เพราะ AI ไม่ใช่เทรนด์หรือกระแสอีกต่อไป นักการตลาดหลายท่าน รู้จักและเข้าใจการทำงานของ AI อยู่บ้างแล้ว แต่การจะใช้ AI ให้เกิดผลนั้น นักการตลาดเองก็ทราบกันดีว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
วันนี้ Marketing Oops! จะพาไปรู้จักกับ AI บนโมเดล Sei-katsu-sha โมเดลเฉพาะจากทาง Hakuhodo First (ฮาคูโฮโด เฟิร์ส) เอเจนซีแถวหน้าที่ใช้โมเดลนี้ในการสร้างผลลัพธ์ทางการตลาดให้กับหลายๆ แบรนด์ตลอดปี 2024 ที่ผ่านมา

Marketing Oops! โดย คุณณธิดา รัฐธนาวุฒิ ผู้ก่อตั้ง Founder of Marketing Oops! ได้ชวน คุณชุติมา วิริยะมหากุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จำกัด ซึ่งถือเป็นผู้นำเอเจนซีแถวหน้า ที่นำเอาเทคโนโลยี AI มาผนวกใช้ในการทำงาน กับแนวคิด Sei-katsu-sha ซึ่งถือเป็น DNA ที่คนฮาคูโฮโด เฟิร์ส ยึดถือกันทุกคน แล้วแนวคิดนี้จะผสานเข้ากับเทคโนโลยี AI ได้อย่างไร บนความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน บทความนี้เราจะขอสรุปเนื้อหาสำคัญของการสนทนานี้ไว้ให้นักการตลาดและแบรนด์สามารถนำไปปรับใช้ต่อไป
ความท้าทายทางเศรษฐกิจ ปี 2024 – 2025 ส่งผลต่ออุตสาหกรรมโฆษณาและการตลาด
คุณชุติมา เริ่มต้นด้วยการพูดถึงภาพใหญ่ของความท้าทายทางธุรกิจในปี 2024 ที่ผ่านมาว่า ปีที่แล้วค่อนข้างมีมีสภาวะของความหดตัวทางเศรษฐกิจ โดยปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดก็คือปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งสิ่งนี้ก็ส่งผลต่ออุตสาหกรรมโฆษณาและการตลาดค่อนข้างเยอะ นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบจากเทคโนโลยีที่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเรื่อง AI (Artificial Intelligence) ซึ่งมีความตื่นตัวค่อนข้างเยอะ ส่วนในเรื่องการสื่อสาร เกิดปรากฏการณ์ Cookieless ซึ่งกระทบกับงานด้านการวางแผนสื่อสาร เพราะเหมือนกับว่าได้สูญเสียสัญญาณบางอย่างไป (signal loss) คล้ายกับการที่เราต้องแล่นเรือท่ามกลางมหาสมุทรอันกว้างใหญ่เพื่อไปหาปลา แต่ไม่มีเรดาร์ใดๆ ให้เลย ทำให้เราต้องหาวิธีใหม่ในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้คือความท้าทายในปี 2024 ที่ต่อเนื่องมาถึงปี 2025 ด้วยเช่นกัน แล้วก็จะเพิ่มความเข้มข้นขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส เราเตรียมการเรื่องนี้มานานระยะหนึ่งแล้ว เพราะเราเป็นองค์กรที่ Data-driven strategy ที่ผ่านมาเราได้ลงทุนด้านข้อมูลรีเสิร์ชเยอะมาก และเมื่อมี AI เข้ามา ก็ช่วยในการประมวลผลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้เราหากลุ่มเป้าหมายและเข้าใจกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งบางครั้งกลุ่มเป้าหมายอาจจะมีพฤติกรรมการใช้สินค้าที่แตกต่างกันก็ออกไป
