ในขณะที่หลายๆ ธุรกิจชะลอตัวในช่วงวิกฤตโควิด บ้างหยุดเรื่องการลงทุน บ้างก็หนักถึงขั้นต้องพับกิจการไปเลยเพราะปรับตัวได้ไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จู่โจมอย่างรวดเร็ว แต่เรากลับพบว่าธุรกิจประเภทการฝึกอบรมเพิ่มทักษะความรู้กลับเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ นั่นเป็นเพราะองค์กรและคนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวเอง การ Reskill and Upskill เป็นสิ่งจำเป็นตั้งแต่ระดับผู้บริหารไปจนถึงพนักงานระดับปฏิบัติการ และแถมยังจะมีแนวโน้มที่เติบโตเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย
และบริษัทที่ยืนหนึ่งเรื่องการจัดอบรมและพัฒนาบุคลากรในองค์กรต่างๆ อย่าง สลิงชอท กรุ๊ป (Slingshot Group) ประกาศความสำเร็จครั้งสำคัญ ด้วยการโชว์รายได้ปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 33% จากปี 2563 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทรนด์ของตลาดที่องค์กรต้องการพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้ดีมากยิ่งขึ้น แต่ถึงกระนั้น ทาง สลิงชอท กรุ๊ป เอง ก็ไม่หยุดพัฒนาตัวเองเช่นกัน ล่าสุดกับการปรับทัพครั้งสำคัญ ประกาศปรับโครงสร้างใหม่ แตกไลน์ออกเป็น 3 หน่วยธุรกิจสำคัญ นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มหน่วยธุรกิจน้องใหม่ล่าสุด ได้แก่ บริษัท จูปิเตอร์ ซึ่งเน้นการบริการช่วยให้คำปรึกษาในด้านการทรานส์ฟอร์มององค์กร ตั้งแต่ในระดับโครงสร้างไปจนถึงการพัฒนาสร้างกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ ทั้งหมดนี้ เป็นความเคลื่อนไหวทางธุรกิจที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ความสำเร็จในการสร้าง ‘ระบบนิเวศของผู้นำ’ (Ecosystem Leadership)
หลายคนคงคุ้นกับ บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป เป็นอย่างดี เพราะว่าอยู่ในแวดวงธุรกิจมานานกว่า 20 ปี โดยเป็นผู้นำในด้านการจัดฝึกอบรมพัฒนาองค์กรและการพัฒนาศักยภาพผู้นำมากมาย ตั้งแต่ระดับองค์กรมหาชนขนาดใหญ่ไปจนถึงระดับกลางในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย รวมถึงองค์กรภาครัฐต่างๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่ให้ความไว้วางใจในหลักสูตรและโปรแกรมการพัฒนาของ สลิงชอทฯ โดย ดร.สุทธิโสพรรณ ช่วยวงศ์ญาติ หุ้นส่วนและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มสลิงชอท เปิดเผยถึงเบื้องหลังความสำเร็จของสลิงชอทฯ ว่า อย่างที่ทราบดีว่าในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ ไม่สามารถจัดกิจกรรมการประชุม อบรม สัมมนา ได้ก็จริง แต่ทาง กลุ่มสลิงชอท เราก็สามารถก้าวข้ามวิกฤตมาได้แล้วยังสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น 33% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากบริษัทฯ ได้ปรับตัว รวมถึงพัฒนาธุรกิจและบริการให้สอดรับกับวิถีการทำงานแบบใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับโมเดลธุรกิจ ที่มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศของผู้นำ (Ecosystem Leadership) ซึ่งแน่นอนว่าทุกองค์กรยังให้ความสำคัญในเรื่องนี้อยู่ แต่วิธีการและรูปแบบนั้นจะต้องเปลี่ยนไปจากเดิมด้วย
