ชื่อของ “ท้อฟฟี่ แบรดชอว์” นักเขียนฝีมือจัดจ้านซึ่งหลายท่านอาจจะรู้จักดีในผลงานการเขียนหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คมากมาย แต่ชื่อของเขาเริ่มที่จะไวรัลในโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้นในช่วงหลัง จากที่ได้บรรเลงฝีไม้ลายมือเขียนเทียบรายการ The Face Thailand ซีซั่น 2 กับชีวิตการทำงานของคนทั่วไป ซึ่งถูกอกถูกใจมนุษย์ทำงานเป็นอย่างยิ่ง
และล่าสุด กับ Game On, Bitch บทความที่ตีแผ่ชีวิตมนุษย์ทำงานผ่านรายการ The Face Thailand Season 3 ยังคงอรรถรสแซ่บเช่นเคย แต่ใช่เพียงแค่ความแซ่บเท่านั้นที่เราได้จากบทความของเขา แต่ยังมีแง่คิดสาระดีมีประโยชน์ที่นำเอามาใช้ในการทำงานได้อีกด้วย ดังนั้น เพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักตัวตนของผู้ชายคนนี้มากขึ้น Marketing Oops! จึงขอเข้าไปทำความรู้จักกับ “ท้อฟฟี่ แบรดชอว์” หรือ “ชญาน์ทัต วงศ์มณี” ชายหนุ่มหน้าตี๋ ที่มีเสน่ห์อยู่ที่รอยยิ้มมากกว่ากล้ามปูที่เราเห็นได้ในระยะ 100 เมตร
จุดเริ่มต้นของการฝนปากกา
ท้อฟฟี่ ตรงดิ่งมาพร้อมรอยยิ้มและแว่นตากรอบหนาสีดำ เรานั่งคุยกันอยู่ที่มุมกาแฟหนึ่งในออฟฟิศของโอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ ประเทศไทย ซึ่งที่นั่น ท้อฟฟี่ ทำงานอยู่ในตำแหน่ง Communication Director อย่างที่กล่าวว่าเราอยากให้คุณได้รู้จักเขามากขึ้น จึงให้เขาเริ่มเล่าตั้งแต่สถาบันการศึกษากันเลย
ท้อฟฟี่ เริ่มจากที่ว่าตนเรียนจบปริญญาตรี คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน เอกสาขาวิชาหนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากนั้นก็ได้งานที่นิตยสาร GM Plus อยู่ในส่วนของกองบรรณาธิการ ทำคอนเทนต์ประเภทการสัมภาษณ์ เขียนบทความและคอมลัมน์ต่างๆ
“กับการทำงานที่ GM Plus ทำให้ผมได้ฝึกฝนในเรื่องของการตั้งคำถาม ทำสกู๊ป ต้องคิดเยอะมากกว่าคนอื่น เพราะเราต้องไปถามในเรื่องที่ปกติมนุษย์เขาไม่ถามกัน เหมือนไปขุดคุ้ยตัวคนของคนที่สัมภาษณ์ เช่น คุณคิดยังไงกับความตาย ซึ่งยากมาก แต่มันก็ทำให้เราได้ไปเจอกับคนเก่งๆ แม้ว่าถ้าดูผ่านๆ เค้าอาจจะไม่มีอะไรเลย แต่ด้วยคำถามที่ดีทำให้เราสามารถไปคุ้ยความเก่งของเขามาได้ เพราะโจทย์ของหนังสือคือทำยังไงก็ได้ให้คนอ่านเห็นว่าคนนี้เขาเก่งอะไรสักอย่างหนึ่ง ต่อให้เขาโคตรไม่มีอะไรเลย จะต้องหาให้ได้ว่าซีกไหนที่เขาเก่ง”
