Bad Comment จะจัดการอย่างไร? ฟังทัศนะ 5 Youtuber Star ที่มียอด Subscribe สูงถึงหลักแสนมาให้คำแนะนำ

  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  

group youtuber1

ว่ากันว่าแพล็ทฟอร์มอินเตอร์เน็ตช่วยสร้างตัวตนของคนให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น จากคนธรรมดาคนหนึ่งก็กลายเป็นดารา เป็นเซเล็บ หรือเป็น Influencer ได้ในเวลาไม่นาน ซึ่งแพล็ทฟอร์มออนไลน์ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ได้แก่  Youtube อาจจะด้วยความที่เป็นช่องทางในการสื่อสารถึงคนหมู่มากได้อย่างรวดเร็ว พอๆ กับที่เป็นช่องทางที่สามารถลงคอนเท้นต์ที่มีความหลากหลายได้ ทำให้ Youtube ได้รับความนิยมในหมู่ Creator คนรุ่นใหม่อยู่เสมอๆ ซึ่งเรามักจะรู้จักกันในชื่อ Youtuber หรือคนสร้างสรรค์คอนเท้นต์ลงบน Youtube นั่นเอง

ทั้งนี้ ในการทำหน้าที่เป็นผู้สร้างสรรค์คอนเท้นต์ ย่อมจะต้องประสบพบเจอกับคอนเม้นต์ต่างๆ เป็นธรรมดา บ้างก็ชื่นชมและให้กำลังใจ แต่ก็มี Bad comment ในทางไม่สร้างสรรค์ก็ต้องมีเช่นกัน จนบางครั้งกลายเป็นเรื่องราวดราม่าเกิดขึ้นใน Channel ดังนั้น ลองมาฟังคำแนะนำจาก 5 YoutuberStar ดูว่าพวกเขามีวิธีรับมือกับ Bad comment ต่างๆ อย่างไรบ้างกันบ้างเพื่อไม่ให้จุดประกายกลายเป็นประเด็น Drama ต่อไป ลองมาฟังกันค่ะ

nook1

“น้องนุก” หรือ พรรรพร ประสพ จาก NdMikki Holic ครีเอเตอร์สายบิวตี้ มียอด subscribe 111,176

“น้องนุก” ยกตัวอย่างปัญหาดราม่าที่เกิดขึ้นในชาแนลของตัวเองว่าเป็นดราม่าเกี่ยวกับเรื่องราคาของที่นำมารีวิว “ความจริงมันก็ไม่เชิงดราม่า เด็กๆ บางทีไม่เข้าใจสิ่งที่เราทำ เช่น เคยมีดราม่าแบบว่า ทำไมถึงใช้ของแพงจัง คือในความเป็นเครื่องสำอางความถูกความแพงมันไม่เหมือนกัน บางคนคิดว่าของ 2-3 พันบาทก็ไม่แพงมากเพราะเขามีรายได้ แต่สำหรับน้องๆ นักเรียนบางคนอาจจะมองว่ามันแพงมาก เป็นดราม่าที่ไม่เข้าใจ บางคนของหลักร้อยยังมองว่าแพง เพราะว่าบางคนมันคิด

ไม่เหมือนกัน ก็เลยต้องมาคิดคลิปว่าถ้าเป็นสำหรับเด็กมัธยม ก็ต้องเป็นของในบัดเจ็ทที่เด็กซื้อได้”

ส่วนวิธีในการรับมือกับคอมเม้นต์ในทางลบ น้องนุก เผยว่า เจอเยอะมาก (ลากเสียงยาว) คือสิ่งแรกที่เราจะต้องพิจารณาก่อนคือมันคือเรื่องจริงไหม ถ้ามันเป็นเรื่องจริงที่เราจะต้องปรับปรุงจริงๆ เราก็จะปรับปรุง ถ้าบางเรื่องที่มันไม่เมคเซนส์หรือไม่ใช่ประเด็นที่จะต้องมาถกกัน คืออ่านแล้วก็เมินเฉย บางทีก็ลบคอนเม้นต์บ้าง อะไรที่มันไม่สบายใจก็ไม่อยากมองไม่อยากให้มันมารก คือบางคนก็ไปตีกันที่ใต้คลิปเรามันคงดูไม่ดี

