หลังชัยชนะของทีม MONORI BACON ตัวแทนประเทศไทยสามารถไปคว้าแชมป์ E-Sport ในเกม ROV รายการ RoVThrone of Glory Tournament ที่ประเทศเวียดนาม คว้าเงินรางวัลกว่า 1 ล้านบาทไปเป็นผลสำเร็จ ทำให้วงการเล่นเกมในสายตาของสังคมไทยเปลี่ยนไปในทางบวกมากขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อเดือนที่แล้วไทย โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็เพิ่งประกาศรับรองให้ E-Sport เป็นชนิดกีฬา และสามารถจัดตั้งเป็นสมาคมกีฬาได้ ซึ่งแม้ว่าจะมาทีหลังลาว ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ แต่ก็ยังดีกว่าไม่มา (เนอะ)
แม้กระทั่งภาคการศึกษาก็เริ่มมีการเปิดคณะเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเกมที่กำลังจะเติบโตในอนาคตเช่นกัน ถ้าเช่นนั้นแล้ว E-Sport จะกลายเป็นอีกหนึ่งชนิดกีฬาที่สามารถขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจในอนาคตได้หรือไม่ และอะไรจะมีส่วนช่วยผลักดันตรงนี้ได้บ้าง จะสามารถฝ่ากระแสต่อต้านของสังคมบางส่วนได้หรือไม่
วันนี้เราได้มาพูดคุยกับ ดร.ถิรพล วงศ์สอาดสกุล หรือ อ.กิม คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม หลักสูตร คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้ E-Sport ได้เปิดเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนอย่างจริงจัง
สร้างคนรองรับตลาดเกมที่ขยายตัว
ดร.ถิรพล กล่าวถึง สาขาวิชาเกมและสื่อเชิงโต้ตอบ (Games and Interactive Media) ซึ่งเป็นหนึ่งในหลักสูตรของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม ว่า หลักสูตรนี้มุ่งผลิตบัณฑิตที่พร้อมเป็น Tech Start-up สามารถพัฒนาเกมและสื่ออินเทอร์แอคทีฟ เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจและอุตสาหกรรมเกม ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดที่มีการขยายตัวเฉลี่ยมากกว่า 20% ต่อปี อีกทั้งยังเป็นหลักสูตรพิเศษที่ได้รับความร่วมมือกับบริษัทเอกชนชั้นนำในแวดวงอุตสาหกรรมเกม อาทิ บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมพัฒนาหลักสูตรและจัดหางานให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติระหว่างภาค เน้นการพัฒนาให้มีความสามารถด้านเทคโนโลยี ด้านศิลปะ และด้านธุรกิจ หลักสูตรมีความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อให้นักศึกษาได้สัมผัสกับโจทย์จริงและพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาจริงได้ เปิดสอนที่วิทยาเขตรังสิต จำนวนหน่วยกิตตลอดหลักสูตร 135 หน่วยกิต
เป็นวิชาที่เราจัดขึ้นเพื่อตอบรับเทคโนโลยีเทรนด์ในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากเกมแล้วเราก็ยังมีการเรียนการสอนเรื่องอินเทอร์แอคทีฟ มีเดีย เช่น VR (Visual Reality) AR (Augmented Reality) AI (Artificial Intelligence) เป็นเทคโนโลยีเทรนด์ที่โลกต้องการคนจบด้านนี้มาเพื่อไปทำงานด้านนี้โดยเฉพาะ
แต่ในส่วนด้านเกมนั้น ต้องบอกว่าในต่างประเทศนั้นมีมานานแล้ว และเขาส่งเสริมกันอย่างจริงจังมาก ไม่ว่าจะเป็น เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ
แยกให้ออกเด็กติดเกม/นักกีฬาเกม
