ในสงครามธุรกิจแลกเงิน… ทำไม Superrich ถึงมีหลากสี และใครเป็นใคร แข่งกันด้วยอะไร แล้วต้องแลกยังไงให้คุ้มค่า

  • 1.1K
  •  
  •  
  •  
  •  

ธุรกิจแลกเงิน

เวลาที่นึกถึงการแลกเงิน ชื่อแรกที่หลายคนนึกถึง คงหนีไม่พ้น “Superrich” แต่ภายใต้ชื่อนี้ ก็ยังมีแบรนด์แยกย่อยให้งงอีกอย่างน้อย 3 สี ไม่ว่าจะเป็น สีส้ม, สีเขียว, สีฟ้า แล้วนอกเหนือจาก 3 สีนี้ ก็ยังมี “สี” ของแบรนด์อื่นที่จู่ๆ ก็ก้าวเข้ามาเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นอีกหลายสี  วันนี้ Oops! จะชวนมาดูว่าแต่ละ “สี” เป็นใคร มีกลยุทธ์ต่างกันอย่างไร และต้องแลกเงินกับ “สี” ไหนถึงจะคุ้มค่าที่สุด

ว่าด้วย Superrich หลากสี

ไม่น่าแปลกใจที่เวลาที่ต้องแลกเงิน แล้วคนกรุงเทพฯ มักจะคิดถึงชื่อ “Superrich” เป็นชื่อแรก  เพราะภายใต้ยี่ห้อ “Superrich” ซึ่งมีมากมายหลายสี แต่ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยจะมีอยู่ 3 สี คือ สีส้ม, สีเขียว และสีฟ้า โดยภายใต้ 3 รายนี้ก็กินส่วนแบ่งตลาดแลกเงินมากที่สุดในวงการแลกเงิน

เพราะใช้แบรนด์ “Superrich”เหมือนกัน ทำให้หลายคนมักสงสัยว่า “ทั้ง 3 สีเป็นญาติกันหรือไม่”

superrich-2
สรุปได้ว่า ในเชิงความสัมพันธ์ Superrich ทั้ง 3 สี เป็นเครือญาติกัน แต่ในด้านการบริหารธุรกิจ ไม่มีความเกี่ยวข้องกัน

กล่าวได้ว่า “Superrich สีส้ม” ซึ่งเป็นชื่อเล่นของ SPR Superrich (1965) บริษัทรับแลกเงินที่หลายคนคุ้นเคยมานาน โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯ เพราะเริ่มทำธุรกิจแลกเปลี่ยนเงิน ตั้งแต่ปี 2508 (ค.ศ.1964) โดย “วิบูลย์ ตันติเวชยานนท์” แรกเริ่มใช้ชื่อว่าร้าน “จิตรพาณิชย์” ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจครอบครัว แต่ขณะที่กิจการกำลังลำบาก บวกกับเจอถูกโจรปล้นจนเสียหายหนัก คุณวิบูลย์และภรรยาจึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อมาเป็น “Superrich” และใช้สีส้ม เนื่องจากเป็นสีมงคล (ส้มถือเป็นผลไม้มงคล) ​เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย

หลายปีต่อมา สมาชิกกงสีเริ่มมีแนวนโยบายในการบริหารธุรกิจแตกต่างกัน “อภิชัย สุสมาวัตนะกุล” ซึ่งเป็นน้องภรรยาของคุณวิบูลย์ จึงแยกตัวออกมาเปิดบริษัทรับแลกเงินของตัวเอง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Superrich Thailand (สีเขียว) และต่อมา “ลดาวัลย์ สุสมากุลวงศ์” ซึ่งเป็นน้องภรรยาของคุณวิบูลย์ และเป็นพี่สาวของคุณอภิชัย ได้แยกออกมาตั้งกิจการรับแลกเงินอีกแห่ง โดยใช้ชื่อ Grand Superrich (สีฟ้า)

สรุปได้ว่า Superrich ทั้ง 3สีมีความสัมพันธ์กันฉันท์เครือญาติ แต่ในแง่ของธุรกิจ ถือว่าแยกกันโดยเด็ดขาด