หลังจากสนุกกับการเป็นนักเขียนที่ GM Plus ท้อฟฟี่ ก็มาเรียนต่อปริญญาโทที่ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาประชาสัมพันธ์ และก็ได้มาเริ่มงานที่ Ogilvy Public Relations เขาเล่าว่า ทำมายาวนานถึง 7 ปี อยู่ตั้งแต่เป็นหนูน้อย communication executive จนตอนนี้ก็เป็น communication director แล้ว
จุดบีบเค้นในชีวิต กับการค้นพบตัวตน
แต่ชีวิตของ ท้อฟฟี่ ก่อนจะมาโลดแล่นในแวดวงวรรณกรรม ก็เกือบจะมาไม่ถึงเส้นทางนี้เช่นกัน ซึ่งจุดนี้ถือเป็นช่วงพีคช่วงหนึ่งของชีวิตทีเดียว เขาเล่าว่า ตอนป.2 (เรียนที่โรงเรียนพิชญศึกษา) มีความรู้สึกในหัวตลอดเวลาว่า อยากชนะทุกการประกวดเรียงความ จะวันพ่อ วันแม่ จะต้องชนะให้ได้ ถึงขนาดที่ว่าตอน ป.2 ไม่อ่านเรียงความของเด็กรุ่นเดียวกันแต่อ่านของเด็กที่โตกว่าเพื่อเอาไปศึกษาว่าจะชนะได้อย่างไร ชอบหมดทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง พอขึ้นมัธยมต้นก็เรียนที่สาธิตเกษตรฯ ก็ยังชอบภาษาอยู่ทั้งไทยทั้งอังกฤษ
“แต่จุดที่ทำให้เรารู้สึกว่าเรารักการเขียนมากๆ เลยก็คือ ตอนถูกบังคับให้เรียนวิทย์-คณิต มันไม่มีวิชาไหนที่เรียนแล้วมีความสุขเลย ตอนเรียนไม่ชอบเลข ไม่ชอบเคมี ไม่ชอบฟิสิกส์ สิ่งที่ทำในห้องเรียนคือนั่งแต่งกลอนว่าเราเบื่อวิชานี้ยังไง จุดนั้นทำให้เรารู้ว่านี่คือสิ่งที่เราอยากทำ เมื่อเวลาเราถูกบีบหรือเวลาที่ไม่มีใคร พอต้องไปอยู่ในพื้นที่กับเด็กที่เรียนเก่ง มันไม่ใช่ที่ของเรา เป็นเด็กวิทย์แต่เรียนวิทย์ไม่เก่ง เราอยากมีตัวตน ฉะนั้น สิ่งที่เราทำคือการเอาชนะด้วยการประกวดเรียงความในวันพ่อวันแม่ เราคิดว่าเวทีนี้แหละเราต้องชนะมันให้ได้ เพราะว่ามันเป็นจุดเดียว ฉากเดียว ที่ทำให้อาจารย์เห็นเราในมุมใหม่ว่าเรามีความสามารถ”
แต่จากจุดนี้ก็กลายเป็นบทเรียนสำคัญที่เหลาให้ ด.ช.ท้อฟฟี่ กลายเป็นคนที่มองโลกในมุมที่หลากหลายและยอมรับผู้คนในมุมที่แตกต่าง “มันคือบทเรียนที่ 2 เป็นครั้งแรกที่ได้รู้ว่า Underdog เป็นอย่างไร” ท้อฟฟี่กล่าว
