สมัยก่อนในยุค 1950 ที่นมยังมีบรรจุอยู่เฉพาะในขวดแก้ว ถ้าจะดื่มนมสักขวด เราต้องอยู่ใกล้จุดที่มีการเลี้ยงโคนม ซึ่งหากอยู่ไกลออกไป ก็จะไม่มีคนขี่จักรยานมาส่งนมให้ ด้วยเหตุนี้ Dr Ruben Rausing ผู้ก่อตั้งบริษัท Tetra Pak ชาวสวีดิช จึงได้คิดว่า ทำอย่างไรให้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารอาหารอย่างนมส่งไปถึงคนที่ต้องการ จนนำไปสู่การเป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมระบบ UHT
ปัจจุบันบริษัท Tetra Pak ได้ดำเนินการมาเป็นเวลา 72 ปีแล้ว โดยสร้างโซลูชันครบวงจรเกี่ยวกับอาหารและเครื่องดื่ม เช่น เครื่องจักรในไลน์การผลิต เครื่องบรรจุ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ บนวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ขององค์กรซึ่งไม่เคยเปลี่ยนตั้งแต่เริ่มดำเนินการ นั่นคือพันธกิจในการ ‘making food safe’ และ ‘available everywhere’ หรือ ทำให้อาหารปลอดภัยและเข้าถึงได้สะดวกทุกที่ทุกเวลา
และด้วยจุดเริ่มต้นเกี่ยวกับนวัตกรรมด้านอาหารและความยั่งยืนซึ่งนั่นคือดีเอ็นเอของ Tetra Pak นี้เอง จึงนำมาสู่การที่ Tetra Pak เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตและบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีเป้าหมายชัดเจนด้านความยั่งยืนในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ทำคนเดียวไม่ได้ ซึ่งเรามีโอกาสได้สนทนากับ คุณปฏิญญา ศิลสุภดล ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน ประจำประเทศไทยและเวียดนาม ที่ได้มาเล่าให้เราฟังถึงแพสชั่นของ Tetra Pak ในการทำงานกับหลายภาคส่วนเพื่อสร้างความร่วมมือที่ต่อเนื่องและทำให้เป้าหมายด้านความยั่งยืนเกิดขึ้นจริง
ปกป้องทุกคุณค่า: อาหาร ผู้คน และโลก
จากแนวคิดในเชิงความยั่งยืนด้านอาหารที่ Tetra Pak มี ซึ่งแกนหลักคือ ‘ทำให้อาหารปลอดภัย เข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา’ ในการทำกิจกรรมใดๆ ของบริษัท Tetra Pak มี Brand Promise หรือ คำมั่นสัญญาของแบรนด์คือ ‘Protects What’s Good’ หรือ ‘ปกป้อง ทุกคุณค่า’ ซึ่งประกอบไปด้วย การปกป้องอาหาร การปกป้องผู้คน และการปกป้องโลก
“จาก Brand Promise ของเราตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เรานำมาทำแผนกลยุทธ์และเรื่อง Sustainability” คุณปฏิญญาอธิบาย “โดยใช้หลักการของ UNSDG (United Nations Sustainable Development Group) เป็นกรอบในการทำงาน ทำให้เราสามารถสร้างแนวทางในเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนได้ชัดเจนทั้งหมด 5 แนวทางด้วยกัน
“อันแรกสุดก็คือเรื่องของการให้ความสำคัญกับระบบอาหารที่ยั่งยืน นั่นคือ Food systems ส่วนการปกป้องโลกก็จะประกอบไปด้วย การลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate เศรษฐกิจหมุนเวียน การใช้วัสดุอย่างคุ้มค่า และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Circularity การปกป้องธรรมชาติ หรือ Nature ทั้งหมดเพื่อส่งผลในทางบวกกลับไปสู่สังคมและผู้คน เป็นความยั่งยืนทางสังคม หรือ Social Sustainability นี่คือ 5 แนวทางหลักในการทำงานด้านความยั่งยืนของ Tetra Pak”
ทั้งนี้แผนกลยุทธ์ในการทำงานของ Tetra Pak ทั้งหมดในทุกๆ 10 ปีจะมีการปรับแผนกลยุทธ์หนึ่งครั้ง โดยปัจจุบันอยู่ในรอบปี 2020-2030 ซึ่งยังเน้นในแนวทางดังกล่าว
ความคืบหน้าตามกรอบแนวทาง 5 ประเด็นหลักจากรายงานด้านความยั่งยืนปี 2023
ในทุกๆ ปี Tetra Pak จะจัดทำรายงานด้านความยั่งยืนเพื่อแสดงถึงความคืบหน้าของบริษัทเทียบกับวาระด้านความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นไปที่ 5 ประเด็นที่เชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งฉบับล่าสุดที่เพิ่งออกมาในวันสิ่งแวดล้อมโลกที่ผ่านมา คือฉบับที่ 25 ซึ่งเป็นผลสรุปของปี 2023
