รู้จักตัวตนของ ไมค์ “ไมเคิล จิตติวาณิชย์” หัวหน้าฝ่ายการตลาดคนใหม่ของ Google ประเทศไทย

  • 4.5K
  •  
  •  
  •  
  •  

ขอแสดงความยินดีกับคุณไมค์ “ไมเคิล จิตติวาณิชย์” หนุ่มไทยรุ่นใหม่ไฟแรงหน้าตาดี อายุเพียงแค่ 35 ปี ที่เพิ่งได้รับการเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการตลาดของ Google ประเทศไทย

คุณไมค์ ได้ร่วมงานกับ Google ประเทศไทยมานานถึง 4 ปีแล้ว กับตำแหน่ง ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ขับเคลื่อนให้ธุรกิจ B2B และ B2C ของ Google ให้เติบโตขึ้น จนกระทั่งวันนี้ได้ขึ้นมากุมบังเหียนใหญ่ในส่วนของฝ่ายการตลาดทั้งหมดของ Google ประเทศไทย ในตำแหน่ง หัวหน้าฝ่ายการตลาด หรือ Head of Marketing’  จึงเป็นโอกาสอันดีมากที่ให้ Marketing Oops! ได้สัมภาษณ์พิเศษในแบบเจาะลึกทั้งในแง่การทำงานและมุมมองความคิดของเขา ลองมาฟังหลายๆ ทัศนะจาก “ไมเคิล จิตติวาณิชย์” หรือ “คุณไมค์”  กับมุมมองการทำงานในสไตล์อ่อนน้อมถ่อมตัวแบบคนไทยแต่มีวิชั่นที่กว้างไกลในแบบสากล

google-mike3

 

ก่อนที่จะก้าวมาสู่ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทย เรียนจบด้านไหน และผ่านงานสายไหนมาบ้าง?

คุณไมค์ เริ่มต้นเล่าว่า ความจริงแล้วตนจะเป็นพวกที่เรียกว่าคอมพิวเตอร์แนวเนิร์ดหรือ Tech Geek เสียมากกว่า เพราะว่าเรียนจบมาด้านวิศวะคอมพิวเตอร์ ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งพื้นฐานอาจจะไม่เหมือนคนอื่นที่เรียนทางมาร์เก็ตติ้งโดยตรง แต่ที่ผ่านมากลับได้รับโอกาสการทำงานสายมาร์เก็ตติ้งมาโดยตลอด ทั้งตอนที่ทำงานกับ McKinsey & Company ที่สหรัฐฯ โปรเจ็คต์ที่ได้ส่วนใหญ่ก็เป็นแนวคอนซัลท์ด้านมาร์เก็ตติ้ง พอกลับมาเมืองไทยก็ยังเป็นเรื่องของเมเนจเมนท์และมาร์เก็ตติ้งอยู่เช่นกัน โดยลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่ม Tech และ Telco ทั้งในประเทศไทยรวมไปถึงภูมิภาคอาเซียน

จากนั้น ได้มีโอกาสมาร่วมงานกับ dtacโดยได้รับหน้าที่ให้ดูแลระบบธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligence) ก่อนที่จะย้ายมาในส่วนของ Customer Lifecycle Management คือการดูแลลูกค้าให้อยู่กับองค์กรและมีความสุขมากขึ้น จากนั้นก็ทำ Marketing Strategy สักพักหนึ่งที่ dtac จนกระทั่งได้มาร่วมงานกับทาง Google ประเทศไทยในปี 2555

google-mike5

 

เข้ามาในบ้าน Google เริ่มต้นผลักดันงานด้าน B2B และ B2C

เมื่อย้ายมาที่ Google ก็อยู่ในส่วน SMB Marketing ซึ่งตรงส่วนนี้ คุณไมค์อธิบายว่าแบ่งออกเป็น 2 หน่วยหลักๆ ด้วยกันได้แก่ B2B และ B2C โดย B2B ก็จะดูองค์กรที่มีทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ส่วน B2C ก็จะดูลูกค้าที่เป็นผู้ใช้จริงๆ ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา

ตอนเข้ามาผมดูในส่วน B2B ก่อน ดูทั้งลูกค้าทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยจะทำอย่างไรให้ลูกค้าทั้งสองกลุ่มนี้ได้ประโยชน์จากโลกออนไลน์  หรือให้ธุรกิจเขาเติบโตอยู่ในโลกออนไลน์ได้ และดูถึงเรื่องรายได้ของโฆษณา ด้วยการทำโฆษณาผ่าน Google ว่าจะช่วยให้ธุรกิจของเขาดีขึ้นทั้งในและนอกประเทศได้ผ่านการใช้ Google Adwords, Google Display Network และ YouTube Advertising ซึ่งในส่วนของ B2B นั้นจะรวมถึงแบรนด์ใหญ่ๆ เข้าไว้ด้วย  ซึ่งผมได้ทำในส่วน B2B ประมาณ 2 ปี และได้ข้ามมาฝั่ง B2C อีก 2 ปี

คุณไมค์ เล่าให้ฟังต่อถึงงานในส่วนของ B2C ว่า มีค่อนข้างเยอะ เพราะผลิตภัณฑ์ของ Google ในส่วนของผู้ใช้นั้นใหญ่มาก เน้นในเรื่องของการใช้งานให้ผู้ใช้ในประเทศไทยเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของเราง่ายขึ้น ได้ประโยชน์จากมันมากขึ้น สำหรับผลิตภัณฑ์หลักๆ ของเราซึ่งมีผู้ใช้คนไทยจำนวนมาก มี 3 อย่างด้วยกัน ได้แก่ 1. Google Search 2. YouTube 3. Android และทั้ง 3 ตัวนี้ถือเป็นคอร์โปรดักส์ที่ทาง Google ให้ความสำคัญมาก

อย่างการ Search เราก็จะต้องมาดูว่าคนไทยติดปัญหาอะไรที่ทำให้การ Search เกิดความไม่คล่องตัว เราก็ต้องมาปรับปรุงในประเทศไทย เช่นการเพิ่มคอนเทนต์คนไทยให้เยอะขึ้น

ส่วน YouTube ซึ่งได้รับความนิยมจากคนไทยมาก แต่ปัญหาหนึ่งที่พบเจอก็คือเรื่องค่าบริการอินเทอร์เน็ตที่แพง ซึ่งถือเป็นหนึ่งในข้อจำกัดที่เรามองเห็นอยู่ จึงเป็นที่มาในการทำพาร์ทเนอร์ร่วมกับค่ายมือถือต่างๆ ว่าเราจะทำอย่างไรเพื่อช่วยให้คนไทยเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ในราคาดีขึ้น

สุดท้ายคือ Andriod ที่เราให้ความสำคัญมาก เพราะว่าโลกเราสมัยนี้เป็น Mobile Frist กันหมดแล้ว และผู้ใช้หลายคนยังเป็น Mobile Only อีกด้วย  ดังนั้น มือถือจึงเป็นเกตเวย์สำคัญที่ทำให้คนเข้าถึงโลกดิจิทัลได้ และหลายโปรดักส์ที่ Google มีก็จะทำขึ้นเพื่อรองรับการใช้งานผ่านมือถือด้วย ดังนั้น Android จึงเป็นหนึ่งในคอร์โปรดักส์สำคัญ ซึ่งตอนนี้เราจะโฟกัสที่โมบายมากๆ ทุกโปรดักส์ที่เราคิด เราจะคิดถึงมือถือก่อนเป็นอันดับแรก

เราจะไล่ดูทีละโปรดักส์เลยว่าโปรดักส์ตัวนี้สำหรับประเทศไทยปัญหาคืออะไร ทำอย่างไรให้ผู้ใช้ไทยได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น เราจะเวิร์คกันภายในบริษัท เช่นคิดว่าจะต้องทำกับพาร์ทเนอร์หรือไม่อย่างไร เพื่อให้คนไทยใช้ประโยชน์จากมันได้ดีขึ้นในทุกๆ วันนั่นเอง

google-mike2

 

กับการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการตลาดมีขอบข่ายที่รับผิดชอบเพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง?

