ขณะที่เทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันได้สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้คนและเป็น Solution ช่วยแก้ปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพูดคุยปฏิสัมพันธ์กัน ยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19ที่ผ่านมา ทำให้รูปแบบการทำงาน การประชุม การเรียน การจัดอีเวนต์ต่าง ๆ ไปอยู่บนออนไลน์ กลายเป็นตัวเร่งให้ทุกคนต้องปรับตัวและเรียนรู้ Digital Skill
อย่างไรก็ตามโลกออนไลน์ก็ไม่อาจทดแทนการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของมนุษย์ได้ทั้งหมด เพราะทันทีที่มีการยกเลิกล็อกดาวน์ การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย ประเทศเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ปกติ ปรากฎฏว่าผู้คนจำนวนมากออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านตามปกติ ห้างสรรพสินค้าเต็มไปด้วยผู้คน
สะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์ชอบที่จะพบปะสังคม ผู้คน และชอบสัมผัสประสบการณ์จริง มากกว่าอยู่แต่บนหน้าจอ เพราะการได้ปฏิสัมพันธ์กันนั้นมีความหมาย และมีประสิทธิภาพในการสื่อสารมากกว่าโลกออนไลน์หลายเท่า
ทำให้ในช่วงนี้หลาย ๆ องค์กรจึงเริ่มกลับมา “จัดประชุม อบรม สัมมนา” ตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่ง “Meetings” เป็นหนึ่งในแกนหลักของอุตสาหกรรม MICE ของประเทศไทย
ด้วยหัวใจหลักของ “ธุรกิจประกันชีวิต” เป็นการขับเคลื่อนธุรกิจที่มาจาก “คน” เป็นหลัก และกำลังคนสำคัญที่เป็นด่านหน้าในการเข้าถึงลูกค้าโดยตรงคือ “ตัวแทนประกันชีวิต” ซึ่งปัจจุบันทั้งอุตสาหกรรมประกันชีวิตในไทย มีตัวแทนประกันชีวิตมากกว่า 250,000 คน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของบริษัทในการให้คำแนะนำและเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแก่ลูกค้า ทั้งนี้เพื่อให้องค์ความรู้ของตัวแทนที่จะแนะนำเป็นไปตามปัจจุบันมากที่สุด ตัวแทนจึงต้องเข้าร่วมอบรมสัมมนาอย่างสม่ำเสมอ เพื่ออัปเดตข้อมูลความรู้แบบประกันที่จะขาย รวมถึงบริการล่าสุด และทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นต้องมีในการดำเนินธุรกิจ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง
Marketing Oops! ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ “คุณสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)” หนึ่งในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการจัดอบรม-สัมมนาตัวแทนประกันชีวิตมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาทักษะเดิม (Upskill) และเติมทักษะใหม่ (Reskill) อยู่เสมอ อีกทั้งเพื่อเป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นและสร้างความผูกพันระหว่างองค์กรกับตัวแทนประกันชีวิต และระหว่างตัวแทนประกันชีวิตด้วยกันเอง
การจัดอบรม-สัมมนาของเมืองไทยประกันชีวิต จึงไม่เพียงแค่พัฒนาศักยภาพด้านบุคลากรเท่านั้น ขณะเดียวกันยังเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมขับเคลื่อนและฟื้นฟูอุตสาหกรรม MICE และเศรษฐกิจไทยด้วยเช่นกัน