ดังนัน การที่เรามีเทคโนโลยี AI ก็สามารถช่วยเราแยกแยะได้ หา Insight มุมใหม่ๆ จากพฤติกรรมลูกค้าได้ เพื่อนำมาประมวลผลแล้วนำไปใช้ในการวางแผนการสื่อสารต่อไปได้ ทั้งหมดนี้เป็นความท้าทายที่นักการตลาดต้องเผชิญในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ทาง ฮาคูโฮโด เฟิร์ส เราเตรียมความพร้อมรับมือไว้หมดแล้ว
ฮาคูโฮโด เฟิร์ส กับการใช้ AI ในแบบ Learn across
ทั้งนี้ ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ นั้น ทาง ฮาคูโฮโด เฟิร์ส ยังเน้นแนวคิดขับเคลื่อนผลลัพธ์ของแบรนด์ ด้วยการสร้างพฤติกรรมกับกลุ่มเป้าหมายที่ตรงโจทย์ ซึ่งเรียกว่า ‘Driving People’s Actions’ ที่ยึดถือและนำมาใช้เพื่อสร้างความสัมพันธ์และความเชื่อมั่นให้กับลูกค้ามา กว่า 20 ปี โดยแนวคิดนี้เกิดจากการที่เราทำการสื่อสารออกไป เราอยากทำให้เกิดพฤติกรรมที่มีผลต่อแบรนด์หรือสินค้าในแบบที่ตรงวัตถุประสงค์ที่สุด ดังนั้น ไม่ว่าเราจะวางกลยุทธ์หรือคิดงานครีเอทีฟใดๆ เราจะมองว่าสิ่งนั้นได้ไปช่วยกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายเกิดพฤติกรรมที่เราคาดหวังได้อย่างไร
ทีมฮาคูโฮโด เฟิร์ส เรานำ AI มาใช้อย่างครอบคลุม ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็น การนำ data ที่เรามีเข้ามาทำงานร่วมกับ AI แล้วก็หามุมวิเคราะห์ต่างๆ ทำให้ได้ข้อมูล Insight ที่ลึกมากขึ้น ไม่เพียงแค่นั้น เรายังนำผลลัพธ์ที่ได้จาก AI มาระดมสมองวิเคราะห์ถกเถียงกันเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ Deeper insight ที่ลึกมากยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนี้ เมื่อขยับมาที่การสร้างงานสร้างสรรค์ พวกงานครีเอทีฟก็ทำให้ได้มุมคิดที่ลึกและหลากลายมากยิ่งขึ้น ทำให้งานของเรามีมุมใหม่ๆ ที่น่าสนใจแล้วนำไปพัฒนาต่อยอดได้อีก
ขณะที่ในแง่การสื่อสารและการวางแผนสื่อ เรามีการนำ AI เข้ามาช่วยงานเช่นกัน โดยจากการที่บริษัทเราทำงานทั้งในระดับ Global และ Regional ด้วย เรามีการเรียนรู้ร่วมกันแบบข้ามฝั่งกันไปมา (Learn across) คือทีมจากประเทศอื่นก็มาเรียนรู้จากฝั่งเราเหมือนกัน โดยเรามีการศึกษาร่วมกันว่าเครื่องมือตัวไหนดี หรือตัวนี้ใช้อย่างไร แล้วก็ระดมความคิดกันว่าจะเชื่อมต่อกัน ใช้เครื่องมือจาก AI (AI Tools) เพื่อวางแผนให้สื่อแตกกระจายออกไปอย่างไร เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายละเอียดมากยิ่งขึ้น แล้วลองดูงบประมาณที่ใช้ไปด้วยว่าผลลัพธ์จะรีเทิร์นออกมาเป็นอย่างไร เรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้ร่วมกันทั้งองค์กรเลย
หลักปรัชญา Sei-katsu-sha
