เรียนรู้ DNA ไทยผ่านประวัติศาสตร์ – สังคม – วัฒนธรรม ด้วยนิทรรศการและกิจกรรมที่ ‘Museum Siam’ กับรูปแบบ Play & Learn สไตล์ยุค New Normal

  • 10.1K
  •  
  •  
  •  
  •  

การเรียนรู้ที่ไม่มีวันหมดอายุ และศักยภาพของการเรียนรู้ก็สามารถพบได้จากหลายแหล่ง ไม่ใช่แค่ในรั้วโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือห้องสมุด โดยจะเห็นว่าที่ผ่านมาองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นรวมไปถึง ‘พิพิธภัณฑ์’ ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งเรียนรู้ที่ทั่วโลกให้การยอมรับ และยกให้เป็น top destination สำหรับการท่องเที่ยวเชิงความรู้ โดยเราจะเห็นว่าในหลายๆ ประเทศหนึ่งในกิจกรรมหลักยามว่างของครอบครัว พ่อแม่มักจะพาเด็กๆ มาเที่ยวชมดูนิทรรศการ หรือพิพิธภัณฑ์ เพื่อเสริมพัฒนาการและฝึกทักษะการเรียนรู้อยู่เสมอ

ในขณะที่ภาพรวมขององค์กรการศึกษาเอง ก็ปรับเปลี่ยนแนวทางองค์กรไปจากเดิม โดยเฉพาะในยุค New Normal ที่พฤติกรรมคนเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ซึ่งนอกจากจะต้องปูแนวทางธุรกิจให้อิงกับดิจิทัลมากขึ้นแล้ว ยังต้องปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้เข้ากับสถานการณ์ด้วย ทั้งห้องเรียนออนไลน์ และกิจกรรมเพื่อหาความรู้นอกห้องเรียนที่มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่การอัดชั่วโมงเรียนเต็มเวลายาว 6-7 ชั่วโมงต่อวันอีกต่อไป

หากมองในภาพรวมแล้ว แหล่งเรียนรู้เหล่านี้ ถือว่าเป็น ‘infranstructure’ ของประเทศอย่างหนึ่งที่ต้องเตรียมตัว และปรับ mindset ให้เป็นการลงทุนอย่างหนึ่งในทรัพยากรคน

ทั้งนี้ ‘มิวเซียมสยาม’ (Museum Siam) ได้นิยามตนเองว่าเป็น ‘พิพิธภัณฑ์แห่งการเรียนรู้’ ที่เน้นการเรียนรู้แบบสนุกสนาน กระตุ้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง และที่สำคัญให้รู้จักการคิดวิเคราะห์สังคม ชีวิต ความเป็นอยู่ ผ่านประวัติศาสตร์และเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง

โดยช่วงวิกฤตการระบาดที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนอย่างมาก และอิทธิพลของยุคดิจิทัลทำให้ความสนใจของ ‘ลูกค้า’ เปลี่ยนไปเร็วขึ้น ดังนั้น มิวเซียมสยาม จึงต้องปรับเปลี่ยนแนวทางการออกแบบนิทรรศการ และการนำเสนอคอนเทนต์ ให้ตอบรับกับยุค New Normal ด้วยเช่นกัน

มารู้จักหน้าที่ ‘ฝ่ายพัฒนาองค์ความรู้ – นิทรรศการและกิจกรรม’

คุณฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาองค์ความรู้พิพิธภัณฑ์ พูดให้ฟังว่า สิ่งสำคัญของการเรียนรู้คือ เราต้องรู้เพื่อเข้าใจอดีต เพื่อให้เท่าทันปัจจุบัน และรับมือกับอนาคต ทั้งยังเล่าถึงวิธีการทำงานของฝ่ายพัฒนาองค์ความรู้พิพิธภัณฑ์ ว่าจะเน้นไปที่การพัฒนาและกลั่นความรู้ที่มีลักษณะเป็น ‘สหสาขาวิชา’ ไม่เฉพาะเจาะจง ไม่ว่าจะเป็นสายประวัติศาสตร์, โบราณคดี, วิทยาศาสตร์, ศิลปะ และความรู้ด้านพิพิธภัณฑ์ก็ตาม เพื่อทำให้พิพิธภัณฑ์และความรู้ในนั้นสอดรับกันกับความเป็นไปในสังคมในแต่ละสมัย รวมไปถึงหันหน้าสู่ ‘โลกออนไลน์’ มากขึ้นด้วย

คุณฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาองค์ความรู้พิพิธภัณฑ์

สำหรับฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม คุณซองทิพย์ เสริมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาพื้นที่งานบริการ และรักษาการ ผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม ได้พูดถึงหน้าที่หลักๆ ของฝ่ายนี้ คือ การนำเอาองค์ความรู้ (Content) มาตั้งเป็นโจทย์ เพื่อนำมากลั่นกรองมาคิดดีไซน์เป็นนิทรรศการหมุนเวียนและกิจกรรม ในส่วนนิทรรศการหมุนเวียน มิวเซียมสยามจัดปีละ 2 เรื่อง โดยมีระยะการจัดแสดงนิทรรศการเรื่องละประมาณ 3-5 เดือน โดยหัวข้อหรือเนื้อหาส่วนใหญ่จะอิงตามกระแสสังคมในช่วงนั้น ๆ

การจัดนิทรรศการและกิจกรรมจะยึดหลักการดึงศักยภาพจากตัวผู้เข้าชมมาเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าใจเนื้อหา เพราะเราเชื่อว่า Learning skill ของมนุษย์มีมากกว่าแค่การอ่าน หรือการฟัง ดังนั้นเราจึงให้ผู้เข้าชมการเรียนรู้วิธีการดูนิทรรศการหรือการร่วมกิจกรรมโดยใช้เครื่องมือทั้งจากภายนอกตัวเอง คือร่างกายจากการสัมผัส การทดลองต่าง ๆ และจากภายในตัวเอง คือ การอ่าน การฟัง การดู โดยมีเทคโนโลยีที่หลากหลายมาช่วยเสริมการเรียนรู้นั้น ๆ ให้เข้าใจ และสนุกยิ่งขึ้น โดยเรานิยามวิธีการนี้ว่า ‘Play & Learn’  และอีกสิ่งที่สำคัญคือต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละนิทรรศการและกิจกรรมที่ทำ โดยกลุ่มเป้าหมายหลักของมิวเซียมสยาม คือ เด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ เพื่อเน้นย้ำและปลูกฝังการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ให้สามารถนำไปต่อยอดได้ในชีวิตปรกติประจำวันได้ แต่ปัจจุบันในยุคที่กลุ่ม‘ผู้สูงวัย’ ที่มีจำนวนมากขึ้น มิวเซียมสยาม ก็ไม่ได้ละเลย และพยายามดีไซน์รูปแบบของการชมนิทรรศการและกิจกรรมให้สอดรับกับกลุ่มนี้ด้วย ไม่ว่าจะเรื่องการออกแบบขนาดตัวอักษรในนิทรรศการหรือสูจิบัตร หรือการออกแบบเนื้อหาคำบรรยายจากผู้นำชมที่ให้สอดคล้องและเข้าใจง่ายกับกลุ่มผู้สูงวัยด้วยเป็นต้น

คุณซองทิพย์ เสริมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาพื้นที่งานบริการ และรักษาการ ผู้อำนวยการฝ่ายนิทรรศการและกิจกรรม

‘จุดแข็ง’ ที่ทำให้มิวเซียมสยาม แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์อื่น

ความน่าสนใจของมิวเซียมสยามที่ทำให้แตกต่างจากที่อื่น ก็คือเราเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรก ที่ทดลองกับการเรียนรู้ของผู้เข้าชม โดยพยายามเปิดประเด็นเรื่องประสบการณ์การเรียนรู้ของคนว่าหาได้จากหลากหลายวิธีการ เพื่อหวังผลให้ผู้เข้าชม หรือประชาชนได้รู้จักการคิดวิเคราะห์สิ่งต่าง ๆ ที่กำลังสนใจในหลายหลายบริบทมากขึ้น