“Training at sight” ผสานความรู้-การท่องเที่ยว พัฒนาทักษะ-สร้างแรงกระตุ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมาในช่วงล็อกดาวน์ หลายองค์กรจึงได้ปรับรูปแบบการทำงานเป็น Work From Home และมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือช่วยในการติดต่อสื่อสารและทำงาน ถึงในวันนี้ในยุคที่ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย หลายองค์กรมีการปรับรูปแบบการทำงานเป็น “Hybrid Working” คือ ผสมผสานทั้งออนไลน์กับออฟไลน์ เพื่อให้ยังคงมีบรรยากาศการสร้างปฏิสัมพันธ์แบบได้พบปะเห็นหน้ากัน เช่นเดียวกับ “เมืองไทยประกันชีวิต”
“ในช่วง COVID-19 ที่ผ่านมา หลายครั้งเราใช้ระบบดิจิทัลในการทำงาน ส่งผลดีในเรื่องของการประชุม แต่ยังไม่เหมาะในการทำงานด้านอื่น ๆ เช่น การสอนหรือการอบรม และการสร้าง Motivation เนื่องจากการสอนที่มีประสิทธิภาพ ยังจำเป็นต้องมีการปฎิสัมพันธ์กันระหว่างวิทยากรกับผู้เข้าอบรม มีการถามตอบ เห็นหน้ากันจริง ๆ ตอนนี้บริษัทของเราจึงเดินหน้าการทำงานแบบ Hybrid คือ มีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยส่วนใหญ่ออนไลน์จะใช้สำหรับการประชุมที่จัดเป็นประจำ (Routine Meeting) เป็นรายสัปดาห์ รายเดือน หรือรายไตรมาส ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยให้การทำงาน การสื่อสารระหว่างกันสะดวกมากขึ้น ในขณะเดียวกันมีกิจกรรมหลายอย่างเริ่มกลับมาให้เป็นแบบออฟไลน์ อย่างการอบรม-สัมมนา ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้น เนื่องจากธุรกิจประกันต้องมีการ Upskill-Reskill คนของเราให้เท่าทันกับสถานการณ์รอบตัวที่มีความผันผวนสูง และต้องมีกระตุ้นเสริมสร้างแรงจูงใจให้กับคนของเราอย่างต่อเนื่อง แทบจะเป็นรายสัปดาห์ต่อสัปดาห์” คุณสาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เล่าถึงการผสานการทำงานทั้งแบบออนไลน์ และออฟไลน์
การจัดอบรม-สัมมนาตัวแทนประกันของ “เมืองไทยประกันชีวิต” จึงให้ความสำคัญกับการจัดรูปแบบออฟไลน์ โดยมี 3 จุดประสงค์หลัก คือ
1. Upskill และ Reskill ให้กับตัวแทนประกันชีวิต
เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคมีความต้องการเฉพาะบุคคลมากขึ้น ทำให้การพัฒนาแบบประกัน และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ามากขึ้น จึงต้องใช้วิธีคิดแบบ “Outside-in” คือ มองจากมุมลูกค้าเป็นหลัก แล้วค่อยกลับเข้ามายังการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยมุ่งนำเสนอในสิ่งที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าที่นับวันมีความเฉพาะตัวมากขึ้น (Personalization) ส่งผลให้แบบประกันในปัจจุบันมีความซับซ้อนขึ้น
สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตในปัจจุบันที่เป็นตัวชูโรงของบริษัท ฯ คือ “ประกันสุขภาพ” โดยให้ลูกค้าสามารถปรับเปลี่ยนความคุ้มครองที่ครอบคลุมการดูแลรักษาในแต่ละด้านตามที่ต้องการ ดังนั้นตัวแทนประกันชีวิตจึงต้องเรียนรู้แบบประกันที่ซับซ้อนมากขึ้น และต้องทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง
2. Motivation และ Incentivize
เพื่อสร้างแรงกระตุ้น และสร้างแรงจูงใจให้กับตัวแทนประกันในการทำงานอย่างต่อเนื่อง และบรรลุเป้าหมายได้สำเร็จ
3. Team Bonding และ Team Building
เรียนรู้และสนุกไปด้วยกันได้ เพื่อสร้างวัฒนธรรม Group Dynamic คือ การยอมรับในความแตกต่าง ทั้งความคิดเห็น และวัย เนื่องจากอาชีพตัวแทนประกันชีวิต เป็นอาชีพที่ไม่มีเกษียณ ทำให้ปัจจุบัน บริษัท ฯ ของเรามีตัวแทนประกันหลากหลาย Generation ทั้ง Baby Boomer, Gen X, Gen Y และ Gen Z จึงเกิดช่องว่างระหว่างคนในแต่ละช่วงวัย เมืองไทยประกันชีวิตจึงต้องการสร้างบรรยากาศที่เสริมสร้างความผูกพัน และการยอมรับในความแตกต่างซึ่งกันและกัน
