลดา
Influencer สาวสวย ซึ่งหลายคนรู้จักเธอในชื่อว่า ‘นางฟ้าไอที’ (สรานี สงวนเรือง) หรือ ‘เฟื่องลดา’ เจ้าของ YouTube channel ที่ชื่อว่า LDA World ซึ่งมีผู้ติดตาม 726,000 คน และเป็นเจ้าของ page Facebook ‘LDA ลดา – Ladies of Digital Age’ ที่มีผู้ติดตามถึง 941,000 คนในปัจจุบัน
คุณเฟื่องลดา เล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมาคอนเทนต์ส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับ IT ไม่ว่าจะเป็นการรีวิว หรือให้ความรู้เปรียบเทียบต่างๆ เราเน้นสถานที่แบบ indoor อยู่แล้ว ซึ่งหากแบ่งเป็นสัดส่วนของรายได้บริษัท 80% มาจาก content และเป็น event 20% ดังนั้นสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสตอนนี้ บริษัทของเฟื่องลดาได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ถือว่ารุนแรงมาก
“สิ่งที่เราได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ส่วนใหญ่มาจากงานอีเวนต์เกือบทั้งหมด ซึ่งลูกค้าขอเลื่อนแบบไม่มีกำหนด หรือบางรายเลื่อนไปจนถึงเดือน มิ.ย. ซึ่งคิดว่าถึงเวลานั้นเราคงต้องมาประเมินสถานการณ์กันอีกที” โดยคุณเฟื่องลดา ยังย้ำด้วยว่า หากจะให้สรุปภาพรวมของผลกระทบบริษัทตอนนี้จากการแพร่ระบาด maximum เลยก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 30%
สำหรับการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ที่เริ่มทำกันมาแล้ว ก็อย่างเช่น เริ่มให้พนักงานในบริษัท work from home ไปแล้วตั้งแต่ 2 สัปดาห์ก่อน, มีทีมบางส่วนต้องทำงานจาก home office เก่าในบางวัน ส่วน contents นั้นเรายังคง DNA เดิมก็คือ การให้ความรู้เกี่ยวกับไอที แต่อาจจะมีเพิ่มบางเนื้อหาบ้างให้ relate กับ Coronavirus มากขึ้น เช่น เปรียบเทียบแอพพลิเคชั่น WFH ที่เอื้อกับเราช่วงนี้ หรือจะเป็นเปรียบเทียบ delivery brands ที่มาแรง เป็นต้น
ส่วนการบริหารจัดการเงินสำหรับเฟื่องลดาในช่วงนี้ หลักๆ เลยก็คือ การจัดสรรเงินสดสำรองไว้ส่วนหนึ่ง เชื่อว่าเป็นจำนวนที่ไม่ขาดถ้าเข้าสู่สถานการณ์ worse case จริงๆ ซึ่ง budget ที่กันเอาไว้ก็เพื่อสำรองจ่ายทั้งหมด ตั้งแต่เงินเดือนพนักงาน จนถึงค่าโลจิสติกส์ต่างๆ ที่เราต้องใช้เพื่อ support รายการ
ทั้งนี้ คุณเฟื่องลดา ยังเปรยๆ อีกว่า ส่วนตัวแล้วคาดว่า COVID-19 อาจจะกระทบยาวทั้งปีก็ได้ ขณะที่ตอนนี้ส่วนตัวเองก็พยายามศึกษา และหาจังหวะต่อยอดเงินทุนอยู่ อย่างหุ้นก็น่าสนใจ เช่น หุ้นบลูชิพ ที่มองระยะยาวแล้วดูมั่นคง และบริษัทมีวิธีรับมือกับปัญหาชัดเจน
บี้ เดอะสกา (Bie The Ska)
