ในช่วงที่ผ่านมา Virtual Bank กลายเป็นกระแสใหญ่ของแวดวงธุรกิจการเงิน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการเปิดให้ยื่นคำขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ตั้งแต่ช่วงวันที่ 20 มีนาคมถึง 19 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา โดยมี 5 กลุ่มธุรกิจใหญ่เข้ายื่นคำขอ ซึ่งเราจะมาทำความรู้จัก Virtual Bank และจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรกับธุรกิจการเงินในอนาคต และเราทุกคนในฐานะผู้บริโภคต้องเตรียมรับมืออย่างไร
Virtual Bank แก้ Pain Point การเข้าถึงแหล่งเงิน
“Virtual Bank” หรือที่ในภาษาไทยเรียกว่า “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” อธิบายง่ายๆ ก็คือ ตัวธนาคารจะไม่มีสาขาตามชื่อ แถมไม่มีตู้ ATM เป็นของตัวเอง แต่สามารถใช้บริการผ่านตู้ ATM ของธนาคารอื่นได้ สามารถฝาก-ถอนเงินได้ตามปกติทั้งผ่านแอปฯ บนมือถือหรือผ่านตัวแทนรับฝาก-ถอน (Banking Agent) ซึ่งในต่างประเทศบางแห่งเรียกรูปแบบธนาคารแบบนี้ว่า NeoBank
ซึ่งตัวแทนธนาคาร (Banking Agent) ที่ทำหน้าที่เสมือนสาขาของธนาคาร สามารถดำเนินการได้ทั้ง ฝาก-ถอน-โอน-เติม-จ่าย ถ้าจะให้เห็นภาพชัดๆ ก็เหมือนที่ 7-Eleven สามารถรับฝาก-ถอน-โอน-เติม-จ่าย ให้กับหลายธนาคาร
อ้าว!!! แล้ว Virtual Bank ดียังไง?
Virtual Bank ถือกำเนิดขึ้นที่ต่างประเทศ คาดว่าเริ่มขึ้นในช่วงปี 2009 ด้วย 2 เหตุผลหลัก ทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการรายย่อยที่อาจจะไม่เข้าหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินของธนาคารทั่วไป หรือพ่อค้าแม่ค้าที่มีรายได้เป็นรายวัน Virtual Bank จะเข้ามาช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้รวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยใช้หลักเกณฑ์พฤติกรรมการชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ตรงตามเวลาไม่มีจ่ายเงินช้าเพื่อประเมินความเสี่ยง
รวมไปถึงกลุ่มคนที่อยู่ห่างไกล เดินทางมาธนาคารยากลำบาก Virtual Bank ก็ช่วยให้สามารถเข้าถึงบริการของธนาคารผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือได้อย่างสะดวก ไม่ต้องเดินทางมาที่ธนาคาร
อีกเหตุผลคือการลดต้นทุนให้กับธุรกิจธนาคาร เพราะไม่มีสาขา ทำให้ไม่ต้องลงทุนเรื่องการหาพื้นที่ตั้งสาขาธนาคาร ไม่ต้องลงทุนระบบขนส่งเงินหรือแม้แต่บุคลากรที่ต้องอยู่ประจำสาขาธนาคาร ที่สำคัญไม่มีค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคอย่างค่าน้ำ ค่าไฟ
Virtual Bank มาถึงประเทศไทย
แน่นอนว่า หากพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีการเงินของไทย ต้องบอกว่าก้าวล้ำกว่าหลายๆ ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในการเป็น Digital Banking แต่ก็ยังตั้งอยู่บนหลักเกณฑ์เดิม นั่นทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจธนาคารต้องลงทุนสูง รวมถึงการปล่อยสินเชื่อโดยเฉพาะสินเชื่อวงเงินต่ำสำหรับผู้ประกอบการรายได้น้อย (Micro Finance)