“สถานการณ์ COVID-19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้เห็นได้ชัดว่า การพัฒนาทักษะผู้นำและบุคลากรในองค์กรนั้นยิ่งทวีความสำคัญ แต่วิธีการต้องเปลี่ยนไป โดยเปลี่ยนจากมุ่งเน้นที่การพัฒนาผู้นำและบุคลากรให้กับองค์กรใดองค์กรหนึ่ง มาเป็นการช่วยให้ผู้นำองค์กรปล่อยความคิดและการกระทำแบบเก่าทิ้งไป และชวนให้พวกเขาก้าวข้ามโลกทัศน์ที่เป็นเอกเทศไปสู่พื้นที่ที่ ช่วยให้เขาเข้าใจสิ่งที่จำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันมากขึ้น ไม่ใช่เพียงองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง ประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นโลกของเรา ซึ่งภายใน 2 ปีที่ผ่านมา มีผู้นำองค์กรกว่า 200 องค์กรที่เข้ามาอยู่ใน Ecosystem Leadership นี้ ผ่านโครงการ LeadershipACTTM ของสลิงชอทฯ ซึ่งจะเป็นโอกาสในการสร้าง Ecosystem Leadership ให้เกิดขึ้นจริงในเมืองไทยเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ นั่นจึงเป็นที่มาของการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งสำคัญของ บริษัท สลิงชอท โดยเฉพาะการสร้างคนไทยไปสู่ระดับโลก” ดร. สุทธิโสพรรณ กล่าว
การปรับโครงสร้างครั้งสำคัญ กับ 3 ธุรกิจใหม่ สลิงชอท กรุ๊ป
เมื่อทั้งการพัฒนาองค์กรและผู้นำยึดรูปแบบเดิมๆ ไม่ได้ จึงเป็นที่มาที่ทำให้ บริษัท สลิทงชอท กรุ๊ป จะต้องไม่จำกัดตัวเองอยู่ที่ธุรกิจอบรมและสัมมนาแบบดั้งเดิมอีกต่อไป หากแต่ต้องใช้ความเข้มแข็ง ความเข้าใจผู้นำและองค์กรไทยที่มีมาเกือบ 20 ปี ให้เป็นประโยชน์ เร่งขยายธุรกิจเชิงรุกในแนวดิ่ง ไม่เพียงเน้นที่กลุ่มผู้นำ แต่ขยายขึ้นไปสุดถึงระดับองค์กรและขยายลงมาสุดถึงระดับคนทำงาน เมื่อคำตอบตรงหน้าชัดเจนแล้ว จึงได้ตัดสินใจดำเนินการปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่เป็น 3 ธุรกิจ ภายใต้บริษัท สลิงชอท กรุ๊ป ตามแผนงาน 3 ปี (2565-2567) ที่ตั้งเป้าผลักดันการเติบโตของผลการดำเนินงานได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า โดยมีคนไทยอยู่ใน Ecosystem Leadership หนึ่งล้านคน ซึ่งการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 ยูนิต สำคัญ ดังนี้
- บริษัท สลิงชอท ลีดเดอร์ชิพ (Slingshot Leadership) ซึ่งเป็นธุรกิจในปัจจุบัน จะดูแลการพัฒนากลุ่มผู้นำองค์กร ภายใต้การนำของคุณมัณฑนา รักษาชัด หุ้นส่วนและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สลิงชอท ลีดเดอร์ชิพ
- บริษัท วีวัน (V-One) ซึ่งดูแลบริการในกลุ่มคนทำงาน ภายใต้การนำของ คุณสุกฤษฎิ์ ปัญจพันธ์พงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีวัน
- บริษัท จูปิเตอร์ (Jupiter) ซึ่งจะมาดูแลบริการในภาพใหญ่ทั้งโครงสร้าง ระบบบริหารจัดการ และกระบวนการทำงานให้กับองค์กร ภายใต้การนำของ คุณพฤทธ์ อึงคนึงเดชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จูปิเตอร์