อีกหนึ่ง influencer แถวหน้าของไทยที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี ‘บี้ เดอะสกา’ หรือ คุณกฤษณ์ บุญญะรัง ผู้ก่อตั้งบริษัท เดอะสกาฟิล์ม จำกัด เจ้าของ YouTube channel ‘Bie The Ska’ ซึ่งจำนวน subscribers สูงถึง 10.9 ล้านคน ขณะที่แฟนเพ็จ Facebook ก็มีผู้ติดตามถึง 3.1 ล้านคน
คุณบี้ เปิดใจกับเราเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาด COVID-19 ในเวลานี้ โดยเล่าว่าสำหรับผลกระทบของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนรายการ หรือการยกเลิกงานของลูกค้า ก็พอมีอยู่บ้าง แต่ถ้าเทียบกับสัดส่วนของ sponsors หลายๆ แบรนด์ที่เข้ามาให้โอกาสในช่วงนี้ รวมๆ แล้วก็พอจะชดเชยรายได้ที่ได้รับผลกระทบได้เหมือนกัน
“สำหรับ sponsors นั้นก็มีเข้ามาเรื่อยๆ ช่วงนี้ ขณะที่บริษัทเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จัดสรร budget สำรองก้อนใหญ่ในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งก็สำรองไว้สำหรับค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในบริษัท” โดยคุณบี้ ได้ย้ำอีกว่า “การจัดสรรเงินสำรองก็ขึ้นอยู่กับรายบริษัท/บุคคลว่าจะบริหารกันอย่างไร แต่ก็ควรจะแบ่งส่วนค่อนข้างมาก ราวๆ 50-70% ได้ สำหรับผมเองจัดสรรไว้ค่อนข้างเยอะครับ”
คุณบี้เล่าว่า สำหรับการปรับตัวของบริษัทเรื่อง contents ในช่วงนี้ อันที่จริงแล้วเราก็เน้นมาที่การถ่ายทำจากที่บ้าน ซึ่ง contents เรามีความหลากหลายอยู่แล้ว มีทั้งนั่งคุยกัน, ตบมุกกันไปมา, ทำอาหาร หรือทำพวก short video ก็น่าสนใจดี เราก็พยายามหา contents ที่มันเกี่ยวโยงกับสถานการณ์บ้างเหมือนกัน
นอกจากนี้ คุณบี้ ยังทิ้งท้ายมุมมองน่าสนใจอีกว่า อยากให้คิดบวกกับสถานการณ์แบบนี้มากกว่า และที่สำคัญต้องรักษาขวัญกำลังใจพนักงานด้วยครับ…ระหว่างการทำงาน เราก็มีการพูดคุยและประเมินสถานการณ์กันเป็นรายวันอยู่แล้ว ยืนยันว่าทางบริษัทเราจะไม่มีการลดเงินเดือนใดๆ ด้วย
“สิ่งที่ผมอยากจะย้ำ ผมอยากให้กำลังใจกับ influencers ทุกคน และอยากให้ระวังเรื่อง fake news ยิ่งเราเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อคนจำนวนมาก การแชร์, เสนออะไรก็ตามมันสำคัญ ที่สำคัญเราควรใช้เวลาจากตรงนี้ไปกับคนที่เรารัก ครอบครัว แฟน และคิดสร้างสรรค์ผลงานให้มี productive มากขึ้น เตรียมพร้อมสำหรับ ‘วันใหม่’”
Tellscore
Tellscore (เทลสกอร์) หนึ่งในเครื่องมือดิจิทัลเป็น platform micro Influencer ของไทยที่หลายคนรู้จักกันอย่างดี โดยคุณปู หรือ สุวิตา จรัญวงศ์ MD ของ Tellscore เล่าให้เราฟังว่า ในเวลาแบบนี้เราทุกคนต่างก็ได้รับผลกระทบด้วยกันหมด บริษัทเองก็เช่นกัน โดยสัดส่วนรายได้ของบริษัท 80% มาจากลูกค้าในแพลตฟอร์ม Tellscore และอีก 20% เป็นการทำ CSR แต่โชคยังดีที่บริษัทยังพอมีรายได้อยู่บ้างจากลูกค้าบางกลุ่มที่จำเป็นต้องใช้สื่อมากขึ้นในช่วงวิกฤตนี้ ดังนั้น ภาพรวมของรายได้ยังพอจะทดแทนกันได้บ้าง