“ยอมรับว่าส่วนตัวเป็นคนแรง เป็นคนตรงๆ บางทีมันเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องแต่งหน้าเลย ก็ตอบตรงๆ ไป บางทีก็รีพอร์ทด้วย ซึ่งเค้าก็หายไปนะ มันสบายใจขึ้น สบายหูสบายตา คือไม่ได้หมายความว่าเราอยากจะได้แต่คอมเม้นต์ที่เข้ามาชมเราเท่านั้น แต่เราก็อยากได้อะไรที่มาให้คำแนะนำติติงเพื่อนำไปปรับปรุงกันมากกว่า แต่นี่บางทีเข้ามาด่าต่อว่าอย่างเดียวเลย”

คำแนะนำในการใช้โลกโซเชียลอย่างมีมารยาท น้องนุกแนะนำว่า เราต้องเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน บางคนคิดว่ามันอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ตจะเป็นนักเลงคีย์บอร์ด จะพูดอะไร จะเขียนอะไรยังไงก็ได้ เราไม่คิดว่าคนอื่นหรือคนที่มารับฟังเราจะรู้สึกไม่ดี ซึ่งตนเองก็โดนมาเยอะ บางคนก็ก้าวก่ายสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป ตรงนี้อยากจะให้เคารพซึ่งกันและกัน เหมือนกับที่เราเองก็ไม่เคยไปก้าวก่ายใคร แต่ละคนก็มีพื้นที่ส่วนตัวกันทั้งนั้น ที่สำคัญคืออยากจะให้ใช้คำพูดกันดีๆ ด้วย ใช้ภาษาให้ถูกต้อง อยู่ในกรอบที่ควรเป็นมีมารยาท

tubtim

“ทับทิม มัลลิกา” จากช่อง TubTimTube มียอด subscribe สูงถึง 260,991

“ทับทิม” อดีตสมาชิก VRZO ผ่านเรื่อราวดราม่ามากมาย วันนี้เธอมี Channel เป็นของตัวเองแล้ว และพร้อมให้คำแนะนำที่ดีกับการจัดการกับปัญหาดราม่า เธอกล่าวว่าเธอโชคดีมากเวลา 2 เดือนที่เปิดช่อง TubTimTube เป็นของตัวเอง ก็ยังไม่มีปัญหาดราม่าในช่องเลย “ทับทิมถึงรู้สึกว่าแฮปปี้มากที่ทำคอนเท้นต์เป็นอะไรที่ซอฟท์ๆ ตลกโปกฮา คือดูได้ทั้งครอบครัวเลย”

อย่างไรก็ตามในฐานะที่เคยผ่านเรื่องราวดราม่ามามากมาย และเป็นคนหนึ่งต้องเผชิญกับ Bad comment ลองมาฟังวิธีจัดการจาก “ทับทิม” ดูค่ะ

ใช้วิธีการเพิกเฉยไปเลยมากกว่า ไม่สนใจ เห็นแล้วปล่อยผ่าน แต่ถ้ามีคำหยาบเอ่ยอ้างบรรพบุรุษ อะไรที่มันเกินไป ก็ทำการบล็อกเพราะตรงส่วนนี้ถือว่าเป็นภัยสังคม คือมองว่าน้องๆ บางคนที่เข้ามาอ่านก็อาจจะเกิดการคล้อยตามแล้วจะกลายเป็นประเด็นดราม่าไปด้วยกลายเป็นประเด็นที่มันรุนแรงขึ้นไปอีก จากเรื่องเล็กๆ กลายเป็นเรื่องใหญ่ๆ เราก็จะทำการบล็อกคนที่ดูเป็นอันตรายกับสังคม