นั่นทำให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สนใจในรูปแบบ Virtual Bank และมีการอนุญาตให้ธุรกิจที่สนใจขอจัดตั้ง Virtual Bank ยื่นคุณสมบัติเพื่อพิจารณาภายใต้หลักเกณฑ์ที่สำคัญ โดยหลักสำคัญของคุณสมบัติจะต้องประกอบไปด้วย
- มี Business Model ที่ตอบโจทย์ Green Line อย่างยั่งยืน
- มีธรรมาภิบาลและวัฒนธรรมด้านความเสี่ยงที่ดี
- มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการด้านดิจิทัล
- มีเทคโนโลยีที่ยืดหยุ่นและคล่องตัว
- สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Data) ที่หลากหลาย
- สามารถบริหารความเสี่ยงจากธุรกิจการเงินได้
- มีฐานะการเงินแข็งแกร่งและผู้ถือหุ้นใหญ่สามารถสนับสนุนด้านการเงินให้ Virtual Bank ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
โดยผู้ขอจัดตั้ง Virtual Bank จะเป็นกลุ่มธุรกิจใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจในภาคการเงินรูปแบบเดิม เช่น ธนาคารพาณิชย์เดิมที่มีอยู่หรือธุรกิจด้านการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) และธุรกิจอื่นที่อยู่นอกภาคการเงิน เช่น ธุรกิจด้านเทคโนโลยีขนาดใหญ่ (BigTech), ธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเงิน (FinTech) หรือกิจการค้าร่วม (Consortium) โดยไม่มีการแบ่งแยกหลักเกณฑ์การพิจารณาและกำหนดโควตาจำนวนใบอนุญาตตามประเภทผู้ขออนุญาตจัดตั้ง
ที่สำคัญ ธปท.ไม่อนุญาตให้ Virtual Bank ดำเนินการจัดตั้งสาขาหรือมีเครื่อง ATM และ CDM ของธุรกิจ Virtual Bank เอง โดยคาดว่า Virtual Bank จะพร้อมเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2568
5 กลุ่มธุรกิจที่ยื่นขออนุญาต ใครเป็นใครบ้าง?
หลังจากปิดรับการยื่นขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ในวันที่ 19 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ทำให้ได้เห็นหน้าตาของกลุ่มธุรกิจที่ขออนุญาตชัดเจนขึ้น โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ ซึ่งจะขอเรียกชื่อใหม่เพื่อให้เข้าใจและเห็นภาพของกลุ่มให้ชัดเจนขึ้น ประกอบไปด้วย
- กลุ่มพี่ใหญ่ ประกอบไปด้วย ธนาคารกรุงไทย (KTB), AIS, GULF, OR
- กลุ่ม Lightnet ประกอบไปด้วย TLightnet Group บริษัท FinTech ของไทย, WeLab จากฮ่องกง
- กลุ่มธนาคาร ประกอบไปด้วย SCBX, KakaoBank จากเกาหลีใต้, WeBank จากจีน
- กลุ่มเจ้าสัว ประกอบไปด้วย บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการ TrueMoney, Ant Financial Services Group ในเครือ Alibaba
- กลุ่ม BTS ประกอบไปด้วย VGI, ธนาคารกรุงเทพ (BBL), SEA Group, ไปรษณีย์ไทย

เมื่อเจาะดูแต่ละกลุ่ม โดยเริ่มจากกลุ่มธนาคารจะพบว่า มีการรวมตัวกันของกลุ่มธนาคารที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี Digital Banking ทั้ง SCBX ที่เป็นที่ทราบกันดีว่ามีความเชี่ยวชาญธุรกิจธนาคาร เสริมทัพด้วย KakaoBank และ WeBank ที่เรียกได้ว่ามีความเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจ Virtual Bank จากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้การทำธุรกิจ Virtual Bank ของ SCBX สามารถเข้าถึงทุกกลุ่มคนได้ง่าย
โดย KakaoBank เป็นธนาคารสัญชาติเกาหลีใต้ มีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 22 ล้านคน ขณะที่ WeBank เป็นธุรกิจภายใต้ เทนเซ็นต์ กรุ๊ป (Tencent Group) สัญชาติจีน มีจำนวนผู้ใช้งานราว 365 ล้านคน และ SCB มีฐานผู้ใช้งานผ่าน Mobile Banking ราว 16 ล้านคน
แน่นอนว่าด้วยศักยภาพของ SCB เมื่อผสานความเชี่ยวชาญด้าน Virtual Bank ของพันธมิตรอีก 2 รายน่าจะช่วยให้กลุ่มนี้สามารถสร้างการเติบโตและรวดเร็วได้ไม่ยาก ยิ่งช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับกลุ่มนี้
จับตาผู้เล่นหน้าใหม่ที่กล้าหาญท้าชิง
สำหรับกลุ่ม Lightnet Group ต้องบอกว่าเป็นผู้เล่นหน้าใหม่เมื่อเทียบกับผู้เล่นรายอื่นๆ ที่ขออนุญาต แต่หากดูเบื้องหลังของกลุ่มนี้อาจจะต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เนื่องจาก Lightnet Group เป็นบริษัทคนไทยที่หันไปเติบโตในตลาดต่างประเทศ และเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับ Financial โดยเฉพาะ
เรามาดูทางด้าน WeLab กันบ้าง ซึ่งบอกก่อนว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับ Tencent Group แม้ว่าจะมีคำว่า We ขึ้นต้น แต่ WeLab เป็นผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญด้าน Virtual Bank โดยเฉพาะการพัฒนา Virtual Bank ในฮ่องกงและอินโดนีเซีย ส่งผลให้มีผู้ใช้บริการกว่า 65 ล้านคนทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและมีการอนุมัติสินเชื่อไปแล้วกว่า 5 แสนล้านบาท
เมื่อดูชื่อชั้นของทั้ง 5 กลุ่มต้องยอมรับว่ากลุ่ม Lightnet เป็นกลุ่มเดียวที่ไม่มี ecosystem เมื่อเทียบกับทั้ง 4 กลุ่ม แต่อย่างเพิ่งดูเบาไป เพราะต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้ Lightnet Group เคยมีแผนเข้าถือหุ้น SABUY Technology แต่ภายหลังก็มีการพับแผนการเข้าถือหุ้นไป ก็ไม่ได้หมายถึง Lightnet Group จะเป็นพันธมิตรกับ SABUY ไม่ได้ ซึ่งจุด Touch Point ของ SABUY ก็มีไม่น้อยกว่า 1.5 แสนจุด
แม้จะไม่มีการยืนยันว่า ecosystem ของ Lightnet จะเป็นรูปแบบใด แต่มีความเป็นไปได้ที่พันธมิตร ecosystem ของ Lightnet น่าจะเป็น SABUY ซึ่งถ้าเป็นจริงความสามารถการแข่งขันด้าน Virtual Bank ของกลุ่มนี้เรียกได้ว่าไม่ธรรมดาเช่นกัน
Big Tech ไทยบุกตลาดการเงินเต็มตัว
ขณะที่กลุ่มผู้เล่นรายใหญ่อย่างกลุ่มพี่ใหญ่เป็นที่น่าจับตามองอย่างมาก โดยเป็นการรวมตัวของกลุ่มธุรกิจที่เป็นผู้นำตลาด ไม่ว่าจะเป็น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ผู้นำในธุรกิจโทรคมนาคม ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และแน่นอนเป็นหนึ่งในเครือของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ที่ถือเป็นผู้นำด้านพลังงานของประเทศไทย

รวมไปถึงการได้กลุ่มธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงิน และยังได้ความแข็งแกร่งของ OR เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับ Virtual Bank คาดว่าจะเข้ามาช่วยเสริมบริการแอปฯ เป๋าตังและถุงเงินที่ปัจจุบันมีจำนวนผู้ใช้รวมกว่า 59 ล้านคน ส่วน ADVANC มีผู้ใช้รวมกว่า 50.6 ล้านราย ขณะที่ OR มีสมาชิกบลูการ์ดราว 7.9 ล้านคน
กลุ่มได้ว่ากลุ่มนี้มีภาษีที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยีที่ AIS มีความเชี่ยวชาญ รวมไปถึงยังมีความเชี่ยวชาญด้านการเงินจากธนาคารกรุงไทย เมื่อผสานกับ OR จะช่วยให้เห็น ecosystem ที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้บอกเลยว่ามีจุด Touch Point มากมายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นแอปฯ เป๋าตังและถุงเงิน รวมไปถึงแอปฯ ของ AIS และพันธมิตรอีกมากที่ช่วยให้เข้าถึงผู้บริโภคฝั่งออนไลน์
ส่วนทางด้านออฟไลน์ แค่ชื่อ OR ก็เห็นภาพ Touch Point ทั่วประเทศ ทั้งสถานีบริการน้ำมัน ไปจนถึงร้านอาหาร ร้านกาแฟ ดังนั้นกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่มีความครบเครื่องเรื่อง Virtual Bank ได้ไม่ยากเย็น
จากร้านสะดวกซื้อสู่บริการการเงินที่ครบวงจร
สำหรับกลุ่มเจ้าสัว เป็นอีกกลุ่มที่เรียกได้ว่ามี ecosystem พร้อมชนิดที่หลับตาก็เห็นภาพออก โดยกลุ่มนี้มีเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) โดยบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ในฐานะผู้ให้บริการ “ทรูมันนี่ (TrueMoney)” เป็นพระเอก ร่วมกับพันธมิตรด้านการเงินของจีนอย่าง Ant Financial Services Group ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้าน FinTech ของจีนโดยเป็นบริษัทลูกของ Albaba ที่เรารู้จักกันดี

ชื่อของ TrueMoney น่าจะเป็นที่รู้จักกันดี ยิ่งเมื่อผสานความโดดเด่นของ Ant Financial Services Group ที่มีความเชี่ยวชาญในการนำนวัตกรรมมาปรับใช้กับ Virtual Bank ทำให้กลายเป็นจุดแข็งที่สำคัญ โดย TrueMoney ที่มีฐานลูกค้าผู้ใช้กว่า 27 ล้านคนทั่วประเทศ สามารถทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบ Digital Banking ได้ รวมไปถึงยังสามารถใช้จ่ายผ่านสาขา 7-Eleven กว่า 14,500 สาขาและโลตัส ซูเปอร์มาร์เก็ตกว่า 2,400 สาขา
หากนึกภาพ ecosystem ของกลุ่มนี้ไม่ออก ลองหลับตาแล้วคิดดูว่า 7-Eleven มีบริการด้านการเงินอะไรบ้าง ด้วยการเป็น Banking Agent ทำให้ 7-Eleven สามารถทำธุรกรรมการเงินได้เกือบทั้งหมด ทั้งเปิดบัญชี ฝาก-ถอน-โอน-เติม-จ่าย จะขาดก็เพียงบริการด้านสินเชื่อ โดยล่าสุด 7-Eleven มีการเปิดทดลองใช้การชำระเงินผ่านการสแกน QR Code ด้วยแอปฯ ธนาคาร คาดว่าเป็นการเตรียมลู่ทางไปสู่การใช้งาน Virtual Bank
ไม่เพียงแค่ 7-Eleven เท่านั้น แต่กลุ่มนี้ยังมีจุด Touch Point ที่เป็นห้างค้าปลีกและค้าส่งขนาดใหญ่ นั่นทำให้การเข้าถึงผู้บริโภคไม่ใช่เรื่องเกินความสามารถ เผลออาจจะเข้าถึงได้ดีกว่าทุกกลุ่ม เพราะการขยายตัว 7-Eleven ยังคงเพิ่มสาขาใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
ต่อยอดการเดินทางและ e-Commerce
