เปิดตำรับลับสูตรปรุง Branded Content อย่างไรให้อร่อย กับ “แม่ เมนูนี้ทำไง” เพจที่ลูกชายบันทึกความทรงจำของแม่ผ่านอาหาร

  • 548
  •  
  •  
  •  
  •  

 

“ถ้าแม่ตายไป อาหารกับข้าวที่แม่ทำให้กิน มันก็จะหายไปกับเขาด้วยนะ”

เค-คณิน พรรคติวงษ์ เจ้าของเพจ “แม่ เมนูนี้ทำไง”

 

เรียกว่าเป็นช่องโซเชียลที่ดูแล้วนอกจากจะได้สูตรเมนูอาหารอร่อยๆ แล้ว เรายังได้ความอิ่มเอมใจกับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวด้วย กับเพจ “แม่ เมนูนี้ทำไง” ที่เหมือนเป็นกระจกส่องวิถีชีวิตของคนในปัจจุบันที่ห่างไกลจากครอบครัวแต่ก็ยังติดต่อปฏิสัมพันธ์กันแบบทางไกล โดยมี “เมนูอาหาร” เป็นโซ่คล้องยึดเหนี่ยวความรักความคิดถึงกันเอาไว้ เรียกได้ว่าเป็นครีเอเตอร์ที่มีความโดดเด่นและแตกต่างทั้งเนื้อหาและวิธีการนำเสนอคอนเทนต์

ดังนั้น วันนี้เราจะมาพูดคุยกับ “เค-คณิน พรรคติวงษ์” ถึงเคล็ดลับความสำเร็จจากชายคนนี้ รวมไปถึงเรื่องราวสนุกๆ ของการเคาะไอเดียในการทำงานร่วมกับแบรนด์ในฐานะ Branded Content มุมใหม่ๆ ที่น่าสนใจอีกด้วย

 

จุดเริ่มต้นเพราะกลัว รสมือแม่จะหายไปตลอดกาล

เค เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเปิดเพจ “แม่ เมนูนี้ทำไง” ว่า อาชีพเดิมก่อนจะลาออกมาเป็น Content Creator เต็มตัวคือเป็นครีเอทีฟโฆษณามาก่อน เคยทำอยู่ที่ ‘ชูใจ กะ กัลยาณมิตร’ แล้วก็ที่ TBWA โดยเริ่มต้นที่มาทำคลิป เริ่มแรกเกิดจากที่อยากจะเก็บเป็นพอร์ตโฟลิโองานหนังของตัวเอง อยากจะทำหนังกำกับหนังของตัวเองซึ่งเรื่องนี้คิดอยู่ในใจมานานแต่ก็ผลัดวันมาเรื่อย กระทั่งคุณแม่ประสบอุบัติเหตุเมื่อราวปลายปี 2563 จนต้องแอดมิดเข้าโรงพยาบาล ซึ่งในช่วงที่ไปเฝ้าคุณแม่ เราเกิดความรู้สึกว่าช่วงนี้เราไม่ค่อยได้คุยกับคุณแม่เลย เรามัวแต่ยุ่งกับเรื่องของการตามความฝัน ยุ่งกับเรื่องชีวิตของตัวเองเอง ไม่มีเวลาให้ที่บ้านเลย ทำให้ฉุกคิดได้ว่าน่าจะหาเวลาคุยกับแม่ให้เยอะขึ้นดีกว่า ก็เลยเปิดเพจนี้ขึ้นมา ส่วนหนึ่งก็เพื่อจะรองรับกับการทำผลงานของตัวเองด้วย โดยดึงสตอรี่ของคุณแม่มาทำอะไรสักอย่าง จนเกิดไอเดียว่า น่าจะโทรหาแม่ แล้วให้แม่สอนทำกับข้าวดีกว่า จะได้เป็นข้ออ้างให้เราได้คุยกันเยอะขึ้น