“ที่ผ่านมาเราเป็นเด็กเรียนเก่งอยู่ใน spotlight มาตลอด คุณครูชื่นชม เป็นเด็กที่ได้รับคำชื่นชม แต่เมื่อไปอยู่ในสนามที่ไม่ใช่ของเรา เรากลายเป็นอะไรเอ่ย ซึ่งเราไม่ได้เกเร แต่รู้เลยว่าไม่ได้รับความสนใจ แต่จุดนี้ก็ทำให้เรารู้ว่า เพื่อนๆ ที่เรียนไม่เก่งเขารู้สึกอย่างนี้ เราไม่เคยได้รู้มาก่อน เพราะเราได้รับความสำคัญมาตลอด ณ เวลานั้น”
2 หลักคิดสำคัญในชีวิต
จากวิกฤตในช่วงนั้นหล่อหลอมให้ท้อฟพี่มีหลักในการดำเนินชีวิตอย่างเข้าใจโลกมากขึ้น ผ่าน 2 ประโยคง่ายๆ ได้แก่ 1.บอกกับตัวเองว่า ‘เราเก่ง’2.บอกกับตัวเองว่า ‘เราไม่เก่ง’#งงในงง ไหมคะให้เขาได้อธิบายจุดนี้เพิ่มเติม
“คนเรามีสองด้าน อย่างแรกเราต้องบอกตัวเองว่า ‘เราเก่ง’ หาให้เจอว่าเราเก่งอะไร แล้วก็พัฒนาสิ่งนั้นให้กลายเป็นคุณค่าของเรา หาให้เจอ แต่ว่าเจอแล้วอย่าหยุด ต้องพัฒนาให้มันเก่ง มันเป็นคุณค่าของเรา ทุกคนมีศักยภาพ อย่าคิดว่าตัวเองไม่เก่ง มันต้องมีอะไรสักอย่าง ที่แบบเรานี่แหละ! อันที่สอง นอกจากบอกตัวเราเองว่าเราเก่งเราก็มีด้านดีแล้ว ก็ต้องบอกตัวเองว่าเราก็ไม่ได้เก่งด้วย เพราะหลายคนก็แพ้ภัยตัวเอง ทำให้ไม่รู้จักพัฒนาตัวเอง หรือไปถึงขั้นมีอีโก้ลงให้ใครไม่ได้ ฉะนั้น เราต้องคิดสองแบบคือ คิดว่าเราเก่ง กับ คิดว่าเราไม่เก่ง ไอ้ความรู้สึกที่แบบว่า เราไม่ได้เก่งตลอดเวลามันจะช่วยให้เรารู้สึกประมาณตัวเอง ครั้งหน้าเราต้องเก่งขึ้นสิ มันต้องเก่งขึ้นไปอีก คือไม่ทำตัวเหลิง ยังมีคนที่เก่งกว่าเราอีกมากมาย”
พ็อกเก็ตบุ๊คเล่มแรก
หลังจากผ่านช่วงค้นพบตัวตนมาได้ ด.ช.ท้อฟฟี่ ก็สามารถเคลียร์กับทางบ้านและย้ายสำมะโนครัวมาเป็นเด็กสายศิลป์คำนวณเรียบร้อยก่อนจบ ม.6 ซึ่งทำให้ชีวิตทุกอย่างมันดีขึ้นมาก จากนั้นเขาก็เล่าถึงพาร์ทของการทำงานที่แรกที่นิตยสาร GM ซึ่งมู้ดโทนของการเขียนยังเป็นน้ำเสียของผู้ชายตามสไตล์หนังสือ แต่พอเริ่มเขียนบล็อก ผ่าน GM Plus blogspot และยุคนั้นยังมี Hi5 ซึ่งมีความเป็นตัวเองมากขึ้น เพราะจะเขียนเรื่องอะไรก็ได้ แบบไหนก็ได้ ทำให้เขาค้นพบ ‘เสียง’ ของตัวเอง จนกระทั่งพี่ที่เคยอยู่ GM มาชักชวนให้เขียนหนังสือออกเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ค ซึ่งเป็นความฝันของตนเองมาตลอด
“มันเป็นความฝันของเรามาตลอดว่าเราอยากเขียนหนังสือ แต่ตอนนั้นมันนึกไม่ออกว่า ใครจะมาอ่านเรา ใครจะมาพิมพ์นะ”