เพื่อบรรลุจุดประสงค์การอบรมสัมมนาดังกล่าว รูปแบบ Training ของ “เมืองไทยประกันชีวิต” จึงผสมผสานทั้งการให้ความรู้ การท่องเที่ยว และ กิจกรรมความสนุก เพื่อสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ และสร้างกำลังใจ แรงกระตุ้นความเป็น Teamwork มีการแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน และสร้างผูกพันร่วมกัน ซึ่งดีกว่ารูปแบบ Training ที่เป็นบรรยากาศในห้องเรียน (Classroom) อย่างเดียว
“ด้วยโลกที่ dynamic จากปัจจัยต่าง ๆ มากขึ้น วันนี้คนของเราต้องได้รับการปรับเปลี่ยน Mindset ทั้ง Upskill – Reskill ที่นับวันจะยิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ และถี่มากขึ้น ธุรกิจประกันเป็นธุรกิจคนต่อคน ขณะที่เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ช่วยผสมผสานเรื่องการทำงาน และการให้บริการลูกค้าเข้าด้วยกัน แต่ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถมาทดแทนคนได้
เมืองไทยประกันชีวิตจึงเป็นบริษัทที่ชอบจัดให้มีการจัดอบรม และปัจจุบันได้เริ่มกลับมาจัดเต็มรูปแบบแล้ว ซึ่งวิธีการกระตุ้นผู้เรียนได้ดีที่สุด คือ “Training at sight” เพราะการอบรมที่มีประสิทธิภาพ ไม่สามารถทำเป็นรูปแบบในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอยู่ในบรรยากาศที่ใช่ด้วย ที่มีการผสมผสานการท่องเที่ยวร่วมด้วย ได้เห็นทิวทัศน์ ได้ท่องเที่ยว และมีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน จะช่วยสร้างความรู้สึกสบายใจ เปิดใจในการเรียนรู้และรับฟัง
อย่างกิจกรรมร้องเพลง ช่วยสร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลาย มีการพูดคุยกันมากขึ้น จากเดิมที่แต่ละคนมีกำแพงปิดกั้น ไม่ค่อยเปิดรับ แต่พอได้เริ่มทำความรู้จักกัน สนุกด้วยกัน สุดท้ายแล้วจะเกิดความไว้วางใจระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน และผู้เรียนด้วยกันเอง เกิดการแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างกัน หลังจากคลาสอบรม-สัมมนาจบ ความสัมพันธ์นั้นจะยังคงอยู่ต่อไป” คุณสาระ ขยายความเพิ่มเติม
เจาะลึกแนวคิดเลือก Destination จัดอบรมสัมมนา
การจัดอบรม-สัมมนารูปแบบ Training at sight ของเมืองไทยประกันชีวิต จึงมีจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่เมืองไทยประกันชีวิตที่กรุงเทพ ฯ นอกจากนี้ส่วนใหญ่จะไปจัดที่เมืองหลัก เช่น หัวหิน พัทยา เขาใหญ่ และสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ที่เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ และมีการจัดที่จังหวัดเมืองรองของภาคนั้น ๆ ร่วมด้วยเพื่อกระจายการจัดอบรม-สัมมนาให้ครอบคลุมในแต่ละพื้นที่ในประเทศไทยมากขึ้น
เช่น ในโซนภาคเหนือ สำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาค คือ ที่เชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (Telemarketing) ที่มีพนักงานกว่า 3,000 คน มีการจัดอบรมสัมมนา และอีเวนต์ โดยรอบตามจังหวัด เช่น แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน และ แพร่ เป็นต้น
โดยหลักเกณฑ์การเลือกสถานที่จัดงาน พิจารณาหลายเรื่องร่วมกัน ได้แก่ “การบริหารต้นทุนค่าใช้จ่าย” (Cost) และ “ระยะทางการเดินทาง” (Driving Distance)