นอกจากนี้ ยังเพิ่มขีดความสามารถของกลุ่ม ด้วยการลงทุนกว่า 30 ล้านบาท ในการตั้งทีมวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อสร้างหลักสูตรและสภาพแวดล้อมที่เร็วทันต่อการตอบโจทย์ Ecosystem Leadership แบบที่ออกแบบพิเศษให้ตอบโจทย์สำหรับคนไทยโดยเฉพาะ
เปิดตัว “จูปิเตอร์” หน่วยธุรกิจน้องใหม่มารับแรงรับเทรนด์ทรานส์ฟอร์เมชั่น
และอย่างที่เกริ่นแนะนำไปว่า สลิงชอทฯ เปิดหน่วยธุรกิจใหม่ซึ่งเพิ่งก่อตั้งในปีนี้ได้แก่ “จูปิเตอร์” ซึ่งจะเป็น New business unit ที่จะมาช่วยเสริมทัพสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรต่อไป นำทีมโดย คุณพฤทธ์ อึงคนึงเดชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จูปิเตอร์ ที่จะมาเล่าถึงที่มาของ “จูปิเตอร์” ว่าสร้างขึ้นเพื่อมาตอบโจทย์ธุรกิจต่างๆ ได้อย่างไร
คุณพฤทธ์ เล่าว่า ในแง่หนึ่งของช่วงสถานการณ์โควิด ที่ภาคธุรกิจส่วนใหญ่มีสภาวะชะลอตัวในหลายๆ เรื่อง เช่น พักเรื่องการลงทุน ไม่รุกด้านการตลาดนัก ก็จะใช้ช่วงเวลานี้ในการทบทวนตัวเอง ใช้โอกาสที่ทุกอย่างอยู่ในสภาวะนิ่ง หันมามององค์กรว่ามีส่วนไหนที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขบ้าง รวมไปถึงเราพบว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายองค์กรมีความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือต้องการทรานส์ฟอร์มองค์กร (Transformation) และปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจในหลายด้านมากขึ้น และหันมาลงทุนกับการพัฒนาศักยภาพบริษัทและบุคลากรมากขึ้นด้วย แต่การจะพัฒนาหรือเสริมศักยภาพในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น จำเป็นต้องใช้องค์ประกอบหลายๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นตัวโครงสร้างองค์กร กระบวนการทำงานที่มันอาจจะทับซ้อนกันอยู่ทำให้เกิดความล่าช้า หรือความต้องการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อเตรียมตัวในการขับเคลื่อนองค์กรต่อไปข้างหน้า สิ่งเหล่านี้ สลิงชอทฯ มองเห็นโอกาสที่เราจะต่อยอดไปได้ ผ่านประสบการณ์ที่เราสั่งสมมากว่า 20 ปี
3 บริการจากจูปิเตอร์ โซลูชั่นที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการอย่างรอบด้าน
ตามที่ “จูปิเตอร์” ถูกคิดค้นขึ้นจากความต้องการของตลาดที่ธุรกิจต้องการทรานส์ฟอร์มเพื่อเพิ่มศักยภาพในทุกๆ ด้านขององค์กร ดังนั้น จึงได้แบ่งการบริการออกเป็น 3 เซอร์วิสที่สำคัญเพื่อจะเป็นโซลูชั่นตอบโจทย์ครอบคลุมทุกความต้องการ ดังนี้
#1 Configure เป็นบริการการออกแบบและปรับโครงสร้าง และระบบการบริหารจัดการต่างๆ เพื่อให้รูปแบบองค์กรมีความเหมาะสมต่อทิศทางที่ธุรกิจจะมุ่งไปในอนาคต ทั้งนี้ มีตั้งแต่เรื่องของการปรับโครงสร้างองค์กร การดูแลเรื่องอัตรากำลัง การดูเรื่องตำแหน่งหรือบทบาทที่เกี่ยวข้องในโครงสร้างองค์กร หรือทักษะที่มันจะลิงก์ไปที่ตำแหน่งงานแต่ละบทบาทด้วย รวมถึงการทำเรื่องของระบบประเมินผล การดูเรื่องค่าจ้างผลตอบแทน เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งพูดง่ายๆ ว่าจะเป็นเรื่องการเข้ามาดูโครงสร้างขององค์กรนั่นเอง