และพยายามทำมิวเซียมสยามให้เป็นห้องทดลอง ในการทดลองจัดกิจกรรมในรูปแบบที่หลากหลาย จะเห็นได้ว่าเราจัดกิจกรรมหลากหลายในพื้นที่มีทั้งงาน  งานดนตรี Noise Market + รณรงค์ลดขยะลดโลกร้อน หรือการจัดกิจกรรมภายนอกพื้นที่เช่น  โครงการ Cultural District ที่ร่วมมือกับพันธมิตรต่าง ๆ ในเกาะรัตนโกสินทร์ ที่เป็นพื้นที่มีประวัติศาสตร์น่าสนใจให้สามารถผันตัวเองเป็นผู้เล่าเรื่องเป็นแหล่งให้ความรู้ได้ด้วย อาทิ ร้านยาบ้านหมอหวาน ร้านยาโบราณสมัย ร.6 , ร้านชาอ๋องอิวกี่ ร้านชาโบราณสมัย ร.7, กุฏิสุนทรภู่ในวัดเทพธิดารามเก่าสมัย ร.3, สน.พระราชวังซึ่งเป็นหมู่วังเก่าท้ายวัดโพธิ์ฯ โดยร่วมกันออกแบบวิธีการถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์พื้นที่ผ่านรูปแบบต่าง ๆ  เช่นการเล่าประวัติศาสตร์ผ่านการผลิตยาลูกกลอน หรือการเล่าประวัติศาสตร์จากการชิมชาเป็นต้น

จุดเด่นที่เห็นได้ชัดอีกอย่างจากมิวเซียมสยามก็คือ ‘Relationship’ การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสังคม เพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์มีชีวิตชีวา ทำอย่างไรให้คนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด ไม่ว่าจะผ่านตัวนิทรรศการ หรือ กิจกรรมก็ตาม

ยกตัวอย่าง เช่น นิทรรศการ ‘ต้มยำกุ้งวิทยา’ เนื้อหาเป็นเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจและเรียนรู้เรื่องการปรับตัวของคนไทยในอดีต ส่วนกิจกรรมก็จัดให้มีการเล่นบอร์ดเกมเพื่อให้เข้าใจประสบการณ์ของคน  และให้มีการขายของแบกับดิน ซึ่งเกิดขึ้นจริงๆ ในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งของไทย นิทรรศการ ‘พม่าระยะประชิด’ ที่บอกเล่าเรื่องราวชาวพม่า เกาะติดชีวิตชาวพม่าในประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคนพม่ามากขึ้น และนิทรรศการชุด ‘ถอดรหัสไทย’ ที่บอกเล่าเรื่องราวประเทศไทย คนไทย เป็น story telling ที่มีวัตถุจัดแสดงที่เป็นได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ โทรศัพท์, การแต่งกาย หรือแม้แต่กระเป๋ารถเมล์ โดยให้สิ่งของเหล่านี้ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวว่ามีความเชื่อมโยงกับเรา และสังคมไทยอย่างไร เป็นต้น

นอกจากนี้ กิจกรรมประจำปีของมิวเซียมสยาม ยังมีเทศกาล Night at the Museum ที่กระตุ้นการรับรู้และดึงดูดความสนใจของผู้เข้าชมอย่างมาก ซึ่งเป็นการเปิดพิพิธภัณฑ์ให้เข้าชมได้ในเวลากลางคืน เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่อีกแบบของคอมิวเซียม

ทั้งนี้ ขอบเขตของมิวเซียมสยามค่อนข้างมีความยืดหยุ่น ภายใต้กรอบการสร้างองค์ความรู้ใน 2 เรื่องหลักๆ คือ ประวัติศาสตร์ – สังคม – วัฒนธรรม – วิถีชีวิตของไทย และ องค์ความรู้ด้านพิพิธภัณฑ์วิทยา

ช่วง Post COVID-19 ในยุค New Normal มิวเซียมสยามปรับเปลี่ยนแนวทางอย่างไร

คุณฆัสรา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า งานพัฒนาองค์ความรู้ มีหลายรูปแบบ อาทิเช่น หนังสือ การบรรยาย การอบรม การสัมมนา การอนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้ด้านการอนุรักษ์เชิงป้องกัน งานจดหมายเหตุ งานเผยแพร่ความรู้ออนไลน์ในโครงการ Museum Core และ งานนำความรู้เข้าสู่ระบบคลังข้อมูลทรัพยากรการศึกษาแบบเปิด (OER) ซึ่งมิวเซียมสยามได้ทำงานร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) โดยภาพรวมแล้วเป็นการจัดการความรู้ในประเด็นที่หลากหลายให้สามารถสื่อสารกับสาธารณชนได้ในหลายรูปแบบ หลายช่องทาง

