N Health ปรับกลยุทธ์ “รู้ก่อนเกิดโรค” เดินหน้าพัฒนาธุรกิจ Preventive Healthcare พร้อมเสริมศักยภาพโรงพยาบาลต่อยอดสุขภาพคนไทย

  • 8
  •  
  •  
  •  
  •  

 

“สุขภาพ” เป็นเรื่องสำคัญสำหรับยุคนี้ โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพก่อนจะเกิดอาการเจ็บป่วย ทำให้เทรนด์การออกกำลังกายมาแรงในปัจจุบัน แต่การจะวางแผนดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันการเกิดโรค หรือ Preventive Healthcare ที่ถูกต้อง ควรได้รับการตรวจสุขภาพอย่างรอบด้าน ซึ่งหลายคนมักจะนึกถึงการตรวจสุขภาพประจำปีกับแพทย์ประจำตัว แต่การไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล มักจะต้องพบเจอกับความหนาแน่นของผู้มาใช้บริการ ซึ่งเสี่ยงกับการรับเชื้อโรคต่างๆ ได้

ปัจจุบันมีแลปเอกชนที่ให้บริการตรวจสุขภาพอย่าง N Health ซึ่งให้บริการตรวจสุขภาพที่เน้นในเรื่อง Preventive Healthcare เพราะสุขภาพเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจ แต่การพัฒนาธุรกิจของ N Health ยังมีอีกหลายส่วนที่ คุณณิศรา ตีระวัฒนพงษ์ (ผู้อำนวยการพัฒนาธุรกิจ ฝ่ายห้องปฏิบัติการทางการแพทย์) จะมาอธิบายให้ฟัง

 

 

เทรนด์ Preventive Healthcare เติบโต

เมื่อพูดถึงการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Healthcare) เราจะพบว่าตั้งแต่แรกเกิด เด็กแรกเกิดจะมีสมุดบันทึกการดูแลติดตามประเมินสุขภาวะ การเจริญเติบโต การดูแลรักษา รวมถึงบันทึกการรับวัคซีนของเด็กทารก จนอายุครบ 4 ปี เมื่อเริ่มโตขึ้นมาระดับหนึ่งก็จะมีการรับวัคซีนเพิ่มเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงวัคซีนใหม่ๆ เพื่อป้องกันโรค เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก วัคซีนไข้หวัดใหญ่ รวมไปจนถึงวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก ที่มีการรณรงค์ให้ฉีดตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป

“แต่วัยทำงานกลับกลายเป็นช่วงอายุที่หลายคนละเลยการดูแลสุขภาพ และเป็นช่วงที่มีความท้าทายมาก นั่นเพราะว่าเวลาส่วนใหญ่ของทุกคนจะทุ่มให้กับการทํางาน สังสรรค์ ใช้ชีวิตที่เร่งรีบ ทานอาหาร Fast food หรือ Junk food ใช้ชีวิตตาม Lifestyle ของแต่ละคน รวมถึงภาวะเครียดสะสมจากการทำงานและใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ ซึ่งทำให้ไม่ค่อยได้ดูแลสุขภาพของตนเอง ต่างจากตอนเป็นเด็กที่มีผู้ปกครองคอยดูแลตลอด ภาวะที่ว่ามาส่งผลต่อเนื่องในระยะยาว เมื่อทํางานหนัก พักผ่อนไม่เพียงพอ การรับประทานอาหารไม่ครบหลักโภชนาการ ขาดการออกกำลังกาย ส่วนใหญ่ก็จะมีอาการเจ็บป่วยตามมาในช่วงอายุ 40-45 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบันนี้วัยรุ่นหรือวัยทำงานเจนเนอเรชั่นใหม่เริ่มมองหาวิธีการใช้ชีวิตและให้ความสำคัญกับเรื่อง Work Life Balance มากขึ้น ที่เน้นกินดี นอนดี พักผ่อนเพียงพอ ตามมาด้วยการออกกําลังกาย ทําให้ธุรกิจสุขภาพที่เน้น Wellness & Preventive Healthcare มีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด”

 

 

นอกจากในเรื่องของพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปแล้ว เทคโนโลยีก็เป็นอีกสิ่งที่ช่วยให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้ง่าย เช่น Smart Watch ถือเป็นหนึ่งในไอเท็มเด่นที่ช่วยให้ทุกคนสามารถติดตามสุขภาพของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนก้าวที่เดินในแต่ละวัน การออกกำลังกาย ติดตาม Active Calories รวมถึงการนอน ยิ่งช่วยให้ผู้บริโภคตื่นตัวกับการดูแลสุขภาพในเชิงป้องกันมากขึ้น

สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักของ N Health ในการให้บริการ Preventive Healthcare จะเน้นไปที่กลุ่มคนทํางานกับผู้สูงอายุเป็นหลัก เนื่องจากกลุ่มคนทํางานที่มีสุขภาพที่ดีจะทําให้เกิดผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาคนวัยทำงานที่ทำงานหนักสุดท้ายจะไปเกิดโรคในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดัน หัวใจ ซึ่งเป็นโรคในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non Communicable Diseases (NCDs) ซึ่งเป็นตัวสะท้อนวิถีการใช้ชีวิตของคนๆนั้น ในช่วงวัยทำงาน เมื่อเกิดโรคเหล่านี้แล้วการรักษาจะเป็นการแก้ปัญหาสุขภาพที่ปลายเหตุ

“การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นหนึ่งในแนวทางที่ช่วยค้นหาความผิดปกติในเบื้องต้น จะช่วยให้เรารู้ตัวเร็วขึ้น ป้องกันตนเองได้ เช่น หากค่าไขมันสูง น้ำตาลสูง ก็สามารถปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต แต่หากผลการตรวจเลือด ตรวจสุขภาพประจำปีผิดปกติที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาก็จะสามารถเข้าสู่กระบวนการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ป้องกันการเกิดโรคเรื้อรังได้ในอนาคต จากเดิม N Health เป็นธุรกิจสุขภาพในส่วนงานสนับสนุนทางการแพทย์ที่ทำการตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะในห้องแลป โดยรับตัวอย่างเลือดจากโรงพยาบาล คลินิค เป็นการทำงานเชิงรับมาตลอด แต่ปัจจุบัน N Health เข้ามามีบทบาทในการดูแลสุขภาพของทุกคนในเชิงรุกมากขึ้น โดยขยายตลาดการดูแลสุขภาพที่เป็น Direct-to-Consumer (DTC) ให้ใกล้ชิดกับผู้รับบริการ สร้าง Health Awareness เพื่อให้ประชาชนคนทั่วไปหันมาสนใจสุขภาพของตัวเอง รู้ว่าสุขภาพปัจจุบันจะส่งผลอย่างไรต่อไปในอนาคต”

 

ปรับกลยุทธ์สู่การเป็นพันธมิตรกับโรงพยาบาล

 

สำหรับ N Health เติบโตมาจากกลุ่มธุรกิจบริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ (Integrated Diagnostic Business – IDB) หรือ ห้องแลป โดยการให้บริการที่สนับสนุนด้านการตรวจเลือด ตรวจสารคัดหลั่งต่างๆ ที่ได้จากผู้รับบริการ และผู้ป่วย รายงานผลการตรวจให้กับโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของ N Health ยังได้ปรับกลยุทธ์สู่การเป็นพันธมิตรด้านการให้บริการแลปทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนอย่างเห็นได้ชัด

“สำหรับโรงพยาบาลภาครัฐ นอกจากการให้บริการตรวจเลือดกลุ่ม Special Tests ซึ่งบางโรงพยาบาลไม่สามารถตรวจได้ด้วยห้องแลปของตนเอง ทาง N Health จะเป็นส่วนที่ให้บริการตรวจเหล่านี้กับหลายๆ โรงพยาบาล และเราเข้าร่วมโครงการที่ร่วมมือกับโรงพยาบาลรัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงการตรวจหายีนถ่ายทอดทางพันธุกรรมมะเร็งเต้านม (BRCA1/2 Gene Test) โครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง (HPV Self Test) ที่เป็นพันธมิตรกับโรงพยาบาลภาครัฐ N Health มีทีมทำงาน ออกไปช่วยสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลกับผู้มารับบริการ การเชิญชวนให้ผู้หญิงที่มีอายุในช่วง 30-59 ปีเข้ารับชุดตรวจเพื่อเก็บตัวอย่างจากปากมดลูกด้วยตนเอง อธิบายวิธีการเก็บตัวอย่าง ทำให้หญิงไทยหันมาตรวจสุขภาพมากขึ้น และเข้าสู่การตรวจค้นหา เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น