โดยหากเป็นการจัดอบรม-สัมมนาทั่วไป ส่วนใหญ่จะเป็นจัดขึ้นที่เมืองท่องเที่ยวใหญ่ เพราะตอบโจทย์ทั้งการเดินทาง ความพร้อมของสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ระบบคมนาคม โรงแรมที่พัก เป็นต้น ในขณะที่ถ้าเป็นการอบรม-สัมมนาที่ต้องมีการสร้างแรงจูงใจให้แก่ตัวแทนประกันของเราร่วมด้วย จะเลือกจัดที่จุดหมายปลายทางสามารถสร้างประสบการณ์พิเศษให้กับคนเข้าอบรมได้ด้วย เช่น ในโซนภาคใต้ จัดขึ้นที่หลีเป๊ะ เป็นต้น
รวมทั้งมอง “ความสนใจของผู้เข้าร่วม” เช่น งานอบรมสัมมนาที่สอดแทรกทริปสายมู จะมีกิจกรรมที่พาไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงกับ “วิสัยทัศน์ธุรกิจ” โดยเลือกสถานที่ หรือจัดทริปที่สอดคล้องกับทิศทางขององค์กร
“การทำสัมมนา-อบรม จึงต้องพิจารณาในเรื่องของต้นทุนค่าใช้จ่าย ระยะการเดินทาง และต้อง Go by segmentation หรือ Go by persona ได้ เช่น สายมู สายช้อปปิ้ง ที่สามารถกระตุ้นความสนใจให้มีผู้เข้าร่วมอบรมมากขึ้น นอกจากนี้ยังพิจารณาในเรื่องของ วิสัยทัศน์ขององค์กร และภาพรวมสถานการณ์ทิศทางของประเทศในปัจจุบัน
เช่น ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยแล้ว บริษัทเรามีผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพที่คุ้มครองตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนถึงอายุ 90 ปี และให้ความคุ้มครองยาวถึง 99 ปี เราจึงอยากให้ผู้เข้าร่วมอบรมสัมมนา เห็นภาพมากกว่า อบรมสัมมนาอยู่แต่ในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว อาจมีการจัดร่วมกับพาร์ทเนอร์พันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อพาไปเยี่ยมชมงานในสถานที่ที่เกี่ยวกับเรื่องผู้สูงวัย (Aging)หรือภายใต้การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG (Environmental – Social – Governance) ที่เมืองไทยประกันชีวิตกำลังทำอยู่นั้น เรามองหาองค์กร หรือสถานที่ที่เป็นต้นแบบของการทำเรื่องด้านความยั่งยืน เช่น องค์กรที่อยู่ในต่างจังหวัด ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองเล็กหรือเมืองหลักก็ตาม แล้วไปจึงขอจัดสัมมนาหรือเข้าเยี่ยมชม”
“มาตรการลดหย่อนภาษี” ที่สนับสนุนให้ภาคเอกชนมีการจัดอบรมสัมมนามากขึ้น – เมืองที่มีคาแรคเตอร์ สร้างเสน่ห์ดึงคนจัด กิจกรรม MICE
เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์COVID-19 ในช่วงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา “สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)” หรือ “ทีเส็บ” (TCEB) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีพันธกิจในการผลักดันอุตสาหกรรม MICE หรือ การจัดประชุม อบรม สัมมนา การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล การจัดประชุมสมาคม และการจัดงานแสดงสินค้า รวมถึงงานเมกะอีเวนต์และมหกรรมนานาชาติ ได้ขานรับนโยบายรัฐบาลในการเปิดประเทศ ด้วยการส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมไมซ์ ผ่านแคมเปญสื่อสาร “ไมซ์ไทย มนต์เสน่ห์สู่ความสำเร็จ” เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจัดงานประชุม อบรม สัมมนาภายในประเทศ
ล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการทางภาษี หนึ่งในนั้นคือ มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประสงค์เข้าร่วมมาตรการ สามารถหักรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศ โดยมีเงื่อนไขดังนี้
– การอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สามารถนำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง
– การอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก หรือท้องที่อื่นนอกจากจังหวัดท่องเที่ยวรอง สามารถนำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง
“อุตสาหกรรมหลักของไทย นอกจากภาคส่งออกแล้ว คือ การท่องเที่ยว ดังนั้นถ้าภาครัฐมีมาตรการนำค่าใช้จ่ายจากการจัดอบรม-สัมมนา มาลดหย่อนภาษีได้ เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มความถี่ของการจัดอบรม-สัมมนาจากองค์กรต่าง ๆ เป็นการส่งเสริมให้มีกระจายสถานที่การจัดงานไปยังจังหวัดต่างๆ มากขึ้น” คุณสาระ กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากมาตรการรัฐที่กระตุ้นให้ภาคเอกชนจัด MICE ในไทยมากขึ้นแล้ว ในทรรศนะของ คุณสาระมองว่าการดึงให้คนไปจัด MICE ในที่ต่าง ๆ เสน่ห์ของแต่ละเมืองต้องมีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ เพื่อให้ขายได้ในตัวเอง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้มีการจัด MICE กระจายไปยังเมือง หรือจังหวัดต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศ
“แต่ละเมืองมีเสน่ห์อยู่แล้ว แต่เสน่ห์เหล่านั้นถูกดึงความสนใจได้มากน้อยเพียงใด นอกจากประเทศไทยจะมีพื้นที่ธรรมชาติที่สวยงามแล้ว ยังมีอีกหลายอย่างที่พวกเราสามารถสร้างขึ้นเองให้เกิดขึ้นได้ เพื่อเพิ่มเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น หรืออาจจะดึงเอาวัฒนธรรมของแต่ละเมืองที่มีอยู่ กลับมาทำให้มีความโดดเด่นมากขึ้น
ขณะเดียวกันประเทศไทยมีของดีมากมาย เราเป็นประเทศที่ต้อนรับนักท่องเที่ยว และมีสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ มากมาย เพราะฉะนั้นการสร้าง Impact ให้กระจายไปสู่คนในวงกว้างที่มากขึ้น จึงต้องมีการสื่อสารที่ดี ซึ่งโลกทุกวันนี้เป็นการสื่อสารจากผู้บริโภคถึงผู้บริโภค หรือ C2C (Consumer to Consumer) จากการรีวิวลงบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น รีวิวผ่าน TikTok คนดูแล้วเกิดความรู้สึกอยากไปเที่ยวเหมือนกัน”
ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ครั้งนี้ “คุณสาระ” ได้เน้นย้ำถึงความท้าทายสำคัญที่หลายองค์กรธุรกิจกำลังเจอคือ “เรื่องของคน” ซึ่งการทำงานที่มีประสิทธิภาพนั้นคือ การได้เจอกัน ได้มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน อยู่ในบรรยากาศที่ผ่อนคลายสบายใจ เพราะเมื่อคนเรารู้สึกสบายใจแล้ว จะพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ตลอดจนการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นสังคมของการแบ่งปันความรู้ประสบการณ์ ขณะที่อายุเป็นเพียงตัวเลข คนที่มีประสบการณ์มากก็เป็นผู้เรียนได้เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมากับดิจิทัล
รวมทั้งองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการออกไปจัดประชุม-อบรม-สัมมนาตามสถานที่ต่าง ๆ จะยิ่งสร้างปฏิสัมพันธ์ ความคุ้นเคย และความผูกพันระหว่างคนทำงานร่วมกัน ทำให้เกิดการแบ่งปันความรู้-ประสบการณ์ได้ดียิ่งขึ้น
“การจัดประชุม-อบรม-สัมมนา ย่อมส่งผลดีกับองค์กร เพราะถึงอย่างไรธุรกิจต้องขับเคลื่อนโดยคนเป็นหลัก และการเดินทางไปจัดตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลัก หรือเมืองรองของไทย ก็เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ”