แกะกลยุทธ์ โออาร์ เปิดตัว พีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 ขยาย Ecosystem ธุรกิจเดินหน้าสู่ OR Space ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค

  • 2.7K
  •  
  •  
  •  
  •  

 

หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ แยกตัวออกมาจากบริษัท ปตท.เมื่อปี 2018 ก่อนที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2021 ที่ผ่านมาก็คือการขยาย Ecosystem ธุรกิจให้มีมากกว่าแค่การขาย “น้ำมัน” แหล่งพลังงานจากฟอสซิลที่ “โลก” กำลังพยายามหาทางเลือกใหม่ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า

ด้วย Ecosystem เดิมและกลยุทธ์ธุรกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาภายใต้แนวคิด “โออาร์เติมเต็มโอกาสเพื่อทุกการเติบโตไปด้วยกัน” ทำให้ในเวลานี้ โออาร์ เดินอยู่ในเส้นทางของการขยายระบบนิเวศน์ทางธุรกิจ (Ecosystem) ให้กว้างมากขึ้นผลักดันพันธมิตรทางธุรกิจที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของธุรกิจทั้งหมด เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคไม่ว่าจะมีไลฟ์สไตล์แบบไหนทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์

 

 

สถานีบริการรวม Ecosystem ธุรกิจในโลกออฟไลน์

สำหรับโลก “ออนไลน์” โออาร์เปิดตัว “xplORe” ซูปเปอร์แอปที่รวม Ecosystem ธุรกิจเสิร์ฟถึงสมาร์ทโฟนผู้บริโภคไปก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนโลก “ออฟไลน์” นั่นล่าสุดโออาร์ เปิดตัว “พีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62” สถานีบริการแบบเรือธงที่รวมร้านค้า ร้านอาหาร บริการต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ “โชว์รูมรถยนต์ไฟฟ้า BYD” ขึ้นอย่างเป็นทางการนับเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญที่ โออาร์กำลังจะเดินไปสู่การมี “OR Space” ที่จะเป็นสถานีบริการ “ไร้ปั๊มน้ำมัน” ที่สามารถตอบสนองได้ทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคได้ในอนาคต

 

คุณดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโออาร์

 

คุณดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโออาร์ เล่าว่าพีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 ซึ่งตั้งอยู่บนเนื้อที่ 5,000 ตารางเมตร วางรูปแบบให้เป็น Future Station ที่จะทำเป็นตัวอย่าง Ecosystem ที่สมบูรณ์แบบโดยแบ่งสัดส่วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในธุรกิจน้ำมัน 20%แต่อีก 80% จะเป็นธุรกิจ Non-Oil ทั้งหมด ซึ่งการออกแบบวางอยู่บนพื้นฐาน OR SDG ที่นำมาตีความใหม่นำและเล่าผ่านพีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 แห่งนี้

 

Small: สร้างโอกาสให้คนตัวเล็ก

 

คุณดิษทัต เล่าว่า  S” หมายถึง Small” คือการที่โออาร์ สนับสนุนคนตัวเล็กสร้างสมดุลให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและพาร์ตเนอร์ธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ พีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 ที่มี “ร้านไทยเด็ด” โครงการสนับสนุนสินค้าเด็ด ๆ ของวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมี “ร้านภัทรพัฒน์” ที่จำหน่ายของมูลนิธิชัยพัฒนารวมไปถึง “Common Space” ที่จะเปิดให้ชุมชนเข้ามาทำกิจกรรมหรืออาจมีตลาดนัดจำหน่ายสินค้าสร้างรายได้ในทุก ๆ เดือนเป็นต้น

 

 

