สังคมออนไลน์ทำให้โลกของเราซับซ้อนขึ้นไปอีกระดับเพราะนอกจากมนุษย์จะมีสังคมที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า อย่างครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน เรายังมีโลกดิจิตอลซ้อนทับอยู่คู่ขนานกันไปอีก ที่น่าสนใจคือตัวตนของเราที่อยู่บนโลกสองใบนี้มักไม่เหมือนกัน โลกจริงของเราคือโลกที่เราถูกสังคมรอบข้างกดดันให้เป็นไปตามที่พวกเขาต้องการ เป็นเด็กดีของพ่อแม่ เป็นนักเรียนมีระเบียบ คำถามคือบนโลกออนไลน์เราเป็นคนที่เราอยากเป็นได้จริงๆ หรือ…คำตอบคือก็ไม่ได้อีกนั้นแหละเพราะบนโลกออนไลน์มีแรงกดดันที่ทำให้คุณกลายเป็นคนแบบหนึ่งอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน คุณอาจกลายเป็นคนพูดมากทั้งที่ตัวจริงเป็นคนเงียบๆ เพราะอยากให้สาวๆ ประทับใจ คุณอาจกลายเป็นนักเลงคีย์บอร์ดเพราะอยากปลดปล่อยตัวเองจากแรงกดดันในชีวิตประจำวัน
แต่จุดสำคัญที่สุดของโลกออนไลน์คือ “ความสัมพันธ์ห่างๆ” ซึ่งเป็นคีย์เวิร์ดทำให้มนุษย์กล้าปลดปล่อยด้านมืดของตัวเองออกมาอย่างอิสระ เพราะคนที่คุณติดต่อด้วยไม่ได้มีผลโดยตรงต่อชีวิต คุณอาจแคร์พวกเขาบ้างหากชอบใจบางโอกาส แต่สุดท้ายพวกเขาก็ไม่มีผลอะไรกับคุณ เป็นแค่คนแปลกหน้าที่คุณพร้อมจะรังแก พิพากษา หรือด่าว่าให้สาแก่ใจ
และนั้นคือที่มาของ Cyberbully หรือการรังแกกันบนโลกดิจิตอลที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกอยู่ในตอนนี้
การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์-ภัยที่เหยื่อไม่มีวันหนีพ้น
การกลั่นแกล้งมีมาพร้อมกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เอาง่ายๆ ว่าธรรมชาติของคนชอบกลั่นแกล้งเพราะมันเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยบ่งบอก “สถานะทางสังคม” ของผู้กลั่นแกล้งและคนที่ถูกกลั่นแกล้ง การกลั่นแกล้งในโลกสมัยก่อนป่าเถื่อนและค่อนข้างโหดร้าย เช่นการแอบนำของประหลาดไปใส่ไว้ในที่นอนเพื่อให้คนนั้นถูกใส่ร้ายว่าเป็นแม่มด หรือการจับเหยื่อมาแขวนประจาน ทั้งนี้หัวใจสำคัญของการกลั่นแกล้งคือการทำให้เกิดความ “อาย” เพราะนักจิตวิทยากล่าวว่าความอายเป็นอารมณ์ที่รุนแรงขั้นสุดของมนุษย์ และเป็นการดูถูกคุณค่าของพวกเขามากที่สุด
แล้วอะไรทำให้การกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์น่ากลัวล่ะ…ความน่ากลัวของมันคือการก้าวข้ามเวลาและสถานที่ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งการกลั่นแกล้งที่เกิดบนโลกออนไลน์นั้นเกิดแบบ “ล่องลอย” คือเกิดที่ไหนก็ได้ เกิดเวลาใดก็ได้ เหมือนทุ่นระเบิดลอยฟ้าที่รอให้เหยื่อเดินไปเหยียบไม่วันใดก็วันหนึ่ง คิดง่ายๆ ว่าในวินาทีนี้อาจมีคุณกำลังตั้งกลุ่มไลน์นินทาคุณหรือหลังไมค์แอบวางแผนแกล้งคุณอยู่ รวมถึงอาจมีคนพยายามแฮคข้อมูลเฟซบุ๊คคุณเพื่อหาข้อมูลที่น่าอับอายมาประจานกลางโลกไซเบอร์
ที่น่ากลัวมากกว่านั้นคือการกลั่นแกล้งเหล่านี้แม้จะมีการแก้ไขความเข้าใจผิดแล้วแต่มันก็ได้ copy and paste กระจายไปทั่วโลกออนไลน์เรียบร้อย คุณไม่มีทางดึงข้อมูลเหล่านั้นกลับมาได้ไม่ว่าจะขอร้องไหว้วอนสักเพียงใด เหมือนกรณีดาราถูกแกล้งนำคลิปส่วนตัวไปปล่อยนั้นแหละ (ถ้าเราเชื่อว่าคลิปนั้นบังเอิญหลุดจริงๆ) คลิปนั้นจะคงอยู่ตลอดไปไม่ว่าดาราจะออกมาแก้ข่าวสักกี่ครั้งก็ตาม