รู้จัก “3 ผู้นำ” อันดับต้นในธุรกิจแลกเงินวันนี้​

เพราะตลาดรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (ที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์) ยังไม่มีการรวบรวมและเปิดเผยข้อมูลที่ชัดเจน เกี่ยวกับมูลค่าธุรกิจนี้ ตลอดจนส่วนแบ่งการตลาดของแต่ละแบรนด์​ แต่หากวัดจากการรับรู้ของผู้บริโภค และจำนวนสาขาแล้ว “Superrich” น่าจะเรียกได้ว่าเป็นชื่อแรกที่หลายคนนึกถึง แลภายใต้ชื่อ Superrich นี้ “สี” ที่โดดเด่นมากที่สุด เห็นจะมี SuperRich สีส้ม และ Superrich สีเขียว

นอกจาก​ Superrich ก็ยังมีผู้เล่นแบรนด์อื่นที่มีความน่าสนใจ แต่ในปีที่ผ่านมา “ผู้เล่น” ที่หลายคนอาจไม่ค่อยรู้จัก แต่กลับสร้างปรากฏการณ์โดดเด่นจนน่าจับตา นั่นคือ Twelve Victory …  Marketing Oops! จะขอพาไปรู้จักกับแนวคิดและกลยุทธ์ของทั้ง 3 แบรนด์นี้ พร้อมด้วยทิศทางธุรกิจ และมุมมองจากผู้บริหาร 3 ค่าย ว่าจะแลกเงินยังไงให้คุ้มค่า

“สีส้ม” แข่งด้วยนวัตกรรม

spr superrich
คุณปิยะ ตันติเวชยานนท์ ผู้บริหารรุ่นสอง “SuperRich สีส้ม” กับ Visit Thailand Card ที่เพิ่งเปิดตัว​

จุดเปลี่ยนสำคัญของ “SuperRichสีส้ม” เริ่มต้นขึ้นเมื่อ คุณปิยะ ตันติเวชยานนท์ (รุ่นลูก) เข้าบริหาร พร้อมสโลแกนของแบรนด์ไว้ว่า “Think of Money Exchange, Think of SuperRich”โดยริเริ่มความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในวงการนี้ เริ่มจากการขยายสาขาเข้าห้างที่ BIG Cราชดำริ ในปี 2544ตามมาด้วยการเปิดที่สถานี BTS ชิดลม ทั้งนี้เพื่อทำให้ลูกค้าเข้าถึงบริการง่ายขึ้น และให้บริการได้ยาวขึ้น เพราะเวลาเปิด-ปิดที่ยาวขึ้น  ​

อีกความเปลี่ยนแปลงสำคัญ​ ได้แก่ การนำเว็ปไซต์มาเป็นช่องทางประกาศอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Exchange Rate) ให้ผู้บริโภคได้เห็น ซึ่งก่อนนั้น เรตจะเป็นเสมือนข้อมูลเฉพาะของแต่ละร้าน ลูกค้าจะรู้ก็ต่อเมื่อโทรเข้าไปถามหรือไปดูที่ร้าน เหตุผลที่คุณปิยะมองว่า ต้องเปิดเผยเรตให้ลูกค้าเช็คเองผ่านเว็ปไซต์ เพราะเบื่อที่จะรับสายเพื่อตอบคำถามที่ว่า “วันนี้ เรตเท่าไหร่”​ ซึ่งแต่ละวันมีโทรเข้ามาหลายร้อยสาย

วันนี้ SuperRich สีส้มมี 51 สาขา มี 2 สาขาในกัมพูชา 5 สาขาในต่างจังหวัด และ 44 สาขาในกรุงเทพฯ โดยเรียกได้ว่าเป็น “เจ้าแห่งรถไฟฟ้า” เพราะมีอยู่ในหลายสถานีทั้ง BTS และ MRT นอกจากนี้ยังอยู่ตามศูนย์การค้า ออฟฟิศสำนักงาน โรงพยาบาล และสนามบินสุวรรณภูมิ ในปีนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อขยายสาขาไป สปป.ลาว และอังกฤษ

จากความครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ทำให้คุณปิยะเห็นโอกาสในการเปิดให้บริการจองเงินสกุลต่างประเทศผ่านทางออนไลน์ (e-Booking) เพื่อให้ลูกค้าจองและไปรับเงินที่จองไว้ในสาขาที่สะดวกตามวันเวลาที่นัดหมายไว้ ​นอกจากนี้ยังสามารถชำระเงินผ่าน QR code ได้ด้วย

ส่งท้ายปีที่แล้ว ด้วยการเปิดตัวบริการใหม่ Visit Thailand Card บัตรแทนเงินสดสำหรับลูกค้าต่างชาติ โดยนำเงินต่างประเทศมาแลกเป็นเงินบาทใส่ในบัตร (เรต ณ ตอนแลก) แล้วนำไปใช้จ่ายตามร้านค้าและสถานที่ที่รับMaster Card เมื่อเงินในบัตรหมดก็สามารถไปเติมได้ที่ SuperRichทุกสาขา ช่วยให้ชาวต่างชาติไม่ต้องพกเงินสด ไม่ต้องเสี่ยงจะจ่ายธนบัตรผิด และยังมีโอกาสสะสมแต้มแลกรับสิทธิพิเศษมากมาย

SPR Superrich

ปัจจุบัน SuperRich อยู่ระหว่างขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้คนไทยนำเงินไทยมาแลกเป็นสกุลต่างประเทศใส่ไว้ในบัตรสำหรับนำไปใช้ในต่างประเทศ (กลไกการใช้งานเหมือน Travel Card)

ปีนี้ สีส้มยังจับมือกับบริษัทประกันเพื่อนำเสนอประกันการเดินทางให้ลูกค้าที่ใช้บริการแลกเงินกับบริษัท​ เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อครบจบในที่เดียว ​นอกจากนี้ยังมีการเปิดตัว Member Lounge เพื่อบริการสมาชิก ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการจัดเก็บข้อมูลลูกค้าสมาชิกอย่างจริงจัง เพื่อต่อยอดไปสู่ระบบ Big Data และการวิเคราะห์ลูกค้าด้วย AI รวมถึงบริการอีกมากมายหลัง ธปท. ผ่อนคลายกฎ เช่น การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC)

คุณปิยะทิ้งท้ายว่า การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาวิเคราะห์ลูกค้า เพื่อดีไซน์การตลาดเชิงรุกและโปรโมชั่นเฉพาะลูกค้าสมาชิกแต่ละคน เป็นทิศทางที่ “สีส้ม” จะใช้เพื่อฉีกออกจากคู่แข่ง นอกจากนี้ยังต้องเน้นด้านบริการที่ดี โปรโมชั่นทื่โดน  และการมีบริการครบวงจร โดยเฉพาะบริการโอนเงินระหว่างประเทศ

“สีเขียว” สู้ด้วย Best Rate และ Marketing

จุดเปลี่ยนสำคัญของ Superrich Thailand หรือ “สีเขียว” เริ่มต้นขึ้นหลังจากที่คุณอภิชัยส่งไม้ต่อให้ลูกสาว 2 คนเข้ามาบริหารงานต่ออย่างเต็มตัว เมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว ซึ่งมีการริเริ่มนำเอาอินเตอร์เน็ต เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) รวมทั้งระบบการจัดการ เข้ามาใช้ในบริษัท พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง “ชุดความคิด (Mindset)” และเพิ่มพูน “ทักษะ (Skillset)” ของพนักงานด้วยการฝึกอบรมอย่างหนัก

แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารรุ่นสองยังรักษาไว้ต่อจากรุ่นพ่อคือ จุดยืนเรื่อง “Best Price” หรือ อัตราแลกเปลี่ยนที่ดีที่สุด

superrichTH
คุณธณัทร์ษริน สุสมาวัตนะกุล หนึ่งในผู้บริหารรุ่นสองของ Superrich Thailand

ผู้บริหารรุ่นสองได้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงพื้นฐานภายในองค์กร จนกระทั่งปี 2558 จึงได้ขยายผลความเปลี่ยนแปลงออกให้สังคมรับรู้ ผ่านการรีแบรนด์ ควบคู่กับการเปิดสาขาเพิ่มในปีเดียวถึง 5 สาขา จากค่าเฉลี่ยนก่อนหน้าเพียงปีละ 2 สาขา ปัจจุบันมี 14สาขา ทั้งหมดอยู่ในกรุงเทพฯ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ตามศูนย์การค้า