พ็อกเก็ตบุ๊คเล่มแรกของ ท็อฟฟี่ ชื่อว่า “จงเติมคันในช่องว่า” ซึ่งเขาเล่าถึงที่มาคอนเซ็ปต์และชื่อหนังสือว่า มาจากการที่เวลาทำข้อสอบ มันจะมีคำที่ว่า จงเติมคำในช่องว่าง
“ชีวิตเรามันก็เหมือนกับต้องเติม blank ตรงช่องว่าง ท้อฟเลือกที่จะเติม ความคัน คือการตั้งคำถาม ทำไมมันต้องเป็นแบบนั้นล่ะ ทำไมเป็นแบบนี้ เอาสิ่งที่คนไม่เคยคิดมาก่อน การตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยๆ ทำให้เราทบทวน เราไม่ปล่อยผ่านแต่ละเรื่องโดยไม่คิดอะไร มันให้บทเรียนอะไรกับเราบ้าง แต่เล่มแรกก็กริบมากเลยนะ ไม่ค่อยมีคนรู้จัก แต่สำหรับเราเราได้เขียนหนังสือแล้ว”
และหลังจากมีหนังสือเล่มแรกแล้ว หนึ่งในคนอ่านที่น้อยนิดตามที่ท้อฟฟี่ถ่อมตัวก็มี ต่อ-เอกชยา สุขศิริ บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร Volume เห็นแล้วชอบ จึงได้ชวนมาเขียนคอลัมน์ให้กับ Volume ในชื่อว่า “ไซเบอร์ราคะ” ซึ่งก็เป็นที่มาของหนังสือเล่มต่อมา
“กับการเขียนให้กับ Volume เราไม่รู้หรอกว่าจะมีใครชอบไม่ชอบงานของเรา แต่เราคิดว่าถ้าพี่ต่อ (เอกชยา สุขศิริ) เชื่อว่าเราดีมีของก็ปล่อยเต็มที่ เพราะทุกครั้งที่ส่งบทความพี่ต่อก็จะชมว่าชอบมาก อีกทั้ง พี่ตุ๊-วีระพจน์ อัศวาจารย์ บรรณาธิการอำนวยการ ก็บอกว่าท้อฟฟี่คือคอลัมนิสต์คนโปรดของพี่เลยนะ โอ้โห… มันเลยทำให้เรามีความสุขมาก มีฟีดแบ็กจากคนอื่นที่ดีมาก มีพี่ตุ๊ พี่ต่อ คอยแนะนำ แบบสัปดาห์นี้พี่ชอบมากเลย สัปดาห์นี้น้ำตาพี่ไหลเลย”
จนมาเล่มที่ทำให้คนรู้จักเรามากขึ้นจริงๆ คือ “มนุษย์สุดมโน” ซึ่ง ท้อฟฟี่ บอกว่าใช้วิธีในการโปรโมทผ่านไวรัลคลิปซึ่งประสบความสำเร็จมาก และทำให้กลายเป็นหนังสือที่ขายดีติดท็อปลิสต์
“ด้วยความที่เราทำงานครีเอทีฟ เราอยู่ในอุตสาหกรรมครีเอทีฟ เรารู้ว่าถ้าขายหนังสือเล่มแบบเดิมๆ มันไม่ได้แล้ว จะมีวิธีไหนที่ทำให้คนรู้จักหนังสือก่อนที่จะเดินไปร้านหนังสือ เราเลยทำวิดีโอที่พูดถึงเรื่องในหนังสือ เรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์ วิดีโอก็จะพูดว่า มีความสัมพันธ์ของมนุษย์แบบไหนบ้าง ทุกอย่างที่โคตรเป็นคนยุคนี้ พูดในวิธีความคิดสร้างสรรค์ มันตลกด้วย ตลกแบบครีเอทีฟ มันก็โดน ซึ่งเราก็ไปอยู่ในวิดีโอด้วยและเราเกลียดตัวเองมาก แต่สำนักพิมพ์อยากให้มีเราอยู่ในวิดีโอด้วย (หัวเราะ) ทนไม่ได้ แต่คนดูก็เยอะมาก ทำให้คนอ่านหนังสือเราเยอะขึ้น”