คุณไมค์ เล่าว่า จากที่เดิมรับผิดชอบ B2B และ B2C มาถึงตรงนี้ก็อาจจะเรียกได้ว่าดูครอบคลุมทั้งหมดเลย ขอบเขตงานจะกว้างขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะมีงานที่เพิ่มเข้ามาในฐานะ Head of Marketing อย่างเช่นต้องดูเรื่อง Brand Reputation ของ Google ในประเทศไทย ดูภาพรวมของแบรนด์ Google ไทยอีกด้วย

“นอกจากนี้ ภาพรวมอีกอย่างที่ผมต้องทำก็คือ จะต้องคิดต่อยอดในด้านธุรกิจว่าจะทำอย่างไรให้ Google ในประเทศไทยต่อยอดไปได้ดีขึ้น โดยที่ทางเราไม่ได้มองแค่โปรเจ็คต์ต่อโปรเจ็คต์เท่านั้น ไม่ใช่แค่ B2B หรือ B2C เหมือนเดิม แต่จะต้องมองแบบ Ecosystem ที่ใหญ่ขึ้นโดยรวมของทั้งประเทศ ว่า Digital Ecosystem ในประเทศไทยจะเติบโตและใหญ่ขึ้นไปกว่านี้ได้อย่างไร และเราจะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนได้อย่างไร ทำให้เราต้องมองภาพใหญ่ขึ้นไปอีกสเต็ปหนึ่ง

 

อะไรคือความท้าทายสำหรับคุณไมค์ และทีมงาน?

คุณไมค์ตอบอย่างมั่นใจว่า ตนคิดว่าการที่อยู่ Google เรามีความท้าทายอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว อย่างที่บอกไปว่าเราต้อง make impact สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศที่เราทำงานอยู่ได้อย่างไร  ซึ่งในประเทศไทยเราก็ยังถือว่าเป็นองค์กรเล็กๆ เรามีทีมงานมาร์เก็ตติ้งทีมเล็กๆ ไม่กี่คน แต่เราต้องการสร้างบิ๊กอิมแพคให้เกิดขึ้นให้ได้ และนั่นคือความท้าทายหลักของเรา ซึ่งทำให้เราต้องคิดถึงในมุมของ Ecosystemเสมอ

ดังนั้น เมื่อบริษัทเราเล็ก มีทีมทำงานเล็ก เมื่อเราต้องทำการใหญ่ จึงต้องมองภาพใหญ่ถึง Ecosystem ว่าสิ่งที่เราจะเปลี่ยนมันจะต้องมีอะไรบ้าง เช่น เราต้องการดันให้อุตสาหกรรม Digital Advertising ใหญ่ขึ้น เราก็ต้องมองว่าใน Ecosystem นั้นมีใครบ้าง เช่น มีเดีย เอเจนซี่ ครีเอทีฟ เอเจนซี่ แบรนด์ นักการตลาด และองค์ประกอบต่างๆ  เราก็จะมองว่าจะช่วยกันอย่างไรให้เติบโตไปด้วยกันได้ทั้งวงการ  จะเห็นได้ว่า Ecosystem อยู่ในทุกมุมมองของสิ่งที่เราทำหลายอย่างเลย

อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมขององค์กร ก็ถือว่าเป็นบริษัทที่มีความท้าทายสูง คือ เราตั้งเป้าไว้สูงมาก โดยหนึ่งในปรัชญาที่ Google มีก็คือ เวลาที่คิดอะไรจะต้องคิดใหญ่ เราเรียกว่า 10x (เทน เอ็กซ์) คือการคิดให้ได้ 10 เท่า   ยกตัวอย่างสมมุติว่าผมทำโปรดักส์หนึ่งออกมา ถ้าผมบอกว่าปีหน้าอยากโตแค่ 10% หรือ 20% สมมุติว่าผมตั้งเป้าไว้อย่างนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราก็จะทำเหมือนๆ เดิม คือทำให้มันดีขึ้นหน่อยนึงเพื่อให้ได้ 10% หรือ 20%