อย่างไรก็ตาม สำหรับ อย่าง E-Sport ก็เป็นข้อถกเถียงกันในประเทศไทยว่ามันเป็นกีฬาหรือเกมกันแน่ จริงๆ แล้วถ้าเราแยกให้ออกว่านี่เด็กติดเกม กับเด็กที่เล่นเกมเป็นกีฬา ก็จะทำให้เราเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น
“ผมนึกถึงสมัยก่อนที่การเล่นสนุกเกอร์ถูกมอว่าเป็นการพนัน เป็นสิ่งไม่ดี แต่พอคนไทยได้แชมป์ เกิดฮีโร่ ‘ต๋อง ศิษย์ฉ่อย’ ขึ้นมา คราวนี้โอ้โหพ่อแม่พาลูกไปเล่นเลย นี่ก็คล้ายกัน เพราะตอนนี้คนยังมองเกมว่ามอมเมา ใช้เวลาไม่ถูกต้อง แต่สำหรับคนที่เล่นเกมมันสามารถเทิร์นตัวเองเป็นนักกีฬาได้ แต่การเป็นนักกีฬา E-Sport มันต้องมีวินัย ต้องขยันต้องฝึกซ้อม ต้องสื่อสารกับเพื่อน เพราะว่าเกมพวกนี้ต้องใช้ทักษะค่อนข้างเยอะพอสมควร ใช้หัวสมองเยอะมากในการชนะคู่ต่อสู้ ซึ่งตรงนี้จะทำให้เขาก้าวขึ้นเป็นนักกีฬาได้มากกว่าเป็นแค่เด็กติดเกม เขาจะมีรายได้จากตรงนี้ได้ คล้ายๆ กับการเป็นนักกีฬาอาชีพเลย”
อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้มีวัตถุประสงค์สร้างคนเพื่อไปเล่นเกม แต่เราอยากสร้างเด็กเพื่อไปเติมอุตสาหกรรมเกม หรือในอินเทอร์แอคทีฟ มีเดีย ซึ่งเด็กจะเป็นผู้สร้างมากกว่าผู้ใช้ เพราะว่าการสร้างผู้ใช้ สุดท้ายแล้วประเทศไทยไม่ได้อะไรเลย
เน้นพัฒนาทักษะ 3 ด้าน
สำหรับหลักสูตรนี้เราจะเน้น 3 ด้านด้วย
- Technical เราจะสอนให้เด็กได้เข้าใจการในหลักของการใช้เอ็นจินในการสร้างเกม การเขียนโปรกแกรมให้ได้
- Art ส่วนหนึ่งที่จะทำให้คนเล่นเกมได้คือ จะต้องดีไซน์สวย นั่นคือการออกแบบเกมให้สวย หรือต้องมีกี่เลเวล มีความยากมากน้อยแค่ไหน หรือต้องออกแบบให้คนมาซื้อของในเกมได้ด้วย เป็นเรื่องของการครีเอทีฟ ซึ่งเราจะร่วมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ ด้วย
- Business คือทำออกมาแล้วต้องขายได้ ดังนั้นก็จะต้องเรียนทางด้านธุรกิจ จะต้องรู้ว่าตลาดเกมตอนนี้เป็นอย่างไร ทำยังไงให้ขายได้ ตรงนี้ก็จะร่วมกับคณะบริหารธุรกิจ กับ คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและการบริหารกิจการ ในการช่วยเรื่องการเรียนการสอน
โอกาสในการประกอบอาชีพ
สำหรับโอกาสในการประกอบอาชีพ ก็เป็นได้มากมายตั้งแต่ นักพัฒนาเกม (Game Programmer) นักออกแบบเกม (Game Designer) ผู้กำกับฝ่ายศิลป์ (Art Director) ผู้ควบคุมงานสร้างเกม (Game Producer) แอนิเมเตอร์ภาพ 2 มิติ และ 3 มิติ (2D/3D Animator) นักพัฒนาอินเทอร์แอคทีฟมีเดีย (Interactive Media Developer) ผู้จัดการเนื้อหาสื่อดิจิทัล (Digital Content Manager)
นักออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้ (UX Designer) นักออกแบบอินเทอร์เฟซผู้ใช้ (UI Designer) นักพัฒนาโมบายแอปพลิเคชัน (Mobile Application Developer) นักพัฒนาซอฟต์แวร์แบบจำลองและเกม (Game Simulation Developer) ผู้ประกอบการด้านเกมและอินเทอร์แอคทีฟมีเดีย (Entreprenuer in Game and Interactive Media) ซึ่งทั้งหมดนี้ ถ้าไม่จบแล้วไม่ได้เป็นสตาร์ทอัพมีเกมของตัวเองก็สามารถเข้าตามบริษัเกมต่างๆ ได้ในอนาคต
การแข่งขัน E-Sport ในระดับมหาวิทยาลัย