ส่วนที่เลือกเป็นการทำเมนูอาหาร ก็ไม่ได้มีการคิดล่วงหน้าอะไรมาก่อน แต่แค่เป็นความรู้สึกจับพลัดจับพลูว่า “ถ้าแม่ตายไป อาหารกับข้าวที่แม่ทำให้กิน มันก็จะหายไปกับเขาด้วยนะ” แต่ก็ไม่รู้จะคุยอะไรกับแม่จริงๆ นอกจากเรื่องกับข้าว คือแม่ก็ไม่ได้ดูหนังแบบเราเล่นกีฬาเตะบอลเหมือนเรา (หัวเราะ) คือเหมือนเรื่องกับข้าวคือเรื่องทั่วไปที่แม่กับลูกคุยกันเป็นปกติได้ และด้วยบางเมนูมันหากินที่อื่นไม่ได้เราต้องกินฝีมือแม่เราอย่างเดียวเลย แล้วคนส่วนใหญ่ยังไงก็ชอบรสมือแม่ตัวเองอยู่แล้ว หรือเวลาเราไปร้านอาหารต่างๆ แล้วเขาทำอร่อย เราก็มักจะพูดว่าอันนี้ทำอร่อยเหมือนแม่ทำให้กินเลย แสดงว่ารสมือแม่ หรือว่าอาหารสูตรแม่ มันเป็นมาตรวัดเป็นตัวเปรียบเทียบที่ยิ่งใหญ่มากเลย

“มันมาจากที่ผมอยากจะทำเองเป็นจริงๆ อยากจะทำเก็บไว้ เพราะอย่างที่บอกว่า ถ้าแม่ตายไปสูตรนี้มันก็จะหายไปเลย ดังนั้น เราก็ต้องทำเอง สูตรนี้ก็จะได้ติดตัวเราไปด้วย”

คอนเทนต์ที่ Touching กินใจและ Timing ที่เหมาะสม

เมื่อถามถึงฟีดแบ็คในช่วงแรกที่ทำมาแล้วปล่อยออกไป เค บอกว่า จริงๆ แล้วปล่อยไปนานมากแล้ว 4-5 เดือนได้ กว่าที่คนกลุ่มมากจะเห็น คือทำไป 4-5 คลิป ตอนแรกก็แชร์กันแค่หลักร้อย ซึ่งแค่นี้ก็โอเค.แล้ว เพราะว่าอยู่ในหมู่ของเพื่อนเรา แล้วทุกคนก็มาดูมาชมก็ว่ามันโอเค. จนมาเดือนกรกฎาคม ปี 2564 ที่ผ่านมา จู่ๆ ยอดวิวมันก็พุ่งเลย โดย 4-5 คลิปแรกก็โดดมาที่หลักล้านวิวเลย ส่วนสาเหตุที่ยอดวิวพุ่งสูง ส่วนตัวคิดว่าเป็นเพราะจังหวะเวลาในช่วงที่คนกักตัวอยู่บ้านแล้วก็เกิดความรู้สึกเดียวกันคือคิดถึงแม่คิดถึงบ้าน

“ผมคิดว่าเป็นเรื่องของจังหวะเวลา แล้วก็ช่วงนั้นคนส่วนใหญ่กักตัวไม่ได้กลับบ้าน คนก็คิดถึงบ้าน คนกำลังอินกับสิ่งนั้น อินอยู่กับสถานการณ์ พอมามีคลิปนี้ก็จุดให้เขาได้คิดถึงบ้านคิดถึงครอบครัวได้ นอกจากนี้ เรื่องของสไตล์ด้วยมู้ดโทน ที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน มันก็เลยแปลกใหม่ดี แต่ผมว่าส่วนใหญ่คือเรื่องของความ Touching มากกว่า เพราะว่าคนไทยอินกับเรื่องแม่ อินกับสตอรี่เรื่องแม่ เรื่องของแม่มันพูดได้ตลอดเวลา”  

 