ผลกระทบของการกลั่นแกล้ง
เหยื่อของการกลั่นแกล้งออนไลน์จะเผชิญกับความรู้สึกแย่เหมือนอย่างที่เกิดบนโลกออฟไลน์นั้นแหละ เช่น ความมั่นใจในตัวเองตกต่ำ การเปลี่ยนนิสัยบางอย่าง หรืออาจเป็นโรคซึมเศร้า แต่ในบางเงื่อนไขการกลั่นแกล้งออนไลน์จะต้อนเหยื่อให้จนมุมจนเกิดผลกระทบร้ายแรงต่อจิตใจ
- หากเหตุการณ์เกิดที่บ้านซึ่งเป็นที่ที่มนุษย์รู้สึกปลอดภัยที่สุด เหยื่อจะรู้สึกไม่เหลือที่พึ่ง
- คำพูดบนโลกออนไลน์มักรุนแรงกว่าโลกจริงหลายเท่าเพราะคนพูดมีสายสัมพันธ์ที่ห่างไกลกับคนที่ตัวเองกลั่นแกล้ง
- การโพสต์ข้อมูลลงสาธารณะซึ่งเพียงปลายนิ้วก็ทำให้คนทั้งโลกรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น
- การกลั่นแกล้งโดยคนที่ปกปิดชื่อและสถานะบนโลกออนไลน์จะรุนแรงและหยาบคายที่สุดเพราะพวกเขาไม่มีอะไรจะเสีย
- หากการกลั่นแกล้งเกิดในโลกออนไลน์ที่เหยื่อใช้งานบ่อย เช่น เฟซบุ๊ค อินสตราแกรม พวกเขาจะรู้สึกเหมือนถูกทำลายสังคมออนไลน์ออกไป
เหตุผลที่คนรังแกกันออนไลน์
การรังแกออนไลน์ก็มีเหตุผลหลายอย่างคล้ายกับการรังแกบนโลกออฟไลน์ เพียงแต่งานนี้ไม่เพียงเด็กเท่านั้นที่รังแกกัน ผู้ใหญ่นี่แหละตัวดีเพราะพวกเขาไม่มีกฏกติกาสังคมมาครอบให้ต้องอึดอัดเหมือนบนโลกออฟไลน์ Stopbullying.gov อธิบายเหตุผลที่คนรังแกกันออนไลน์ไว้ดังต่อไปนี้
- เพื่อให้ตัวเองยังโด่งดัง – ชาวออนไลน์หลายคนกลั่นแกล้งคนอื่นๆ เพื่อให้ตัวเองยังโด่งดัง เป็นการรักษาอำนาจและฐานแฟนคลับเอาไว้ เหมือนอย่างการสร้างอีเวนต์เพื่อให้ทุกคนกลับมารวมใจกันต่อสู้กับ “ศัตรูหลอกๆ” ที่แอดมินเป็นคนสร้างขึ้น ช่วยกันรังแกเป้าหมายของคนดังออนไลน์ให้หายหน้าไปจากสังคมออนไลน์
- เพื่อลบปมด้อยในการเข้าสังคมของตัวเอง – คนที่มีความมั่นใจต่ำหลายคนจะใช้การรังแกช่วยให้ตัวเองรู้สึกมีความสุขขึ้นและเมื่อเพื่อนๆ ออนไลน์มาช่วยรังแกพวกเขาจะรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมถึงเป็นการประกาศตัวเองว่าเป็นคนดี คนที่สมบูรณ์แบบด้วยการอาสารังแกคนที่ผิดแปลกไปจากขนบของสังคม
- เงื่อนไขของสังคมออนไลน์ – มีหลายเงื่อนไขที่สนับสนุนการรังแกออนไลน์ เช่น การรังแกโดยไม่ต้องเผชิญหน้ากับเหยื่อช่วยลดความยับยั้งชั่งใจและมองไม่เห็นผลที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง นอกจากนั้นพวกเขายังมองไม่เห็นการลงโทษจากสังคมต่อการรังแกเพราะเมื่อพวกเขาแสดงความเห็น โพสต์ ส่ง การรังแกออนไลน์ไปแล้ว ส่วนใหญ่พวกเขามักจะหายหน้าไปไม่อยู่รอดูผลงานของตัวเองสักเท่าไหร่นัก
สรุปว่าการรังแกกันออนไลน์ก็ยังมีรูปแบบการรังแกคล้ายๆ กับบนโลกออฟไลน์ผิดแต่ที่ความรุนแรงมากกว่าหลายเท่าเพราะโลกออนไลน์ก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดเรื่องพื้นที่และเวลา นอกจากนั้น everything online, stay online หรือหมายความว่าสิ่งที่อยู่บนออนไลน์จะอยู่ตลอดไป