เทคโนโลยีที่นำมาใช้อย่างจริงจังจนถึงวันนี้ อย่างแรกคือ ระบบเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนแบบเรียลไทม์ ระบบฐานข้อมูลลูกค้า (Database)และระบบความปลอดภัยทางเทคโนโลยี (Technology Security) นอกจากนี้ รุ่นสองยังให้ความสำคัญกับการตลาดและการทำโปรโมชั่นอย่างมาก

ส่วนใหญ่เน้นจับมือกับพันธมิตรรายใหญ่ เพื่อทำ Co-promotion มอบสิทธิพิเศษส่วนลดให้กับลูกค้า “สีเขียว” เช่น ส่วนลดค่าเช่า Pocket Wifi หรือส่วนลด Travel Sim ของทรู รวมทั้งยังมีพันธมิตรในต่างแดน เช่น ลูกค้าที่แลกเงินเยนและเงินวอน จะได้รับสิทธิส่วนลดใน Lotte Duty Free ในญี่ปุ่นและเกาหลี ฯลฯ นอกจากนี้ยังมี Pop-up Event เซอร์ไพรส์ลูกค้าทุกเทศกาล เช่น แจกอั่งเปาสาขาละ 200 ซอง เป็นต้น ทำให้การแลกเงินไม่ใช่เพียงธุรกรรม แต่เป็นกิจกรรมเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า

“การจัดกิจกรรมและโปรโมชั่นบ่อยๆ เป็นสิ่งที่เราตั้งใจทำขึ้น เพื่อสร้างประสบการ์ณที่ดีทั้งในระหว่างที่ลูกค้าอยู่กับเรา และหลังจากที่แลกไปแล้ว ทั้งนี้ เรามั่นใจว่าลูกค้าจะได้นำเสนอเรตที่ดีที่สุด ​ณ เวลานั้น และเราเป็นรายแรกที่ลูกค้าสามารถเอาเงินบาทไปแลกเงินต่างประเทศ สาขาไหนก็ได้ (ยกเว้นสนามบินสุวรรณภูมิ) จะเท่ากันทุกสาขา” คุณธณัทร์ษริน สุสมาวัตนะกุล กรรมการผู้จัดการสายงานพัฒนาองค์กร Superrich Thailand กล่าว

การลงทุนปี 2558 นับเป็นการลงทุนที่หนักที่สุดตั้งแต่ “สีเขียว” เปิดตัว แต่การลงทุนในปีนี้คาดว่าจะหนักว่าปีนั้น เพราะเป็นการเตรียมรองรับกับการทำ Big Data และรองรับกับ “สังคมไร้เงินสด” โดยบริการที่เปิดตัวมาแล้ว เช่น ชำระเงินสำหรับแลกเปลี่ยนเงินต่างประเทศผ่าน QR Code หรือผ่านบัตรเครดิต (มีค่าธรรมเนียม) เป็นต้น

เมื่อบวกกับการเก็บข้อมูลลูกค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อวิเคราะห์และทำความรู้จักลูกค้าให้ดียิ่งขึ้นตลอดช่วง 2-3 ปีมานี้ ทำให้ผู้บริหารสาวมั่นใจว่า​หากเทรนด์ในธุรกิจน้ีเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบดิจิทัลมากขึ้น ด้วยการเตรียมพร้อมทั้งเรื่องคนที่มีการอบรมอย่างสม่ำเสมอ เรื่องระบบภายใน รวมถึงความสำเร็จในการสร้างแบรนด์มาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ Superrich Thailand ก้าวสู่เป้าหมาย “เบอร์หนึ่งในใจลูกค้า” ได้ไม่ยาก

“Twelve Victory” แบรนด์ม้ามืดโตแรง

12victory
คุณชนาพร พูนทรัพย์หิรัญ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของ Twelve Victory