ทั้งนี้สถานการณ์ที่ประเทศไทยยังไม่ปกติ การจัดกิจกรรมในพื้นที่จริงต้องถูกจำกัดจำนวนคน และสถาบันการศึกษายังต้องเว้นระยะห่าง และปรับเปลี่ยนวิธีการสอนสลับกับออนไลน์ ทำให้ทางมิวเซียมสยามต้องใช้ช่องทางออนไลน์ในการสื่อสารมากขึ้น เช่น

  1. จัดบรรยายออนไลน์
  2. งานเขียนออนไลน์ที่เน้นบอกเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ หรือเชื่อมโยงให้เห็นมิติทางประวัติศาสตร์ กับเหตุการณ์ปัจจุบัน และรวมถึง การเสนอเรื่องราวการปรับตัวของพิพิธภัณฑ์ แนวทางการเรียนรู้ใหม่ๆในช่วง COVID-19
  3. เริ่มทำโครงการ  Museum Links: คลังสงประวัติศาสตร์จากงานพิพิธภัณฑ์ ซึ่งเป็นโครงการที่พยายามจะเชื่อมความรู้จากพิพิธภัณฑ์ไทยและพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกเข้ากับหลักสูตรประวัติศาสตร์ ชั้นมัธยม เพื่อให้เป็นทรัพยากรการเรียนรู้ออนไลน์ ในช่วงเวลาของการเว้นระยะห่างนี้

สำหรับรูปแบบการนำเสนอทั้งนิทรรศการ และกิจกรรม คุณซองทิพย์ พูดว่าแม้ว่ารูปแบบการจัดงานส่วนใหญ่ที่ผ่านมาจะเน้นการสร้างประสบการณ์ร่วมกับผู้เข้าชมในเชิงพื้นที่จริง แต่เพราะ COVID-19 ทำให้มิวเซียมสยามปรับทิศเข้าสู่ online platform มากขึ้น สามารถรับชมและร่วมกิจกรรมได้ทางออนไลน์

โดยในช่วงที่พิพิธภัณฑ์ปิดให้บริการ มิวเซียมสยามได้ใช้สื่อดิจิทัลต่างๆ ในการนำเสนอนิทรรศการ ทั้งรูปแบบ VDO Virtual Tour แบบ Virtual Exhibition 360 องศา และจัดทำกิจกรรมต่างๆ ผ่านทาง Facebook LIVE เช่น กิจกรรมล่าสุด จากนิทรรศการชุด ‘รอยวาดราชดำเนิน’ ที่ชวนให้ทุกคนมาร่วมบันทึกความทรงจำผ่านรูปวาดที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นถนนราชดำเนิน พร้อมความหมายและความทรงจำ โดยโพสต์ภาพลงบน Facebook ของตัวเอง – ตั้งค่าเป็นสาธารณะ – บรรยายผลงาน แล้วติด #ล่องรอยราชดำเนินนิทรรศการผสานวัย #รอยวาดราชดำเนิน เป็นต้น

ข้อมูลทั้งหมดนี้ผ่านคำบอกเล่าของ experts จากมิวเซียมสยามทั้ง 2 คน ทำให้เราเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ทันสมัยมากของพิพิธภัณฑ์ในไทย ล้างภาพความจำพิพิธภัณฑ์คือสถานที่จำเจน่าเบื่อไปได้เลย เพราะมิวเซียมสยามเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิต แห่งการเรียนรู้ เปรียบเป็นแอ่งน้ำทางปัญญาที่อยากให้ลองเปิดใจ ปรับทัศนคติมุมมองใหม่ แล้วปั้นให้แหล่งความรู้ให้กลายเป็น ‘วิถีการท่องเที่ยวใหม่ในพิพิธภัณฑ์’ ของดีของไทยสู่ความเป็นปกติของคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยกให้มิวเซียมกลายเป็นหนึ่งใน destination ใหม่ของผู้มาเยือนดินแดนสยามแห่งนี้


  • 10.1K
  •  
  •  
  •  
  •