TRASHWIKI : รักผู้ให้ถูกทาง โดย ดร. เจนนี่ ปาหนัน ณ หาดใหญ่ แดนไก่ทอด
httpv://youtu.be/oxaTnMh4qko
นักเขียน 2 ยุค กับจุดผ่านของการเขียน
กับยุคดิจิทัลที่คนเสพผ่านออนไลน์ ท้อฟฟี่ ในฐานะนักเขียน ผ่านมาหมดทั้งเป็นรูปเล่มหนังสือและการเขียนออนไลน์ทั้ง 2 ยุค ซึ่งเขามีมุมมองที่น่าสนใจในเรื่องนี้ว่า ตราบใดก็ตามที่คอนเทนท์น่าสนใจแล้วอยู่ในฟอร์แมทที่น่าสนใจ นั่นคือวิธีที่ถูกต้อง มันไม่มีคำตอบตายตัวหรอกว่า ต้องทำหนังสือเล่ม ทำบล็อก เพราะมีทั้งคนที่อ่านหนังสือเล่มและคนที่อ่านบล็อก ทั้ง 2 กลุ่มยังมีอยู่ สำหรับตัวเองแล้วก็ยังเขียนบล็อกอยุ่ และถ้าวันหนึ่งมีโอกาสก็ยังสามารถรวมเป็นเล่มได้
“ตอนนี้ผมมี Facebook Page ชื่อว่า ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ ตอนแรกไม่ได้คิดเรื่องเพจ พอหนังสือมนุษย์สุดมโนมันเริ่มดัง คนก็แอดเข้ามาในเฟซบุ๊กเยอะขึ้น มันก็มีบางบทความที่ท้อฟเขียนในเฟซบุ๊กตัวเอง คนแชร์เยอะแยะ คนอ่านเป็นแสน คนมาแอดเยอะ เขาประทับใจในตัวเรา เขาอยากอ่านต่อ แต่เราก็มีความบ้าบออยู่ในตัวเองก็ไม่กล้าเปิดมาก อีกอย่างคิดว่าเราไม่ใช่คนดัง ใครจะมาตาม ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ แต่ก็มีขอแอดมาเป็นพันขนาดนี้เลยตัดสินใจเปิดเพจ แต่ก็ไม่ได้คาดหวังว่าคนจะมาอ่านมาไลค์ในเพจกันเยอะ แค่เราก็ทำอย่างสม่ำเสมอ ทำคอนเทนท์ที่ได้เล่าเรื่องต่างๆ ก็มีความสุขแล้ว แต่ถ้ามีคนอ่านก็ดีใจ”
กับการมาเขียนวิจารณ์เทียบรายการ The Face Thailand กับวิธีในการทำงาน ซึ่งท้อฟฟี่บอกว่าเห็นแง่มุมบางอย่างที่อยากจะถ่ายทอดออกมา เขาเล่าว่า เดอะเฟซ เริ่มเขียนซีซั่นสอง แต่ดูมาตั้งแต่ซีซั่นแรก คิดอย่างหนึ่งด้วยความที่เราเป็นมนุษย์ทำงาน อยู่ในสังคมมนุษย์ทำงาน พอไปดูแล้วมันมีอะไรบางอย่างเหมือนกับชีวิตของเรา และเราเองก็เป็นคนที่เรียนรู้อะไรได้กับทุกอย่าง เป็นความรู้เราได้หมดเลย ซึ่ง The Face ก็มีความรู้อยู่ในนั้น มันคือชีวิตทำงานที่เราเจออยู่ ไม่ว่าจะเป็น การแก้ปัญหา การตีโจทย์ ไปจนถึงการบริหารงาน การแข่งขัน มันคือ ชีวิตจริงของมนุษย์ที่เราเจอทุกวันนี้ ที่มีทั้งสุขและเศร้าไปกับเรื่องงานต่างๆ นานา เราถอดบทเรียนจาก The Face ให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น บางเรื่องที่คนคิดว่าแค่บันเทิง จริงๆ มีบทเรียนหลายๆ อย่างอยู่
