จากกรณีที่ ช่อง 5 และ ช่อง 7 และองค์กรพันธมิตรอีก 10 องค์กร มีความคิดที่จะแยกไปจัดตั้ง “ชมรมตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางวิทยุโทรทัศน์ (ประเทศไทย)” และประกาศจะดำเนินการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ (เซ็นเซอร์หนังโฆษณา) ทั้งที่เดิมนั้นก็มีคณะกรรมการตรวจพิจารณาภาพยนตร์โฆษณาวิทยุและโทรทัศน์ (กองเซ็นเซอร์) ในชุดเดิมอยู่แล้ว ประกอบไปด้วยหลักๆ ได้แก่ ช่อง 3 ช่อง 9 สมาคมโฆษณา สมพันธ์ทีวีดิจิทัล ซึ่งทำให้เกิดความวุ่นวายและสับสนในการทำงาน โดยเฉพาะกับทั้งกลุ่มเอเจนซี่และแบรนด์ ว่าส่อแววจะทำให้เกิด 2 มาตรฐานในการเซ็นเซอร์งานโฆษณาได้ (อ่านข่าวเพิ่มเติม)
ดังนั้น MarketingOops! จึงได้รวบรวมความเห็นจากบรรดาเอเจนซี่ใหญ่ ถึงความคิดเห็นในฐานะผู้ที่จะต้องทำงานโดยตรงกับกองเซ็นเซอร์ทั้ง 2 ชุด ถึงความคิดเห็นและแนวทางปฏิบัติในเบื้องต้นว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป
Publicis One Thailand
สงกรานต์ เศรษฐสมภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปับลิซีส วัน ประเทศไทย กล่าวถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า เบี้องต้นที่เราได้รับคำแนะนำจากทางสมาคมโฆษณาฯ ก็คือให้ส่งไปให้ทั้ง 2 ฝ่ายไปก่อนเลย ซึ่งตนเองก็ยังไม่เข้าใจว่าจะทำเพื่ออะไร ตอนนี้เหตุการณ์ต่างๆ สับสนอลหม่านมากทีเดียว แต่ด้วยความที่เราต้องเอางานของเราออกอากาศให้ได้ก็จำเป็นต้องทำ แต่คำถามในใจคือทำไมต้องทำให้เป็นแบบนี้
“คือหนึ่งตอนนี้เกิดความสับสนแน่นอน สองคือ ถ้าส่งไปทั้งสองที่แล้วเกิดการแก้กลับมามันก็จะกลายเป็น 2 มาตรฐานที่ไม่เท่าเทียมกัน คำถามก็คือว่า ถ้าเราผ่านชุดเดิมก็โอเค แต่ถ้าไม่ผ่านในชุดใหม่ แล้วต้องกลับไปแก้ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายตรงนี้ ก็คงจะไม่พ้นลูกค้า (แบรนด์) ซึ่งผมว่าตรงนี้จะทำให้เกิดปัญหาอย่างแน่นอน”
สงกรานต์ กล่าวต่อว่า เชื่อมั่นว่าไม่ว่ายังไงก็ต้องเกิดเหตุการณ์ที่ชุดนี้ผ่าน ชุดนี้ไม่ผ่านอย่างแน่นอน แต่คำถามคือใครรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เดิมชุดเดียวก็มีมาคอมเมนต์เดียว แต่เมื่อมี 2 ชุดก็ต้องมี 2 คอมเมนต์ มันจะทำให้การทำงานวุ่นวายสับสน ไม่เป็นมาตรฐานเดียว
“ปกติการทำงานที่มีหลายเวอร์ชั่นก็มีอยู่บ้าง แต่นั่นก็ยังอยู่ในการทำงานรูปแบบเดียวกัน แต่นี่คือการทำงานที่ต้องเพิ่มเป็น 2 เท่า ผลกระทบที่ตามมาเกิดความเสียหายและสับสน”
เมื่อถามถึงว่าโอกาสจะไปสู่การลงออนไลน์มากขึ้นหรือไม่ สงกรานต์ ระบุว่า คิดว่าไม่มาก เพราะออนไลน์ก็สามารถเติบโตของเขาได้ดีอยู่แล้ว แต่ไม่ว่าอย่างไร TV ก็ยังเป็นสื่อหลักในเมืองไทยอยู่ดี ยังไงก็ต้องมีผลกระทบแน่นอน เพราะจะทำให้การทำงานสับสนอลหม่านได้
“บทสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นคือ คววรจะทำให้มันมีมาตรฐานเดียว ดีที่สุด ที่ผ่านมาพวกเราก็พยายามที่จะต่อสู้ในเรื่องของการกำกับดูแลกันเองมาตลอด แต่เมื่อเราทำได้แล้ว ก็ทำงานร่วมกันมากว่า 20 ปีก็เป็นไปด้วยดี ควบคุมกันเองดูแลกันเองได้ด้วยดี แต่ไม่ได้หมายความว่าทำตามอำเภอใจ แต่เราร่วมกันทำให้เกิดมาตรฐาน ไปพร้อมๆ กับรักษาความครีเอทีฟไปได้ แต่มาวันนี้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น ผมก็พูดไม่เออกเลย”
CJ WORX
ด้าน จิณณ์ เผ่าประไพ Managing Director ของ CJ WORX ดิจิทัล เอเจนซี มีความเห็นในเรื่องดังกล่าวว่า วัตถุประสงค์ของคณะกรรมการเซนเซอร์ไม่ว่าชุดไหน หากดำเนินการเพื่อเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคกับสังคม ไม่ให้โดนหลอก ไม่ให้โฆษณาเกินจริง หรือมีเนื้อหาที่ไม่สมควรกับผู้ชมบางกลุ่ม ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี ซึ่งการมีคณะกรรมการอีกชุดเกิดขึ้นนั้น อาจมีทั้งเรื่องดี และอาจมีผลเสียตามมา ที่ใช้คำว่าอาจจะ เพราะยังไม่ได้มีการดำเนินการจริงๆ และเห็นในเชิงปฏิบัติว่ามีการดำเนินการเป็นอย่างไร
สำหรับการดำเนินการของคณะกรรมการเซนเซอร์ชุดใหม่ คุณจิณณ์ มองว่า ถ้าคณะกรรมการเซนเซอร์ใหม่ มีหลักเกณฑ์ มาตรฐาน โดยยึดหลักความถูกต้อง ดูบริบทของเนื้อหามากกว่าเกณฑ์ตรงๆแบบเดิม พร้อมกับช่วยให้สังคมได้เรียนรู้และพัฒนาขึ้น ก็นับเป็นเรื่องที่ดี และจะดีกว่านั้นถ้าหากคณะกรรมการเซนเซอร์ชุดใหม่ มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่ได้รับการรับฟังจากบุคคลที่เกี่ยวข้องที่หลากหลาย อาทิ เครือข่ายภาคประชาสังคม ฝ่ายภาคธุรกิจการตลาดและโฆษณา และอีกหลากหลายส่วนเข้าไปร่วมกันเพิ่มมุมมองในหลักเกณฑ์เซ็นเซอร์ให้แตกต่างไปจากเดิมก็ยิ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าหลักเกณฑ์ของคณะกรมการชุดใหม่เป็นอย่างไร
“ถ้าปลายทางคือ มีคณะกรรมการเซ็นเซอร์อีกชุด เพื่อทำให้ผู้บริโภคและสังคมจะได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น สังคมมีการเซ็นเซอร์ที่สมเหตุสมผล พิจารณาบริบทรอบข้างเข้าไปด้วย รวมถึงไม้บรรทัดที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ความยุ่งยากของเอเจนซีที่จะดำเนินการหลายครั้งหากผ่านชุดหนึ่ง แต่ไม่ผ่านอีกชุดหนึ่ง หรือมีต้นทุนในการดำเนินงานสูงขึ้นก็ไม่ใช่ประเด็นเท่าใดนัก สุดท้ายหากต้องดำเนินการก็พร้อมและยินดีเพื่อให้สังคมดีขึ้น เราคงไม่อยากโฆษณาขายของแล้วทำให้สังคมเสื่อมลงอย่างแน่นอน แต่ขณะนี้ต้องยอมรับว่ายังไม่ทราบว่า หลักเกณฑ์ของคณะกรรมการชุดใหม่นั้น ทำอะไร และมีข้อแตกต่างจากคณะกรรมการเซ็นเซอร์เดิมอย่างไรบ้าง”
ในฐานะมุมดิจิทัล เอเจนซี ผู้ก่อตั้งซีเจ เวิร์ค เห็นว่า หากหลักเกณ์ของคณะกรรมการเซ็นเซอร์ชุดใหม่ เป็นหลักเกณฑ์ที่ดี ผลประโยชน์ปลายทางเพื่อผู้บริโภคและสังคมที่แท้จริง ก็สามารถนำหลักเกณฑ์เหล่านั้น มาคิดเป็นโจทย์ในการคิดงาน ยึดมั่นเป็นสิ่งที่ทุกเอเจนซีจะต้องทำ อย่างที่ซีเจ เวิร์คและบริษัทในเครือยึดมั่นมาตลอดคือ ทุกชิ้นงานโฆษณาของเราจะต้องให้อะไรกับผู้บริโภคและสังคม นั่นเท่ากับว่าทุกชิ้นงานโฆษณาของเรา ผ่านหลักเกณฑ์มาตั้งแต่ต้นแนวความคิดไอเดียเลยด้วยซ้ำ
“ทางออกในเรื่องนี้ ต้อง เปิดใจ-จริงใจ-เห็นปลายทางเดียวกัน ซึ่งเปิดใจให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะแบรนด์ที่เคยโดนคณะกรรมการเซ็นเซอร์พิจารณาหนักหน่วงที่สุดมาหารือกันว่าเพราะอะไร คณะกรรมการก็เปิดใจอธิบายในมุมที่ต้องการเซ็นเซอร์พร้อมมองบริบทเนื้อหา ส่วนจริงใจก็คือให้ทุกฝ่ายจริงใจ ถ้าสินค้าและบริการดีจริงไม่ต้องกลัวคณะกรรมการเซนเซอร์ และไม่ต้องการขายไม่ได้ และส่วนท้ายคือ อยากให้เห็นปลายทางเดียวกันคือ ผู้บริโภคและสังคมจะต้องได้ประโยชน์ หากเห็นร่วมกันเช่นนี้ ก็ทำให้เกิดจุดลงตัวกันทั้งคณะกรรมการเซ็นเซอร์ แบรนด์ เอเจนซี ผู้บริโภคและสังคมทุกฝ่ายก็ได้ประโยชน์จากการโฆษณา”
สมาคมมีเดียเอเจนซี่
ด้าน ไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า โดยทั่วไป ในการทำงานเซ็นเซอร์มันมี 2 ส่วน คือ 1. มีกฎกติกา ตามระเบียบ เป็นไปตามคัมภีร์การตรวจสอบ 2.คือการใช้วิจารณญาณของคณะกรรมการตรวจสอบ ประมาณ 20-30% ซึ่งในส่วนแรกตนไม่ห่วงมากนักเพราะทั้งสองชุดน่าจะเหมือนกัน มีหลักการคล้ายกันคงไม่ต่างกันมาก แต่ที่ห่วงคือในส่วนที่ 2 มากกว่า เพราะเรายังไม่แน่ใจว่าในทีมชุดใหม่นี้มีลักษณะแบบไหน จะมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม หรือแนวหัวก้าวหน้าที่เปิดกว้างกว่าหรือเปล่า ดังนั้น คิดว่าเรื่องนี้อาจจะต้องให้เวลากับที่เราจะทำความเข้าใจกับชุดที่ 2 ด้วยว่าจะเป็นแนวไหน
