ในยุค COVID-19 สมัย 2 ปี 2021 ภาคธุรกิจบางส่วนเริ่มจะลืมตาอ้าปากได้บ้าง ขณะที่บางส่วนยังงงๆ ไม่รู้จะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อให้รอดในสถานการณ์แบบนี้ ในงาน CTC 2021: The Future Belongs to Your Creativity มีกูรู 2 คนที่มาแชร์มุมมอง และแนะแนวทางให้กับผู้ประกอบการที่ยังหาทางออกไม่ได้
อย่างคนแรก คุณกอล์ฟ (มารุต ชุ่มขุนทด) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอร้านกาแฟ Class Cafe ได้เปิดมุมมองด้วยการ ชี้แนะว่าธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการระบาดนี้ ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่จบ ก่อนอื่นเราต้องหายใจกันยาวๆ ต้องต่อสู้กันต่อไป ทำให้วิกฤตเกิดเป็นโอกาสให้ได้ mindset ต้องเข้มแข็งพอ ต้อง positive พอที่จะเป็นแรงผลักให้สู้
คุณกอล์ฟ ได้แชร์ประสบการณ์ตรงที่เห็นจากร้านพิซซ่าแห่งหนึ่งใน จ. ขอนแก่น ซึ่งไม่ได้รับผลระทบในช่วง COVID-19 และยิ่งขายดีขึ้นด้วยซ้ำไป ดังนั้น สิ่งที่ตกผลึกได้ก็คือ “เจ้าของธุรกิจต้องล้างความคิดความเชื่อเก่าๆ ล้มกระดานเริ่มใหม่ให้หมด เพราะสูตรสำเร็จทางธุรกิจแบบเดิมๆ มันใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป”
“เราต้องย้อนกลับมาดูตัวเอง ดูธุรกิจดูกลยุทธ์ว่าเพราะอะไร รสชาติเราไม่อร่อยหรือเปล่า หรือมีเหตุผลอื่นอีก” คุณกอล์ฟพูดมาประโยคหนึ่งค่อนข้าง touching
“คนแพ้มักจะมีข้ออ้างเสมอ(บ่น) ส่วนคนชนะไม่เคยมีข้ออ้างที่จะไม่ทำ ดังนั้นในวิกฤตต้องมีธุรกิจขายดีเสมอ แล้วเราต้องเป็นคนนั้นให้ได้!”
‘กลยุทธ์ธุรกิจ’ ไม่มีสูตรตายตัวอีกต่อไป!
คุณต้น (ธนพันธ์ วงศ์ชินศรี) ผู้ก่อตั้งและเจ้าของร้าน Penguin Eat Shabu ได้แชร์มุมมองให้ฟังว่า กลยุทธ์ธุรกิจแบบดิ้นได้มันสำคัญมากในยุคนี้ เพราะเรายังรบกันไม่เสร็จ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสงคราม (COVID-19) จะจบแบบไหน บางกลยุทธ์ที่เราใช้และมันประสบความสำเร็จมากๆ ก็ใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
เทรนด์มันเปลี่ยนค่อนข้างเร็ว เรียกว่าเป็น ‘รายครึ่งวัน’ ก็ยังได้ ดังนั้น สิ่งที่เรียนรู้จากการปรับตัวครั้งนี้ก็คือ เราต้องใช้กลยุทธ์แบบ real time monitoring ยืดหยุ่นสูงมาก ตื่นตัว – รับรู้เร็ว – ปรับกลยุทธ์เร็ว – ปรับแคมเปญการตลาดเร็ว เพราะในยุคนี้ Trend is no trend โดยสมบูรณ์
คุณต้น ได้ยกตัวอย่างสิ่งที่ Penguin Eat Shabu ทำที่ผ่านมา อย่างเช่นการขาย ‘หม้อคนโสด’ เรียกได้ว่าเป็นการทดลองตลาดที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จ เป็นหนึ่งในแคมเปญรายวันที่คิดกันแบบเร็ว เปิดตัวแบบเร็ว และมัน work!
เราต้องคอยสังเกตพฤติกรรมผู้บริโภคให้ดี ใช้กลยุธ์แบบ mess marketing ไม่ได้แล้ว ต้องเจาะจง target ให้แคบลงแต่ลึกขึ้น (insight) แก้ pain point กลุ่มที่เราจะโฟกัสให้มากที่สุด อย่างที่ Penguin Eat Shabu โฟกัสไปที่ ‘กลุ่มผู้หญิงโสด’ ในแคมเปญขายหม้อ โซลูชั่นที่เสนอให้กับเป้าหมายกลุ่มนี้ก็คือ ‘หม้อ แถม Tinder’ ปรากฏว่าภายใน 1 นาทีขายหมดไป 1,000 หม้อ!
นอกจากนี้ยังต่อยอดความสำเร็จจาก pain point ผู้หญิงโสดได้ไปเป็นกลยุทธ์รูปแบบอื่น เช่น หม้อ แถมคอร์สฉีดโบท็อกซ์, หม้อสายมู(เตลู) ให้พระอาจารย์ปลุกเสก 9 รูป เป็นต้น ซึ่งแคมเปญทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมานี้ประสบความสำเร็จมาก ภายใน 5 นาทีขายหมดไป 1,000 หม้อเช่นกัน
สรุปง่ายๆ คือ การออกแคมเปญการตลาดที่สนุก เข้าใจ pain point สื่อสารโฟกัสให้ถกจุดไม่ต้อง mess ก็ได้ แต่ต้องชนะใจกลุ่มเป้าหมายมันสำคัญมาก และทุกอย่างต้องเร็ว! คุณต้น พูดว่า “พอเราขายหม้อประสบความสำเร็จ มีคนอื่นทำตาม สิ่งที่เราทำคือ กระโดดออกมาจากตรงนั้น แล้วเริ่มแคมเปญใหม่ทันที”
คุณต้น ยังฝากแง่คิดที่น่าสนใจด้วยว่า “ถ้าเปรียบเจ้าของธุรกิจเป็นคนขับรถ ยุคนี้จำเป็นต้องเปลี่ยนจาก auto pilot ไปเป็นแบบ manual ได้แล้ว จับพวงมาลัยให้แน่น และพร้อมหักหลบสิ่งกีดขวางข้างหน้าที่เราเห็นแค่ระยะ 50 เมตรเท่านั้น เพราะถ้าให้บอกว่า อีก 3 วันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ก็คงไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้หรอก”
สร้างความโดดเด่นให้ Business Model แล้วฉลาดเลือกพาร์ทเนอร์
โอกาสรอดไม่กี่ทางในเวลานี้ หนึ่งในนั้นก็คือ ‘พาร์ทเนอร์ธุรกิจ’ ในยามที่ทุกคนไม่มีใครคิดถึงเม็ดเงิน กำไร มากเท่าการประคองให้ธุรกิจรอดพ้นไปก่อน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสเหมาะที่สุดในการมองหาพาร์ทเนอร์ดีๆ เพื่อมาเสริมจุดแข็งให้กันและกัน
เวลานี้ไม่ใช่เวลาที่ดีในการขยายสาขา เปิดร้านใหม่ หรือลงทุนในลักษณะนี้ แต่เป็นการลงทุนในบางอย่าง เช่น เทคโนโลยี ปรับเปลี่ยนระบบหลังบ้านร้านค้าออนไลน์ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ที่ดีในการซื้อสินค้า หรือการทำ data analysis จ้างทีมนักวิเคราะห์วางกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อสร้างโมเดลที่ดึงดูดพาร์ทเนอร์ และสร้างความเชื่อมั่นในแก่กัน
และอีกอย่างที่ต้องระมัดระวังก็คือ การลงทุนที่ยังไม่เห็น return เพราะอาจทำให้สินค้าค้างสต็อก ขายไม่ออก แล้วทุนจมในที่สุด นี่เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้หลายธุรกิจตัดสินใจปิดตัวลงในช่วงวิกฤต
‘โซลูชั่น’ ไม่จำเป็นต้องมีแค่โมเดลเดียว
คุณกอล์ฟ ได้พูดถึงประเด็นที่ลูกค้า concern ต่างกัน นี่เป็นอีกปัญหาที่เจอบ่อยๆ อย่างลูกค้าในกรุงเทพฯ กลัว COVID-19 แต่ลูกค้าที่โคราชอาจจะกลัวอย่างอื่น เช่น ฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น
ดังนั้น ความกังวลที่มันหลากหลายขึ้น มีหลาย layers จำเป็นต้องเอา layers ทั้งหมดกางออกมา แล้วหาโซลูชั่นที่ครอบคลุมทั่วถึง แต่ไม่ใช่การหาโซลูชั่นแค่อย่างเดียว เพราะการที่เรามีตัวเลือกที่เข้าใจใน pain point ลูกค้าที่หลากหลายเรื่อง สะท้อนให้เห็นถึงความใส่ใจ เข้าใจ และได้ใจลูกค้า
เช่น ที่ร้าน Class Café ออกโปรโมชั่นตาม insight data ที่มีทั้ง โปรโมชั่น COVID-19, โปรโมชั่น ฝุ่น, โปรโมชั่น เครื่องดื่มร้อน-เย็น ฯลฯ
สรุปก็คือ ภาคธุรกิจที่ยังมึนๆ เบลอๆ อยู่ตอนนี้ ต้องปรับโฟกัสให้เร็ว สปีดความเร็ว และคล่องตัวด้วยการขับเคลื่อนธุรกิจแบบ manual ที่สำคัญแคมเปญ หรือโปรโมชั่นการตลาดยังจำเป็น เพียงแต่ต้องมั่นใจใน insight และ data นั้นๆ ก่อนที่จะเปิดตัว เพื่อไม่ให้เสียเวลาและเสียเงินไปฟรีๆ และพาร์ทเนอร์ธุรกิจจำเป็นมากต่อการรอดครั้งนี้
ข้อมูลโดย CTC 2021