“ถ้าเกิดคนอ่านคิดแบบนี้ได้ แล้วนำไปใช้มองกับเรื่องอื่นๆ ด้วย จะเป็นประโยชน์กับเขามากบาดแผลตัวเองต่างๆ คือรางวัลในชีวิต บทเรียนที่เราได้เรียนรู้จากรุ่นพี่ที่สอน ลูกค้าที่เคยทำงานด้วย คนรอบตัวล้วนเป็น ครู ได้ทั้งสิ้น แล้ววันนี้ได้มาดู The Face ในสถานการณ์นี้เขาสอนอะไรเราอยู่ มันเอาไปใช้กับชีวิตได้ ท้อฟจะคิดว่าทำยังไงเขียนแล้วคนอ่านได้แรงบันดาลใจเขาสามารถเก่งได้มากขึ้น”
มนุษย์ไอดอล ของ ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
ในแง่การทำงานเราให้ท้อฟฟี่บอกว่าใครคือ ‘มนุษย์ไอดอล’ ของเขา แต่ท้อฟฟี่กลับให้คำตอบที่ทำให้เราทึ่งได้ว่า คือทุกคนรอบตัว เพราะทุกคนมีความเก่งหมด จะไม่มีมนุษย์โมเดล เพราะที่สุดแล้วทุกคนเป็นมนุษย์ เขาจะไม่ได้ดีเพอร์เฟคทั้งหมดเพราะเราต้องเข้าใจความเป็นมนุษย์ว่าต้องมีความดีและไม่ดี ด้านดีเราก็เรียนจากเขาได้ ด้านไม่ดีเราก็เรียนจากเขาได้เช่นกัน แม้กระทั่งคนที่แบบ ทำไมต้องทำร้ายเราขนาดนี้ นั่นก็เป็น ‘ครู’ ที่เข้ามาสอนว่าตัวอย่างที่ไม่ดีคืออะไร เราอย่าทำแบบนั้น นี่ก็ได้เรียนรู้แล้ว จะเด็กกว่าเรา แก่กว่าเรา ชีวิตแตกต่าง ทุกคนเป็นตำรา สารานุกรมในตัวเอง ถ้าเราไปดึงแล้วเรียนรู้ทุกคนได้ ความรู้มหาศาล ประสบการณ์มหาศาลเลยทีเดียว
“เคยมีครั้งหนึ่งที่ทำให้คิดได้ เจอคนที่ด่า แบบทำไมต้องด่ากูเบอร์นั้น จนมาคิดว่า เขาก็ไม่ได้เลวไปทั้งหมด เขาด่าเรา เวลาเขาอยู่กับลูก เวลาอยู่กับเพื่อน เขาก็เป็นมนุษย์อีกแบบหนึ่งนะ กับพ่อแม่ก็คงเป็นแบบหนึ่ง การที่เขาไม่ดีกับเราเวลานี้ เฉดเดียว ไม่ได้แปลว่าเขาเลวหมดนะ ต้องพยายามหาให้เจอว่าเพราะอะไร เขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ตัวเราก็ไม่ได้ดีตลอดเวลา เขาแค่หันด้านนั้นใส่เราก็เท่านั้น มันทำให้เราพยายามหาทางทำงานกับมนุษย์ให้ได้ พยายามอยู่ร่วมกับมนุษย์ สุดท้ายเราได้อยู่มนุษย์ ทำยังไงให้เราอยู่ด้วยกันได้ เราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน หรือทำร้ายกันแล้วเราได้บทเรียนอะไร”