จุดเด่นของชาแนล คือเสน่ห์ของการใช้ “เสียง” ที่สะท้อนระยะห่างความคิดถึง

จุดแตกต่างที่ทำให้การทำคอนเทนต์ของเพจน่าสนใจคือการเล่าผ่านเสียงของแม่ ซึ่ง “เค” เผยไอเดียเบื้องหลังนี้ว่า เป็นเพราะมองเห็นว่า มันมีเสน่ห์อะไรบางอย่างอยู่เวลาที่เมื่อเราได้ยินแค่เสียง เหมือนเวลาที่ช่วงนี้เขาฟัง Podcast กัน หรือฮิต ASMR กัน มันมีระยะห่างกันอยู่ มันเล่าเรื่องของการที่เราห่างกันอยู่ เราไม่เปิดทั้งหมดหรือเราไม่เอาแม่มาทำเลย แต่เราจะทำเรื่องของความสนิทสนมแต่เราอยู่ไกลกัน มันจะดูมีเสน่ห์กว่า คือมันเป็นเรื่องของวิธีการเล่าด้วย แต่หลักๆ คืออยากทำเองอยากเก็บสูตรนี้ไว้เองกับตัว ผ่านจากแม่สู่ตัวเรา

“อีกอย่างที่สังเกตเองก็คือ เหมือนผมทำตัวเหมือนระดับเดียวกับคนดู เพราะคนดูเขาก็ไม่รู้ ผมก็ไม่รู้ เหมือนเราเรียนรู้ไปพร้อมกัน คนดูเขาเข้ามาพอมาดูเขาก็อยากถามคำถามนี้เหมือนกับแม่เขาเหมือนกัน ผมก็ถามให้ก็เป็นการเรียนรู้ไปด้วยกัน คือผมไม่ใช่เชฟ ถ้าเป็นคลิปทำอาหารเขาก็มีเชฟมาสอนทำให้ คิดว่าคลิปนี้เป็นเหมือนให้คนดูทำหน้าที่นั่งดูแม่ลูกคู่นี้คุยกัน แล้วผมก็เป็นตัวแทนมาถามให้ มาถามแทนคนดู”

 

How to แคร็กไอเดีย ครีเอทีฟ แถอย่างมีศิลปะ

เมื่อถามว่ามีความตั้งใจแต่แรกหรือไม่ว่าจะเปิดเพจแล้วเปิดรับสปอนเซอร์จากลูกค้า เค บอกว่า ไม่ได้คิดแต่ทีแรก ตั้งใจจะทำเพียงแค่ไม่กี่คลิป แต่ในส่วนความตั้งใจจะโทรหาแม่อันนี้จะทำอยู่แล้วและจะทำบ่อยๆ ด้วย แต่พอทำแล้วก็มีหลายคนชอบทั้งเพื่อนๆ และคนในวงการโฆษณารุ่นพี่หลายคนก็ยุว่าให้ทำต่อ เผื่อเป็นอีกช่องทางของรายได้ ซึ่งตอนนี้ก็มีลูกค้าทยอยเข้ามาเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์

สำหรับกลุ่มลูกค้าหลักๆ ก็เป็นกลุ่มแบรนด์อาหารเป็นส่วนใหญ่ซึ่งก็เป็นปกติ แต่ที่แปลกและก็ค่อนข้างเซอร์ไพรส์ ก็คือมีรถยนต์นิสสัสเข้ามาด้วย ตอนแรกก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน ก็คิดว่าทำยาก คือเราจะบิดให้ทำยังไง แล้วอีกสิ่งที่เห็นคือธุรกิจที่เกี่ยวกับแพล็ตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เพราะเขาทำมาร์เก็ตติ้งออนไลน์อยู่ เช่น NocNoc.com ที่ขายเฟอร์นิเจอร์ออนไลน์ GrabMart  AIS ฯลฯ ธุรกิจสื่อออนไลน์ต่างๆ พวกนี้ก็มีมา

