“Digital Transformation องค์กร ไม่ใช่ทางออก แต่เป็นสิ่งต้องทำ”
“ก้าวต่อไปของไทยรัฐ ออนไลน์ จะเป็น เพื่อสร้างรายได้ใหม่ให้ธุรกิจแข็งแรงในระยะยาว”
“เราไม่ได้อยากใหญ่แบบ Global tech company สิ่งที่เราทำก็เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการโดนดิสรัป”
“เทคโนโลยีไม่ใช่ปัญหาแต่เป็นเครื่องมือในการทำงาน คนคือสิ่งที่สำคัญและยากที่สุดในการเปลี่ยนแปลง”
“ไม่ว่าจะพัฒนาไปทางใด ไทยรัฐยังเป็นไทยรัฐที่มีความน่าเชื่อถือ”
ส่วนหนึ่งที่ ‘คุณจูเนียร์-วัชร วัชรพล’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจ ไทยรัฐออนไลน์ บริษัท เทรนด์ วี จี 3 จำกัด Generation รุ่น 3 ของ ‘วัชรพล’ สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการขับเคลื่อนยักษ์ใหญ่ในวงการสื่อของบ้านเราที่มีอายุกว่า 70 ปีอย่าง ‘ไทยรัฐ’ เข้าสู่ Digital Transformation โดยมี ‘ไทยรัฐ ออนไลน์’ เป็นหัวหอกว่ามีความสำคัญอย่างไร และทำไม ‘ไม่ทำ ไม่ได้’
Digital Transformation ไม่ใช่ ‘ทางออก’ แต่เป็น ‘สิ่งต้องทำ’
หลายคนอาจมองการ Digital Transformation องค์กร เป็นทางออกในการก้าวข้ามกระแสความท้าทายและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากยุคดิจิทัล แต่ทางคุณจูเนียร์ย้ำว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรในทุกธุรกิจต้องทำ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่ทางออก
เพราะปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมากมาย ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้สามารถก้าวต่อไปข้างหน้าได้ คือ ต้องทันยุค ทันการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ โดยเฉพาะพฤติกรรมผู้บริโภค
“ช่วงหลังโลกเปลี่ยนเร็วมาก ผมเองพูดกับทีมเสมอว่า ทุกวงการต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทัน อย่างสื่อเป็นวงการที่โดนดิสรัปก่อนเพื่อน เพราะมีโซเชียลมีเดียเกิดขึ้น ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า เป็นสื่อสังคม และการมาของ 5G ทำให้สื่อสารได้รวดเร็ว ใคร ๆ ก็เป็นนักข่าวได้ แถมอาจรายงานได้รวดเร็วกว่า เป็นหนึ่งในความท้าทายที่สื่อหลักต้องเจอ ยังไม่รวมเม็ดเงินโฆษณาที่ถูกแย่งไป ที่สำคัญปีนี้ยังมีพายุที่ชื่อ โควิด-19 เข้ามาซ้ำอีก ทำให้สื่อกระทบในเรื่องรายได้จากโฆษณา (Advertising Revenue) แต่ในเชิงผู้ชมผู้อ่านนั้นกลับดีขึ้นแบบก้าวกระโดด อย่างไทยรัฐ ออนไลน์ ปกติมีจำนวนการอ่าน 180 เพจล้านวิวต่อเดือน มี DAU (Daily Active User) ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านต่อวัน แต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่โควิด-19 ระบาด ยอด DAU พุ่งไปถึงถึง 9 ล้านต่อวัน เหตุผลน่าจะมาจากคน work from home และต้องการติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด”
สำหรับไทยรัฐเองมีการปรับตัวมาตลอดเวลา และชัดเจนมากขึ้นในปี 2551 กับการหันมาโฟกัสกับ ‘ไทยรัฐ ออนไลน์’ อย่างจริงจัง โดยมีคุณจูเนียร์เป็นคนนำทัพในการสร้างจุดเปลี่ยน เริ่มจากการ re-design เว็บ และเปิดบริการใหม่ส่งข่าวทาง SMS ตลอดจนได้พัฒนารูปแบบการนำเสนอคอนเทนท์จากตัวอักษรสู่วิดีโอ พร้อมนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ และนำคอนเทนท์ขยายสู่แพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, YouTube, Twitter, Instagram, TikTok, Blockdit ฯลฯ ชนิดที่เรียกว่า ‘ไม่ว่ามีอะไรใหม่ ไทยรัฐจะขอเข้าไปลองก่อนตลอด’ เพื่อให้ผู้อ่านผู้ชมเข้าถึงคอนเทนท์ของไทยรัฐได้ง่ายที่สุดตามความชื่นชอบของแต่ละคน