คุณปู เปิดเผยว่า ลูกค้าส่วนใหญ่ที่ยังต้องใช้สื่อในการสื่อสารกับผู้บริโภคในช่วงการระบาด Covid-19 อย่างเช่น ธุรกิจ delivery, SMEs บางรายที่หันมาขายอาหารในช่องทางออนไลน์มากขึ้น, แบรนด์ e-commerce ต่างๆ, ธุรกิจ e-learning, บริษัทประกัน, package อินเทอร์เน็ต, แอพพลิเคชั่นที่มีประโยชน์ในช่วง WFH และ ธุรกิจ streaming ต่างๆ เพื่อกระตุ้นการรับรู้ของผู้บริโภค และสร้างโอกาสในช่วงที่ทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้าน
ขณะเดียวกัน ยังพูดให้ฟังว่า แม้วิกฤตการระบาดจะรุนแรงขึ้น แต่อย่างน้อยๆ เราก็ได้เห็นความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะตอนนี้มี influencers นับ 1,000 คนร่วมมือกับแพลตฟอร์มของเราในการเป็นกระบอกเสียง เพื่อกระจายข้อมูลจากภาครัฐให้เข้าถึงประชาชนมากที่สุด เราจะเป็นสื่อกลางในการช่วยบอกต่อ ขยายความเป็นวงกว้างขึ้น และ อัพเดทสถานการณ์ให้เข้าใจตรงกัน
ส่วนความช่วยเหลือจาก Tellscore ในช่วงนี้ คุณปู บอกว่าบริษัทได้เลื่อน ‘มีเดีย’ ออกไปก่อน โดยขยายเวลาให้อีก 3 เดือน จากปกติหากลูกค้าใช้บริการแพลตฟอร์มของเราจะต้องมีผลโดยทันที* ขณะที่ทางบริษัทเอง พยายามตั้งรับด้วยวิธีอื่นๆ เช่น เพิ่มสัดส่วนการทำ CRS จาก 20% ตอนนี้เป็น 35% แล้วและคาดว่าในเดือนหน้าน่าจะเพิ่มมากขึ้นอีก, การชักชวนลูกค้ากลุ่มใหม่ ซึ่งที่มองๆ ไว้ตอนนี้จะเป็น cluster ใหม่เลยที่ยังไม่เคยใช้บริการเรามาก่อน
อย่างเช่น กลุ่มคนที่ยังไม่รู้ potential ตัวเอง หรือพยายามเปลี่ยนการทำงานใหม่ในช่วง COVID-19 เช่น Taxi ที่หันไปส่ง delivery อาหาร/สิ่งของมากขึ้น, บริษัทที่แตกไลน์ทำธุรกิจใหม่(ชั่วคราว) อย่าง Naraya ที่หันไปผลิตหน้ากากอนามัยขายช่วงนี้ หรือ Wacoal ที่หาไปผลิตหน้ากากขายด้วยเช่นกัน เป็นต้น
รวมไปถึง Tellscore เองได้ร่วมวางแผน(ล่วงหน้า) ระยะ 6 เดือนกับลูกค้า ส่วนใหญ่ที่กำลังให้ความสนใจมาจาก ‘กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว’ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาด โดยเราจะเน้นไปที่โปรโมชั่นแบบ ‘always on’ ที่เน้นข่าวดีหลังสถานการณ์คลี่คลายส่งต่อไปยังผู้บริโภคเป็นคนแรกๆ ไม่ใช่เน้นการตลาดแบบ ‘at top’ เหมือนเมื่อก่อนที่ปล่อยโปรโมชั่นแรงๆ ช่วง 2-3 วัน หรือรายสัปดาห์ก่อนวันเดินทาง เป็นต้น
Travel influencers ต่างประเทศกระทบหนัก