ต่อข้อถามว่า แล้วมีวิธีในการแคร็กไอเดียอย่างไรเพื่อตอบโจทย์และสร้างความสนใจให้กับคนดู เคเล่าว่า เราจะไม่สื่อสารในแบบเป็นการยัดเหยียดสินค้าหรือแบรนด์ให้กับคนดูมากเกินไป ให้ไปในแนวทางที่ดูธรรมชาติ ทำให้ไปกับแนวทางของเพจให้ได้มากที่สุด อย่าง NocNoc.com คือในเพจเราจะเป็นพื้นฐานของบทสนทนาระหว่างวัยกันอยู่แล้ว ก็จะมีการพูดถึงการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ แม่ไปซื้อที่ไหน คือจะมีสักบางมุมของโปรดักส์นั้นที่มาเกี่ยวข้องกับเพจจนได้ ก็จะพยายามทำให้มันแนบเนียนไม่ทำให้มันดูกระโดดมากเกินไป ให้มันไปกับเพจนี้ได้ หรืออย่าง นิสสัน จริงๆ ก็เกือบจะไม่เนียนเหมือนกัน ตอนนั้นเขาอยากเน้นฟังก์ชั่นโทรศัพท์ในรถ เราก็เลยคิดว่า งั้นเปลี่ยนที่คุยแล้วกัน จากคุยที่บ้านมาเป็นคุยในรถ แล้วขับรถคันนี้ไปจ่ายตลาดซื้อกับข้าวมาทำ ก็พยายามหาแง่มุมบางมุมที่จะมา อย่างเช่นสตอรี่เข้ามาเสริมด้วย เช่น เดี๋ยวนี้เราไม่ค่อยได้ไปเที่ยวด้วยกัน ไม่ได้ไปเที่ยวต่างจังหวัดกันเลย

“ผมคิดว่าถ้าอยู่บนพื้นฐานบทสนทนากันถ้าหยิบจับอะไรมาใส่ก็บิดไปได้ง่าย เพราะว่ามันไมได้ล็อกด้วยภาพ แต่มันเป็นบทสนทนาที่สามารถลื่นไหลและบิดไปได้เรื่อยๆ คือจริงๆ มันก็คือการแถอย่างหนึ่งเหมือนกันครับ แต่มันคือการแถอย่างมีศิลปะ ไม่ใช่แถแบบสีข้างถลอกอันนี้ก็ไม่ไหว”

แล้วต้องบรีฟคุณแม่หรือไม่ เราถามตรงๆ เคเล่าว่า ไม่ค่อยพยายามบรีฟแม่เท่าไหร่ครับ คือถ้าเราไปบรีฟโจทย์แม่มาก ความเป็นธรรมชาติของเขาจะหายไป แต่จะบรีฟตัวเองอย่างเดียว เหมือนเซ็ตหัวว่า วันนี้เราจะชวนแม่คุยเรื่องแบบนี้ ประเด็นนี้นะ เราบรีฟแค่ตัวเองอย่างเดียว แล้วก็ไปหาเอาตอนที่คุยกับแม่ อย่างที่บอกว่ามันเป็นเรื่องของบทสนทนามันมีความเลื่อนไหลได้ แต่เราทำหน้าที่เหมือนแบบดักไว้ คุยเรื่องนี้ประเด็นนี้ คือถ้าคุยถามแบบนี้แม่น่าจะตอบประมาณนี้ ส่วนเรื่องสโลแกนหรือ Tagline ก็ให้บรีฟตรงนั้นไปเลย ให้แกพูดตรงนั้นไปเลย บรีฟสดไปเลย ก็จะให้แกพูดเลย มันจะดูธรรมชาติและน่ารัก

Branded Content ที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก

อย่างที่กล่าวว่าสำหรับแบรนด์กลุ่มอาหารถือเป็นท่าปกติที่เพจนี้คล่องตัวอยู่แล้ว แต่สำหรับแบรนด์ที่นอกเหนือจากนี้ เค บอกว่าค่อนข้างชอบ และเป็นความท้าทายที่สนุกมาก โดยยกตัวอย่าง 2 คลิปที่ได้รับการตอบรับที่ดี ได้แก่

  • Netflix

เป็น Brand Content ให้เอามาทำเมนูในซีรี่ส์ของ Netflix มาทำ เราก็เลือกต้มเล้งจากซีรีส์เกาหลีเรื่อง Kingdom ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่องอันนี้น่าสนุกดี ก็เลยให้แม่สอนทำต้มเล้ง อันนี้ดูเข้ากับเพจได้แนบเนียนดีมาก