“แต่ในเมื่อองค์กรบอกว่าต้องโตที 10x ก็จะเป็นการกระตุ้นให้ทีมคิดการใหญ่ขึ้น  คิดถึงการสร้างอิมแพ็คใหญ่ๆ เพื่อให้มันโตได้ขนาดนั้น แต่ถ้าเกิดทำแล้วมันอาจจะไม่ได้ 10x มันก็อาจจะได้แค่ 5x หรือ 6x  ซึ่งดีกว่าการโตแค่ 10% หรือ 20%   Google ถือเป็นบริษัทที่ส่งเสริมให้คนคิดใหญ่ นั่นก็เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ว่าทำไมเวลาเราคิดโปรเจ็คต์อะไรมาสักอย่างหนึ่งเราถึงคิดแบบ Ecosystem เพราะว่าถ้าเราคิดจะทำให้โตแบบ 10x เราไม่มีทางทำคนเดียวได้ ดังนั้น ถ้าจะโตก็ต้องโตไปทั้งระบบเลย โตไปด้วยกัน

google-mike6

 

แนวคิดเรื่อง Ecosystem มีอยู่ใน Google ทุกๆ ที่เลยหรือไม่?

คุณไมค์อธิบายเสริมว่า เรื่องของ Ecosystem เป็นเหมือนปรัชญาและวัฒนธรรมองค์กรที่ทาง Google ได้สร้างมันขึ้นมาตั้งแต่ต้น ซึ่งตนรู้สึกได้ตั้งแต่เข้ามา Google ครั้งแรกเลยว่า Google สามารถนำความเป็น Googliness (ความเป็น Googleเข้าไปอยู่ในทุกที่ ได้ในทุกๆ คนไม่ว่าคุณจะมาจากองค์กรเล็กหรือใหญ่ก็ตาม

เราจะเห็นว่าทุกอย่างที่ Google ทำจะเป็น open platform หมด  อย่าง Android ที่ประสบความสำเร็จมหาศาลส่วนหนึ่งก็เพราะว่าเราเปิดเป็น open source ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนากับเราได้  อย่างแบรนด์ผู้ผลิตมือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android ปัจจุบันก็มีมากกว่า 400 บริษัท และรุ่นมือถือก็มีมากกว่า 5,000 รุ่นในโลก เราไปถึงสเกลนั้นได้เพราะว่าเราไม่ได้ปิดหวงเทคโนโลยีไว้คนเดียว แต่เราเปิดให้ทุกคนได้มาร่วมกันสร้างให้มันดีขึ้น ดังนั้น ไอเดียลักษณะนี้มันก็จะมีอยู่ในตัวพนักงาน Google ทุกคนเลย ไม่ว่าใครจะเข้ามา

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุดในการ drive culture ของ Google ที่ผมมองเห็น คือ การที่เราให้ความสำคัญกับเรื่อง Transparency หรือ ความเป็นองค์กรที่เปิดมากๆ ถ้าเทียบกับองค์กรโดยทั่วๆ ไป บางบริษัทจะเข้าถึงผู้บริหารระดับซีอีโอได้นี่ยากมาก อย่างมากก็เพียงแค่ปีละ 2 หนเท่านั้น แต่ที่ Google เราจะมีกิจกรรมที่เรียกว่า TGIF (Thank God It’s Friday) ทุกๆ สัปดาห์โดยที่ Larry Page และ Sergey Brin (2 ผู้ก่อตั้ง Google) จะมาพูดคุยกับพนักงานทุกๆ สัปดาห์ พร้อมกับเปิดฟอรัม แชร์ไอเดีย และถามตอบกันอย่างเปิดเผยในทุกคำถามเลย โดยไม่มีเรื่องของซีเนียร์หรือจูเนียร์หรือสำนักงานต่างประเทศเป็นข้อจำกัด ประเทศไหนก็สามารถร่วมส่งคำถามถึงผู้บริหารได้  สิ่งนี้แหละที่ผมว่ามันคือ Transparency ที่สำคัญ ซึ่งทำให้วัฒนธรรมของ Google มีความโดดเด่นมากกว่าองค์กรอื่นๆ

 

สำหรับประเทศไทยเรามีกิจกรรม TGIF แบบนี้บ้างไหม?