นอกจากหลักการทำงาน ‘Driving People’s Actions’ แล้ว ฮาคูโฮโด เฟิร์ส ยังมีแนวคิดหรือปรัชญาในการทำงานที่เรียกว่า Sei-katsu-sha อีกด้วย คุณชุติมา อธิบายถึงแนวคิดนี้ว่า เป็นปรัชญาในการทำงานของ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส จากบริษัทแม่เลย แปลว่า Life Living Person คือเราทุกคนเกิดมาเป็นมนุษย์ที่ใช้ชีวิต โดยเรามองว่ากลุ่มเป้าหมายของเราไม่ใช่แค่ผู้บริโภค เพราะเขาไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นผู้บริโภค ไม่ได้เกิดมาเป็นสาวกของแบรนด์ แต่พวกเราเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตของเรา พวกเราเกิดมาเป็นลูกของคุณพ่อคุณแม่ เป็นเพื่อน เป็นคนรัก เป็นคนที่ชอบกิจกรรมโน้นกิจกรรมนี้ ซึ่งเราใช้ปรัชญานี้ในการทำงาน ทำให้เราเห็นครบทุกมุมมอง มีมุมที่ละเอียดมากขึ้นในการที่จะพาแบรนด์เข้าไปเชื่อมโยงกับผู้คน เกิดเป็นมุมมองที่กลมกล่อมมากขึ้น
แต่เมื่อมีเทคโนโลยี AI ซึ่งเป็นถังข้อมูลอันมหาศาล ดังนั้น เมื่อถูกผนวกเข้ากับหลักคิดแบบ Sei-katsu-sha เราก็เอาข้อมูลทั้งหมดซึ่งเป็นหลักปรัชญาของการมองผู้บริโภคแบบของเรา บวกกับกระบวนการเทรน AI ให้คิดแบบเป็นมนุษย์แล้ว ก็จะกลายเป็นมนุษย์ที่มีข้อมูลที่ Dynamic สูงมาก
พูดให้เห็นภาพชัดขึ้น สมมุติว่ามีกลุ่มเป้าหมายกลุ่มหนึ่ง เราป้อนข้อมูลหมวดสินค้าหรือจุดแข็งของสินค้าหนึ่งลงไป พร้อมกับใส่เทรนด์ใหม่เข้าไปด้วย ก็จะทำให้เราเห็นว่าในเทรนด์นี้มีวิธีคิดหรือการตัดสินใจหรือพฤติกรรมแบบนี้ของกลุ่มเป้าหมายด้วย โดยวิธีที่ มนุษย์ AI คิดหรือมีปฏิกิริยาตอบกลับกับเทรนด์ที่เราป้อนเข้าไปเป็นแบบไหนออกมา ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจกลุ่มเป้าหมายนั้นชัดเจนมากขึ้น แล้วทำให้เราสามารถคิดกลยุทธ์หรือแผนการตลาดที่ชัดเจนขึ้น คมมากขึ้น รวมไปถึงสามารถคาดเดาพฤติกรรม (predict behavior) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย เช่น คนที่มีพฤติกรรมซื้อแบบนี้ ที่มาแบบนี้ มีเส้นทางในการตัดสินใจลักษณะนี้ เมื่อเกิดเทรนด์ใหม่หรือตลาดเปลี่ยนไปหรือสินค้าใหม่เข้ามา เขาจะมีพฤติกรรมอะไรเกิดขึ้นบ้าง นี่คือการคาดเดาพฤติกรรมล่วงหน้าซึ่งจะออกมาเป็น Scenario ที่ค่อนข้างแม่นยำทีเดียว แต่เราก็ไม่ได้ใช้ AI แล้วตัดสินใจเลย เราก็ยังต้องนำมาวิเคราะห์โดยบวกกับทำความเข้าใจ และผนวกเข้ากับประสบการณ์ของเราด้วย เพื่อตัดสินใจว่าเราจะเลือกใช้แนวทางไหนในการวางแผนหรือวางกลยุทธ์ให้ลูกค้าต่อไป
การผนึกพลัง ‘Sei-katsu-sha’ และ ‘AI’ เสน่ห์ที่แตกต่างอย่างเหนือชั้น