ทีนี้เราลองมาดูฝั่ง influencers ในต่างประเทศบ้าง อย่าง ‘Amy Seder’ บล็อกเกอร์นักเดินทางชื่อดังเจ้าของบล็อก Away Lands ที่มีผู้ติดตามใน Instragram 231K เธอบอกว่า ผลกระทบด้านการท่องเที่ยวจากการแพร่ระบาดของ Coronavirus นั่นรุนแรงมากๆ ทริปการเดินทางของเธอถูกยกเลิกทั้งหมด แต่สำหรับรายได้จากการรีวิวสินค้า หรือโปรโมตแคมเปญต่างๆ ยังพอมีอยู่บ้าง แต่รายได้ส่วนใหญ่ของเธอถึง 80% มาจากทริปการท่องเที่ยวที่ถูกยกเลิกไปแล้ว
นอกจากนี้ ยังมี Rob Taylor ที่เป็น influencer ด้านการท่องเที่ยวอีกหนึ่งคนที่กระทบอย่างหนักจากพิษ COVID-19 เราอาจจะเคยเห็นชื่อบล็อก ‘2 Travel Dads’ ใน Instragram อยู่บ้าง ซึ่งตอนนี้มีผู้ติดตามราวๆ 28.4K แล้ว ซึ่งเปิดใจถึงผลกระทบว่า ไวรัสโคโรนาทำให้งานของเขาถูกยกเลิกทั้งหมด ซึ่ง contents ที่เกี่ยวกับการเดินทางเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% ของรายได้ที่เข้ามา (รวมทั้งรายได้จากโฆษณาของบล็อกด้วย)
ทั้งนี้ Rob Taylor กล่าวว่า ขณะนี้พยายามคิด contents ที่ยังเกี่ยวกับการท่องเที่ยว แต่สามารถทำได้จากที่บ้าน อาจจะเป็นการ live streaming คุยกับแฟนคลับของเรา หรือจะเป็นการเปิดช่องทางรายได้รับโปรโมตโฆษณา/สินค้า ที่เราไม่เคยทำมาก่อนก็ได้ หรือไม่แน่เราอาจจะหันมาทำ contents ด้านการศึกษาชั่วคราวในระหว่างนี้ก็ได้ น่าจะเกิดประโยชน์ในช่วงที่ทุกคนกักตัว
สำหรับ influencer ด้านการท่องเที่ยวอีกหนึ่งคนที่น่าสนใจ ก็คือ ‘Victoria Yore’ ซึ่งเป็นเจ้าของบล็อก ‘Follow Me Away’ มีคนติดตามใน Instragram 127K ในขณะนี้ เปิดเผยว่า รายได้สูญเสียไปแล้วกว่า 90% ตั้งแต่ที่โคโรนาไวรัสระบาดอย่างหนัก ทริปการโปรโมตทั้งทางอากาศ, เรือสำราญ รวมไปถึงโรงแรมที่พักต่างๆ ถูกยกเลิกไปทั้งหมด
โดยเธอกล่าวว่า “ตอนนี้คงไม่มีใครกล้าใครเงิน ไม่มีใครกล้าที่จะซื้อโฆษณา ดังนั้นรายได้หลักของเราจึงกระทบเกือบทั้งหมด ทั้งนี้ Yore เล่าว่ารายได้ที่เข้ามาในช่วงนี้มาจากการที่เราปรับ contents พูดเรื่องทั่วๆไป เช่น ชีวิตประจำวัน, การเตรียมตัว-กล้องสำหรับการเที่ยวในสไตล์ต่างๆ ซึ่งก็ได้รับกระแสตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ”
เราจะเห็นว่าไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมหลักๆ ที่ได้รับผลกระทบ แม้แต่กลุ่ม influencers เองก็ต่างได้รับผลกระทบจาก COVID-19 สิ่งที่จะทำได้ในช่วงนี้ ก็น่าจะเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรือแชร์ไอเดียเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ ดูจะเป็นประโยชน์มากกว่า ธุรกิจไหนปรับตัวได้ดีกว่า ฉลาดกว่า ก็น่าสนใจไม่น้อยทีเดียวที่จะลองนำมาปรับใช้กันดูบ้าง
บทความสัมภาษณ์นี้ ปรากฏครั้งแรกและที่แรกบน Marketingoops.com
ที่มา : digiday