จากประสบการณ์ในธุรกิจMoney Exchange ที่ฮ่องกงมากว่า 20 ปี เมื่อประเทศไทยเปิดให้มีการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ​ คุณชนาพร พูนทรัพย์หิรัญ จึงนำความรู้และประสบการณ์มาเปิดบริษัทในเมืองไทย โดยเริ่มที่ถนนประดิพัทธ์ ต่อมาในปี 2553 จึงเริ่มเปิดสาขาในไลฟ์สไตล์มอลล์ อย่าง เจ.เจ.มอลล์ แล้วก็ทยอยเปิดสาขาปีละ 3-4  แห่ง โดยไปตามสถานีรถไฟฟ้า ไลฟ์สไตล์มอลล์  อาคารสำนักงาน และเปิดในต่างจังหวัด

กระทั่งปี2561 ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะ Twelve Victory มีการเปิดสาขาในปีเดียวถึง 20 สาขา เรียกว่าเป็นเจ้าที่มีการเปิดสาขาใหม่เยอะที่สุดในปีที่แล้ว โดยกระจายไปทั้งต่างจังหวัดและใจกลางกรุงเทพฯ จนปัจจุบัน มีสาขา 56 สาขา อยู่ในกรุงเทพฯ 26 แห่ง ​

ในปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 4 สาขา และมีการเพิ่มจุดบริการ  24 ชม. นอกจากนี้ ยังอาจได้เห็นสาขาในประเทศเพื่อนบ้าน โดยสาเหตุที่เปิดสาขาลดลง ก็เพื่อดูทิศทางธุรกิจจากการผ่อนคลายกฎหมายเรื่องการแสดงตัวตน อันจะนำไปสู่บริการใหม่ๆ มากมายที่ขึ้นไปอยู่บนระบบออนไลน์ รวมถึงการจัดส่งเงินไปถึงมือลูกค้า​

ก่อนหน้านี้ คนทั่วไปอาจไม่ค่อยคุ้นเคยกับแบรนด์ Twelve Victory แต่การเปิดสาขาในปีที่แล้ว เพราะเธอต้องบินไปดูแลธุรกิจในฮ่องกงและสิงคโปร์บ่อยๆ และที่สำคัญคือ บทบาทการเป็นนายกสมาคมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ​ (TAFEX) ที่เธอพยายามขับเคลื่อนจนเกิดขึ้นในปี 2555 ซึ่งการมีสมาคมฯ นี่เองที่ทำให้การแข่งขันด้วยสงครามราคา (เรต) จึงลดความรุนแรงลง

กระทั่งมีนายกสมาคมฯ คนใหม่ ช่วง 2-3 ปีนี้ เธอจึงกลับมาเร่งเครื่องขยายธุรกิจเต็มที่ มีทั้งการขยายสาขาอย่างก้าวกระโดด และการพัฒนาแอปฯ ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถจองเงินต่างประเทศผ่านแอปฯ ได้เลย รวมถึงการออกโปรโมชั่นแรงๆ ตามสโลแกน “Why get less when you can get more” โดยร่วมกับพันธมิตรที่เป็นบริษัทใหญ่ธุรกิจ อย่างโปรฯ “รับเงินคืนทันทีหน้าเคาน์เตอร์แลกเงิน” (สูงสุด​ไม่เกิน 150 บาท) สำหรับลูกค้าทรู และผู้ถือ Blue Card  เป็นต้น

“เมื่อก่อนเราอาจจะไม่ได้มีความหมายในวงการนี้มาก แต่วันนี้ เพราะลูกค้าเห็นเรา รู้จักเรามากขึ้น เจ้าของพื้นที่เริ่มส่งพื้นที่มาให้เราเลือก จากที่ต้องเดินไปขอพื้นที่เอง วันนี้เราเป็นฝ่ายเลือกมากขึ้น โดยเป้าหมายคือเป็น TOP3 ที่ลูกค้านึกถึงเป็นอันดับแรก ทั้งเรื่องความสะดวก โปรโมชั่นที่น่าสนใจ และบริการที่จริงใจ เพราะจะบอกพนักงานเสมอว่า อย่าแค่รับและส่ง แต่ต้องเรียงธนบัตรไม่กลับหัวและต้องอธิบายลูกค้า”

นอกจากนี้ คุณชนาพรยังมีอีกเป้าหมายใหญ่ คือการสร้างแบรนด์ไทยที่ทำธุรกิจโอนเงินไปต่างประเทศ (Money Transfer) ซึ่งจะทำให้การให้บริการครบวงจรมากยิ่งขึ้น

money exchange

แลกเงินยังไงให้คุ้ม… เมื่อความต่างของ “เรต” ไม่ใช่ประเด็น!!!

