ผ่าทางตัน!!!…เมื่อ dtac เห็นปลายทางของธุรกิจ Telco ประสบการณ์ด้าน IoT จึงถูกพัฒนาขึ้น

  • 56
  •  
  •  
  •  
  •  

dtac-EV

เมื่อไม่นานมานี้ หลายคนคงแปลกใจที่เห็นข่าวการเปิดจำหน่ายรถจักรยานยนต์สกู๊ตเตอร์ EV โดยบริษัทด้านการสื่อสารรายใหญ่อย่าง dtac ถึงขนาดที่หลายคนคาดการณ์ว่า dtac จะขยายตลาดไปสู่การขายรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หลังในช่วงที่ผ่านมา dtac บอบช้ำจากธุรกิจด้านโทรคมนาคมมาอย่างมาก จนถึงขนาดต้องมีการเปลี่ยนตัวผู้บริหารคนใหม่เซ่นผลงานที่ไม่เข้าตากรรมการ

ล่าสุด dtac เฉลยแล้วในงาน Thailand Mobile Expo 2019 ว่าไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายขายรถสกู๊ตเตอร์ EV หากแต่เป็นผู้สร้างแพลตฟอร์มการใช้งานสกู๊ตเตอร์ EV และเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยในการขายรถจักรยานยนต์สกู๊ตเตอร์ EV โดยจะมีการขายสกู๊ตเตอร์ EV ในช้อป dtac บางสาขาเท่านั้น

Alexandra CEO DTAC

โดย นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและรักษาการรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ dtac ชี้ว่า ทุกวันนี้เราตระหนักรู้แล้วว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด สืบเนื่องมาจากปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งต้นเหตุของปัญหาเกิดมาจากการคมนาคม ซึ่งยานพาหนะส่วนใหญ่ยังคงเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง

หนึ่งในแนวทางแก้ปัญหาคือการเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ยกตัวอย่างเช่นในประเทศจีน ที่ครั้งหนึ่งเคยประสบปัญหามลพิษจากฝุ่น PM2.5 เช่นกัน จนนำไปสู่การรณรงค์ให้ประชาชนใช้การเดินทางด้วยรถไฟฟ้า นอกจากนี้ยังสามารถช่วยพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อสิ่งแวดล้อมได้

นั่นจึงทำให้ dtac เปิดตัวแพลตฟอร์ม EV Connectivity ผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนซึ่งจะกลายเป็น การให้บริการแบบ One Stop Service ไม่ว่าจะเป็น การขอความช่วยเหลือ การชำระค่างวด การเปลี่ยนแบตเตอรี่ เป็นต้น โดยในตัวสกู๊ตเตอร์ EV สามารถใส่ SIM เพื่อเชื่อมต่อสกู๊ตเตอร์ EV กับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตผ่านระบบ Cloud โดยเชื่อมโยงกับแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน

EV Connectivity-01

นอกจากการเป็น One Stop Service การที่สกู๊ตเตอร์ EV สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ จะช่วยให้แอพพลิเคชั่นสามารถตรวจสอบหาความผิดปกติ รวมไปถึงแสดงสถานะต่างๆ ของสกู๊ตเตอร์ EV ไม่ว่าจะเป็นปริมาณไฟฟ้าในแบตเตอรี่ ตำแหน่งที่ตั้งของสกู๊ตเตอร์ EV ระบบเบรค เป็นต้น และหากดูให้ดีก็จะเห็นว่ารูปแบบของสกู๊ตเตอร์ EV ที่ dtac กำลังทำแพลตฟอร์ม EV Connectivity อยู่นั้น เป็นหนึ่งในรูปแบบของการให้บริการ IoT ที่ใกล้ตัวมากที่สุด

นี่จึงชี้ให้เห็นว่า dtac กำลังพยายามสร้างประสบการณ์การใช้งาน IoT ในระดับ Consumer ขณะที่คู่แข่งรายอื่น กำลังสร้างประสบการณ์ให้กับภาคธุรกิจในการใช้งาน IoT มากกว่า โดย dtac ยังชี้แจงว่า dtac ร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้ผลิตสกู๊ตเตอร์ EV และอีกหนึ่งพันธมิตรที่สำคัญอย่างบริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ที่เราอาจคุ้นในชื่อของ “ตู้บุญเติม” มากกว่า เข้ามาร่วมกันสร้าง Ecosystem ของแพลตฟอร์ม EV Connectivity

Swop Batt Point

แม้ตอนนี้ทาง dtac จะยังอุบในเรื่องของรูปแบบการขาย แต่ก็มีแพลมออกมาว่าจะเน้นขายไปที่ร้านขายจักรยานยนต์เป็นหลัก ส่วน dtac จะขายเองในบางสาขาเท่านั้นโดยส่วนใหญ่จะเป็นการตั้งโชว์โดยไม่มีการขาย สำหรับในส่วนของ ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส หรือ FSMART จะเน้นให้บริการจุด Swop Battery หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆตามประสาชาวบ้าน คือจุดเปลี่ยนแบตเตอรี่สกู๊ตเตอร์ EV นั่นเอง โดยที่วางแผนจะติดตั้งแต่ละจุดห่างกันไม่เกินรัศมี 5 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันมีการติดตั้งแล้ว 10 สถานี

สำหรับรูปแบบการซื้อของสกู๊ตเตอร์ EV จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบด้วยกัน คือการซื้อสกู๊ตเตอร์ EV ทั้งคันแบบรวมแบตเตอรี่ ซึ่งเจ้าของสกู๊ตเตอร์ EV สามารถเสียบปลั๊กชาร์จที่บ้านได้ทันทีเสมือนเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดหนึ่ง กับการซื้อสกู๊ตเตอร์ EV แบบไม่มีแบตเตอรี่ ซึ่งเหมาะกับกลุ่มที่ต้องเดินทางอย่างต่อเนื่อง เช่น Messenger วินมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น โดยสามารถใช้ลักษณะการเช่าแบตเตอรี่จาก FSMART เมื่อแอพพลิเคชั่นแจ้งเตือนสถานะแบตเตอรี่ใกล้หมด ก็สามารถไปตามจุด Swap Battery โดยในแอพพลิเคชั่นจะบอกตำแหน่งของจุด Swap Battery รวมไปถึงสถานะความพร้อมในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ลูกใหม่ โดยไม่ต้องเสียเวลาชาร์จไฟ

Swapping

ถ้ายังไม่เข้าใจการ Swap Battery อธิบายให้เข้าใจสั้นๆ และง่ายกว่านี้คือ เหมือนการ “เปลี่ยนถ่าน” นี่เอง

ขอบอกอีกนิดว่าการ Swap Battery จะมีการคิดค่าบริการแยกต่างหากออกจากการให้บริการซิมที่อยู่ในสกู๊ตเตอร์ EV

EV Connectivity-02

 

สำหรับรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยมียอดจำหน่ายเฉลี่ยปีละ 2 ล้านคัน โดยมีสัดส่วนของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าไม่ถึง 10% DTAC ยังมองว่าเป็นโอกาสที่สำคัญที่ตลาดสกู๊ตเตอร์ EV จะสามารถเติบโตขึ้นมาได้ อีกทั้งจากสถานการณ์มลภาวะฝุ่น PM2.5 ยังส่งผลให้หลายคนตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้นและมีความต้องการยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดย เฉพาะกลุ่มคนที่หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ต้องจับตาต่อไปว่าช่วงปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนมิถุนายนที่จะมีการเปิดใช้งานแอปพลิเคชันอย่างเป็นทางการ จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างไร เพราะ Pain Point หนึ่งของตลาด EV ในประเทศไทย คือราคาของแบตเตอรี่ที่มีสัดส่วนถึงประมาณ 60%-70% ของราคารถ รวมไปถึงกลุ่มเป้าหมายในการใช้รถ EV เพราะตลาดจักรยานยนต์ในประเทศไทยถูกขับเคลื่อนด้วยกลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการความเร็วและความสวยงามเป็นหลัก

EV Connectivity-03

หรือทั้งหมดนี้จะเป็นเพียงแค่บททดสอบการใช้งาน IoT บนเครือข่าย 5G เท่านั้น เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งาน IoT

ก่อนที่ dtac จะกลับมาสู่สมรภูมิเดือดเพื่อสู้รบอย่างเต็มรูปแบบ…อีกครั้ง!!!


  • 56
  •  
  •  
  •  
  •  
Gigolo
เมื่อเทคโนโลยีอยู่ใกล้กับชีวิตทุกคน มารู้เท่าทันเทคโนโลยีเพื่อใช้มัน แต่อย่าให้เทคโนโลยีมันใช้เรา