เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีบทความออกมาที่ได้บอกว่า การที่สื่อ Digital TV ไทยนั้น Live ผ่าน Facebook โดย Facebook นั้นจ่ายเงินให้ เป็นการฆ่าตัวตายของสื่อ Digital TV นั้น ซึ่งจริง ๆ แล้วจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ หรือมองอีกมุมนึงคือทางรอดของคนทำทีวีไทย ที่จะฝ่าคลื่นของ Digital ไปได้
ด้วยการมาถึงของ Digital นี้ สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นทำวงการต่าง ๆ เกิดการสั่นสะเทือนและล้มอุตสาหกรรมเก่า ๆ ไปหลาย ๆ อย่างเริ่มจาก อุตสาหกรรมเพลง อุตสาหกรรมภาพยนต์ อุตสาหกรรมถ่ายภาพ จนมาถึงอุตสาหกรรมรถยนต์และธนาคารในปัจจุบัน และผลพวกจากการเปลี่ยนนั้นก็ไม่พ้นสื่อแบบเดิม ๆ เช่นสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อทีวี ที่กำลังจะหมดลมหายใจเพราะปรับตัวไม่ทัน แต่สื่อที่ปรับตัวทันนั้นก็สามารถอยู่รอดได้ต่อไป การปรับตัวนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่จำให้สื่อในยุคนี้อยู่รอดต่อไปได้ สื่อทีวีและ Digital TV นั้นเป็นสื่อแบบหนึ่งที่ต้องเกิดการปรับตัว เพราะในยุคที่ผู้บริโภคหรือคนที่ดูทีวีนั้นไม่ได้มีความสนใจในการดูทีวีเหมือนอย่างเช่นเคย ทุกอย่างในยุคนี้ถ้าไม่ได้อยู่ในมือผู้บริโภคแบบตามความต้องการทันที ก็ย่อมที่จะหายไปจากความสนใจได้ ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้สื่อเหล่านี้ตายไปในที่สุด
การปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมากในยุคนี้ การคิดว่าจะต้องกอดช่องทางเดิมไว้ที่นับวันนั้นจะมีแต่คนดูน้อยลงเรื่อย ๆ ทำการขายโฆษณาหรือหารายได้น้อยลงได้เรื่อย ๆ นั้นกำลังกลายเป็นความคิดที่ผิดอย่างมหันต์ วิธีการคิดใหม่คือการที่ต้องคิดว่าจะกระจายเนื้อหาตัวเองไปสู่คนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายให้สะดวกที่สุดได้อย่างไร มากกว่าการดึงผู้บริโภคนั้นให้มาดูเนื้อหาที่รายการตัวเอง วิธีการคิดนี้เป็นวิธีการคิดแบบเชิงรุก คือรุกเข้าไปผู้บริโภคให้ถึงตัวเลย ซึ่งดีกว่าการที่รอให้ผู้บริโภคนั้นเข้ามาหาตัวเอง หรือรอมาชมรายการตัวเองตามเวลาที่ระบุไว้ ซึ่งเป็นการทำกลยุทธ์เชิงรับให้ผู้บริโภคมาหาตัวเอง วิธีนี้จะใช้ได้ต่อเมื่อรายการหรือเนื้อหานั้นเป็นเนื้อหาที่พลาดไม่ได้ และคนกลัวที่จะพลาดรายการนั้น เช่น ละครที่กำลังเป็น Talk of town หรือรายการถ่ายทอดสดที่คนรับชมเป็นล้าน อย่างเช่นการแข่งกีฬาต่าง ๆ (ซึ่งในยุคนี้ก็มีมา Live สดผ่านเครื่องมือออนไลน์ไปแล้วอย่างเช่น NFL ที่ทำการถ่ายทอดสดผ่าน Twitter ในฤดูกาลนี้) ผู้บริโภคในยุคนี้ต้องการอะไรที่สะดวกสะบาย ง่ายต่อการหาต่อการดู และมีความต้องการที่จะอยากได้อะไร เมื่อไหร่ก็ได้
การปรับตัวแรกสุดคือความคิดที่ว่า เนื้อหานั้นไม่จำเป็นต้องตั้งอยู่ที่ใด ที่หนึ่งตลอดเวลา แต่สามารถเปลี่ยนรูปแบบและกระจายตัวเนื้อหานั้นไปยัง Platform หลาย ๆ แบบได้เช่นกัน ซึ่งนี้เป็นการตอบสนองให้ผู้บริโภคนั้นสามารถดูเนื้อหาตามพฤติกรรมของ Platform ที่ตัวเองสนใจได้ วิธีการทำนั้นก็มีหลาย ๆ แบบที่ทำกันคือ การถ่ายทอด Teaser หรือตัวอย่างรายการที่จะมีก่อน รายการจริงว่าจะมีเมื่อไหร่, การทำการ Live ก่อนรายการจริง เพื่อกระตุ้นความสนใจ และการตัดรายการที่ออกฉายไปแล้วมาทำให้เป็นรูปแบบคลิปต่าง ๆ เพื่อดึงให้ไปดูรายการย้อนหลัง หรือสามารถติดตามรายการได้ต่อไป
การปรับตัวที่สองคือการสร้างเนื้อหาให้เหมาะสมกับ Live ขึ้นมา Live นั้นบางทีก็ไม่ได้เหมาะกับการเอารายการนั้นมาให้คนชมสด ๆ เลยทันที แต่เหมาะกับรายการที่ต้องการปฏิสัมพันธ์ขึ้นมาเหมือนกัน หรือเป็นเหตุการณ์ที่คนนั้นต้องการติดตามชมหรือมีความสำคัญต่อการดูมาก และเวลาดูนั้นบางทีจะไม่เหมาะกับการดูผ่านทีวี ในต่างประเทศนั้นจะทำรายการถ่ายทอดสดผ่าน Live เมื่อเป็นข่าวด่วน หรือข่าวที่สังคมนั้นกำลังติดตามและอยากได้คำตอบ หรือรายการถ่ายทอดสดที่อยากให้ผู้คนได้ติดตามมากที่สุด ที่มีคนติดตามมากมาย ทำให้รายการพยายามถ่ายทอดเนื้อหาตัวเองได้มากที่สุด ดูตัวอย่างอย่าง ข่าวของ Sky ที่อังกฤษ หรือการถ่ายทอด NFL ผ่าน Twitter (ซึ่งเมื่อเทียบกับ Olympic ที่หวังการถ่ายทอดทีวี ทำให้กระแสนั้นหายไปอย่างสิ้นเชิงในออนไลน์) นอกจากนี้ยังมีการทำคลิปถ่ายทอดพิเศษให้คนได้ติดตามเช่น Buzzfeed ที่ทำวิดีโอ Live การเอาหนังยางมามัดแตงโม จนแตงโมนั้นแตก ซึ่งมีผู้ติดตามมากมาย
ตอนนี้สื่อออนไลน์อย่าง Youtube, Facebook, Twitter หรือแม้แต่ Snapchat ก็มุ่งให้ผู้ผลิตสื่อนั้นต่างเอา Content หรือทำ Content ลงใน Live ของตัวเอง เพื่อแย่งชิงฐานผู้ใช้ไว้ให้ได้มากที่สุด และให้คนติดตามดูวิดีโอนั้น วิธีการคือการจ้างทั้งผู้ผลิตสื่อและดารานั้นทำเนื้อหาลง Live เพื่อให้คนนั้นติดตามขึ้นมาได้ นอกจากนี้ถ้ามองในแง่ดีด้วยพลังของ Live ถ้า Content นั้นดีมาก จะเกิดพลังส่งต่อและการดูต่ออย่างมหาศาล เช่นการ Live Candace Payne ที่ใส่หน้ากาก Chewbacca จนมีผู้ชมมากมายกว่า 157.6 ล้านวิวเลยทีเดียว ซึ่งการดูรายการโทรทัศน์นั้นเทียบไม่ได้เลย
ทั้งนี้การมองช่องทางออนไลน์เป็นศัตรูหรือมองเป็นดาบพิฆาตตัวเองนั้นจะเป็นการฆ่าตัวตายมากกว่าการมองช่องทางออนไลน์ให้กลายเป็นโอกาสที่จะขยายฐานผู้ชม และเอาเนื้อหาไปอยู่กับผู้ชมได้ทุกที่ทุกเวลา การมองวิกฤตเป็นโอกาสและปรับตัวให้ได้นั้นจึงเป็นสิ่งคัญในยุคนี้