“ถ้ามีอะไรใหม่ เรามีหมด จริง ๆ การทำพวกนี้ไม่ได้ลงทุนเยอะ เพราะเรามีหัวใจ คือ คอนเทนท์ เราต้องปรับการนำเสนอให้เหมาะกับแต่ละแพลตฟอร์ม เหมือนทำอาหารเรามีวัตถุดิบหลักอยู่แล้วเพียงปรุงให้ต่างกัน ถ้าเวิร์คก็ทำต่อ ไม่เวิร์คก็ถอย เช่น Google Plus ที่ตอนแรกจะทำมาแข่งกับ Facebook เราก็เข้าไปทำเพจไว้บนนั้น แต่พอไม่เวิร์คเราก็เลิก ไม่เสียหายอะไร และไม่ตกเทรนด์ด้วย”
เดินหน้า สู่ ‘Technology-Driven Media Company’
สำหรับเป้าหมายการทรานฟอร์มของไทยรัฐ ออนไลน์ คือ การเดินหน้าสู่ Technology-Driven Media Company บริษัทสื่อที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อน ซึ่งข้อดีคือ ทำให้เป็นองค์กรที่มีการทำงานรวดเร็ว และการมีเทคโนโลยีเข้ามาจะช่วยลดความผิดพลาดจากการทำงานของคน บวกกับดาต้าที่นำมาใช้ ทำให้สามารถเสิร์ฟคอนเทนท์ให้ตรงความต้องการของผู้อ่านได้จริง ๆ และสามารถมองพื้นที่สร้างการเติบโตใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คุณจูเนียร์เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้พยายามสร้าง Mindset ของคนในองค์กรให้ทำงานเหมือนกับ Tech company ที่มีแนวคิดการทำงานแบบใหม่ มีความคล่องตัว จากเดิมการขยับตัวแต่ละครั้งค่อนข้างช้า เริ่มจากการกระจายแนวคิด Agile ของบริษัท Tech กระจายไปยังส่วนงานต่าง ๆ ให้มากขึ้น อาทิ ลดการทำงานที่เป็นขั้นตอนและงานด้านเอกสารลง, เน้นการสื่อสารกันในทีมให้มากขึ้น เป็นต้น
ส่วนคอนเทนท์และบริการที่จะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค ไปจนถึงสร้างรายได้ใหม่ ๆ ได้เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ได้ Soft Launch ‘Thairath Classified’ พื้นที่ที่ให้คนมาโพสต์ขายของ ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า กระเป๋า อสังหา รถยนต์ ฯลฯ และในปี 2564 เตรียมเปิดตัว ‘ไทยรัฐ พลัส’ การนำเสนอคอนเทนท์ในรูปแบบบทวิเคราะห์ และข้อมูลเชิงลึก ที่มีเนื้อหาหลากหลายทั้งเศรษฐกิจ การเมือง ไลฟ์สไตล์ กระแสร้อน ฯลฯ
ลุย Subscription Model เพิ่มรายได้
แต่บริการที่น่าสนใจและน่าจับตาเป็นอย่างมาก คือ ในอีก 1-2 ปีข้างหน้าไทยรัฐจะเริ่มทดลองทำ Subscription Model หรือระบบสมัครสมาชิก ซึ่งคุณจูเนียร์ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จจากสื่อใหญ่ในฝั่งตะวันตกอย่างนิวยอร์กไทม์ และวอชิงตัน โพสต์ ฯลฯ ที่หยิบโมเดลนี้มาเป็นหนึ่งโมเดลในการสร้างทางรอดและพลิกฟื้นธุรกิจ
เนื่องจากหากยังอยู่ในโมเดลเดิม คือ อาศัยรายได้จากโฆษณาเพียงอย่างเดียว ธุรกิจจะอยู่ได้ยาก โดยเฉพาะตอนนี้การแข่งขันสูง มีแพลตฟอร์มใหญ่ต่างชาติทั้ง Facebook, YouTube, LINE ฯลฯ ที่ก้าวข้ามเข้ามาแข่งขันในสนามเดียวกันกับไทยรัฐ เพราะยุคปัจจุบันทุกอย่างอยู่บนออนไลน์ไม่มีเส้นแบ่งอีกต่อไป
ดังนั้น การทำสร้างเซอร์วิสและ Business Model ใหม่ อย่าง Subscription จึงเป็นอีกการรับมือของ Digital Disruption ในการสร้างความหลากหลายให้ตอบความต้องการของคนยุคนี้ ที่สำคัญ เป็นการหาและสร้างรายได้ใหม่ ๆ ให้กับทางไทยรัฐ เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าได้แข็งแรงในระยะยาว ไม่พึ่งรายได้จากโฆษณาเพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีต
“ถึงไทยรัฐ จะเป็นปลาใหญ่ในวงการสื่อบ้านเรา แต่เราเป็นปลาซิวปลาสร้อย เมื่อเทียบกับ Global player เราไม่ได้อยากใหญ่โตแบบเขา แต่บางอย่างต้องตามและปรับตัวให้ทัน เพื่อไม่ให้โดนดิสรัปมากกว่านี้ อนาคตอาจมีบริการอื่น ๆ เพิ่มเข้ามาอีก เพราะเราต้องการ Utilize Asset ของเราให้เต็มที่ เนื่องจากเว็บไซต์ของเรามีผู้อ่านถึง 2 ล้านต่อวัน แต่ยอมรับก็มีความท้าทายอยู่เยอะ เช่น Subscription Model ว่า พฤติกรรมคนไทยพร้อมจ่ายหรือยัง เพราะ perception ของคนไทยคิดว่า ข่าว คือ free content เราจะต้องมองให้ขาดว่าอะไรคือสิ่งที่จะเป็นสิ่งดึงดูดให้คนเห็นคุณค่าและปรับพฤติกรรม แม้จะยาก แต่เป็นเป้าหมายที่เราอยากไปให้ถึง”
‘คน’ สำคัญและยากสุดในการสร้างจุดเปลี่ยน
หลายคนอาจมองว่า ‘เทคโนโลยี’ เป็นตัวแปรและเป็นความท้าทายในการทรานฟอร์มองค์กรสู่ยุคดิจิทัล แต่สำหรับคุณจูเนียร์แล้ว ‘คน’ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดและยากที่สุดในการสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการสร้าง Mindset คนในองค์กรให้พร้อมปรับ พร้อมเปลี่ยนไปสู่รูปแบบการทำงานและทิศทางใหม่ ๆ
“เครื่องไม้เครื่องมือและเทคโนโลยีเปลี่ยนไม่ยาก แค่บอกจะเปลี่ยนก็มีซัพพลายเออร์ก็มารอต่อแถวนำเสนอให้แล้ว แต่เปลี่ยนคนสำคัญสุดและยากสุด”
การเปลี่ยนคนให้พร้อมเดินสู่ทิศทางใหม่ คุณจูเนียร์เล่าว่า ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตั้งแต่ทีมผู้บริหารที่ต้องมีนโยบายชัดเจนและแสดงให้เห็นถึงเหตุผลของการเปลี่ยน ซึ่งต้องมีการพูดคุยกับพนักงานบ่อย ๆ ขณะที่ฝ่ายบุคคล หรือ HR ต้องซัพพอร์ตในการจัดเทรนนิ่งในการให้ความรู้ หรือจัดเซ็คชั่นในการแชรข้อมูลกัน
ในส่วนของไทยรัฐ ออนไลน์ และไทยรัฐ ทีวี ที่คุณจูเนียร์ดูแล ได้เติม Mindset ในเรื่องนี้เข้าไปใน Way of work ขององค์กรเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งลิงก์กับช่วงการระบาดของโควิด-19 ด้วยการนำ Digital Tool มาใช้ในการทำงาน ทำให้ช่วงล็อกดาวน์ที่พนักงานต้องทำงานที่บ้าน (Work From Home) ไทยรัฐ ออนไลน์สามารถทำงานได้ปกติ ไม่มีปัญหา ขณะที่ไทยรัฐทีวี ด้วยลักษณะการทำงานที่ต้องทำเกือบตลอด 24 ชั่วโมง ต้องมีคนประจำสถานี ทำให้มีการสลับทีมกันทำงานเป็นทีม A และทีม B
นอกจากนี้ในปีหน้าเอง นอกจากการวัดผลการทำงานด้วยระบบ KPI (Key Performance Indicator) จะมีการนำเครื่องมือใหม่อย่าง OKR (Objectives and key results) วิธีการทำให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่ตั้งเป้าไว้ โดยกำหนดค่าความสำเร็จที่ทำให้จุดมุ่งหมายนั้นบรรลุผลเข้ามาเป็นอีกตัวชี้วัด โดยระบบ OKR เป็นเครื่องมือวัดผลที่ Tech company ในต่างประเทศนิยมใช้ ซึ่งจะทำให้ทุกคนในองค์กรทราบวิธีการปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรในทิศทางเดียวกัน ทำให้องค์กรพุ่งไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว
Top level ทั้งทีมต้องเห็นพ้องต้องกัน ไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่ง