 

  • TMRW by UOB

อีกคลิปที่เริ่มทำแรกๆ เลย คือเราเป็นเพจทำอาหารแต่ก็ได้ลูกค้าเกี่ยวกับธนาคาร คือตอนนั้นเขามีโจทย์ว่าให้จัดการเรื่องการเงิน ก็มานั่งคิดว่า ถ้าเราจัดการเรื่องการเงินไม่ดี ตอนปลายเดือนต้องมานั่งกินมาม่าเลยนะ ถ้าอย่างนั้นเราก็ทำเมนูมาม่าสิ ให้แม่สอนเมนูมาม่า แล้วก็คุยกับแม่ว่าตอนแม่สาวๆ มันเป็นยังไง ลำบากไหม แม่ก็เล่าช่วงชีวิตที่ไม่ค่อยดี กินกับข้าวชามเดียวแบ่งกินกับแม่สองคน แล้วเราก็แนะนำบริการจัดการเงินที่มันง่าย มีแอปฯ จัดการเงินต่างๆ ให้ ก็คิดว่าถ้าแม่เกิดในยุคนี้ทัน ใช้แอปฯ นี้ได้ ก็คงไม่ต้องไปกินมาม่าแบบนั้น เราก็สามารถเนียนไปกับกรขายของได้ดี

 

สำหรับจุดขาย Selling Point ของเพจ “แม่ เมนูนี้ทำไง” เคบอกว่า มันน่าจะเป็นเรื่องของบทสนทนาของ แม่ ยาย ลูก (หลาน) คือเพจอื่นอาจจะเห็นสูตรทำอาหารอร่อยๆ แต่เพจนี้อาจจะเห็นความอบอุ่น ความรัก ความห่วงใย เข้าไปอยู่ในเมนูอาหารนั้น มากกว่าแค่เราไปดูอาหารเฉยๆ เหมือเรามาดูความรักความอบอุ่นผ่านบทสนทนาในครอบครัวนี้มากกว่า

แต่ถ้าเป็นเรื่องของสไตล์ ก็คงเป็นเรื่องของการถ่ายภาพ ช่องของเราก็จะเน้นเรื่องของการถ่ายภาพสวยๆ อย่างทุกช็อตที่เราถ่ายไป เรามองไป เราคิดว่ามันสวยมากเลย หรือแม้แต่ควันที่มันขึ้นบนเตาบนกระทะ เหมือนกับที่คนดู ASMR แล้วคนดูการทำอาหารดูแล้วเพลินๆ วิธีการถ่ายต่างๆ มันก็จะสไตล์คล้ายๆ แบบนั้น ก็เป็นอีกจุดขายของเพจนี้เหมือนกัน

 

คำแนะนำสำหรับแบนรด์ในการทำงานร่วมงานกับ Content Creator

เค ยังให้คำแนะนำการทำงานร่วมกันระหว่างแบรนด์และ Content Creator ว่า  แบรนด์ถ้าจะจ้าง Content Creator หรือ Influencer คิดว่าเขาจะต้องเข้าใจธรรมชาติของแต่ละคอนเทนต์ก่อน ถ้าเราดูกันแค่บนสไลด์ แล้วเอาเงินไปกระจายๆ แล้วไปยัดเหยียดให้กับสิ่งที่ไม่ใช่ หรือไม่เข้าใจกับคอนเทนต์หรือเพจนั้นเลย แคมเปญก็จะออกมาเฟล บางงานตนก็เคยบอกปัดไม่รับไปเหมือนกัน เพราะรู้สึกว่าวิธีการทำงานมองไม่ตรงกัน คือมีการบรีฟที่แบบไม่เข้าใจเอกลักษณ์ของคอนเทนต์ของเรา ซึ่งถ้าให้รีวิวแบบนั้นหรือทำแบบนั้นคิดว่ามีอีกหลายเพจที่สามารถทำได้และทำได้ดีกว่าด้วย คือพยายามจะยัดรูปแบบอื่นของเพจอื่นมาอยู่ในคอนเทนต์ของเรามันก็จะไม่ดีทั้งสองฝ่าย ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมามันก็จะไม่ดีทั้งกับเพจเราแล้วก็แบรนด์ของเขาด้วย