“เป้าหมายความยั่งยืนที่เราวางไว้จากกรอบแนวทางทั้ง 5 แนวทาง เราก็จะดูบริบทในแต่ละประเทศว่าเรื่องไหนเป็นเรื่องที่สำคัญเร่งด่วน และมีการเรียงลำดับความสำคัญว่าเราจะทำอะไรก่อนหลัง ใน 5 แนวทางนี้ เนื่องจากแต่ละแนวทางเราชัดเจนมากและมีตัวดัชนีวัด ซึ่งมีการมอนิเตอร์ตลอดเวลา ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว สิ่งที่เรามองเห็นความสำคัญคือ ทั้ง 5 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงถึงกัน สิ่งที่เราพยายามทำคือ ก่อให้เกิดความสมดุลในการขับเคลื่อนทั้ง 5 เรื่อง ในจังหวะและบริบทที่เหมาะสม เช่น ประเทศไทยอาจจะเป็นจังหวะหนึ่ง เวียดนามอาจจะเป็นอีกจังหวะหนึ่ง แต่ละประเทศต่างกันไป มุ่งเน้นความสมดุลและเชื่อมโยง โดยมีการมอนิเตอร์ผลอย่างต่อเนื่อง” คุณปฏิญญาบอกก่อนลงรายละเอียดแต่ละประเด็น
Food systems ระบบอาหาร
ด้วยการเป็นผู้นำเสนอโซลูชันอุปกรณ์เครื่องจักรในไลน์การผลิต การบรรจุ รวมถึงบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ให้กับลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ Tetra Pak จึงสามารถนำเสนอเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพ โซลูชันที่ลดการใช้น้ำ ลดการใช้พลังงาน รวมถึงลดการสูญเสียอาหารในขั้นตอนการผลิตและบรรจุได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเด่นที่ทำให้ Tetra Pak ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามาตลอดกว่า 45 ปีของการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย
“จากความชำนาญและเทคโนโลยีที่บริษัทได้พัฒนาต่อเนื่องมา ทำให้เราสามารถพัฒนาโซลูชันที่ช่วยเก็บอาหารได้อย่างยาวนานและมีความปลอดภัยโดยไม่ต้องแช่เย็นหรือใช้สารกันบูด รวมถึงการขนส่งอาหารเพื่อเข้าถึงในจุดที่เข้าถึงยาก เช่น พื้นที่ภูเขาหรือเกาะที่ต้องการอายุการเก็บรักษาที่นานและมีห่วงโซ่การขนส่งที่ยาว เพื่อลดการเสียสภาพของอาหาร (food loss) ตรงนี้เทคโนโลยีของบริษัทก็มีส่วนร่วมในการไปสนับสนุนให้เกิดโครงการดีๆ ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เช่น โครงการนมโรงเรียน หรือการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมในประเทศไทย เป็นต้น”
Circularity การหมุนเวียนทรัพยากร
Circularity หรือการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน คือเรื่องที่เป็นความเร่งด่วนและมีความสำคัญอันดับหนึ่งสำหรับประเทศไทย ซึ่งบทบาทของ Tetra Pak คือเป็น Facilitator หรือเป็น Transformation Leader ผู้นำในการสร้างนวัตกรรมเพื่อความเปลี่ยนแปลงตรงนี้
“บทบาทของเราจะเป็นลักษณะสนับสนุน อำนวยความสะดวก เชื่อมโยง เพื่อให้แต่ละคนรู้จักกัน รวมถึงให้ความสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยี โดยเฉพาะในส่วนกระบวนการรีไซเคิล เนื่องจากเราเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ เราก็จะมีการพัฒนาและวิจัยกระบวนการรีไซเคิล ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ตรงนี้เราก็พยายามจะขยายความรู้ให้กับผู้ประกอบการรีไซเคิลในประเทศไทย ซึ่งก็จะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เพราะมีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน”
โดยสิ่งที่ Tetra Pak ทำในการขับเคลื่อนโซลูชันการหมุนเวียนทรัพยากรโดยเฉพาะในบริบทของปัญหาการจัดการขยะในประเทศไทย ได้แก่
สร้างความร่วมมือและการทำงานร่วมกัน Tetra Pak ทำงานร่วมกับพันธมิตรในทุกภาคส่วนรวมถึงรัฐบาล องค์กรรีไซเคิล ชุมชน และภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการรีไซเคิล ด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานเหล่านี้ Tetra Pak มุ่งเป้าที่จะปรับปรุงระบบการรวบรวมและเพิ่มอัตราการรีไซเคิล
สร้างกลไกการตลาดเพื่อเพิ่มอัตราการซื้อขายบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว สำหรับในภาคอุตสาหกรรม ได้ร่วมมือกับแบรนด์ชั้นนำในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ก่อตั้ง เครือข่ายองค์กรความร่วมมือจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน (Packaging Recovery Organization Thailand Network) หรือ ‘PRO-Thailand Network’ เพื่อสร้างระบบซื้อขายบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วซึ่งรวมถึงกล่องเครื่องดื่มใช้แล้ว เพื่อการจัดการอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในเชิงธุรกิจ
สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์รีไซเคิล แนะนำเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการรีไซเคิล สนับสนุนด้านการออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่า และการประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานและผู้บริโภคหันมาใช้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลมากขึ้น
Climate สภาพอากาศ
คุณปฏิญญาเล่าว่า ในระดับโลก การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่คุณค่าของ Tetra Pak ลดลง 20% และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินงานของบริษัทลดลงมากถึง 47% นับตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งผลที่ได้นี้แสดงให้เห็นว่าการทำงานของ Tetra Pak เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องตามเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในการดำเนินงานของบริษัทภายในปี 2030 และสอดคล้องกับความมุ่งมั่นระยะยาวของบริษัทในการทำงานร่วมกับซัพพลายเออร์ ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ และไปสู่การบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตลอดห่วงโซ่คุณค่าภายในปี 2050 ดังจะเห็นได้จากการเพิ่มการใช้พลังงานบริสุทธิ์ (renewable energy) ให้มากที่สุดตามข้อกำหนดทางกฎหมายของประเทศที่เราดำเนินงานอยู่
“ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 27 ตลาดหลัก หรือหนึ่งในกว่า 160 ประเทศที่ Tetra Pak ได้ดำเนินกิจการอยู่ เราจึงมีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการดำเนินงาน ผลิตภัณฑ์ และ value chain ยกตัวอย่างเช่น การนำเอาโซลาร์เซลมาใช้กับโรงงานในมาตรฐานที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้ได้ การทำงานร่วมกับลูกค้าในการส่งมอบอุปกรณ์และเครื่องจักรในไลน์การผลิตที่ช่วยลดการใช้พลังงาน ฝาที่ทำจากพลาสติกชีวภาพมาแนะนำให้กับลูกค้า รวมไปถึงการทำงานด้านการจัดเก็บและรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่ม เพื่อลดการนำเอากล่องเครื่องดื่มใช้แล้วไปเผาหรือฝังกลบซึ่งก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก”
Nature ธรรมชาติ
การฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การฟื้นฟูสภาพป่าในบราซิล 1,500 เฮกเตอร์ ซึ่งในประเทศไทยแม้ว่าอาจจะยังไม่ได้มีโครงการที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องการฟื้นฟูสภาพธรรมชาติ แต่ในกระบวนการผลิต มีการแนะนำเทคโนโลยีในการกักเก็บและไม่ปล่อยสารระเหยออกไปสู่สภาพแวดล้อมจากเครื่องจักรบางชนิด เป็นต้น
Social sustainability ความยั่งยืนทางสังคม
เช่นเดียวกับในทุกๆ ประเทศที่ Tetra Pak ดำเนินกิจการอยู่ Tetra Pak มุ่งเป้าต่อเนื่องเรื่องความยั่งยืนในประเด็นความร่วมมือเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและต่อชุมชนในไทย โดยให้ความสำคัญเรื่องการหมุนเวียนทรัพยากรและการรีไซเคิล โดยทำงานร่วมกับองค์กรพันธมิตร ยกตัวอย่างเช่น มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย บิ๊กซี และผู้ประกอบการรีไซเคิล ในการรวบรวมกล่องเครื่องดื่มที่ใช้แล้วในปี 2023 กว่า 50 ตัน ผ่านโครงการ ‘เก็บกล่องสร้างบ้าน’ เพื่อส่งมอบให้โรงงานรีไซเคิลผลิตเป็นแผ่นหลังคาและวัสดุก่อสร้าง อาทิ อิฐบล็อก วงกบประตูหน้าต่าง ช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัย ซึ่ง Tetra Pak ได้ดำเนินโครงการนี้ต่อยอดมาจากโครงการหลังคาเขียวที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2009 และมีการส่งมอบแผ่นหลังคาไปแล้วกว่า 68,000 แผ่น
ความท้าทายและการนำประสบการณ์ด้านความยั่งยืนระดับโลกมาใช้ในประเทศไทย