#2 Perform เมื่อมีเรื่องของการปรับปรุงโครงสร้างแล้ว ต่อไปก็คือเรื่องของกระบวนการ เป็นเรื่องที่เราเข้ามาช่วยดูและออกแบบกระบวนการทำงาน และปรับปรุงการทำงานในองค์กรให้ดีขึ้น มีการจัดการองค์ความรู้ การเปลี่ยนแปลงไส้ในของการทำงาน ยกตัวอย่างเรื่องของการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ที่คนมักจะมองว่าคือการจัดกิจกรรม แต่จริงๆ แล้ว มันคือกระบวนการหนึ่งเหมือนกัน ที่เคลื่อนจาก จุด A ไปจุด Bอย่างไร มันต้องผ่านกระบวนการทำงาน ซึ่งถ้าในจุดนี้มีปัญหา เราก็จะเข้าไปแก้ไขและให้คำแนะนำเพื่อเพิ่มศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต (Productivity)
#3 Develop เป็นการพัฒนาเส้นทางอาชีพของกลุ่มคนรุ่นใหม่ และผู้สืบทอดตำแหน่งเพื่อให้องค์กรเกิด Career Mobility และ Leadership Bench สืบเนื่องจากเมื่อเรามีโครงสร้างองค์กรที่ดี มีกระบวนการทำงานที่ดีแล้ว ต่อไปคือเรื่องของคน ด้วยเป้าหมายสำคัญของเราคือการมุ่งไปที่ Business Outcome ดังนั้น ธุรกิจจะดำเนินต่อไปได้จากรุ่นสู่รุ่นก็ต้องมีคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะเข้ามาดูแลแทนที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริษัทมหาชนที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ คุณจะต้องมีการระบุบุคคลที่เป็น Successor ที่จะสืบทอดตำแหน่งในองค์กร ดังนั้น ในบริการของเราในส่วนนี้ก็จะมีคอร์สการอบรมสำหรับผู้นำรุ่นใหม่ที่จะก้าวขึ้นมาแทนที่ได้ แต่มากไปกว่าการสร้างคนและกรูมให้เขาเป็นผู้นำรุ่นถัดไป แต่ยังรวมไปถึงการจะทำให้คนกลุ่มนี้อยู่กับองค์กรได้นานๆ อีกด้วย เพราะเด็กรุ่นใหม่ที่เก่งๆ ส่วนใหญ่ชอบความท้าทายและความก้าวหน้า ดังนั้นจะทำอย่างไรไม่ให้เขาออกไปอยู่ที่อื่น เราก็จะต้องสร้างมีการสร้าง Talent Pipeline หรือ Leadership Pipeline ที่มีความเข้มแข็งของผู้นำในองค์กร
สำหรับบริการทั้ง 3 โซลูชั่นนี้ องค์กรสามารถใช้ได้ทั้ง 3 โซลูชั่นหรือเลือกโซลูชั่นใดโซลูชั่นหนึ่งก็ได้ หรือจะเลือกแค่บางส่วนของแต่ละโซลูชั่นแล้วนำมาผสมผสานกันก็ได้ ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ต้องการ รวมไปถึงขึ้นอยู่กับสิ่งที่องค์กรนั้นๆ ได้ทำมาแล้วด้วย ก็จะนำมาพิจารณาว่าส่วนไหนที่เหมาะสมที่จะเป็นคำตอบให้กับองค์กรได้
“เปรียบเหมือนกับเราไปหาหมอโรงพยาบาล ทุกครั้งไปโรงพยาบาล ไม่ใช่ว่าตรวจนั่น ผ่านี่ เจาะเลือดเลย แต่มันอยู่ที่ว่า วันนี้คุณเป็นอะไรมา ปวดหัว หรือเป็นโรคหัวใจ แต่ละคนก็ต่างอาการกันออกไปต่างปัญหากันออกไป แล้วก็ต้องดูว่าเขาได้ทำอะไรมาบ้างด้วย มันไม่ใช่แค่ ณ วันนี้ เราต้องย้อนกลับไปด้วย เหมือนกับประวัติคนไข้ เคยผ่าตัดอะไรมาบ้าง แล้วตอนนี้มีปัญหาอะไร แล้วอนาคตอยากจะเป็นอะไร เราจะได้วางให้เขาได้ถูก ไม่ใช่ว่าเราไปเปลี่ยนตูมเดียวหมด บางคนก็ไม่อยากได้”
3 ยุทธศาสตร์โฟกัสของ “จูปิเตอร์” โดดเด่นยืนหนึ่ง
สิ่งที่ทำให้ “จูปิเตอร์” แตกต่างและโดดเด่นสามารถร่วมสร้างความแข็งแกร่งในการทรานส์ฟอร์มองค์กรได้ คุณพฤทธ์บอกว่า เรามุ่งเป้าไปที่ 3 Strategic Focus ดังนี้