ดังนั้น สิ่งที่ทำให้ฮาคูโฮโด เฟิร์ส โดดเด่นและแตกต่างจากเอเจนซี่อื่นๆ ซึ่งแม้ว่าที่อื่นจะใช้ AI เช่นเดียวกัน ก็เพราะเรามีการผนวกปรัชญา Sei-katsu-sha ของเราไปด้วย ซึ่งมันเป็นเหมือนซิกเนเจอร์ที่ฝังอยู่ใน DNA ของคนฮาคูโฮโด เฟิร์ส ทุกคน จึงทำให้การทำงานของเรามีเสน่ห์ มีมุมมองที่ลึกซึ้ง และให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัด
ไม่ว่าจะเป็น การให้ผลลัพธ์แบบ ‘Deeper Insight’ เป็นอินไซต์ที่ลึกมากขึ้นกว่าเดิม คือเดิมทีเราอาจจะมีข้อมูลอินไซต์ที่ลึกแล้ว แต่ AI สามารถไปค้นหาสิ่งที่อาจหลบซ่อนออกมาได้อีก ไฮไลท์ให้เราเจอได้อีก ซึ่งตรงนี้เราสามารถนำไป springboard ต่อยอดออกไปได้อีก และนำไปสู่ “Smarter Creativity” ช่วยให้งานครีเอทีฟมีมุมมองที่เปิดกว้างและชัดเจนมากขึ้น ด้วยความที่ปกติงานครีเอทีฟเราต้องมีชิ้นงานที่ทำเยอะแยะมากมาย แต่ AI จะเข้ามาช่วยจัดระเบียบให้ เช่น ถ้ากลุ่มเป้าหมายแตกต่างกันจะแตกได้ออกมากี่กลุ่ม งานครีเอทีฟหรือข้อความที่จะส่งก็จะทำออกมาแตกไปตามกลุ่มต่างๆ หรือจะกระตุ้นยังไงให้แตกต่างกันออกมา ทำให้เราได้พัฒนา “Enhanced Customer Connections” ในมุมต่างๆ ที่แบรนด์จะเชื่อมต่อถึงผู้บริโภคได้หลากหลายมากขึ้นได้อย่างรวดเร็วเลย
กรณีศึกษาความสำเร็จของการผสานระหว่าง ‘AI และ Sei-katsu-sha’

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดขึ้นของแนวคิดของการผสานระหว่าง ‘AI และ Sei-katsu-sha’ มากขึ้น ทางคุณวรีมน เบญจพงศ์ Executive Strategic Planning Director และ คุณธิติพงศ์ แจ่มแจ้ง Executive Creative Director ของ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส ได้ร่วมอธิบายเพิ่มเติมถึงกรณีศึกษาความสำเร็จของการผสานระหว่าง ‘AI และ Sei-katsu-sha’ ผ่านเคสของการรณรงค์รักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งแม้ว่าคนรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม แต่พบว่ามีเพียง 43% เท่านั้นที่สามารถเริ่มลงมือทำเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมได้เลย และมีเพียง 10% เท่านั้นที่สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและทำทุกๆ วันได้
ดังนั้น โจทย์ของแคมเปญคือการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างจริงจัง จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่ช่วยในการลดคาร์บอนอย่างง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งคนทั่วไปสามารถมาลงทะเบียนได้ และถ้าทำได้ทุกวันก็จะเปลี่ยนเป็นแต้มเพื่อไปแลกรับรางวัลกับแบรนด์ได้
จากจุดนี้เราสามารถช่วยลูกค้าในการเก็บ data ได้หลายรูปแบบรวมไปถึง ได้แก่ 1) Zero party data (ข้อมูลที่ผู้บริโภคยินดีมอบให้แบรนด์จัดเก็บ) ด้วยซึ่งเกิดจากการที่ผู้บริโภคมาลงทะเบียนเล่นกิจกรรมในครั้งแรก 2) ข้อมูลพฤติกรรมในการเล่นบนแอปพลิเคชัน ไม่ว่าจะเป็น ความสนใจ ความถี่ในการเล่น ช่วงเวลาที่เล่น และประเภทของรางวัลที่แลกไป และ 3) ได้ Media performance