Diversified: สร้าง Ecosystem ธุรกิจให้หลากหลาย

คุณพิมาน พูลศรี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจค้าปลีกน้ำมันของโออาร์ ระบุถึงแนวคิดเรื่อง “D Diversified หรือการสร้างโอกาสการเติบโตในทุกรูปแบบผ่านแพลทฟอร์มต่าง ๆ ของโออาร์ว่าเป็นแนวทางที่โออาร์มุ่งมั่นทำมาอย่างต่อเนื่องจากเดิมที่ขายน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเครื่องบิน เป็นหลังงานให้อุตสาหกรรมคมนาคมขนส่ง ก็เริ่มเข้าสู่ธุรกิจอื่นเริ่มต้นจาก “คาเฟ่ อเมซอน” ตามมาด้วย “เท็กซัส ชิคเก้น” รวมไปถึงการลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ ด้วยเช่นธุรกิจศูนย์บริการรถยนต์อย่าง “FIT Auto” ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพอย่าง “โอ้กะจู๋” นำไปสู่ธุรกิจ Non-Food แบบ Ottori รวมไปถึงสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพอื่นๆ ต่อไป ซึ่งการ พีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 ก็เป็นส่วนสำคัญในการทำให้ Ecosystem มีความหลากหลายและมีความสมบูร์มากยิ่งขึ้นสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น

 

 

Green: ทำธุรกิจบนพื้นฐานของความยั่งยืน

ด้านคุณดิษทัต CEO โออาร์ ระบุถึงความหมายของตัว “G” หรือ Green ว่าเป็นสิ่งที่โออาร์ให้ความสำคัญไม่แพ้ “S” หรือ “D” คือการสร้าง Healthy Environment ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ โออาร์ นำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการเดินหน้าสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality ไม่ว่าจะเป็นจากติดตั้ง “Solar Rooftop” ในทุกอาคารที่สามารถผลิตพลังงานได้อย่างเพียงพอและลงทุนระบบกักเก็บพลังงาน (G-Box) เพื่อเก็บพลังงานที่ใช้เหลือระหว่างวันเพื่อนำมาใช้ในช่วงเวลาที่ไม่มีแสงแดด นอกจากนี้ยังนำเทคโนโลยี “AI-CCTV” เข้ามาใช้ตรวจจับระยะเคลื่อนรถ ยี่ห้อรถ ที่เข้ามาในสถานีเพื่อคำนวณ CO2 ที่ถูกปล่อยในสถานีเพื่อใช้ในการคำนวณการลดคาร์บอนต่อไปในอนาคตด้วย เรียกว่าเป็นการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนที่เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในยุคปัจจุบัน

 

 

ต้นแบบ PTT Station สู่ OR Space

คุณพิมาน บอกเพิ่มเติมว่า พีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 มีขนาดพื้นที่ใหญ่กว่าสถานีบริการพีทีทีทั่วไป 5-10 เท่าในส่วนธุรกิจ Non-Oil ในพื้นที่จะมีสัดส่วนของอาหาร 70% และธุรกิจที่ไม่ใช่อาหาร 30% พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบที่จะนำไปปรับใช้กับสถานี พีทีที สเตชั่น ในอนาคตต่อไป

รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจค้าปลีกน้ำมันของโออาร์ เล่าต่อว่าความพิเศษของ พีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 ก็เช่น “คาเฟ่ อเมซอน” ที่จะมีบริการ Specialty Coffee เป็นแห่งที่สองของประเทศ มีเมนูพิเศษที่ไม่เหมือนสาขาอื่น นอกจากนี้ยังมีพื้นที่กว้างขวางถึง 2 ชั้นเป็น Co-Working Space ที่ผู้บริโภคสามารถมาทำกิจกรรมต่างๆ ได้ ในส่วนของธุรกิจพาร์ตเนอร์ของโออาร์ ก็มีบริการอยู่ด้วยเช่นกาแฟ Pacamara ที่จะมีอาหารและเบเกอรี่ขายด้วย ในส่วนของร้าน โอ้กะจู๋ ที่สถานีบริการนี้นี้ก็จะมีถึง 2 ชั้นให้บริการลูกค้าได้มากถึง 180 คนพร้อมกับมีบริการ Drive Thru ให้บริการด้วย