Oops! สรุปคำแนะนำในการแลกเงินให้คุ้มค่าที่สุด จากผู้บริหารแถวหน้าในวงการธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ทั้ง 3 ท่าน โดยใจความสำคัญได้ดังนี้

1) ลูกค้ารายย่อยที่จะแลกเงินต่างประเทศ ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนที่จะได้รับจากร้านแลกเงินฯ ที่อยู่ในระบบ (มีใบอนุญาต) โดยมากแล้วมักจะไม่เกินหลักร้อย หรือแม้แต่แลกเงินหลักแสนต้นๆ ส่วนต่างที่ได้ ก็อาจจะยังไม่คุ้มค่ากับการเสียเงินและเสียเวลาเดินทางเลยด้วยซ้ำ

2) ดังนั้น สิ่งที่ควรจะพิจารณามากกว่าคือ โปรโมชั่นของแต่ละร้าน โดยดูว่าสิ่งที่แต่ละแบรนด์นำเสนอมา ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง เช่น ประกันการเดินทาง หรือ แพ็คเกจการใช้งานซิมในต่างประเทศ หรือส่วนลด Pocket Wifi ฯลฯ คุณสามารถเลือกร้านที่มีโปรฯ ที่อยากได้ ซึ่งน่าจะคุ้มกว่าส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน

3) ถ้าโปรฯ ของแต่ละแบรนด์คุ้มค่า และน่าใช้ พอๆ กัน ให้เลือกแลกเงินกับร้านที่คุณเดินทางได้สะดวก

4) สำหรับการแลกเงินคืน หากเงินที่ต้องการแลกคืน ไม่เกิน 10,000 USD บ่อยครั้งที่คุณจะได้ส่วนต่างไม่เกิน 100 บาท ซึ่งอาจไม่คุ้มค่ากับการเสียเงินและเสียเวลาเดินทาง แนะนำให้แลกกับสาขาใกล้บ้าน หรือถ้าไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน อาจรอเวลาช่วงค่าเงินบาทอ่อนแล้วค่อยแลกคืน หรือหากเป็นคนเดินทางไปต่างประเทศบ่อย อาจเก็บไว้ใช้ในการเดินทางครั้งต่อไป เพื่อจะได้ไม่ต้องเสี่ยงกับการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนถึง 2 ครั้ง

เทคนิคการแลกเงินอย่างไรให้คุ้ม โดยเจ้าของ Superrich
เทคนิคการแลกเงินอย่างไรให้คุ้ม โดยเจ้าของ Superrich

 

ทั้งหมดนี้  เป็นการปอกเปลือกเรื่องราวและทิศทางของธุรกิจแลกเงินต่างประเทศ … สำหรับบางคน เรื่องนี้อาจดูเหมือนไกลตัว แต่สำหรับคนที่ชอบเดินทาง ธุรกิจนี้เป็นอะไรที่ต้องติดตาม เพราะสุดท้ายแล้ว เราในฐานะผู้บริโภคคือคนที่จะได้ประโยชน์สูงสุด หากเท่าทันพัฒนาการในธุรกิจนี้

Oops!! ขอทิ้งท้ายด้วยความใหญ่ และผลการดำเนินงานของ 4 บริษัทแถวหน้าในธุรกิจแลกเงินฯ ของเมืองไทย โดยเปรียบเทียบตัวเลขในด้านต่างๆ ดังนี้

Money Exchange1

Money Exchange2

 

Money Exchange3


  • 1.1K
  •  
  •  
  •  
  •  
Tummy
เมื่อไหร่ที่หยุดพัฒนาตัวเอง ถึงแม้เราไม่ได้ถอยหลัง แต่โลกก็จะทิ้งเราไว้ข้างหลังและหนีห่างออกไป จนวันหนึ่งเมื่อตื่นมา เราอาจรู้สึกแปลกแยก ... มาเปิดโลกทัศน์ แล้วสนุกกับทุกความเคลื่อนไหวในโลกใบนี้ไปพร้อมกันนะคะ