Case Study: ร้าน Kapong ฉันเกิดในยุคโควิด สร้าง identity – ใช้กลยุทธ์ปั้นเดลิเวอรี่ของตัวเอง

  • 835
  •  
  •  
  •  
  •  

Credit: www.facebook.com/Kapong

 

ในยุคนี้ที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เห็นได้ชัดว่า มีธุรกิจมากมายผุดขึ้นมาเร็วกว่าช่วงสถานการณ์ปกติ โดยเฉพาะธุรกิจอาหาร เพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่คนยังต้องกินต้องซื้ออยู่ แต่ธุรกิจที่เกิดใหม่ก็ใช่ว่าจะอยู่รอดได้หมด ซึ่งมีธุรกิจหนึ่งที่มองว่าน่าสนใจ และเป็นหนึ่งในร้านที่ปั้นไรเดอร์เดลิเวอรี่เป็นของตัวเอง

ร้านกระพง (Kapong) ของคุณชลวิทย์ ไตรโลกา ซึ่งเป็นร้านที่เกิดขึ้นในยุคที่มี COVID-19 กำลังระบาด เพราะเริ่มก่อตั้งร้านเมื่อเดือน ม.ค. 2564 นี้เอง ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจถ้าบางคนอาจจะไม่รู้จักกับร้านนี้ แต่ที่เราหยิบเคสของร้าน Kapong มาพูดถึง คงเพราะว่าไอเดียและมุมคิดบางอย่างของคุณชลวิทย์ ที่อาจจะช่วยให้อีกหลายๆ ธุรกิจมองภาพธุรกิจตัวเองชัดขึ้น หรืออาจจะหาไอเดียให้กับธุรกิจตัวเองได้ใน ecosystem นี้

คุณชลวิทย์ ได้แชร์ไอเดียที่มาของร้าน Kapong ในงานสัมมนา “เปิดสูตรลับ ปรับกลยุทธ์ ธุรกิจอาหารต้องรอด” จัดโดย SCB โดยเล่าให้ฟังว่า กว่าจะหาตลาดไทยที่เป็น Blue ocean สำหรับตัวเองได้ ก็ผ่านความล้มเหลวมานักต่อนักเหมือนกัน โดยสรุปเร็วๆ ก็คือ เคยเปิดร้านอาหารไทยในเมืองมะริดของเมียนมา แต่ต้องปิดกิจการลงเพราะภาวะเศรษฐกิจ จึงทำให้การเรียนรู้ในครั้งนั้นนำปรับมาใช้กับตลาดในไทย และลุยกับธุรกิจอาหารอีกครั้ง

 

 

หาช่องว่างตลาดให้เจอ เพื่อสร้าง Identity

จริงอยู่ว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายที่เราจะลองผิดลองถูกได้เพื่อทดลองตลาด ด้วยต้นทุนของคนเราที่ไม่เคยเท่ากัน ดังนั้น มุมคิดของร้าน Kapong อาจจะพอช่วยได้

คุณชลวิทย์ แชร์ว่า เหตุผลที่เริ่มขายเมนูปลากระพง ไม่ใช่เพราะชอบทานปลาอย่างเดียว แต่มองว่า ในตลาดอาหารไทยยังไม่มีใครที่ขาย ‘ปลากระพงทอดน้ำปลา’ ในรูปแบบเดลิเวอรี่ ถึงมีก็อาจจะน้อยมาก และเป็นเมนูอาหารที่มีราคาสูง ดังนั้นจึงอาจจะไม่เหมาะที่จะขายผ่านเดลิเวอรี่ เพราะเมนูนี้ส่วนใหญ่เราจะคุ้นเคยว่าอยู่ในร้านอาหาร

 

Credit: www.facebook.com/Kapong

แต่การเปลี่ยนแปลงที่มาจากการแพร่ระบาด ทำให้คนไม่สามารถนั่งทานที่ร้านได้ หรือออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านไม่ได้อย่างเดิม ไอเดียขายเมนูปลากระพงจึงเกิดขึ้น ซึ่งคุณชลวิทย์สร้าง identity ด้วยการนำร่องเมนูอาหารของร้านที่ทำจากปลากระพงล้วนๆ เป็นเมนูแนะนำของร้าน

โดยมองว่า ช่องว่างตรงนี้เองจะมาเสริมความต้องการที่มันมีอยู่แล้วในตลาด คนไทยชอบทานปลา และปลากระพงก็เป็นปลายอดนิยมหลักๆ ที่คนไทยทาน

 

 

 

ปักหมุดเป้าหมายชัดเจน โฟกัสที่สินค้าไม่ใช่ location

เป้าหมายชัดเจน เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการเติบโตของธุรกิจอยู่แล้ว แต่การโฟกัสที่ถูกต้องและเหมาะกับ positioning ของร้านก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะสำหรับร้าน Kapong เน้นที่การขายเมนูอาหารที่เป็น cloud kitchen + delivery ดังนั้น ร้าน Kapong จึงไม่มีหน้าร้าน ซึ่งก็เป็นคำอธิบายว่า ทำไมร้าน Kapong ถึงไม่โฟกัสที่โลเคชั่น

แต่การที่เราไม่มีหน้าร้านก็ใช่ว่าจะง่ายไปซะหมด เพราะว่าการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคทั้งออนไลน์และออฟไลน์ยังต้องมาพร้อมกัน ซึ่งคุณชลวิทย์ มองว่า การทำการตลาดต้องควบคู่กันไป และต้องขยันโปรโมตร้านผ่านเพจ ผ่านสื่อโซเชียล หรือทุกช่องทางที่จะเข้าถึงลูกค้าได้

โดยเฉพาะช่องทางติดต่อที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า อย่างร้าน Kapong ที่ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยเล่นโซเชียล ดังนั้น การทำการตลาดทางออฟไลน์จึงมีความสำคัญ เช่น ระบุให้ชัดเจนว่าสามารถโทรมาสั่งได้ที่เบอร์ไหน เป็นต้น

 

 

ทำไมร้าน Kapong ต้องมี เดลิเวอรี่ เป็นของตัวเอง?

ด้วยความที่ร้านให้ความสำคัญกับแพ็กเกจ ต้องการให้ลูกค้าสะดวกที่จะทานได้เลยเมื่อได้รับอาหาร ดังนั้นจึงใช้แพ็คเกจคล้ายๆ กับกล่องพิซซ่า ซึ่งการขนส่งเป็นขั้นตอนสำคัญมากพอๆ กับการทำมาร์เก็ตติ้ง เพราะลูกค้าคาดหวังที่จะได้รับอาหารที่หน้าตาเหมือนในรูปที่โฆษณา

นี่คือเหตุผลว่าทำไมร้าน Kapong จึงต้องมีเดลิเวอรี่เป็นของตัวเอง ขณะเดียวกัน Robinhood ก็เป็นเจ้าเดียวที่ขายในแพลตฟอร์มเดลิเวอรี่อื่น เหตุผลที่คุณชลวิทย์แชร์ตรงๆ ก็เพราะว่า Robinhood ค่อนข้างแฟร์กับร้านค้า ไม่มีค่า GP หรือค่าอื่นๆ ซึ่งเหมาะกับร้านที่เพิ่งเริ่มต้น

สิ่งที่คุณชลวิทย์ย้ำ ก็คือ “ลูกค้าที่สั่งออนไลน์ หรือโทรสั่ง คาดหวังที่จะได้อาหารอร่อย ราคาคุ้มค่า และแพ็กเกจดี ที่สำคัญต้องง่ายในการแกะทานด้วย”

 

 

ทั้งนี้ ร้าน Kapong มักจะจัดเมนูเซ็ตแบบเซ็ตเพื่อเอาใจลูกค้า เช่น family set 590 ซึ่งได้อาหารถึง 5 อย่างด้วยกัน หรือจะเป็นเมนูแนะนำอย่าง กระพงทศกัณฑ์ ที่มีให้เลือก 10 หน้า และสามารถใช้กับเมนูปลากระพง 2 ใจได้ คือ แบ่งหน้าละครึ่งตัว ซึ่งเมนูที่ปล่อยออกมาแต่ละครั้ง ก็มาจากอินไซต์ที่ทางร้านศึกษามาเกี่ยวกับคนไทย ซึ่งคุณชลวิทย์มองว่า อินไซต์สำคัญมากในธุรกิจอาหาร และเราต้องปรับตัวบ่อย เพราะอุตสาหกรรมนี้มันหอมหวาน ใครๆ อยากเข้ามา และที่สำคัญการตลาดแบบ Word of mouth สำคัญมากในธุรกิจอาหาร

 

Credit: www.facebook.com/Kapong

 

 

ข้อมูลโดย ร้าน Kapong/ สัมมนา เปิดสูตรลับ ปรับกลยุทธ์ ธุรกิจอาหารต้องรอด


  • 835
  •  
  •  
  •  
  •  
prakai
'ชีวิต' ต้องมีสีสันหลากหลาย เหมือนกับความรู้ที่มีหลายมิติ ทั้งไลฟ์สไตล์, การตลาด, ดิจิทัล, ประเพณี-วัฒนธรรม