ส่วนการให้บริการโรงพยาบาลภาคเอกชน นอกจากการให้บริการกลุ่ม Special Tests แล้ว การค้นหาการตรวจในรายการที่ไม่สามารถตรวจในประเทศไทยเพื่อส่งต่อไปยังต่างประเทศแบบ One Stop Service สำหรับผู้รับบริการที่มาจากต่างชาติ (Medical Tourism) N Health ให้บริการตรวจวิเคราะห์เชิงลึกมากขึ้นถึงระดับ DNA หรือการตรวจทางพันธุกรรม ซึ่งช่วยสนับสนุนโรงพยาบาลในการดูแลคนไข้ได้ตรงจุด หรือตรงเป้า ที่เราเรียกกันว่า Precision Medicine ให้สามารถบริหารจัดการดูแลคนไข้ได้ดียิ่งขึ้น”

 

 

ด้วยเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญที่ได้มาตรฐานระดับสากล ทำให้ N Health สามารถให้บริการตรวจแลปได้ดียิ่งขึ้นจากเดิมที่ส่วนใหญ่การตรวจแลปเชิงลึก หรือการตรวจระดับพันธุกรรมจะต้องส่งตัวอย่างเลือด หรือตัวอย่างชิ้นเนื้อ ไปตรวจยังแลปในต่างประเทศ ซึ่งใช้ระยะเวลาส่งตรวจยาวนานหลายสัปดาห์ แต่ด้วยบริการของ N Health สามารถส่งตรวจโดยใช้ระยะเวลาอย่างมากไม่เกินสองสัปดาห์ ช่วยลดระยะเวลารอคอยผล และทำให้คนไข้ได้รับการรักษาได้เร็วขึ้น

 

ตรวจเบื้องต้นสู่การรักษาต่อเนื่องที่โรงพยาบาล

จากเดิมการตรวจแลปสำหรับโรงพยาบาลจะเป็นการตรวจเพื่อหาเชื้อโรค ตรวจหาค่าของสารต่างๆ เช่น ตรวจน้ำตาล ตรวจไขมันโดยรวม (Lipid Profile) ตรวจภาวะการทำงานของตับ (Liver Function Test) ฯลฯ ในร่างกายว่ามีค่าผิดปกติอย่างไร ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีมากขึ้น การค้นพบใหม่ๆ ทำให้ N Health ต้องมีการปรับตัว นำเทคโนโลยีตามกระแสโลกมาให้บริการตรวจเพิ่มเติม ทำให้ปัจจุบันเราสามารถตรวจได้ลงลึกถึงระดับพันธุกรรม (DNA) เช่น การตรวจหายีนมะเร็งที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม (Hereditary Cancer Panel) การตรวจหายีนพาหะที่ถ่ายทอดโรคทางพันธุกรรมที่สามารถตรวจได้มากกว่า 400 โรค (Expanded Carrier Screening) ซึ่งเดิมทีคนส่วนใหญ่จะเคยได้ยินและรู้จักแต่โรคเลือดธาลัสซีเมีย แต่ทว่ายังมีอีกหลายโรคที่สามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม รวมถึงการตรวจ Circle DNA (Premium) ที่รายงานผลการตรวจระดับยีนและแปลผลออกมามากกว่า 500 รายการ ครอบคลุมการรายงานผลโภชนพันธุศาสตร์ (อาหาร โภชนาการตาม DNA) การออกกำลังกาย การวางแผนครอบครัว ความเสี่ยงโรคมะเร็ง ความเสี่ยงโรคทางสมอง ความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพและโรคต่างๆ ที่จะเกิดในอนาคต รวมถึงการตรวจยีนที่เกี่ยวข้องกับยา (Pharmacogenetics)

“ไม่เพียงแค่การตรวจเพื่อหาโรคพันธุกรรมเท่านั้น แต่เรายังสามารถตรวจยีนที่เกี่ยวข้องกับยาที่ป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ที่เรียกว่า Pharmacogenetics Test เพื่อวางแผนการใช้ยา ช่วยให้ผู้ป่วย หรือผู้รับบริการจะได้รับประสิทธิผลสูงสุดจากการใช้ยา เพื่อให้แพทย์และเภสัชกรปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับยีน รวมถึงลดและหลีกเลี่ยงอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา เช่น ยารักษาโรคเกาต์ ยากันชัก ซึ่งอาการไม่พึงประสงค์แบบผื่นผิวหนังที่รุนแรง เช่น Steven-Johnson Syndrome (SJS), Toxic Epidermal Necrolysis (TEN) เป็นภาวะที่รุนแรงส่งผลต่อการเสียชีวิตได้ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งในรูปแบบของการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน”

 

 