“ตัวทับทิมเองก็ผ่านอะไรมาเยอะในการทำงานตรงส่วนนี้ เคยทำผิดพลาดไหม เคย เคยโพสต์อะไรที่บ้าๆบอๆ ไหมเคย เคยโพสต์บ่นโลกไหมเคย ลงๆๆ ไปเพียงแค่ว่าอยากจะระบายโดยไม่คิดอะไร แค่ให้คนอื่นรับรู้ แต่รู้หรือไม่ว่ามันลบไม่ได้

ดังนั้นก็อยากจะฝาก ไม่เฉพาะน้องๆ เท่านั้น ทุกคนที่ใช้โลกโซเชียลฯ ว่าก่อนที่จะโพสต์อะไรลงไปบนอินเตอร์เน็ท คิดเสียว่าสิ่งนั้นจะเป็นเหมือนอะไรที่เราเขียนสักไว้บนหน้าผากอยู่ตลอดเวลาเลย มันลบไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องคิด อย่างเรื่องคอนเท้นต์ก็เหมือนกัน ก่อนที่จะทำอะไรก่อนที่จะเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณะชนต้องคิดมากๆ เราต้องให้ความละเอียดกับตรงนี้มาก ถามว่าเป็นเรื่องน่ารำคาญไหม ก็คิดว่าไม่ถึงขั้นนั้น ก็มองว่ามันก็เป็นกรอบส่วนหนึ่ให้เราอยู่ในสังคมได้สวยงาม ไม่ใช่ว่าคุณอยากจะทำอะไรก็ทำ”

108life

108 Lffe ยอด subscribe สูงถึง 402,618

และอีกชาแนลหนึ่งเพื่อการศึกษาและความบันเทิง 108 Life” ซึ่งมียอด subscribe สูงถึง 402,618 ดำเนินรายการโดย “ดลวัฒน์ ต๊ะปินตา” และ อุษฎี ชิระสุวรรณ (หรือเฟิร์น) ทั้งสองร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการเผชิญกับปัญหาดราม่าในช่องว่า

“ปัญหาดราม่า เด็กไทยนี่ไม่เหมือนเด็กที่อื่นๆ เท่าที่ดูเด็กฝรั่งไม่ค่อยเป็นนะ คือเด็กไทยเขาจะซีเรียสว่า ไปก๊อปปี้ช่องนั้นช่องนี้มารึเปล่า คือมันก็มีความเหมือนกันได้บ้างในบางโอกาส เด็กจะช่างสังเกตมาก แล้วบางทียังมีแฟนคลับของเด็กช่องอื่นมาตีกันในช่องของเรา หรือบางทีก็คิดไปเองว่าช่องเรากับช่องของคนอื่นไม่ถูกกัน คิดไปเอง แต่จริงๆ เราสนิทกันมาก ก็เลยต้องมีการมาเมิร์ชกันบ้าง เพื่อให้รู้ว่าสนิทกันนะไม่ได้มีปัญหากัน เราไม่เข้าใจว่าทำไมเด็กถึงสังเกตอะไรเล็กๆ น้อยๆ ได้เก่งมากขนาดนั้น มันเป็นโลกของการจับผิด เด็กไทยช่างจับผิดมาก และยิ่งไปกว่านั้นก็คือพอมีคนหนึ่งจุดประกายเรื่องนั้น คนอื่นก็คล้อยตามมากันเป็นตับเลยดลวัฒน์ กล่าว

ดังนั้น สิ่งที่ชาแนลนี้จะจัดการได้ก็คือ การลบคอมเม้นต์ตัวปัญหาออกไปเลย เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม “ผมต้องขออนุญาตลบตัดเลย เราลบก่อนเลย แล้วหายจริงๆ ไม่มีมาอีก แต่เราจะไม่ว่าไม่ตอบโต้ เรารักษาน้ำใจ เราเชื่อว่าทุกคนที่เข้ามาอยู่ในช่องเรารักเรา แต่อาจจะมีอะไรบางอย่างที่ไปสะกิดใจเขากลายเป็นอุปทานหมู่ แต่ตรงนี้ต้องบอกว่าไม่ได้ลบกันทุกอัน เราแค่ตัดไฟแต่ต้นลมเท่านั้น” ดลวัฒน์ กล่าว