1) ดูแลบริการลูกค้าตั้งแต่ Design จนถึงขั้น Execution เพราะเราเน้นในเรื่อง Outcome Focus ที่เราจะต้องมีส่วนร่วมกับลูกค้าเพื่อที่จะบรรลุผลลัพธ์ร่วมกัน ถ้าเรา Design อย่างเดียวแล้วปล่อยให้ลูกค้าลงมือปฏิบัติ ก็จะไม่มีวันที่จะไปถึงเป้าหมายได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำคือการให้บริการตั้งแต่ Design จนถึง Execution เพื่อให้ผลลัพธ์เกิด high impact และสร้างประโยชน์ให้องค์กรด้วย
2) การส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า เพราะในเรื่องการทรานส์ฟอร์มองค์กรไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งองค์กรหรือพนักงานรู้สึกว่าเหน็ดเหนื่อยหรือมองว่าเป็นการไปเพิ่มงานให้กับเขา ดังนั้น การให้คำปรึกษาบนเซอร์วิสมายด์ที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ เราจะทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่านี่คือประสบกรณ์ที่ดีในการทำโครงการกับที่ปรึกษา และสร้างความรู้สึกของการอยากมีส่วนร่วมให้กับทุกคน รวมไปถึงทีมที่เข้ามาให้บริการก็จะต้องเป็นทีมชุดเดียวกันตั้งแต่ขั้นของการรับฟังปัญหาลูกค้าไปจนกระทั่งถึงขั้นของการส่งมอบงาน จะไม่มีการเปลี่ยนทีมไปมาเพื่อสร้างความรู้สึกเชื่อมั่นให้กับลูกค้าตั้งแต่ต้นจนจบ
3) เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือการที่เราสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาทักษะต่างๆ ให้ลูกค้าสามารถดำเนินการต่อไปด้วยตัวเองได้ ไม่ใช่แค่ส่งมอบงานแล้วจบ แต่เราพร้อมที่จะยืนเคียงข้างเขาต่อเพื่อให้มั่นใจว่าเขาสามารถทำต่อได้ ดูแลเองได้
“ทั้งหมดนี้ก็เป็น 3 สิ่งที่ผมโฟกัสมากในการทำงานให้กับลูกค้า รวมไปถึงถ่ายทอดStrategic Focus นี้ให้กับทีมงานทุกคนด้วย ตั้งแต่ในวันแรกที่ทำงาน หรืออันที่จริงตั้งแต่วันที่เรารีครูทคนมาทำงานด้วยเลย เราต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนตั้งแต่จะร่วมงานว่านี่คือสิ่งที่บริษัทคาดหวัง ไม่เช่นนั้นเราก็จะไม่ต่างจากคนอื่น ไม่ต่างจากคู่แข่งเจ้าอื่น”
Key Success ที่สำคัญของการทรานส์ฟอร์มองค์กร
คุณพฤทธ์ ยังให้คำแนะนำสำคัญแก่องค์กรต่างๆ ที่มีเป้าหมายจะทรานส์ฟอร์มว่า สิ่งที่จะทำให้การทรานส์ฟอร์มสำเร็จได้สำคัญที่สุดเลยคือ ‘คุณจะต้องเห็นภาพใหญ่ก่อนว่าคุณต้องการอะไร คุณต้องการเปลี่ยนจากอะไรเป็นอะไร จุดหมายปลายทางสุดท้ายที่คุณต้องการคืออะไร และกระบวนการที่จะไปถึงเป้าหมายนั้นจะต้องผ่านอะไรบ้าง’ เพราะการทรานส์ฟอร์ม ไม่ใช่การเปลี่ยนอย่างสองอย่าง แต่มันคือการเปลี่ยนรูปแบบที่ชัดเจนมาก เปลี่ยนจากตัวหนอนเป็นผีเสื้อ ทุกอย่างแทบจะเปลี่ยนหมด ถึงจะเรียกว่าการทรานส์ฟอร์มที่แท้จริง และมันไม่มีวันสิ้นสุดด้วย วันนี้คุณอยากก้าวมาตรงนี้ อนาคตคุณก็ต้องการก้าวขึ้นไปอีก ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ จะต้องรู้ว่าทรานส์ฟอร์มไปเพื่ออะไร