จากข้อมูลทั้ง 3 ส่วนนี้เราจะนำ AI เข้ามาวิเคราะห์ เพื่อนำไปค้นหา Signal behavior ของกลุ่มเป้าหมายเพื่อนำมาเป็น trigger ในการกระตุ้นแอคชั่น รวมไปถึงนำมาพัฒนาวางแผนกลยุทธ์ในแคมเปญต่อๆ ไป รวมไปถึงต่อยอดออกมาเป็นกิจกรรมอีเวนต์ On ground ที่สร้างการมีส่วนร่วมได้ดี (High engagement) ได้ดี
โดยเราสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคที่ลึกซึ้งเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ของเขาได้มากขึ้น เป็นการกระตุ้นที่ตรงจุดและสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้จริงในทุกวัน และได้ผลลัพธ์ (Result) ที่วัดผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ ดังนี้
- เพิ่มยอดลงทะเบียนผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้มากขึ้นถึง 29%
- มียอดความถี่ในการเล่นกิจกรรมมิสชั่นต่าง ๆ เพิ่มขึ้น 143%
- ผู้เข้าร่วมกิจกรรม 69% มีแนวโน้มจะเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในทุก ๆ วัน
คำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้งาน AI ให้เกิดประสิทธิภาพ
คำแนะนำจากคุณชุติมา ในการทำงานร่วมกับ AI สิ่งสำคัญที่จะลืมไม่ได้เลยคือ ในเมื่อเราทำการสื่อสารกับมนุษย์ดังนั้น เราต้องไม่ลืมที่จะใส่ Human touch ลงไปด้วย เราต้องไม่ลืมที่จะมีพาร์ทของ Emotional ด้วย โดยเฉพาะงานโฆษณาซึ่งจะทำให้การงานมีเสน่ห์และสนุกมากขึ้น นอกจากนี้ สิ่งที่คิดว่าควรจะต้องระวังก็คือ AI เป็นเครื่องมือที่ซับซ้อนซึ่งอาจจะทำให้บางครั้งเราก็ติดไปกับดักของเครื่องมือได้ ดังนั้น เวลาที่ใช้ AI เราควรที่จะต้องเอา Basic logic ของเราเข้าไปจับด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งที่ AI คิดออกมาให้มันสมเหตุสมผลหรือไม่ ตรงกับสภาพความเป็นจริงหรือไม่ตรงนี้ก็จะต้องทำการตรวจสอบและรีเช็คให้มั่นใจ ขณะเดียวกันก็จะต้องใช้มากกว่าหนึ่ง Tools ในการทำงานก่อนตัดสินใจด้วย
“จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับ AI หลายๆ โปรเจกต์ที่ผ่านมา ทำให้เรียนรู้ว่า แม้จะช่วยทำให้งานเราง่ายขึ้น แต่เราควรทำการรีเช็คก่อน อย่าหลงเชื่ออย่างรวดเร็ว ให้นำมุมมองและประสบการณ์รวมถึงตรรกะความคิดพื้นฐานมาพิจารณาประกอบด้วยก่อนตัดสินใจ”
‘กล้า – เริ่ม – เปลี่ยน’ 3 Keywords สำหรับนักการตลาดในการใช้ AI
นอกจากนี้ คุณชุติมา ยังได้แชร์ 3 Keywords สำคัญ ที่สามารถนำไปใช้ในการทำงานร่วมกับ AI ให้มีประสิทธิภาพ ได้แก่ ‘กล้า – เริ่ม – เปลี่ยน’