“คืออยากให้ทำความรู้จักกับ Content Creator หรือ Influencer ที่เราจะไปจ้างก่อน เพราะว่ากลุ่มคนดูของแต่ละช่องมันไม่เหมือนกัน เพราะทาร์เก็ตกลุ่มเป้าหมายมันก็จะแตกต่างกันด้วย เพราะคนเขาดูช่องนี้เพื่อดูสตอรี่ และเขาดูช่องนี้เพื่อที่จะดูรีวิวเอาไปซื้อของ”

คำแนะนำสำหรับ Creator รุ่นใหม่ หาคนดูกลุ่มเป้าหมาย ศึกษาวิธีการทำให้มาก

ส่วนคำแนะนำให้กับคนที่อยากจะเริ่มต้นทำช่องของตัวเองว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร เค แนะนำว่า ถ้าจะเริ่มทำ ต้องหากลุ่มคนที่เราจะคุยด้วยให้เจอ ถึงมันจะกลุ่มก้อนเล็กแค่ไหน แต่ว่าต้องหาให้เจอก่อนว่าที่เราทำมันสื่อสารกับใครคนแบบไหน ที่จริงมันก็เรื่องของโฆษณามาร์เก็ตติ้งเหมือนกัน ก็เหมือนกับเราต้องหาว่าทาร์เก็ตของเราเป็นใคร และที่ดีที่สุดก็คือต้องมาจากสิ่งที่เราอินหรือเป็นเรื่องใกล้ตัวเราจริงๆ เพื่อให้มันทำได้นานๆ การที่ทำอะไรบนสิ่งที่เราอินหรือเรารักมันจะทำให้ทำได้นานๆ เช่น ถ้าผมชอบเตะบอล ผมก็ทำเพจบอลไป วิเคราะห์บอลไป หรือชอบเล่นเกมมากก็ทำไป แต่ว่าถ้าอยากให้มันแตกต่างก็ต้องดูให้เยอะ คือต้องดูศิลปะให้หลากหลาย ดู Youtube ให้เยอะๆ และไม่ได้ดูแค่อย่างเดียว เช่นดูแต่วิเคราะห์ เพราะว่าถ้าเราดูแค่มุมเดียวเราก็จะมี ref. แค่แบบเดียว เพราะอย่างเพจนี้วิธีการถ่ายแบบนี้ หรือวิธีการโทรคุยกัน มันก็ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย มันก็มาจากหนังที่เคยดู คลิปที่เคยไปเห็นมา หรือสารคดีต่างๆ ทุกอย่างมันก็รวมกันหมด มันต้องดูหลากหลาย

“หาทาร์เก็ตตัวเองให้เจอว่าคุยกับใคร แล้ววิธีการคือดูหลากหลาย ย้ายแพล็ตฟอร์ม ย้ายงานศิลปะจากแพล็ตฟอร์มหนึ่งมาอยู่อีกแพล็ตฟอร์มหนึ่ง”

 