“แต่เบื้องต้นถ้าถามความเห็นผมก็คือ ต้องส่งไปทั้งสองชุด ยังไงก็คงหนีไม่พ้นที่ต้องส่งทั้งสองชุด แต่ตรงนี้อาจจะไม่ได้กระทบกับมีเดียเอเจนซี่เพราะว่าเราจะเป็นทีมปลายทางแล้ว แต่ที่กระทบโดยตรงคือ ครีเอทีฟเอเจนซี่ และตัวลูกค้า กรณีที่หนังไม่ผ่านก็ต้องไปแก้ใหม่ แล้วก็ต้องเสียทั้งเวลาแล้วก็ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย”
ส่วนกรณีที่มีการเสนอว่าให้เลือกช่องออกก็พอเพื่อตัดปัญหาส่ง 2 ชุดแล้วจะไม่ผ่าน ไตรลุจน์ มองว่าเป็นไปได้ยาก เพราะต้องยอมรับว่าช่อง 3 และช่อง 7 มีอิมแพ็คการเข้าถึงคนดูทั้งคู่ ดังนั้น ลูกค้าอาจจะไม่กล้าเสี่ยงที่จะเลือกตัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกไป แต่ถ้าทำแบบนั้น ตรงนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของทางมีเดียเอเจนซี่แล้วล่ะว่าจะต้องทำอย่างไรให้ได้ตัวเลขได้เท่าเดิม เข้าถึงคนดูได้เท่าเดิม ซึ่งก็จะเพิ่มความยุ่งยาเข้าไปอีก
“อย่างไรก็ตาม ก็คิดว่าเบื้องต้นเราอย่าเพิ่งไปตัดสินเลยว่า การมี 2 ทีมเซ็นเซอร์เป็นเรื่องแย่ อาจจะต้องให้เวลากับทีมชุดใหม่ก่อน ในเมื่ออย่างไรเสียก็คงต้องส่งสองที่อยู่แล้ว ก็อาจจะลองให้เวลาทีมชุดใหม่ดูว่าอาจจะไม่เลวร้ายหรือวุ่นวายอย่างที่คิดก็ได้ เราควรจะต้องให้เวลาสักระยะดูก่อน ว่าจะอิมแพ็คกับใครมากน้อยแค่ไหน”
บางทีถ้าให้เวลากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงนี้ หากว่ามันไม่ดีจริง เชื่อว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะสะท้อนกลับไปที่ทีมเซ็นเซอร์ทั้ง 2 เอง หมายถึงว่า ถ้าเกิดแบรนด์หรือลูกค้า เห็นว่าการมี 2 ชุดเกิดความยุ่งยาก ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ส่งลงทีวี หรือส่งแค่บางส่วน แล้วจัดงบฯ ไปเพิ่มในออนไลน์แทน ซึ่งผลลัพธ์ทีได้จากการลงออนไลน์ไม่ต่างจากที่ลงในอีกช่องหนึ่งมากนัก ตรงนี้ก็เชื่อว่าทางช่องเองน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในระยะยาว ก็อาจจะเป็นผลทำให้ต้องทบทวนตัวเองเสียใหม่ว่าการที่ทำแบบนี้มันดีหรือไม่ดี สุดท้ายใครจะได้รับผลกระทบที่สุด
“ผมถึงได้บอกว่าน่าจะดูกันยาวๆ ไปก่อน เชื่อว่าใน 2-3 เดือนก็น่าจะเห็นอะไรๆ ที่ชัดขึ้นได้ แต่ที่แน่ๆ มีแค่ชุดเดียวดีที่สุด”
Copyright © MarketingOops.com