นอกจากนี้ อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ การเห็นภาพเดียวกัน ตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงระดับพนักงานปฏิบัติการ ส่วนตัวเชื่อว่าระดับซีอีโอหรือเจ้าของกิจการส่วนใหญ่เขามีภาพที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าอยากไปตรงไหน หรือจะเป็นอะไร แต่พอไล่ระดับลงมาแพสชั่นตรงนี้มันอาจจะหายไปแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้น ทำไปตามที่นายสั่ง แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ การทรานส์ฟอร์เมชั่น จะต้องพาคนในองค์กรไปด้วยกัน สิ่งที่คุณมองลงไปจะถูกถ่ายทอดลงมาแล้วทำให้ทุกคนมองที่ภาพเดียวกัน แล้วไปด้วยกันไปให้ได้ แล้วจะทำให้การทรานส์ฟอร์มองค์กรประสบความสำเร็จ
“ผมเคยถามธุรกิจไปเหมือนกันว่า ทำไมธุรกิจต้องทรานส์ฟอร์ม ทรานส์ฟอร์มไปเพื่ออะไร สำหรับผมเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจต้องทรานส์ฟอร์มก็เพื่อที่ทำให้เรายังสามารถตอบโจทย์ลูกค้าอยู่ทั้งในปัจจุบันและอนาคต การที่จะตอบโจทย์ลูกค้าตรงนั้นได้ หรือตอบโจทย์ธุรกิจในอนาคตข้างหน้า เราต้องเปลี่ยนตัวเอง เราอยู่แบบเดิมไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนตัวเอง ลูกค้าเปลี่ยน คู่แข่งก็เปลี่ยน ตัวผู้เล่นที่ลงมาในสนามก็เปลี่ยน ดังนั้น เราก็ต้องเปลี่ยนตัวเองเหมือนกัน”
ข้อควรระวังที่ไม่ควรทำในการทรานส์ฟอร์มองค์กร
สุดท้ายสิ่งที่คุณพฤทธ์ ย้ำกับองค์กรที่เตรียมจะทรานส์ฟอร์ม และผู้ประกอบการและทุกองค์กรพึงจะต้องตระหนักให้มากก็คือ ต้องไม่หลงประเด็นว่าธุรกิจเราทำอะไรอยู่ ไม่ใช่แค่เห็นว่าเขาทำแล้วเราก็ต้องทำตามเหมือนกันหมด
“เราอย่าไปคิดว่า ใครเฮโลไปทางไหน เราก็ต้องไปทางนั้นเหมือนกัน ตรงนี้อันตรายมาก เพราะฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องรู้จักตัวเองก่อน ตัวคุณเป็นอะไรและอะไรคือจุดแข็งของคุณ แล้วสิ่งที่คุณจะไปคืออะไร จุดแข็งตรงนี้มันยังใช้ได้อยู่ไหม แล้วต้องสร้างจุดแข็งขึ้นมาใหม่ไหม ตรงนี้คือสิ่งสำคัญก่อนทรานส์ฟอร์ม ถ้าเกิดเราโดดไปทรานส์ฟอร์มเลย แต่ทุกอย่างมันมีต้นทุน ถ้าคุณทำตามคนอื่นหมด สุดท้ายสิ่งที่สำคัญจริงๆ คุณอาจจะไม่ได้ทำ อันนี้เหนื่อยแน่ เถ้าแก่เหนื่อย ลูกน้องก็เหนื่อย ทุกคนเหนื่อยเหมือนกันหมด”
การทำธุรกิจทุกวันนี้ทุกองค์กรทราบกันเป็นอย่างดีอยู่แล้วว่าจะต้องทำการทรานส์ฟอร์มตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพราะเราไม่อาจอยู่กับความสำเร็จในอดีตได้ และเมื่อไหร่ที่เราหยุดนิ่งไม่พัฒนาตัวเองต่อ ก็อาจจะกลายเป็นจุดเริ่มต้องของความถดถอดได้ด้วย ดังนั้น ถ้าอยากจะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ อาจจะทำโดยการศึกษาหาข้อมูลด้วยตัวเอง หรือขอคำแนะนำจากมืออาชีพให้ช่วยเข้ามาปรับปรุงซึ่งอาจจะดีกว่า เพราะเป็นบุคคลนอกองค์กรทำให้สามารถมองเห็นภาพรวมขององค์กรได้ชัดเจนกว่าคนในก็เป็นได้ และด้วยประสบการณ์และความสามารถของทีมงานจาก สลิงชอท กรุ๊ป ก็อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการช่วยให้องค์กรไทยพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไปในโลกธุรกิจยุคใหม่ได้อนาคต