เฮ็ดในสิ่งที่เซื่อ เซื่อในสิ่งที่เฮ็ด
ท้ายที่สุดเราให้ ท้อฟฟี่ นิยามบทความในแบบของตัวเองว่าคืออะไร เขาบอกว่า การมีอยู่ของบทความท้อฟฟี่เพื่ออะไรหรือ ก็เพื่อให้คนรู้ว่าตัวเองมีคุณค่า ไม่ได้ตอบหล่อๆ นะแต่เป็นเพราะเราเจอคนเยอะ บางโมเมนท์ก็มี ฉันมันไม่ดี ไม่มีคุณค่า ไม่มีใครรักฉันเลย บทความที่เขียนไปมันเพื่อจะบอกว่าทุกคนมีคุณค่า ทุกคนเก่ง หาให้เจอ คุณค่าจะมีได้แล้วพัฒนามากขึ้นได้นั้นเราต้องเรียนรู้คนรอบตัว ถ้าไปอ่านบทความจะเห็นความหลากหลาย คนบางคนไม่ได้มีชีวิตเหมือนเราเลย แต่มีบางอย่างสอนเราอยู่นะ ทุกคนไม่หยุด ทุกคนก็ใช้ชีวิต ไม่มีใครหยุด ยอมแพ้ ไม่มีใครแบบพอแค่นี้แล้วกัน มันคือบทเรียนมนุษย์ ในบทความที่บอกว่าคนทุกคนมีคุณค่าต้องเรียนรู้
“เราจะเขียน นี่คือสิ่งที่เรารัก เรามุ่งมั่นและทำมันอย่างสม่ำเสมอ ท้อฟเชื่อว่ามีคนเก่งกว่าเราเยอะมาก ท้อฟแค่ทำมันอย่างสม่ำเสมอ บางคนยอมแพ้ไปก่อน มันมีคนเขียนหนังสือเล่มแรกแล้วมันกร่อย ก็จบ แต่ท้อฟพบว่าหลังจากที่ย้อนดูตั้งแต่ต้น เราไม่เคยยอมแพ้ เราทำมันต่อ เราทำมันต่อเนื่องและนานพอ มันก็จะค่อยๆ มีบางอย่างมาคอนเฟิร์มว่าเรามาถูกทาง ตอนที่ท้อฟเรียนหนังสือวารสารศาสตร์ ที่ธรรมศาสตร์ เรานึกไม่ออกหรอกว่าชีวิตเราเป็นอย่างไร นึกไม่ออกว่าเราจะเป็นนักเขียนได้อย่างไร แต่เรื่องเดียวเลยที่คิดก็คือถ้ารักมันมากพอต้องทำมันอย่างสม่ำเสมอ ทำมัน มันไปเรื่อยๆ มันมีทางของมัน ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ต่อจุด ทีละจุด เราไม่รู้หรอกว่า มันจะไปถึงไหน ทุกครั้งที่เรามองย้อนกลับไป ทุกอย่างที่เราเรียนรู้มาทั้งหมดมัน lead เรามาสู่ตรงนี้ ที่เราทนเรียนฟิสิกส์เพื่อบอกว่าท้อฟเธอชอบการเขียน เธอไม่ได้ชอบสิ่งนั้น เธอชอบขนาดมานั่งแต่งกลอน เป็นเด็กที่ประหลาด ทุกอย่างมันบีบเรามาก และนี่คือสิ่งเดียวที่ฉันรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า สิ่งต่างๆ นำพามา เรานึกไม่ออกว่าอนาคตเป็นอย่างไร แต่ถ้าเรารักมันมากพอ ทำอย่างสม่ำเสมอ มันจะมีทางของมัน ต่อจุดทีละจุด”
และนี่คือคุณท้อฟฟี่ หรือ ชญาน์ทัต วงศ์มณี .
Copyright © MarketingOops.com