ไม่เพียงระดับพนักงานทั่วไปแล้ว การเปลี่ยน Mindset ที่สำคัญ ‘คนในระดับ Top level หรือผู้บริหารทั้งทีมต้องเห็นพ้องต้องกันในทิศทางเดียวกัน เพื่อช่วยผลักดันทุกอย่างให้เดินต่อได้และมีความชัดเจน ในทางกลับกับหากมีเพียงผู้บริหารคนใดคนหนึ่งเห็นด้วย แต่คนอื่น ๆ ไม่เห็นด้วย การบรรลุเป้าหมายจะเป็นไปได้ยาก
“ทีมของผมโอเค น้อง ๆ ของผม (คุณนิค-จิตสุภา วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารสายงานกลยุทธ์และการตลาด และคุณแนท-ธนวลัย วัชรพล เจ้าหน้าที่บริหารสายงานปฏิบัติการออนไลน์ ) เป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุน ขณะที่ทางผู้ใหญ่เองให้อิสระและให้ความไว้วางใจทำได้เต็มที่ หรือเวลาจะไปนำเสนออะไรใหม่ ๆ โดยเฉพาะต้องใช้เงินลงทุนมาก เราต้องมีแผนนำเสนอชัดเจน ตั้งแต่ทำไมต้องทำ ทำแล้วได้อะไร หารายได้และโอกาสทางธุรกิจเป็นอย่างไร บริหารความเสี่ยงอย่างไร ต้องตอบให้ได้หมด ซึ่งเป็นการนำเสนอแผนธุรกิจตามปกติ”
เมื่อถามว่า ในฐานะผู้รับหน้าที่ Digital Transformation องค์กรสื่อยักษ์ใหญ่แห่งนี้ มาถึงปัจจุบันพอใจแค่ไหนกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
คุณจูเนียร์ บอกว่า พอใจระดับนึง โดยจากเมื่อ 11 ปีที่เขาเพิ่งเข้ามารับตำแหน่ง ทางไทยรัฐ ออนไลน์ อยู่ในอันดับ 26 ของเว็บไซต์ข่าวตอนนี้ขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 และมียอดติดตามในแต่ละโซเชียล มีเดียที่ติดอันดับต้น ๆ โดย
-Facebook ของ Thairath Online – 11,828,350 Likes และ 13,368,296 followers
-IG : Thairath มียอดติดตาม 2.1 ล้าน
-YouTube : Thairath มียอดติดตาม 10,289,384 subscribers
-Twitter : Thairath_news 3.5 ล้าน followers / Thairath_ent 1.2 ล้าน followers
-Line : 2,441,478 friends
-TikTok : Thairath_news – 615.3K followers / Thairath_ent – 181.8K followers
-Blockdit 17K followers
“การทำสื่อ หรืออยู่ในโลกดิจิทัล ไม่สามารถหยุดพัฒนาได้ ไม่เช่นนั้นจะตกเทรนด์ และโดนคู่แข่งแซงหน้า ซึ่งหากผมบอกว่า พอใจแล้ว นั่นหมายความว่า เราหยุดอยู่กับที่ ดังนั้นเราต้องมีพื้นที่ในการพัฒนาต่อ เพราะการรักษาอันดับไว้มันยากยิ่งกว่าตอนที่เราก้าวขึ้นมา เราต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ”
ย้ำ ‘ไทยรัฐ’ คือ ‘ไทยรัฐ’ ที่เน้นความน่าเชื่อถือ
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าในอนาคตไทยรัฐจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาไปแค่ไหน แต่สิ่งที่ชัดเจนและไม่มีวันเปลี่ยน ก็คือ ‘ไทยรัฐ’ เป็น ‘ไทยรัฐ’ ที่มีความน่าเชื่อถือ มีการกลั่นกรองและตรวจสอบข่าวสารก่อนนำเสนอ ทำให้มั่นได้ว่า สิ่งที่นำเสนอเป็นเรื่องจริง มีความถูกต้อง ไม่ต่างไปจากไทยรัฐในยุคเริ่มต้น
สำหรับพนักงาน อยากให้มององค์กรแห่งนี้เป็น ‘ครอบครัวเดียวกัน’ และผู้บริหารเองพร้อมรับฟัง ดูแลทุกคนเหมือนคนครอบครัว ที่พร้อมจะเดินไปด้วยกัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง ‘ความร่วมแรงร่วมใจ’ หนึ่งใน Core value ของเครือไทยรัฐที่เกิดจากความเชื่อว่า ถ้าทุกคนร่วมแรงร่วมใจไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น จะฝ่าฟันไปได้
เห็นได้จากวิกฤติโควิด-19 ทางไทยรัฐดูแลพนักงานเหมือนเดิมและไม่มีนโยบายปลดพนักงาน อีกทั้งยังมีการโปรโมทตำแหน่งและขึ้นเงินเดือนตามปกติ แถมเพิ่มเติมด้วยการซื้อประกันและบริการตรวจโควิดฟรีให้กับพนักงานทุกคน
Copyright © Marketing Oops!