ที่พิเศษอีกอย่างก็คือ พีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 ยังมีโชว์รูมรถไฟฟ้า BYD ตั้งอยู่ด้วยเรียกว่าเป็นสถานีบริการแห่งแรกที่มีโชว์รูมรถยนต์ EV ตั้งอยู่ภายใน รวมไปถึงบริการ EV Centralized Charger ที่สามารถให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ 6 หัวชาร์จพร้อมกัน รองรับการชาร์จไฟสูงสุด 180 กิโลวัตต์เลยทีเดียว

 

 

ด้านคุณดิษทัต เสริมด้วยว่า พีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 นั้นจะเป็นต้นแบบที่จะนำไปสู่เป้าหมายสูงสุดของโออาร์คือการนำธุรกิจ Non-Oil มานำธุรกิจพลังงานฟอสซิล ซึ่งในอนาคตโออาร์วางเป้าหมายแบบสูงสุดเอาไว้ก็คือการพัฒนาไปสู่ OR Space” ที่จะเป็นสถานีที่ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์แต่จะไม่มี “ปั๊มน้ำมัน” จะมีเพียง EV Charger ให้บริการรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งโมเดลนี้น่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างได้ในช่วงปลายปี 2024 นี้

 

วางแผนขยาย Ecosystem สู่ธุรกิจ Beauty และ Hotel 

คุณดิษทัต ปิดท้ายด้วยว่าโออาร์ ยังวางแผนที่จะสร้างความหลากหลายทางธุรกิจเพิ่มเติมด้วยการมองหา Business Model ใหม่ๆ อย่างการเข้าสู่ธุรกิจ “Beauty” ซึ่งเวลานี้อยู่ระห่างการวางกลยุทธ์และเลือกพาร์ตเนอร์ที่จะเข้าร่วมสู่ Ecosystem ของโออาร์ทั้งจากญี่ปุ่นและเกาหลี และก็วางแผนที่จะมีแบรนด์เป็นของตัวเองด้วย และนอกจากเรื่องความสวยความงามแล้ว โออาร์ ยังมองไปที่ธุรกิจ “โรงแรม” ด้วยเช่นกันซึ่งในเวลานี้ก็อยู่ในช่วงของการหาพาร์ตเนอร์ที่เหมาะสมในการออกแบบโรงแรมรวมถึงศึกษาโลเคชั่นที่เหมาะสมเพื่อทำโรงแรมต้นแบบทดสอบตลาดซึ่งจุดนี้ก็เป็นเรื่องของอนาคตต่อไป

ในส่วนของธุรกิจอเมซอน ก็จะมีการพัฒนาต้นน้ำเรื่องเมล็ดกาแฟ มีความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเข้าไปให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในการปลูกกาแฟ การรับซื้อ นอกจากนี้โออาร์ ยังวางแผนที่จะทำเป็น “อเมซอนปาร์ค” ที่เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่แบบเดียวกับสิงห์ปาร์ค โดยพื้นที่อาจเป็นที่เชียงใหม่หรือลำปางต่อไป สิ่งนี้จะตอบสนองความเป็นโออาร์ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

 

 

เห็นได้ชัดว่า พีทีที สเตชั่น แฟลกชิป วิภาวดี 62 เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของโออาร์ ในการเดินหน้าสร้างธุรกิจให้กว้างออกไปมากกว่า “น้ำมัน” เป็นโมเดลธุรกิจตัวอย่างที่จะเดินหน้าไปสู่ OR Space ที่จะเป็นศูนย์รวมผู้คนในอนาคตที่สามารถตอบสนองไฟล์สไตล์ได้ทุกรูปแบบ ธุรกิจที่จะขยายไปไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงในต่างประเทศที่โออาร์เข้าไปลงทุนก่อนหน้านี้แล้วด้วยเช่นกัน


  • 2.7K
  •  
  •  
  •  
  •