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า เป้าหมายความยั่งยืนที่ Tetra Pak วางไว้จากกรอบแนวทางทั้ง 5 ที่เหมาะกับประเทศไทยจริงๆ ณ เวลานี้ก็คือเรื่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นจุดที่บริษัทให้ความสำคัญค่อนข้างมาก คุณปฏิญญาบอกว่า ดังนั้นการตั้งเป้าหมายระยะสั้นสำหรับประเทศไทยในปี 2025 หรือ 2568 จะประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลักด้วยกัน ได้แก่
- การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการรีไซเคิล – Tetra Pak สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการรีไซเคิลทั่วโลก ซึ่งรวมถึงในประเทศไทย โดยร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรท้องถิ่นเพื่อจัดตั้งศูนย์รวบรวมและรีไซเคิลและปรับปรุงแนวทางการจัดการขยะ
- การสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการรีไซเคิล – แนะนำเทคโนโลยีการผลิต การตลาด การสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน
- การผลักดันให้เกิดการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน – ยึดหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) ในการดำเนินงาน มุ่งเน้นการจัดการตลอดช่วงชีวิตของบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางคือการเก็บกลับ การรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วเพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในประเทศไทย
ซึ่งทั้ง 3 ระดับก็มีความท้าทายแตกต่างกันไป
“ในบริบทเรื่องนโยบาย ก็คือความร่วมมือในภาคอุตสาหกรรม ความเห็นพ้องต้องกัน แนวทางที่ดำเนินการร่วมกัน และการกำหนดร่วมกับภาครัฐ ตรงนี้ก็มีความท้าทายในเรื่องของมุมมองที่แตกต่าง แล้วในฐานะที่เราจะเป็นผู้นำในเรื่องของการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืน เราจำเป็นที่จะต้องรับฟังความคิดเห็น และปรับแผนของเราได้ตลอดเวลา เพื่อที่จะขับเคลื่อนให้งานแต่ละส่วนเดินต่อไปได้
“ในส่วนโครงสร้าง ก็จะเป็นเรื่องของการลงทุน มันต้องมีการเปลี่ยนแปลงการทำงาน มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะโครงสร้างในการจัดเก็บใหม่ๆ เช่น การมีศูนย์คัดแยกขยะ ซึ่งตรงนี้ความท้าทายประเด็นหลักๆ ก็คือเรื่องของการหาเงินทุน และการรวบรวมกลุ่มอุตสาหกรรมเพื่อที่จะมาทำธุรกิจที่เป็นธุรกิจแบบใหม่ transformation ไปด้วยกัน
“ส่วนในเรื่องของการทำให้ผู้ประกอบการรีไซเคิลมีกำไรและสร้างกลุ่มพันธมิตรขึ้นมา ตรงนี้สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจจะเป็นเรื่องของการที่เข้าใจธุรกิจของเขา และเข้าใจกลไกตลาด ว่าอะไรเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ธุรกิจเขาประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน ยกตัวอย่างเช่น วัตถุดิบหาอย่างไร กระบวนการผลิตและเทคโนโลยีในการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เรื่องของการทำตลาดช่องทางการขายให้กับเขา เพราะฉะนั้นในแต่ละระดับตรงนี้ ความท้าทายก็จะแตกต่างกันไป”
สำหรับแผนในอนาคตของ Tetra Pak เพื่อเพิ่มความพยายามด้านความยั่งยืนในประเทศไทย ยังคงทำงานตามแนวทางแบบองค์รวมเชื่อมโยง 5 ประเด็นหลักที่เราสามารถมีส่วนช่วยได้มากที่สุด คือ ระบบอาหาร การหมุนเวียนทรัพยากร สภาพอากาศ ธรรมชาติ และความยั่งยืนทางสังคม ซึ่งความท้าทายที่มีอยู่ คุณปฏิญญามองว่า การใช้ประสบการณ์ในระดับโลกของ Tetra Pak 3 เรื่องเข้ามาบูรณาการ จะช่วยให้สามารถขับเคลื่อนความยั่งยืนในประเทศไทยได้ คือ
- กลยุทธ์และแนวทางที่ชัดเจน
- การสร้างความร่วมมือเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนร่วมกัน
- การลงมือปฎิบัติที่มีความโปร่งใส ตรงไปตรงมา และตรวจสอบได้โดยองค์กรที่ได้รับการยอมรับ
“เรามีกลยุทธ์และกรอบแนวทางด้านความยั่งยืน 5 ประเด็นที่ชัดเจน โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 27 ตลาดหลัก หรือหนึ่งในกว่า 160 ประเทศที่ Tetra Pak ได้ดำเนินกิจการอยู่ เราจึงสามารถใช้การแลกเปลี่ยนความรู้จาก best practices ของเราที่ดำเนินการอยู่ทั่วโลกมาปรับใช้ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพได้” คุณปฏิญญากล่าวทิ้งท้าย
อ่านข้อมูลสรุปรายงานด้านความยั่งยืนของเต็ดตรา แพ้ค ปี 2023 ได้ที่นี่