ดร.ถิรพล ยังกล่าวว่า นอกจากผลักดันเรื่องวิชาความรู้แล้ว ยังมีการประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาอื่นๆ ด้วย โดยในระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายนนี้ จะมีการจัดการแข่งขัน “U League Thailand 2017” การแข่งขันเกมอิเล็กทรอนิกส์ (E-Sports) ครั้งที่ 2 ของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน 16 สถาบัน โดยมีมหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นเจ้าภาพ เพื่อเปิดให้นักศึกษาที่มีทักษะและความสามารถด้านการแข่งขันกีฬา E-Sports โชว์ศักยภาพความเป็นนักกีฬาออนไลน์อย่างแท้จริงมาแข่งขันร่วมกัน ผ่านเกม 3 เกม ได้แก่ ลีกออฟเลเจนด์ (LOL) ฮีโรส์ออฟนิวเอิร์ธ (HON) และ RoV เพื่อหาผู้ชนะของการแข่งขัน ชิงเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า 1,000,000 บาท
สำหรับนักศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้มาจากสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งสิ้น 16 สถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร สถาบันเทคโนโลยีไทยญี่ปุ่น มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยศรีปทุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
เปลี่ยนภาพสีเทาของ E-Sport
ที่สำคัญคือ เกมยังเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาผลิตภัณฑ์ การฝึกอบรม การเรียนการสอน การรักษาผู้ป่วยในทางการแพทย์ และเป็นธุรกิจในส่วนของเอ็นเทอร์เทนเมนท์ที่มีมูลค่าในตลาดโลกอย่างมาก สถาบันจีงมีความตั้งใจที่จะผลิตเยาวชนขานรับตลาดงานและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมของเกมซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง เพื่อให้เยาวชนของประเทศไทยเป็นผู้มีศักยภาพสูงเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศในการสร้างผลงานสู่ตลาดอย่างมีคุณภาพ
“E-Sport มันเป็นภาพสีเทาอยู่ เราอยากจะให้สังคมได้รับทราบว่าอันที่จริงแล้วมหาวิทยาลัย ภาคการศึกษาเอง หรือแม้แต่ทางภาคเอกชน อยากให้สังคมได้เห็นว่า มันเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุนเด็กไทย เหมือนกับว่าให้รู้จักว่าเด็กไทยแทนที่จะเล่นเกมอย่างเดียวแล้วเทิร์นตัวเองเป็นโปรเป็นนักเล่นมืออาชีพได้ไหม เพื่อสร้างธุรกิจอะไรต่างๆ แล้วการแข่งขันระหว่างมหาวิทยาลัยก็เป็นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิยาลัยด้วยกันเองด้วย”
ในสังคมไทยยังมองว่าเด็กติดเกมไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ไม่ยอมเรียนหนังสือ แต่จริงๆ แล้วเกมไม่ได้ทำให้เรียนไม่เก่ง ตรงกันข้ามเกมทำให้เด็กมีความครีเอทีฟมากขึ้น เพราะการเล่นเกมทำให้เรารู้จักคิดใช้สมอง และคิดวางแผนการเล่นด้วย
เด็กไทยสกิลดีในเกม MOBA มีหัวคิดวางแผนสูง
อ.ถิรพล อธิบายถึงประโยชน์ของการเล่นเกมว่า สำหรับ E-Sport เขาจะใช้ผู้เล่นประมาณ 5 คน เกมที่แข่งกันส่วนใหญ่ เช่น LOL เกม ROV อีกอันก็ Horn เขาจะเรียกมันว่าเป็น MOBA มาจาก Multiplayer Online Battle Arenaเป็นเกมที่เรียกว่าแอคชั่นเรียลไทม์สตาติจี้ คือต้องวางแผนการเล่น แบบเรียลไทม์ ตัวเล่นแต่ละตัวมีทักษะความสามารถแตกต่างกัน ดังนั้น มันจะฝึกให้เด็กได้คิดวางแผน ฝึกที่จะใช้สมอง และเด็กที่เราคัดเข้าทีมก็จะต้องเป็นเด็กที่เรียนดีด้วยต้องเกรด 3 เป็นต้นไป 2 กว่าๆ เราจะไม่รับเข้าทีมเลย