- กล้า คือการกล้าที่จะกระโจนเข้าหาเทคโนโลยี ลองเข้าไปดูก่อน ให้ลองผิดลองถูกไปกับสิ่งนั้น โดยเฉพาะถ้ามันไม่ได้ยากเกินไป
- เริ่ม ให้เริ่มลงมือทำเลย เรียกว่าเริ่มก่อนก็ได้เปรียบกว่า เมื่อเรียนรู้ที่จะลองในหลายๆ แบบแล้ว ก็ให้เริ่มใช้กับรูปแบบงานที่หลากหลาย คราวนี้เราก็จะได้สนุกไปกับงานในมุมใหม่ๆ ได้
- เปลี่ยน เป็นคำสุดท้ายที่สำคัญที่สุด คือเมื่อเรียนรู้แล้วว่าใช้งานอย่างไร ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้ได้
และให้ไวด้วย เพราะว่าวันนี้สิ่งนี้อาจจะทันสมัย แต่วันต่อไปก็อาจจะถูกอัปเดต แล้วดังนั้นเราก็ต้องมีการ Reskill ให้ทัน เรียนรู้และลองไปกับสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอด
ทิศทางและก้าวต่อไป ฮาคูโฮโด เฟิร์ส บนแนวคิด ‘Driving People’s Actions’
สำหรับก้าวต่อไปในปีหน้าของ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส คุณชุติมา เผยว่า เรายังคงอยู่บนแนวความคิดของการทำงาน ‘Driving People’s Actions’ เพื่อสร้างผลลัพธ์ให้เกิดพฤติกรรมที่มีผลต่อแบรนด์และสินค้า แต่ในมุมของก้าวต่อไปข้างหน้า เรามองว่าจะต้องสร้างผลลัพธ์ที่ไม่ใช่แค่การตลาด แต่จะต้องผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ในเชิงสังคมด้วย เราจะสร้างความเป็น Well-being เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเมื่อตั้งเป้าแบบนี้การจะทำให้มีอิมแพคได้ เราจะต้องมีพาร์ทเนอร์ชิพที่แข็งแรง มีการ Collaboration กับองค์กรที่หลากหลาย เพราะลำพังแค่เราคนเดียวคงผลักดันอะไรไม่ได้มาก ดังนั้นในปีนี้น่าจะเห็นผลงานและ โปรเจกต์ต่างๆ ที่เราทำคอลแลปส์ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งบางงานก็ปล่อยไปแล้ว บางงานก็อยู่ในระหว่างการพัฒนาอยู่
“ในปี 2025 ฮาคูโฮโด เฟิร์ส มีแคมเปญต่างๆ มากมายที่รอจะเปิดตัวอยู่แน่นอน มีอยู่ใน pipeline การทำงานที่มั่นใจว่า ปีนี้จะทั้งอิมแพคและสร้างผลลัพธ์ที่ Well-being ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน อยากให้รอติดตามต่อไปค่ะ”
ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นภาพรวมและความท้าทายของอุตสาหกรรมโฆษณาและการตลาดต่อไปได้เลยว่า เทคโนโลยีและ AI ยังคงมีบทบาทสำคัญ แต่ก็ต้องใช้พลังความคิดสร้างสรรค์ บวกกับประสบการณ์ที่สั่งสมในการทำงานอย่างมาก เพื่อให้เอาชนะความท้าทายที่จะเกิดขึ้นให้ได้ ซึ่งต้องบอกว่า ฮาคูโฮโด เฟิร์ส มีความพร้อมทุกอย่าง และยังเป็นแกนหลักสำคัญของวงการเอเจนซี่ในเรื่องนี้อีกด้วย ยิ่งทำให้เรารู้สึกสนใจบทบาทต่อไปของ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส ว่าจะผลักดันและขับเคลื่อนสิ่งใหม่ๆ ให้กับวงการเอเจนซีต่อไปอย่างไร เราพร้อมจะติดตามและนำมาเล่าให้ฟังอีกแน่นอน.