มากกว่าความสุขของการทำคอนเทนต์ คือการสานสัมพันธ์กับคนในครอบครัว

ในมุมของการเป็น Branded Content ถือว่าเพจนี้สามารถแคร็กไอเดียได้ดี น่าสนใจแม้จะไม่ใช่โปรดักส์หรือแบรนด์ที่เกี่ยวกับการทำอาหารเลย แต่อย่างไรก็ตาม “เค” เองก็มีคลิปที่ Touching เป็นส่วนตัวด้วย เขาบอกว่าเป็น “คลิปปลาสลิดทอด” เพราะว่าเป็นคลิปที่เหมือนคุยกับแม่ แล้วมันมีช่วงที่อยู่ๆ แม่ก็มีอามรมณ์เหมือนสารภาพผิดกับเรา เขารู้ว่าเขาไม่ค่อยได้สนใจเรา เพราะเคยน้อยใจแอบบอกแม่ว่าลำเอียงหรือเปล่า รักน้องมากกว่าหรือเปล่า แม่ก็ปลดปล่อยตัวเองนิดนึงว่ามีแอบร้องไห้เหมือนกัน เขาก็บอกว่าเพราะว่าเราดูแลตัวเองได้ เปรียบเหมือนเป็นต้นไม้ต้นหนึ่งที่มันแข็งแรงแต่น้องต้องดูแลเยอะกว่า มันก็เลยดูเหมือนว่าแม่สนใจน้องมากกว่า ไม่ค่อยสนใจเรา มันก็เป็นเรื่องที่แบบว่า พอยิ่งคุยกันเยอะๆ ทำให้แม่รู้สึกผ่อนคลาย กล้าที่จะบอกสิ่งที่อยู่ในใจกับเรา

“เพราะว่าเมื่อก่อนผมกับแม่คุยกันน้อยมาก ก็เลยเป็นคลิปที่แบบว่าก็ดีนะที่เราได้ค่อยๆ คุยกัน แล้วก็ค่อยๆ เคลียร์ใจกันไป อะไรที่ติดค้างก็ค่อยๆ หายไป”

มากไปกว่าการได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากผู้ชมและลูกค้า เค บอกว่า มันคือควาสุขของการที่ทำอาหารตามสูตรแม่ออกมาได้จริงๆ

“คือพอโทรแล้วเราทำตามแล้วมันอร่อย เออมันอร่อยจริงๆ วะ อันนี้ก็เป็นเรื่องที่แฮปปี้คือทำแล้วมันได้กลิ่น ได้รส ได้สีเสียง คือมันได้ประสาทสัมผัสทุกอย่างหมดเลย พอทำแล้ว โอ้ว เหมือนที่แม่ทำให้กินเลยวะ คิดว่าเรื่องนี้แหละที่ทำให้ผมแฮปปี้มีความสุข” นอกจากนี้ อีกเรื่องคือการที่คนมาคอมเมนต์ เข้ามาแชร์ แล้วบอกว่าคิดถึงแม่ แล้วก็คอมเมนต์ชมคอนเทนต์ ก็เป็นเรื่องที่ดีที่อิ่มเอมใจ ทำให้ทั้งแม่และยายเรารู้สึกว่า เขามีคุณค่าอยู่ มีคนมาเป็นแฟนคลับ เขาก็แฮปปี้

 

 

สุดท้าย สิ่งที่ “เค” อยากฝากคนไกลแม่ ไกลครอบครัวว่า

 

“อย่ารอเดี๋ยวครับ ผมเองก็เป็นคนที่รอเดี๋ยวเยอะ เดี๋ยวค่อยไปหาก็ได้ เดี๋ยวค่อยโทรก็ได้ เดี๋ยวค่อยกลับไปกินข้าวที่บ้านก็ได้ เดี๋ยวอยู่นั่น แต่ก็ไม่เคยทำ ผมคิดว่าทำไปเลยครับ กลับบ้านสักเดือนละครั้งหรือสักอาทิตย์ละครั้งถ้าทำได้ โทรไปหาอาทิตย์ละครั้งก็ยังดี เวลาแค่นาทีสองนาทีต่อสัปดาห์มันไม่ได้เยอะเลยนะครับ อย่างน้อยก็โทรไปคุยกับพ่อแม่หน่อย คิดว่าการคุยกับที่บ้านไม่มีอะไรเสียเวลาเลย ให้ทำไปเลย อย่าไปรอลีลา อะไรมากมาย รอโอกาสทำไม บางคนเสียดายที่ไม่ได้ทำ ดังนั้น ช่วงเวลาเก็บเกี่ยวข่วงนี้มีอยู่ให้ทำเลยครับ”

 


  • 548
  •  
  •  
  •  
  •  
pigabyte
การเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้น มาเรียนรู้และสนุกไปกับบทความ จาก MarketingOops! กันนะคะ แล้วเราจะได้ค้นพบว่าโลกของ Marketing นั้น So Sexy and Cool!