“เด็กไทยเก่งมาก มีหัวด้านครีเอทีฟ มีทักษะทางด้านวางแผน เขาเก่งมาก คือไม่แพ้ต่างประเทศเลย ในทักษะของการคิดกระบวนการ ให้เป็นระเบียบในการวางแผน ถือว่าดีมากเป็นทักษะในด้านเกมที่จะเล่น ซึ่งเด็กไทยถ้าเก่งมากๆ จริงๆ ก็คือเกมประเภท MOBA เป็นการวางแผนช่วยกันตีป้อมอะไรแบบนี้และสิ่งสำคัญที่เราจะช่วยพัฒนาเด็กให้เป็นนักกีฬา E-Sport ที่ดีได้คือ การมีวินัย การฝึกซ้อม และการแบ่งเวลาให้เป็น ซึ่งจะทำให้ความเป็นนักกีฬา E-Sport แตกต่างจากเด็กติดเกมส์ทั่วไป”
5 องค์ประกอบสำคัญผลักดัน E-Sport
อ.กิม ยังให้ความเห็นว่า E-Sport ช่วยผลักดันเศรษฐกิจได้ ทั้งในแง่ของการเป็นธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ไปจนถึงการหารายได้ให้กับเยาวชน เม็ดเงินสปอนเซอร์ค่อนข้างมหาศาลมาก หรือแม้แต่การที่เด็กมีความรู้แล้วไปผลิตเกมส์ออกมาก็ทำเงินไม่ใช่น้อย หรือไปแข่งแต่ละแมทช์ ก็ทำเงินสูง ตนทราบมาว่านักกีฬา E-Sport ที่เกาหลีมีรายได้ต่อปีประมาณ 30-50 ล้านบาทต่อปี้ แต่นี่เค้าเป็นระดับโลก ดังนั้น ถ้าเราพัฒนาสนับสนุนเด็กไทยให้ไปยืนตรงจุดนั้นได้บ้างตนก็เชื่อว่าเราไม่แพ้ใครแน่นอน
“มีองค์ประกอบ 5 ส่วนที่จะช่วยผลักดันตรงนี้ให้เกิดความสำเร็จได้ นั่นคือ ภาครัฐ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน สื่อมวลชน และสุดท้ายตัวเด็กเอง ถ้าทั้งหมดนี้ร่วมมือกันก็จะทำให้เกิดอิมแพ็คมาก มันจะครบและทำให้ประเทศไทยเติบโตในสายนี้ได้เลยทีเดียว”
จากนี้ 3 อีก 5 ปี ภาพของ E-Sport ในหัวของ อ.ถิรพล นั้นเป็นขาขึ้น จะมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น มีสปอนเซอร์เยอะขึ้น มีภาพของการที่มีบริษัทเปิดด้านนี้โดยเฉพาะ มีพนักงานที่เป็นผู้เล่นประจำกินเงินเดือน เป็นอาชีพๆ หนึ่งเช่นเดียวกับนักกีฬาอาชีพทั่วไป แต่ถามว่าจะเห็นภาพแบบนี้เกิดขึ้นเลยคงต้องใช้เวลามากสำหรับเมืองไทย
เล่นเกมสร้างรายได้ตั้งแต่ยังเรียน
นายองศา อรุณ หรือ ซอส นักศึกษาปีที่ 1 คณะเทคโนโลยีสารนิเทศและนวัตกรรม สาขาเกมและอินเทอร์แอคทีฟ มีเดีย มหาวิทยาลัยกรุงเทพ หนึ่งในทีมผู้ชนะเลิศการแข่งขัน Thailand Master Cup 2017 รับรางวัลทุนการศึกษา 100,000 บาท และตัวแทนทีมจากประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันในรายการ League of Legends International College Cup 2017 ที่ประเทศไต้หวัน กล่าวถึงการตัดสินใจเข้าเรียนหลักสูตรนี้ว่า เดิมก็เป็นนักแข่งเกมตามอีเวนท์ต่างๆ อยู่แล้ว จนได้รับการชักชวนว่ามีทุนจาก ม.กรุงเทพ ในสาขานี้ก็เลยตัดสินจมาเรียน
สำหรับข้อดีของการเล่นเกมนั้น องศา มองว่า มันทำให้ไม่เครียดแล้วก็ยังมีรายได้ด้วย แม้ตอนแรกก็ยังไม่มาก แต่บ่อยเข้าก็ทำให้เราทำเงินเป็นของตัวเองได้แม้ยังเรียนอยู่ทำให้ไม่ต้องพึ่งที่บ้าน แถมถ้าเรียนตามหลักสูตรอย่างจริงจังก็ยังพัฒนาเป็นอาชีพได้ด้วย
“อย่างรายได้ คือมันไม่ได้แค่มากจากการแข่งขันอย่างเดียว ไม่ใช่แค่เราต้องชนะรายการนี้เท่านั้น แต่เวลาที่เราไปแข่งตามอีเวนท์ต่างๆ แล้วเริ่มมีคนรู้จักก็จะมีคนที่เขาติดตามเรา คอยให้การสนับสนุนเราเป็นรายบุคคลก็จะมีการซื้อกิฟท์ให้ด้วย แล้วก็สามารถแปลเป็นของหรือเงินรางวัลเล็กน้อยๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องแข่งชนะเกมอย่างเดียว”