คุณไมค์บอกว่า ออฟฟิศที่ไทยเราก็จะมีจัด TGIF เช่นกัน แต่เป็นเพียงเดือนละครั้งไม่ใช่สัปดาห์ละครั้งเหมือนที่สำนักงานใหญ่  โดยเราตั้งทีมเรียกว่า Culture Club ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อไดรฟ์คัลเจอร์ทั้งในส่วนที่เป็นไปตาม Google ใหญ่และของไทยเราเองด้วย โดยกิจกรรมที่เราทำคือการเน้นให้วันนั้นเป็น วัน Google” คือให้ทุกคนที่แม้จะไม่ได้ทำงานร่วมกันมาร่วมคลับกัน เพื่อให้เกิดความรู้สึกเป็นน้ำหนึ่งเดียวกันและบางครั้งก็จะมีทีม Google จากต่างประเทศมาร่วมจอยด้วย เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย เป็นต้น

นอกจากนี้ เรื่องของการจัดที่นั่งในออฟฟิศก็ดี  ซึ่งเราทำในลักษณะของ flat organization คือจะเห็นว่าไม่ว่าจะซีเนียร์แค่ไหนยังไงก็นั่งโต๊ะเปิดเหมือนกันหมด มีพื้นที่ที่สามารถทำงานร่วมกันได้ค่อนข้างเยอะ เพราะเราต้องการให้คนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน อย่างที่ชอบมากที่สุดก็คงเป็นเรื่องการเลี้ยงอาหารพนักงาน เพราะนอกเหนือจากการทานฟรีที่บริษัทมีให้กับพนักงานแล้ว สิ่งที่ตนคิดว่าเป็นประโยชน์มากที่สุดก็คือ การสร้างบรรยากาศที่ทุกคน ทุกทีม มานั่งกินข้าวด้วยกัน ได้รู้จักกัน และได้แลกเปลี่ยนไอเดียซึ่งกันและกัน มันเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ดีมากๆ

google-mike4

บทสัมภาษณ์ที่ผ่านมา น่าจะทำให้เรารู้จักผู้ชายที่ชื่อ ไมค์ หรือ ไมเคิล จิตติวาณิชย์ ในแบบเจาะลึกมากขึ้น ซึ่งถ้าประเมินจากเพียงอายุและใบหน้าที่ยังดูเด็กมาก  ก็คงจะเชื่อได้ยากว่าผู้ชายคนนี้จะมีความสามารถและวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกลได้ถึงเพียงนี้  แต่หลังจากที่นั่งพูดคุยกับเขาแล้ว นอกจากจะมีความถ่อมตนในแบบคนไทยแล้วก็ยังเป็นคนมีวิชั่นทั้งในด้านเทคโนโลยีและการดำเนินธุรกิจในระดับชั้นนำ จึงไม่แปลกใจเลยที่องค์กรใหญ่อย่าง Google ได้เลือกให้เขาเป็นหัวเรือใหญ่ด้านมาร์เก็ตติ้งของบริษัท

ทั้งนี้ ในบทสัมภาษณ์ครั้งต่อไป เราจะนำเสนอถึงภาพใหญ่ของการผลักดันโปรดักส์ต่างๆ ของ Google ซึ่งจะมีทั้งส่วนที่เป็นระดับโลกและระดับโลคอลในไทยด้วย รวมทั้งโปรเจ็คต์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ เช่น การจัด Youtube Fanfest ครั้งที่ 2 หรือ ไทยจะมีโอกาสทำ Youtube Space เป็นการถาวรหรือไม่ และอะไรคือ Next Billion User เป็นต้น รอติดตามอ่านกันได้เลยค่ะ ในเร็ววันนี้

 

Source: Copyright © MarketingOops.com


  • 4.5K
  •  
  •  
  •  
  •  
Tukko Nathida
ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ MarketingOops.com กับความตั้งใจในการนำเสนอเนื้อหาที่ทันเหตุการณ์ และเกิดประโยชน์ ให้สามารถนำเนื้อหาความรู้ และ Insight ไปต่อยอดกับอนาคตของธุรกิจ และการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ เทคโนโลยี ครีเอทีฟ การตลาด โฆษณา และสตาร์ทอัพ