โดยทาง N Health มีการพัฒนาการตรวจต่างๆ เช่น การตรวจ NIPT (Non-Invasive Prenatal Test) สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 10-12 สัปดาห์ เพื่อตรวจโครโมโซมของทารกในครรภ์, การตรวจยีนที่เกี่ยวข้องกับยา (Pharmacogenetics Test) เพื่อป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา พัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับแพทย์ผู้ให้บริการ รวมถึงภาคีสหสาขาวิชาชีพทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ใช้บริการมั่นใจในกระบวนการรักษาของโรงพยาบาล รวมไปถึงยังมีแผนในการออกผลิตภัณฑ์ที่ให้ผู้บริโภคสามารถไปทดสอบเบื้องต้นที่บ้านได้ แล้วสามารถนำผลตรวจมาปรึกษากับคุณหมอที่โรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

“อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของเราที่ต้องการดูแลกลุ่มผู้หญิงโดยเฉพาะ คือ N Health Q-PAD™ ซึ่งเป็นผ้าอนามัยที่ช่วยเก็บตัวอย่างเลือดประจำเดือนด้วยตนเอง และส่งชุดเก็บตัวอย่างกลับมาที่แลป N Health ทาง EMS ร่วมกับไปรษณีย์ไทย เพราะผู้หญิงเราเสียเลือดประจำเดือนทุกๆเดือน แต่ต่อไปเลือดประจำเดือนจะช่วยสะท้อนสุขภาพของเราได้ ซึ่งในเบื้องต้นสามารถให้บริการตรวจหาเชื้อ HPV ที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก และเรายังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม

 

สร้างความรู้เรื่องสุขภาพตรงสู่ผู้บริโภค

สำหรับการขยายธุรกิจเข้าสู่ผู้บริโภคโดยตรงซึ่งถือเป็นการเจาะตลาดใหม่ N Health จะใช้วิธีนำเสนอข้อมูลด้านสุขภาพที่ถูกต้องผ่านสื่อ Social Media เป็นหลัก เพื่อสร้าง Health Awareness โดยข้อมูลที่ส่งผ่านช่องทางต่างๆ สู่ผู้รับบริการจะต้องเป็นข้อมูลที่มีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญกว่า 20 ปี ของ N Health ในการดำเนินธุรกิจงานด้านสนับสนุนทางการแพทย์ ผ่านการนำเสนอข้อมูลให้เข้าใจง่ายในภาษาเดียวกับผู้บริโภค

“เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการของ N Health ได้ง่าย เรามีการจัดตั้งคลินิกเทคนิคการแพทย์ N Health กว่า 30 สาขาทั่วประเทศ โดยมีสาขาที่เป็น Flagship ตั้งอยู่ที่ปากซอยศูนย์วิจัย ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพฯ ในนาม N Space ซึ่งเป็นศูนย์บริการตรวจวิเคราะห์สุขภาพที่ทันสมัย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน โดยมีทั้งห้องประชุม และร้านกาแฟให้บริการ เพื่อสร้าง Experience ที่ดีแก่ลูกค้าที่เข้ามารับบริการ ทั้งสอบถามข้อมูลการตรวจเพิ่มเติม หรือติดตามผลการตรวจ รวมไปถึงยังมีช่องทาง LINE เพื่อสื่อสารกับผู้มาใช้บริการ นอกจากนี้ทีมงานในคลินิกยังมีการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานสุขภาพชุมชนเพื่อให้เกิดการทดลองตรวจสุขภาพ “ตับ ไต เกาต์” เพื่อให้เข้าถึงการตรวจติดตามสุขภาพของประชาชนในอนาคตด้วย”

 

 

คุณณิศรา ยังเสริมอีกว่า N Health ยังมีการทําแพ็คเกจการตรวจสุขภาพที่มีราคาเหมาะกับสภาพเศรษฐกิจและตรวจตามความจำเป็นของแต่ละคน เช่น ชุดตรวจน้ำตาล ชุดตรวจความดัน ชุดตรวจคอเลสเตอรอล นอกจากจะช่วยให้ง่ายในการตรวจเช็กสุขภาพ ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการหาหมอ รวมไปถึงยังมีโปรแกรมที่ตรวจแบบเจาะจงตามไลฟ์สไตล์ ทั้งเพศชาย เพศหญิง ช่วงอายุ ลักษณะการทํางาน โดยผลตรวจจะถูกส่งตรงถึงแต่ละคนผ่านทางอีเมล

 

พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคเข้าถึงเรื่องสุขภาพ

เพื่อให้ง่ายในการตรวจสุขภาพ ทาง N Health ยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่ให้ผู้รับบริการเก็บตัวอย่างง่ายๆ ด้วยตนเอง (Self Sampling) ที่สามารถซื้อชุดเก็บตัวอย่างกลับไปตรวจด้วยตัวเองได้ที่บ้าน เช่น ชุดเก็บตัวอย่างจากกระพุ้งแก้มสำหรับตรวจ Circle DNA (Premium) ชุดเก็บเลือดประจำเดือน (N Health Q-PAD™) สำหรับตรวจ HPV ชุดเก็บอุจจาระเพื่อตรวจ Gut Microbiome ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อช่วยให้การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องง่าย เข้าถึงได้ ประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย โดยจะเน้นการสร้างความรู้ในผลิตภัณฑ์และบริการของ N Health ทั้งช่องทางออนไลน์บน Social Media และช่องทางออฟไลน์ผ่านหน่วยงานสาธารณสุขชุมชน

 

 

“นอกจากนี้เรายังไปร่วมกับโรงเรียนในการให้ความรู้ทางด้านสุขภาพเชิงป้องกัน เช่น วิธีการล้างมือที่ถูกต้องกับน้องๆ นักเรียน เป็นการช่วยพัฒนาสังคมในเรื่องของสุขภาพ ซึ่งกลยุทธ์ของเราจะเน้นสร้างความรู้เป็นตัวนำทาง และตามด้วยโปรโมชั่นที่มีความจําเป็นของแต่ละคน”

กลยุทธ์นี้จะถูกนำไปใช้ทั่วประเทศ พร้อมด้วยการสร้างความเชื่อมั่นในมาตรฐานการบริการระดับเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งมาตรฐานของแลป N Health ยังเป็นมาตรฐานเทียบเท่ากับที่ให้บริการกับโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งการันตีมาตรฐานด้วยความเชื่อมั่นของโรงพยาบาลทั่วประเทศ

 

เป้าหมายสู่การเป็นผู้ช่วยด้านสุขภาพก่อนเกิดโรค

เป้าหมายในการพัฒนาคือการมองหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการตรวจวิเคราะห์ที่ช่วยทั้งคุณหมอและผู้บริโภคให้สามารถดูแลสุขภาพได้เชิงลึกและเร็วขึ้น ถือเป็นเป้าหมายหลักของทีมพัฒนาธุรกิจ N Health รวมไปถึงการมองหากลยุทธ์ที่จะช่วยให้ผู้คนเข้าถึงการดูแลสุขภาพผ่านบริการจาก N Space และคลินิกเทคนิคการแพทย์ N Health ตามภูมิภาคต่างๆ และการใช้เทคโนโลยี Digital Platform ในรูปแบบ Mobile Application ซึ่งจะช่วยให้ข้อมูลด้านสุขภาพของแต่ละคนอยู่บนมือถือ

“การที่ข้อมูลสุขภาพอยู่ใน Mobile Application จะช่วยให้แต่ละคนสามารถใช้เทคโนโลยีที่มีในมือถือติดตามสุขภาพของตัวเองได้ง่ายๆ ที่บ้าน เช่น ระยะเวลาในการพักผ่อน แนวโน้มปริมาณน้ำตาลในร่างกาย หรือสัดส่วนคอเลสเตอรอล ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนเห็นสุขภาพของตัวเองและต้องเตรียมความพร้อมรับมือ เช่น ต้องออกกำลังกายเพื่อลดคอเลสเตอรอล หรือต้องรับประทานอาหารอะไรเพื่อลดน้ำตาลลง หรือถึงเวลาที่ควรเข้าไปปรึกษาแพทย์”

เทคโนโลยียังช่วยให้ผู้ใช้บริการสามารถได้รับการนัดหมายเพื่อติดตามสุขภาพ รวมไปถึงการจองนัดเพื่อเข้ารับการตรวจสุขภาพ รวมถึงการให้บริการ TeleHealth ในบางครั้งที่ไม่เข้าใจผลตรวจสามารถปรึกษาคุณหมอผ่านบริการนี้ได้ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับทางโรงพยาบาลกรุงเทพ

 

 

เป็นหนึ่งรูปแบบที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงบริการและเข้าใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้น โดยกลุ่มเป้าหมายจริงๆ ของ N Health คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพ แต่สิ่งที่ได้ตามมาคือการเจาะเข้าถึงกลุ่มผุ้สูงอายุที่เป็นพ่อแม่ของคนรุ่นใหม่ ทำให้เรียกได้ว่าบริการของ N Health สามารถเข้าถึงทุกกลุ่มได้อย่างแนบเนียน และช่วยให้คนไทยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข โดยสามารถวางแผนป้องกันก่อนการเกิดโรคได้


  • 8
  •  
  •  
  •  
  •