ข้อแตกต่างระหว่างเด็กติดเกมกับนักเล่นมืออาชีพ
องศา ยังกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างเด็กติดเกม กับคนที่เล่นเป็นมืออาชีพว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ เด็กติดเกมคือคนที่เล่นเกมไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดมุ่งหมาย เป้าของเขาก็อาจจะแค่ชนะในเกม แต่ว่าคนที่เล่นและรู้หลักการคือคนที่เล่นเป็นแล้ว เป็นมืออาชีพ เค้าจะแบ่งเวลาเป็น มีวินัย และมีการฝึกซ้อม ที่สำคัญคือต้องเล่นอย่างรู้หลักการต้องได้รับคำแนะนำที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการแบ่งเวลาสำคัญมาก เราจะเล่นไปเรื่อยๆ แล้วนอนตื่นสายไม่ได้ เพราะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย
“ในความคิดผมผมคิดว่ามันไม่ได้เรื่องที่แย่ขนาดนั้น บางทีเราต้องดูว่าเด็กที่บ้านของคุณเขาเล่นเกมไปเพื่ออะไร บางคนเล่นเกมไปเพื่อแข่งขัน บางคนเล่นเกมไปเพื่อสนุกสนานก็ต้องดูอีกที ถ้าเล่นเกมเพื่อการแข่งขัน เราก้ต้องดูอีกแบบด้วย เพราะว่าคนที่เล่นเพื่อนการแข่งขันบางที เป็นนักกีฬาก็ต้องจับเวลา เช่น คนเป็นนักกีฬาควรจะนอนไม่เกิน 4-5 ทุ่ม เพื่อที่เราจะได้รีแล็กซ์ตัวเอง เช่นอาจจะเลิกเล่นสักประมาณ 4 ทุ่ม แล้วเราอาจะนอน 5 ทุ่ม เพื่อพักเขาเรียกว่า Cool down โดยเป็นการที่เราดูคลิปการแข่งของคนอื่นเพื่อศึกษา ซึมเข้าไปสมองเรื่อยๆ แล้วค่อยไปนอน การที่เล่นถึงดึกตี 1 ตี 2 อย่างนั้นคือผู้เล่นทั่วไป แต่นักกีฬาควรที่จะมีการแบ่งเวลาให้เป็น”
‘อย่าทิ้งเราไว้กลางทาง’ ข้อความจากเด็กเกมอาชีพถึงสังคม
สุดท้ายสิ่งที่ องศา อยากจะฝากบอกสังคมและรัฐบาลก็คือ อยากให้มองว่าสำคัญ อย่าง E-Sport ผมมองว่ามันสำคัญไม่ต่างจากกีฬาต่างๆ เลย เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องที่ใหม่ บางทียังอาจจะเห็นไม่ชัด เพราะว่าการเล่นเกมจะต้องมองให้ลึกซึ้งว่า มันเป็นกีฬาได้
“นอกจากนี้ เวลาที่พวกเราไปแข่งมาแล้ว ไม่ค่อยมีการสนับสนุน ไม่มีการตอบรับจากผู้ใหญ่เลย อาจจะมีคนชื่นชมในตอนแรกที่ได้รางวัลกลับมา แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไร ไม่มีการต่อยอด คือถ้าช่วยส่งเสริมหรือสนับสนุนพัฒนาพวกเราต่อไป เราจะรู้สึกมีกำลังใจ มีคนไม่ลืมเรานะ ทำชื่อเสียงให้กับประเทศกลับมาก็อยากให้มีการสนับสนุนเพิ่มเติม”
เป็นคำพูดทิ้งท้ายที่น่าสนใจจากเยาวชนที่ตอนนี้กำลังพาประเทศมุ่งไปข้างหน้า แต่เราจะเป็นผู้ใหญ่ที่ฉุดรั้งหรือจะช่วยเด็กกลุ่มนี้หอบกันพาพวกเขาและประเทศให้ถึงไปถึงเป้าหมายหรือไม่ คงอยู่ที่พวกเราทุกคนแล้วว่าจะตัดสินวาดภาพให้ ‘Game’ เป็นผีร้ายหรือกลไกใหม่ในการพัฒนาประเทศกันแน่.
หมายเหตุ
สำหรับการแข่งขัน “U League Thailand 2017” การแข่งขันเกมอิเล็กทรอนิกส์ (E-Sports) ครั้งที่ 2 นี้ เริ่มเปิดรับสมัครและแข่งขันเพื่อหาตัวแทนของแต่ละมหาวิทยาลัยในเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน 2560 จากนั้นในวันที่ 16-29 กันยายน 2560 เริ่มแข่งขันรอบคัดเลือกตัวแทน แบบ Online และวันที่ 30 กันยายน จัดแข่งขันรอบ Final ชิงแชมป์ของทั้ง 3 เกม ผู้สนใจรายละเอียดติดตามได้ที่ https://www.facebook.com/ULeagueTH/
Copyright © MarketingOops.com