ด้านเฟิร์น ระบุว่า “คือเด็กไม่เหมือนผู้ใหญ่บางทีเขาไม่ได้ต้องการคำตอบ แต่พอเราไปตอบเขาก็อาจจะเกิดการแปลความผิดไปอีก ดังนั้นการลบจึงจะดีกว่า เหมือนพ่อแม่ดุเขาก็จะหยุดกัน”

pang

“น้องแป้ง” หรือ “นัยรัตน์ ธนไวทย์โกเศส” จากชาแนล zbing z. มียอด subscribe สูงถึง 1,374,507

“น้องแป้ง” หรือ “นัยรัตน์ ธนไวทย์โกเศส” จากชาแนล zbing z. ซึ่งตอนนี้มียอด subscribe สูงถึง 1,374,507  ก็ร่วมแบ่งปันความคิดเห็นกับเราในการจัดการกับปัญหากวนใจในชาแนลด้วย โดยเธอบอกว่า โชคดีมากที่ช่องของเธอนั้นไม่ค่ยอมีปัญหาดราม่าอะไรเลย จะมีก็แต่คนที่ไม่ชอบตนเองอยู่แลวก็จะเขามาระรานบ้าง

ส่วนมากช่องแป้งจะไม่มีดราม่าอะไรเลย อะไรที่มันเป็น Hater คือคนที่ไม่ชอบเราอยู่แล้ว ถ้าเขาเข้ามาปั่นกระแส หรือเข้ามาพูดถึงกระแสในแง่ลบของเรา เราก็จะใช้วิธีไม่สนใจ คนที่ไม่ชอบเรา เราก็จะบล็อกหรือซ่อนคอมเม้นต์ไปเลย คือเราห้ามไม่ได้ที่จะไม่ให้เขาเกลียดเรา แต่บางคนเขาชอบเรา ดังนั้น เราก็ควรที่จะใส่ใจกับคนที่ชอบเรามากกว่า

สำหรับคำแนะนำสำหรับการใช้โลกโซเชียลฯ ที่ดีนั้น “น้องแป้ง” แนะนำว่า การจะคอมเม้นต์อะไรควรที่จะมีขอบเขต ไม่ควรที่จะให้เป็นในทางลบมากเกินไป เพราะบางทีคนทำคอนเท้นต์ก็รู้สึกท้อแท้ใจได้บ้างเหมือนกัน แม้ว่าบางทีเราจะบอกว่าเราไม่สนใจหรอก แต่ว่าพอเราเห็นเราก็ท้อเหมือนกัน

“แรกๆ ก็ยอมรับว่าแป้งเองก็มีปัญหาเรื่องการทำใจอยู่เหมือนกัน แต่หลังๆ ก็เริ่มสตรองขึ้น หันไปใส่ใจคนที่เขารักเรามากกว่าค่ะ”

เหล่านี้คือวิธีการในการจัดการกับ Bad Comment พร้อมกับคำแนะนำในการอยู่ในโลกโซเชียลฯ อย่างมีมารยาทและมีขอบเขต แน่นอนว่าอินเตอร์เน็ตหรือโลกออนไลน์ เปิดกว้างให้เราทำได้สร้างสรรค์อะไรต่างๆ ได้อย่างอิสรเสรี แต่ในทางเดียวกันอิสระนั้นก็ย่อมต้องมีขอบเขตไม่รบกวนและไม่ทำร้ายคนอื่นด้วย เพื่อการอยู่ร่วมกันบนโลกเสมือนจริงนี้เป็นไปด้วยความสุข แฮปปี้กันทุกคนค่ะ.

Copyright © MarketingOops.com


  • 1
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!