ส่วนกลุ่มสุดท้ายจะเป็นกลุ่ม BTS ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายที่สุด โดยเป็นการรวมตัวของบริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ธุรกิจในเครือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ร่วมกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL, Sea Group จากสิงคโปร์ และไปรษณีย์ไทย

โดย VGI มีประสบการณ์รับบริการชำระผ่านบัตรแรบบิท (Rabbit Card) การทำธุรกิจ Virtual Bank จะช่วยให้เป็นส่วนหนึ่งในการชำระเงินผ่านระบบ Dvigital Banking เมื่อร่วมกับทางธนาคารกรุงเทพ (BBL) จะยิ่งช่วยให้การชำระผ่าน Digital Banking ทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และยังช่วยเสริมความแกร่งในการทำธุรกิจบริการด้านสินเชื่อที่มีธนาคารกรุงเทพอยู่เบื้องหลัง
นอกจากนี้การที่มี Sea Group เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมจัดตั้ง Virtual Bank จะช่วยขยายความสามารถในการชำระเงินได้กว้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ Sea Group มีอาณาจักรเกมมากมายอย่าง Free Fire, ROV รวมไปถึงการให้บริการ e-Commerce อย่าง Shopee ยิ่งช่วยให้การชำระเงินผ่าน Virtual Bank ทำได้ง่ายสะดวกมากยิ่งขึ้น
เพื่อให้ ecosystem สมบูรณ์แบบ ยังได้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ecosystem Vertual Bank และจะช่วยขยายระบบนิเวศทางธุรกิจของไปรษณีย์ไทยผ่านเครือข่ายสาขากว่า 1,600 แห่งทั่วประเทศ และพนักงานส่งไปรษณีย์ 25,000 คน โดยมีแผนให้สาขาของไปรษณีย์เป็นจุดทำธุรกรรมฝากถอนเงิน รวมถึงการให้บริการสินเชื่อกับกลุ่มเป้าหมายแรงงานข้ามชาติและผู้ประกอบการที่ไม่มีสลิปเงินเดือน
เป็นอีกกลุ่มที่มี ecosystem เต็มระบบทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นจุดบริการรถไฟฟ้า BTS และสาขาของธนาคารกรุงเทพ รวมไปโลกออนไลน์ทั้งในเกมและช้อปปิ้งออนไลน์ เด็ดที่สุดคือจุด Touch Point ที่ได้ไปรษณีย์ไทยมา ซึ่งความพิเศษอยู่ที่เป้นจุด Touch Point ที่สามารถไปกดกริ่งหน้าบ้านได้เลย แถมเข้าถึงทุกบ้านได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะอยู่ห่างไกลขนาดไหนก็ตาม
ถึงตรงนี้แม้ว่า Virtual Bank จะยังไม่ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ แถมยังมีข้อมูลที่ไม่นิ่ง แต่คาดว่าทั้ง 5 รายน่าจะได้ใบอนุญาตครบ เนื่องจากจะช่วยให้ตลาดสามารถแข่งขันกันอย่างเต็มที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในการเข้าถึงบริการทางด้านการเงิน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจรายย่อย SME หรือบรรดาพ่อค้าแม่ค้าร้านค้าเล็กๆ รวมไปถึงพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต่างๆ
แน่นอนว่า แม้ Virtual Bank จะเน้นการทำบนระบบออนไลน์เป็นหลัก แต่ ecosystem ที่มีจำนวนจุด Touch Point มากมายก็เป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้การใช้บริการด้านการเงินเข้าถึงทุกคน สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย ขึ้นอยู่ที่ว่า
ใครจะทำได้ถูกใจผู้บริโภคมากกว่ากัน!!!